Skip to main content
sharethis

“ถูกจับตา” เมื่อประชากรคนทำงานออฟฟิศที่อยู่หน้าคอมตลอดเวลามีกว่า 2.3 ล้านคนแล้ว ข่าวแชตแล้วถูกเลิกจ้างจึงสร้างความตื่นตระหนกอย่างยิ่ง ส่วนคนทำงานภาครัฐออกระเบียบกวดขันมานานแล้ว ด้านคนทำงานภาคอุตสาหกรรมและทำกิจกรรมสหภาพ พึงระวังนายจ้างจับผิดใช้อินเตอร์เน็ตสื่อสารสาธารณะ (ที่มาภาพ: ueunion.org)

คนทำงานออฟฟิศผวา แชตแล้วถูกเลิกจ้างได้ทันทีหรือ?

สืบเนื่องมาจากกระแสข่าวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา มีการนำคำพิพากษาฎีกาที่ 2564/2557 [1] มาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการแชตในเวลาทำงานแล้วถูกไล่ออกได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งถือว่าสร้างความสะเทือนให้กับแวดวงคนทำงานพอสมควร และทางข่าวต่อเนื่องจากนั้นก็มีการประโคมข่าวว่ามีการเลิกจ้างด้วยข้อหาแชตในเวลางานไปแล้วกว่า 30 ราย แต่ภายหลังทางเลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยได้ออกมาระบุกับว่าจากการสอบถามสมาชิกนายจ้างกว่า 500 บริษัทนั้น พบว่ามีการเลิกจ้างในลักษณะนี้เพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นพนักงานทดลองงาน ทำงานด้านบัญชี และที่ถูกเลิกจ้าง เพราะแชตและเล่นอินเทอร์เน็ตในเวลางานนานกว่า 1 ชั่วโมง บางวันแชตทั้งวัน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน ส่งงานไม่ทันตามกำหนด และก่อนหน้านี้นายจ้างได้ตักเตือนด้วยวาจา และออกหนังสือเตือนแล้ว แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงให้ออกจากงาน [2]

ข่าวคราวเหล่านี้ทำให้เหมือนกับว่าว่าลูกจ้างที่ใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในเวลางานเป็นประจำกำลังถูกต้อนให้จนมุม  แต่ความเห็นของนักกฎหมายและนักสิทธิแรงงานหลายท่านออกมาระบุว่าการนำเสนอข่าวไปในทางลักษณะที่ว่า กลับเป็นการสร้างความเกรงกลัวทำให้ลูกจ้างไม่กล้าใช้เวลางานมาแชตเรื่องส่วนตัว และอาจเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างและฉวยโอกาสเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ หากลูกจ้างไม่มีศึกษากฎข้อบังคับของสถานที่ทำงานและข้อกฎหมาย ซึ่งโดยปกติแล้วสำหรับการแชตในที่ทำงานนั้น หากมีความผิดตามกฎข้อบังคับและพบเป็นครั้งแรกนายจ้างจะต้องมีการตักเตือนก่อน หากเกิดขึ้นซ้ำหรือเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบร้ายแรงกับบริษัททำให้บริษัทเสียหาย นายจ้างถึงที่จะมีสิทธิเลิกจ้างได้

ทั้งนี้ตามการพิจารณาตามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 บัญญัติพฤติกรรม 6 ข้อของลูกจ้าง ที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ในกรณียกเลิกสัญญาจ้าง ดังนี้

1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

สรุปได้ว่า สำหรับกรณีพนักงานที่แชตเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่ขัดต่อกฎระเบียบและข้อบังคับในที่ทำงานและไม่ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงรวมทั้งไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากนายจ้างมาก่อน ก็อย่าพึ่งตื่นตระหนกแต่ควรทำความเข้าใจข้อบังคับของบริษัทและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันการถูกเอาเปรียบจาก “ความไม่รู้” ได้

คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในสถานประกอบการของไทย

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการ พ.ศ. 2557 พบว่าทั่วประเทศมีสถานประกอบการประมาณ 2.2 ล้านแห่ง เมื่อพิจารณาตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ สำหรับขนาดของสถานประกอบการนั้น สวนใหญ่มีขนาดเล็ก ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ภาพรวมการมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในสถานประกอบการของประเทศไทยมีไม่สูงมากนัก และมีแนวโน้มของการใช้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ร้อยละของสถานประกอบการที่มีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในปี 2554 - 2557 ของประเทศไทย

