Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากเรียงลำดับปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน เสมือนตกอยู่ในห้วงสงครามแย่งชิงทรัพยากร เป็นสงครามชนชั้นระหว่างประชาชนผู้ยากไร้กับอำนาจรัฐและนายทุน ซึ่งพบว่าที่ดินส่วนใหญ่จะตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของนายทุนผูกขาด จึงเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ดินทำกินเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของสังคมไทย ล่วงถึงปัจจุบันความรุนแรงมีแนวโน้มขยายวงมากขึ้น หลายชุมชนถูกละเมิดสิทธิอย่างหนักหน่วง ถูกข่มขู่ คุกคาม ไล่รื้อ ลามไปถึงการจับกุม ดำเนินคดี ก่อนจะบรรจุขึ้นไปให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้กำหนดซะตาชีวิตชาวบ้าน

ปัญหาดังกล่าวล้วนส่งผ่านถ้อยคำที่กล่าวว่า เพื่อการพัฒนา จนนำมาสู่ความขัดแย้งและเกิดกรณีข้อพิพาทที่มีปัญหาทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของประชาชนมายาวนาน แต่หน่วยงานภาครัฐกลับไม่มีมาตรการที่เป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างถูกต้อง ตรงกันข้ามกลับคืบหน้าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชนชั้นนายทุนได้กรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินเพื่อผลประโยชน์การใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ โดยอาศัยกลไกการตลาดเป็นเครื่องมือ ด้วยวิธีการจัดสรรสัมปทานให้นายทุนได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดิน เช่น กรณีการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อประกอบการปลูกสร้างสวนป่ายูคาลิปตัส การประกอบอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การประกอบโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง เป็นต้น

ในขณะที่ชาวนา ชาวไร่ ที่เป็นเพียงเกษตรกรคนธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังขาดที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินไม่เพียงพอ รวมทั้งมีความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของการพัฒนา ที่เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาปัจจัยการผลิตของตนเองได้ กลายเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินไปโดยที่สุด เพราะคำว่าการพัฒนาโดยแท้จริงนั้นถูกจุดขึ้นมาจากอำนาจของภาครัฐ ที่ล้วนเปิดทางให้อำนาจทุนแผ่เข้ามาลิดรอน กลืนกินทรัพยากร ลดบทบาทภาคการเกษตรกรให้ค่อยๆ สูญสิ้นไป ยกตัวอย่างกรณีพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

ก่อนนั้นชีวิตในชุมชนมีแต่ความสุข ครั้นเมื่อชีวิตยังคงผูกพันอาศัยหากินอยู่กับป่า อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เก็บเห็ด หน่อไม้ สมุนไพรฯ ก่อนพื้นที่จะถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามปี 2516 กระทั่งช่วงปี 2528 ได้มีโครงการปลูกสวนป่าทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูก โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพราน ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน รับปากว่าจะหาที่ดินทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าพื้นที่ที่จัดสรรให้มีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว ผู้ได้รับผลกระทบจึงตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ ส่งผลให้หลายครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน

กระบวนการต่อสู้ได้ดำเนินการมาแต่นั้น กระทั่งปี พ.ศ.2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่มีนายธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสารเป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่จริง และให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นการต่อไป

ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้ร้อง และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ราชการผ่อนผันให้ราษฎรผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่องแถวของสวนป่าไปพลางก่อน

อย่างไรก็ตามกระบวนการแก้ไขปัญหาดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปี 2553 ตามมติ ครม.เห็นชอบให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา และเนื่องจากพื้นที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ ทว่าในทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน ด้วยชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาการละเมิดสิทธิ ถูกข่มขู่ คุกคาม อยู่สืบเนื่องเรื่อยมา
 

