Skip to main content
sharethis

ครม.เห็นชอบเก็บภาษี ‘ร.ร.กวดวิชา’ ประยุทธ์ พร้อมออก ‘หวยตู้’ รมว.ศึกษาฯ ระบุเก็บภาษีเพราะถือว่าเป็นการประกอบกิจการพาณิชย์เพื่อหากำไร ไม่เป็นห่วงเรื่องการปรับเพิ่มราคา

 

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังการประชุมครม. ถึงผลการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับปรุงร่างกฎหมายให้ทันสมัย รัดกุม ครอบคลุมพื้นที่ และแก้ปัญหาการขายสลากฯ เกินราคาว่า ซึ่งที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบตาม โดยจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายภายใน 3 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ครม.หารือกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะทำอย่างไรจะให้ราคาสลากฯ อยู่ที่ 80 บาท ซึ่งต้องใช้เวลาแก้กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเงินเข้ารัฐ เข้ากองทุน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นพ.ร.บ. จึงต้องแก้กฎหมายก่อน ถึงจะทำได้ว่าจะขายสลากฯ ด้วยวิธีไหนบ้าง จะขายทางตู้ได้หรือไม่ ต้องดูคดีความเดิมด้วย หรือต้องมีกฎหมายใหม่ เพื่อให้ขายทางตู้ได้ ส่วนหนึ่งคือการกระจายสัดส่วนของโควตาสลากการกุศลที่จะหมดอายุเรื่อยๆ ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ตรงนี้ต้องนำสัดส่วนที่หมดอายุมาจัดระเบียบไปเรื่อยๆ เพื่อกระจายสลากฯ ไปสู่คนอื่น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เวลานี้กำลังจะปรับทั้งหมด ทั้งระบบ คิดว่าภายใน 3 เดือน คงรู้เรื่องในส่วนของกฎหมาย และจะต้องแก้ให้เสร็จภายใน 6 เดือน จะทำให้ได้ในทุกวิถีทาง อาจจะขายตู้ก็ได้ ส่งโควตาไปที่จังหวัด เพื่อให้จังหวัดรวบรวมตัวแทนขายจะได้ไม่เดือดร้อนและถูกต้อง หรือขายในร้านสะดวกซื้อจะได้หรือไม่ แต่ไม่ใช่ส่งเสริมการพนัน แต่ต้องการลดราคาขายลงเหลือ 80 บาท ช่วงแรกจะต้องเลือกวิธีกัน ถ้าการขายผ่านตู้ออนไลน์ไม่ผิดกฎหมายก็ว่ากันไป หรือต้องจัดหาซื้อใหม่ เพราะของเก่ายังมีปัญหา และทางจังหวัดต้องขึ้นทะเบียนคนขาย

"เวลาคิดต้องคิดใหญ่ขนาดนั้น ถ้าคิดแล้วสั่งปุ๊บๆ มันไม่ได้ ไม่ได้ไปเกรงใจใครทั้งสิ้น จะมีกี่เสือไม่รู้ ไม่มีเสือทั้งนั้น มีเสือตัวเดียวคือรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาให้ได้ แต่ต้องแก้ด้วยกฎหมาย เพราะผูกพันด้วยคนส่วนใหญ่ ถ้าใช้อำนาจพิเศษมันเดือดร้อนจะใช้เท่าที่จำเป็น สลากฯ เป็นความหวังคนจน แต่ซื้อทุกงวดไม่ไหว วันหลังจะลองเปลี่ยนรถนั่งทุกวัน และตั้งแต่ผมเปลี่ยนรถมา ยังไม่เห็นใครถูกหวยเลย แสดงว่าหวยไม่ได้ล็อก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกฎหมายสลากฯ ฉบับเดิมใช้มาตั้งแต่ 40 ปีก่อน ซึ่งบางอย่างต้องมีการแก้ไข เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งให้ตอบสนองต่อนโยบายของคสช.และรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้ขายราคาสลากฯ เกินกว่าราคาหน้าสลากที่กำหนดไว้ที่คู่ละ 80 บาท

นายวิสุทธิ์กล่าวอีกว่า สาระสำคัญคือการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ จากค่าขายสลากใหม่โดยคงสัดส่วนเงินรางวัลไว้ที่ร้อยละ 60 ของยอดขายสลากฯ ทั้งหมด ส่วนรายได้ที่จะเข้ารัฐจะลดลงเหลือร้อยละ 20 จากเดิมที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 28 โดยจะกันเงินร้อยละ 5 ไว้สำหรับจัดตั้งกองทุนเพื่อรับซื้อสลากฯ เลขที่ไม่เป็นที่นิยม ขณะที่ส่วนลด ค่าบริหาร และกำไรอยู่ที่ร้อยละ 15

ครม.เห็นชอบเก็บภาษี ‘ร.ร.กวดวิชา’