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

โดยมีจำนวนคอมพิวเตอร์ประมาณ 2.5 ล้านเครื่อง หรือเฉลี่ยประมาณ 4.4 เครื่องต่อกิจการที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และมีบุคลากรที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานเป็นประจำประมาณ 2.3 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 4.2 คนต่อกิจการ

จำนวนคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์เฉลี่ยต่อกิจการจำแนกตามขนาดของสถานประกอบการ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

โดยมีบุคลากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตในการปฏิบัติงานเป็นประจำ (เฉลี่ยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) ประมาณ 1.9 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 4.1 คนต่อกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุด 3 ลำดับ ดังนี้ (1) ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าร้อยละ 81.2 (2) รับส่งข้อมูลทางอีเมล์ร้อยละ 76.4 และ (3) ค้นหาข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 30

ร้อยละของสถานประกอบการที่มีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตจำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

และเมื่อพิจารณาตามกิจกรรมเศรษฐกิจ พบว่าสถานประกอบการที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนมีการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตสูงที่สุด รองลงมาเป็นกิจกรรมด้านข้อมูลข่าวสาร และธุรกิจการค้า/ธุรกิจการบริการ ส่วนการผลิตมีการใช้น้อยที่สุด

 

ข้าราชการออกกฎเข้มนานแล้ว มีระเบียบงดออนไลน์ 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555

แม้ระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับข้าราชการไทย ตัวอย่างเช่นการนำโปรแกรมไลน์มาใช้สื่อสารในหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ หน่วยงานด้านการปกครอง และบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ แต่กระนั้นการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลของข้าราชการก็กำลังถูกจับตา โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมากรมการปกครอง (ปค.) มีหนังสือด่วนที่สุดกำหนดแนวทางการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของทางราชการ โดยให้บุคลากรใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ห้ามข้าราชการใช้ในทางส่วนตัวที่ใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออีเมล์ ที่เข้าข่ายความผิดอาญา และให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุมดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ หากมีการกระทำความผิด จะถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาด้วย

โดยกรมการปกครองระบุว่าสาเหตุของการออกหนังสือฉบับดังกล่าวเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม 2558 มีข้าราชการกรมการปกครองรายหนึ่งได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของทางราชการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกระทำดังที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นอีก กรมการปกครองจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ ให้กำชับข้าราชการกรมการปกครองไม่ให้นำเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นหรือเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายต่างๆ ได้

ทั้งนี้หนังสือของกรมการปกครองดังกล่าวไม่ได้ห้ามหรือจำกัดสิทธิของข้าราชการกรมการปกครองที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารตามปกติ เพียงแต่ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการไปละเมิดบุคคลอื่นหรือทำผิดกฎหมายเท่านั้น

ความจริงแล้วระเบียบเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตของข้าราชการนั้น เป็นข่าวคึกโครมมาตั้งแน่ปี 2555  แล้วโดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น มีหนังสือลงวันที่ 6 ก.ย.2555 เรื่อง มาตรการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด โดยระบุว่าด้วยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตในรอบ 8 เดือน ปีงบประมาณ 2555 พบว่า โดเมนที่มีจำนวนการเรียกใช้มากที่สุด 10 อันดับแรก ปรากฏว่าเป็นการใช้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียงจากเว็บไซต์ของต่างประเทศในลักษณะออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อีกทั้งระบุว่าการใช้งานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ ทำให้สิ้นเปลืองช่องสัญญาณ (Bandwidth) จำนวนมาก

ทั้งนี้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยกำหนดมาตรการการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต โดยระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียง เช่น เฟซบุ๊ก ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานบางเว็บไซต์ และงดการใช้งานเว็บออนไลน์ ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 มาแล้ว

“คน-อินเตอร์เน็ต-ที่ทำงาน” ปัญหาระดับนานาชาติ

ผลกระทบจากการใช้อินเตอร์เน็ตในเวลางานเป็นปัญหาในหลายประเทศมามากกว่าสิบกว่าปีแล้ว ที่ส่งผลกระทบต่อเวลาทำงานและต่อตัวพนักงานเอง ตัวอย่างก็มีอาทิเช่น