เมื่อพื้นที่พิพาทเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หากย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.54 กลายเป็นปมที่มาจนเกิดคดีความนั้น ราวตี 5 ครึ่ง ของวันที่ 1 ก.ค.54 เจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจ สนธิกำลังเข้ามา กว่า 200 นาย บุกรวบตัวชาวบ้าน ฉุด กระชาก ลากผู้หญิง รวมทั้งคนแก่ๆ หิ้วขึ้นสถานีตำรวจภูธร แยกไปขังไว้ 2 คืน ในพื้นที่ สภ.ห้วยยาง และ สภ.คอนสาร ก่อนแจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ จำนวน 10 ราย แยกเป็น 4 คดี ทั้งหมดถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เป็นผู้ตัดสินซะตากรรม ในชั้นศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ล่าสุดกระบวนการพิจารณาอยู่ในชั้นกีฎา

บางมุมชีวิตของชาวบ้านสุดแสนยากลำบากอยู่แล้ว เสมือนชีวิตถูกกระหน่ำซ้ำไปที่จุดเดิมอีก ด้วยหน่วยงานรัฐประกาศเขตป่าฯทับที่ทำกิน พร้อมกับอาศัยกลไกกระบวนการยุติธรรม ตั้งข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ โดยนับจำนวนหลายครั้ง คำพิพากษาจะตกอยู่กับชาวบ้านเป็นผู้กระทำผิดโดยเสมอ ส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดี จะเป็นทั้งผู้เฒ่า ผู้แก่ และผู้หญิง และเป็นเสาหลักของครอบครัว นอกจากได้รับผลกระทบทั้งทางด้านจิตใจ และตกอยู่ในความวิตกกังวลจากการถูกดำเนินคดี รวมทั้งการทำมาหากินในเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่แสนสาหัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องแบกภาระค่าเดินทางไปศาล ค่าเอกสาร ค่าทนาย ค่าหลักทรัพย์ประกันตัว ยังไม่รวมถึงปัญหาทางด้านสังคมที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหา ถูกตีตราว่าบุกรุกที่ดิน ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้นชาวบ้านเคยถือครองทำประโยชน์มาก่อนจะมีการประกาศเขตป่าฯ

ถามว่า การนำเรื่องพื้นที่พิพาทที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา ขึ้นฟ้องร้องต่อศาลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพียงเพื่อให้เรื่องไปยุติที่กระบวนการยุติธรรม ถามต่อว่า เป็นทางออกของการแก้ไขข้อพิพาทหรือไม่ ซึ่งผลของคำพิพากษาส่วนใหญ่ ชาวบ้านต้องตกเป็นผู้กระทำความผิด ถามอีกว่า หากมองในมุมของสิทธิชุมชน ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
การถูกกระทำเช่นนี้ ผู้เดือดร้อนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และจัดสรรที่ดินให้อย่างเป็นธรรม ฉะนั้น ทั้งรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือจะเป็นกระบวนการยุติธรรมก็ตาม ควรเพิ่มความเข้าใจให้เข้มข้นมากกว่านี้ว่า แท้จริงแล้วความชัดเจนเป็นมาอย่างไร มิใช่เพียงเพื่อจับกุม ตั้งข้อกล่าวหาแล้วโยนให้กระบวนการยุติธรรมพิพากษาให้เสร็จสิ้นไปตามกระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น
 

สู่ยุคแผนแม่บทป่าไม้ฯ ยุทธการทวงคืนผืนป่า

การเดินทางเพื่อร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบ หมุนเวียนผ่านความเหนื่อยล้ามาอีกครั้ง หลายชุมชนทั่วประเทศถูกปิดป้ายไล่รื้อ เช่น กรณีพิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จากคำสั่ง คสช. ที่ 64/57 ให้ผู้ถือครองออกจากพื้นที่ ภายใน 15 วัน นับแต่เข้ามาปิดประกาศในวันที่ 25 ส.ค.57 ผู้เดือดร้อนได้ร่วมเดินทางยื่นหนังสือข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกิดกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกันทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ, ทั้งจากคำสั่ง คสช.ที่ 64/57, จากแผนแม่บทป่าไม้ฯ กระทั่งมีมติในที่ประชุมให้รัฐบาลทบทวนแผนแม่บทฯ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน ในระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการที่มีทั้งประชาชนและหน่วยงานภาครัฐขึ้นมาร่วมกันแก้ไขปัญหา