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของโรงเรียนกวดวิชา ว่า "การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของโรงเรียนกวดวิชา ต้องไปดูด้วยว่าโรงเรียนกวดวิชาอยู่นอกระบบ หรือในระบบ เราต้องให้ความเป็นธรรม และต้องดูว่าอะไรที่ก่อให้เกิดรายได้ก็ต้องเสียภาษี นี่คือประเด็น ถ้าเสียขึ้นมา ถามว่าโรงเรียนกวดวิชาเขาเดือดร้อนหรือไม่ ต้องไปบอกโรงเรียนกวดวิชาเหล่า นั้นให้เสียภาษีบ้าง อย่าไปเพิ่มภาระให้แต่ ผู้ปกครอง แต่ถ้าเราช่วยกันทำความเข้าใจ คิดว่าก็ไม่เสียหาย ไม่ใช่ว่ารัฐบาลถังแตก วันนี้เราพยายามหาเงินทุกบาทให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างเสียหาย เราใช้เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้เท่านั้น"

โดย พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่าที่ประชุมครม.เห็นชอบให้จัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเอกชน ที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการดังกล่าว ทั้งที่เป็นกำไรสุทธิ หรือผลตอบแทน และเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี กระทรวงการคลัง คาดว่าจะจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ปีละประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบกิจการจะไปปรับขึ้นราคาค่าเรียนหรือไม่นั้น คงไม่สามารถไปควบคุมได้ เพราะถือเป็นสิทธิ์ของผู้ประกอบกิจการไปพิจารณาราคาที่เหมาะสมกับต้น ทุนเอง

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เร่งรัดดำเนินการจัดเก็บภาษีจากโรงเรียนสอนกวดวิชา ซึ่งต้องปรับปรุงข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน และยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา โดยกำหนดให้เงินได้กำไรสุทธิ หรือผลตอบแทนที่ได้จากกิจการโรงเรียนเอกชน ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมถึงเงินปันผล หรือส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้ หรือกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการของโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่ารวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินใดๆ ให้กับโรงเรียนเอกชน และการโอนกลับคืนเมื่อเลิกใช้ประโยชน์หรือเลิกกิจการ ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้บริจาคที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โรงเรียนเอกชน และการโอนกลับคืนเมื่อเลิกใช้ประโยชน์หรือเลิกกิจการ ยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เมื่อผู้อำนวยการ ผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชนออกจากงาน เพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพหรือตาย

พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามหลักการตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว จึงได้เสนอเป็นกฎหมาย 5 ฉบับ ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.แล้ว โดยรวมเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการโรงเรียนเอกชน และปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากโรงเรียนสอนกวดวิชา คือ ร่าง พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษีเงินได้กับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิ หรือผลตอบแทนจากกิจการโรงเรียนเอกชน หรือกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ร่างพ.ร.ฎ. ยกเว้นภาษีเงินได้กับมูลนิธิหรือสมาคม สำหรับเงินได้ หรือผลตอบแทนจากกิจการโรงเรียนเอกชน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่ารวมทั้งร่างพ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์บางกรณี ร่างกฎกระทรวงยกเว้นภาษีเงินได้จากผลตอบแทนที่ผู้ได้รับอนุญาตให้รับจัดสรรจากโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงเงินได้ที่ได้รับจากกิจการโรงเรียนเอกชนกวดวิชา และร่างกฎกระทรวงยกเว้นภาษีเงินได้ ให้กับผู้อำนวยการ ผู้บริหาร ครู หรือบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชน สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุน ซึ่งข้อกฎหมายทั้งหมดจะต้องไปหารือในชั้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่าการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เป็นการกำหนดให้โรงเรียนกวดวิชาเป็นนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้เหมือนนิติบุคคลทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้ทำให้รัฐได้รายได้เพิ่มมากขึ้นนัก แต่เรื่องนี้จะส่งผลในเรื่องของการเท่าเทียมทางการศึกษา และการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาในระบบได้ดีขึ้น ส่วนการปรับอัตราภาษีนี้จะทำให้โรงเรียนกวดวิชาผลักภาระไปให้ผู้บริโภคหรือไม่นั้น ก็ต้องจับตาดูต่อไป อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาค่าเล่าเรียนให้เท่ากับภาษีนิติบุคคลที่ 20 เปอร์เซ็นต์ อาจสูงเกินไป และทำให้ผู้เรียนในโรงเรียนกวดวิชาลด

"ภาษีโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้ทำให้รัฐได้รายได้เพิ่มมาก แต่จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมในการศึกษา ระหว่างเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนและเด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย และส่งผลทางอ้อมให้เด็กนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชาลดลงได้" รมช.คลังกล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลกับโรงเรียนกวดวิชา เพราะถือว่าเป็นการประกอบกิจการพาณิชย์เพื่อหากำไร ไม่เป็นห่วงเรื่องการปรับเพิ่มราคา ที่จะเป็นภาระกับนักเรียน เพราะมีหน่วยงานควบคุมการคิดค่าเรียน หากจะมีการขึ้นราคาต้องขออนุญาต ไม่ใช่ขึ้นตามใจชอบ

 

เรียบเรียงจาก ข่าวสดออนไลน์ และ ผู้จัดการออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net