กรกฎาคม 2002 รัฐบาลมาเลเซียออกมาขู่พนักงานของรัฐที่ใช้อินเตอร์เน็ตเข้าชมเว็บโป๊ในสถานที่ทำงานว่าจะโดนไล่ออกทันทีหากถูกจับได้ ส่วนกลุ่มสหภาพแรงงานได้ออกมาคัดค้านโดยระบุว่าเป็นการกระทำที่เข้มงวดเกินไปและควรให้โอกาสพนักงานเหล่านั้นได้รับโอกาสในการชี้แจงเพื่อป้องกันตนเอง

กันยายน 2002 ผลการสำรวจกิจการธุรกิจ 212 แห่งในอังกฤษระหว่างเดือนมิถุนายน 2002 พบจำนวนโทษทางวินัยร้ายแรงจากการกระทำผิดนโยบายการใช้อินเตอร์เน็ตและอีเมล์ของบริษัทนั้นมีมากกว่าการกระทำผิดแบบอื่นๆ เช่น ไม่ซื่อสัตย์ต่อบริษัท หรือละเมิดกฎเกณฑ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย เสียอีก  ในการสำรวจครั้งนั้นพบจำนวนความผิดทางวินัยร้ายแรงของบริษัทที่ร่วมในการสำรวจนั้นมีมากกว่า 358 คดีที่เกี่ยวกับการใช้อีเมล์และอินเตอร์เน็ต ส่วนความผิดเกี่ยวข้องกับความไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กรหรือละเมิดกฎความปลอดภัยมีเพียง 326 คดีเท่านั้น โดยความผิด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) การใช้งานอินเตอร์เน็ตบริษัทเพื่อกิจส่วนบุคคล (2) การส่งภาพโป๊ทางอีเมล์บริษัท และ (3) การเข้าถึงเว็บโป๊ นอกจากนี้พบว่าพนักงานประมาณร้อยละ 10 ที่ถูกไล่ออกนั้นมีความผิดในการใช้อีเมล์รับส่งภาพโป๊มากกว่าความผิดการส่งข้อมูลทำลายบริษัทเสียอีก

กันยายน 2008 มีผลสำรวจชิ้นหนึ่งระบุว่าว่าอินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางใหม่ให้พนักงานหลุดจากโลกแห่งความเป็นจริง ได้ทั้งที่ยังนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน และผู้คนที่ผ่านไปมาก็ไม่สังเกตเห็น ในออสเตรเลียพนักงานที่ติดอินเตอร์เน็ตใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรับส่งอีเมล์ โดย 1 ใน 3 เป็นอีเมล์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน พนักงานหลายคนทำธุรกรรมทางการเงินหรือซื้อของออนไลน์ ขณะที่หลายคนนิยมเข้าเว็บไซต์ประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ  มีการชี้ว่าพนักงานที่เกียจคร้านในยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์กับพนักงานที่หมดเวลาไปกับโลกไซเบอร์มีเหตุผลเดียวกัน บางคนต้องการโกงเจ้านาย บางคนต้องการพักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ผลการสำรวจของบริษัทจ่ายค่าสินไหมออนไลน์แห่งหนึ่งพบว่าพนักงานในสหรัฐฯ 6 ใน 10 คน ยอมรับ ว่าปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ระหว่างการทำงาน ร้อยละ 34 ระบุว่า การใช้อินเตอร์เน็ตในเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลางานมากที่สุด เหตุผลมีหลาก หลายกันไป เช่น เบื่อทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ได้ค่าจ้างต่ำเกินไป หรืองานไม่น่าสนใจ

ธันวาคม 2009 สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียระบุว่าพนักงานออฟฟิศบอกว่าโดยเฉลี่ยเข้าไปในเว็บเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊กเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานถึง เกือบร้อยละ 12.5 รายงานครั้งนี้ได้จากการตอบแบบสอบถามของพนักงานเกือบ 4,000 รายในเมืองหลักของอินเดีย พบว่าร้อยละ 84 ของผู้ตอบแบบ สอบถามที่อาศัยอยู่ในเมืองหลักของอินเดียเป็นกลุ่มที่เข้าขั้นมีสัญญาณส่อว่าเสพติดอินเตอร์เน็ตเนื่องจากใช้เวลาออนไลน์ในปริมาณมากกว่าปกติและไม่พอใจเมื่อถูกขัดจังหวะ