แม้ความทุกข์ทนที่ถูกรัฐบาลหลายสมัยสั่งสม โยนภาระอันหนักหน่วงมาให้แบกรับนั้น ความหวังที่ผ่านมติการแก้ไขจะเริ่มผุดขึ้นมาบ้าง ทว่าในภาคปฏิบัติก็ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด นอกการตั้งโต๊ะร่วมเจรจาฯ ชะลอปัญหาออกไปพลางๆ เท่านั้น นั่นหมายความว่า การฉวยโอกาสแย่งชิงทรัพยากรของภาครัฐ และการหาจังหวะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ยังมีการกระหน่ำซ้ำเติมอย่างไม่ขาดสาย เช่น

  1. วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) นำแผ่นป้าย "ยุทธการทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 ส.ค.57 เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม”
     
  2. นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม และในที่ประชุมมีมติให้ให้ชาวชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง ผู้เดือดร้อนต้องเดินทางเข้าพบนายอำเภอคอนสาร เพื่อยื่นหนังสือให้รับทราบขบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน

ท้ายที่สุดชาวบ้านกลับมาถูกกระทำซ้ำอีก กล่าวคือ หลังปีใหม่ผ่านไปเพียงหนึ่งเดือน ความหวาดผวาได้หวนคืนสู่ชุมชนอีกระลอก เมื่อ 6 ก.พ.58 เจ้าหน้าสนธิกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ กว่า 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศไล่รื้อ โดยคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 ม.ค.58 เรื่อง สั่งให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่มีคำสั่ง อนึ่ง ผู้เดือดร้อนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งทำให้ผู้เดือดร้อนต้องเดินทางไปยื่นหนังสืออีกครั้ง ถึง 8 หน่วยงาน

กระบวนการแก้ไขล่าสุด ตามหนังสือที่ นร.0105/04/1701 ลงวันที่ 25 ก.พ.58 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งถึงสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ขอความร่วมมือชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานโครงการโฉนดชุมชน จึงเป็นเรื่องที่ปฎิเสธไม่ได้ ว่า รอยแผลเก่ายังไม่ทันจาง ความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต มักถูกจู่โจมเข้ามาเป็นฉากๆ อยู่เสมอ หากปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่แก้ให้ถูกจุด ไม่มีนโยบายคลอดออกมาอย่างชัดเจน อย่างถูกต้อง เสมอภาค ตามสิทธิของชุมชน จึงมีความพยายามของภาครัฐที่จะหาช่อง หลากวิธี มาต้อนให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่อยู่เสมอ
 

แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยชุมชน

ภายหลังเจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศไล่รื้อในวันที่ 6 ก.พ.นั้น แสดงให้เห็นว่า การฉวยโอกาสที่จะกระชากชาวบ้านออกจากพื้นที่ ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด ชาวบ้านจึงได้ร่วมออกแรงเดินทางไปยื่นหนังสือถึง 8 หน่วยงาน จากกรณีการยื่นหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาสั่งการเพื่อยกเลิกคำสั่งบังคับให้ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด โดยทางชุมชนโคกยาวร่วมยื่นหนังสือขอให้พิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน แนบไปด้วย ตามที่ชุมชนมีแผนจัดการทรัพยากรคืนผืนป่า พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในรูปแบบโฉนดชุมชน บนเนื้อที่ประมาณ 830 ไร่ กล่าวคือ