เมษายน 2010 ผู้ตรวจสอบวินัยและความประพฤติคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) เผยผลสรุปการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ SEC รวม 33 เรื่องใน 5 ปี ซึ่งระบุผู้บริหารฝ่ายบัญชีรวมถึงเจ้าหน้าที่อาวุโสรวม 17 ราย เล่นอินเตอร์เน็ตและเข้าเว็บโป๊ เพื่อดาวน์โหลดภาพปลุกใจในเวลางาน และเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดล้วนได้รับเงินเดือนสูงกว่าเจ้าหน้าที่ในระดับ ปฏิบัติการ โดยผู้กระทำผิดที่มีรายได้ต่อเดือนสูงสุดคิดเป็นเงินถึง 222,418 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ผลการตรวจสอบนี้ระบุว่าการกระทำผิดวินัยด้วยการเข้าเว็บโป๊ของเจ้าหน้าที่ SEC มีสถิติเพิ่มขึ้นนั้นอาจเกี่ยวพันกับความเครียดในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ

ฯลฯ

 

ภาคอุตสาหกรรมนายจ้างจับตากิจกรรมสหภาพ

สำหรับคนทำงานภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะพนักงานในไลน์ผลิตนั้น ปัญหาเรื่องการแชตหรือเล่นโซเชียลมีเดียในเวลาทำงานแทบจะไม่มีให้เห็น เนื่องจากข้อกำหนดและระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม มักจะไม่อนุญาตให้มีการนำโทรศัพท์มือถือ แทบเลต หรือคอมพิวเตอร์ที่มีการต่ออินเตอร์เน็ตเข้าไปในไลน์การผลิตอยู่แล้ว

แต่กระนั้นคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะนักสหภาพแรงงานที่ทำกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ซึ่งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกับนายจ้างบ้าง มักจะถูกจับผิดในเรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการสื่อสารด้านประเด็นความขัดแย้งกับนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการร้องเรียน ยื่นข้อเรียกร้อง รวมถึงการประท้วงต่างๆ พบว่าในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมานั้น นายจ้างมักจะใช้การฟ้องร้องคนงานด้วยข้อกล่าวหาการทำให้สถานประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียหรือการหมิ่นประมาท

กรณีตัวอย่างก็มีเช่น เมื่อปี 2553 สมาชิกสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี ได้ส่งอีเมลถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทและได้สำเนาเรียนสหภาพแรงงานและบุคคลต่างๆ เพื่อร้องเรียนว่ามีผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งได้เรียกไปพบและแจ้งให้ยุติการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพ และผู้บริหารท่านนั้นยังได้สาปแช่งบุตรซึ่งกำลังป่วยอยู่ให้ตายไป หลังอีเมลดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปผู้บริหารท่านนั้นจึงฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

หรือกรณีในการประท้วงของสหภาพแรงงานภาคยานยนต์แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเมื่อปี 2556 ได้มีการเผารถจำลองเป็นสัญลักษณ์และได้มีการโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียรวมทั้งสื่อต่างๆ นำไปเผยแพร่ ซึ่งนายจ้างก็ได้ฟ้องร้องแกนนำสหภาพแรงงานคนหนึ่งว่าทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง

และกรณีเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแห่งหนึ่งได้ออกคำสั่งให้ประธานสหภาพแรงงานของบริษัทหยุดงานชั่วคราวและขออนุญาตศาลแรงงานเลิกจ้าง โดยบริษัทระบุว่าตรวจพบว่าประธานสหภาพแรงงานท่านนี้ ได้โพสต์เฟซบุ๊กในนามเฟซบุ๊กของสหภาพแรงงานมีข้อความที่กล่าวถึงผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคลในลักษณะดูหมิ่นใส่ความอันจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งบริษัทระบุว่ากรณีนี้เป็นการกระทำการที่มุ่งยุยงส่งเสริมให้แตกแยกความสามัคคี ทำให้เป็นผลเสียต่อการทำงาน และการบริหารงานบุคคล บริษัทจึงขออนุญาตศาลแรงงานลงโทษทางวินัยด้วยการเลิกจ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net