ขอคืนสิทธิให้กับชุมชนชนเป็นผู้ดำเนินการวางแผนการจัดการทั้งในเรื่องการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล คือ สมาชิกจะใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยเท่านั้น ไม่นำที่ดินไปทำธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่มีกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกมีหน้าที่ต้องช่วยกันปรับรูปแบบการผลิตให้พัฒนาไปสู่การเกษตรกรรมอินทรีย์แบบยั่งยืน เพื่อการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและที่อยู่อาศัยของชุมชน เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ ข้อพิพาทในพื้นที่ประสบปัญหามาโดยตลอด แม้จะมีกระบวนการแก้ไขมาหลายครั้ง ถึงที่สุดผลกระทบกลับตามมากระหน่ำซ้ำให้หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการปิดประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 เมื่อวันที่ 25 ส.ค.57 และมีเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ.58 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังขึ้นมากว่าร้อยนาย ทำให้การดำเนินชีวิตขาดความสุข เกิดความหวั่นเกรงภัยจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่รื้อ การทำมาหากินขาดช่วง การเตรียมการคืนผืนป่าเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนก็ติดขัด ด้วยเหตุนี้หากรัฐบาลมองตามเงื่อนไข คำสั่ง คสช.ที่ 66/57 ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมมาก่อน จะถือว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้าน ผืนดินอันน้อยนิดที่ทำเพียงการเกษตรจะได้มีความมั่นคง และแน่นอนว่า นั่นคือการคืนความสุขให้ประชาชน
 

บทพิสูจน์หัวใจรัฐบาลสู่การแก้ไข คืนความสุขให้ประชาชน

เพื่อความยั่งยืนของชุมชน รัฐบาลควรต้องนำมาทบทวน โดยสิ่งสำคัญอย่างแรกคือมุมมองและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อประชาชนว่า ชาวบ้านไม่ได้บุกรุก หากเป็นผู้บุกเบิกที่ดินทำกิน ด้วยการพลิกฟื้นผืนดินปลูกพืชผักท้องถิ่นในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้เป็นการแสดงออกของชาวบ้าน เพื่อให้สังคมเข้าใจว่าพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้ยูคาฯที่เจ้าหน้าที่นำเข้ามาปลูก นอกจากผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของหน้าดิน และอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่มานับจากปี 2528 มีความต่างกันอย่างไรบ้างกับในเรื่องสิทธิชุมชน

แม้ข้อพิพาทที่เรื้อรังมานาน จะมีคำสั่งให้ชะลอการไล่รื้อออกไปพลางก่อน ด้านผู้เดือดร้อนต้องการให้ยกเลิกการไล่รื้อโดยเด็ดขาด ด้วยการคืนสิทธิในที่ดินทำกิน ให้คนกับป่าสามารถอยู่ทำมาหากินด้วยกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถือเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนอย่างอย่างแท้จริงและยั่งยืน เพราะหากภาครัฐไม่มีมาตรการแบบนี้ ปัญหาซ้ำๆ จะส่งผ่านมากระทบชาวบ้านอีกอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรที่ชาวบ้านร่วมสร้าง ทั้งฟื้นฟูวิถีชีวิตและการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็จะถูกแย่งชิงสูญสิ้นไปพร้อมกับการไม่มีที่ดินทำกิน ถูกไล่รื้อ ไม่มีที่อยู่ ก็จะไม่มีผลผลิตให้สามารถนำมาหล่อเลี้ยงความสุขให้ชีวิตได้

ถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญ และท้าทายต่อทัศนคติในหัวใจของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้อย่างยิ่ง ที่จักต้องเร่งดำเนินการ เพื่อบรรเทาผลร้าย ป้องกันจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ร่วมปกป้องในสิทธิต่างๆ ของประชาชนที่จะถูกกระทำต่อไป เพราะปัญหาพิพาทที่ดิน ถือเป็นปัญหาในลำดับต้นๆ เป็นเรื่องนโยบายที่รัฐต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง หาใช่เพียงอาศัยข้อกฎหมาย แล้วโยนเข้าสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมเพียงด้านเดียว ควรหันมามองในด้านสิทธิชุมชนด้วย

ไม่เช่นนั้นแล้ว ปมคำถามที่จะตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดว่า ทำไมชาวบ้านตกเป็นฝ่ายถูกรังแก ถูกกระทำด้วยความไม่ชอบธรรม ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกโดยตลอด ทั้งที่ภาครัฐกลับไม่เคยเข้าใจว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไรบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ตลอดจนครอบครัว และญาติพี่น้อง ทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ถูกละเมิดสิทธิชุมชน ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net