Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ เผย รถไฟความเร็วสูง 2 สาย อยู่ระหว่างการเจรจากับ ซี.พี. ไทยเบฟฯ และบีทีเอส ย้ำจะเร่งดำเนินการให้ทันในรัฐบาลนี้ ด้านประจิน เผยแนวคิดรัฐบาล ทำรถไฟความเร็วสูงระยะสั้น ดีกว่าระยะยาว เพราะคืนทุนเร็วกว่า<--break- />

 

10 มี.ค. 2558 เมื่อวานนี้(9 มี.ค. 2558) หลังจาก พล.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในการเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาอุโมงค์ที่สอง (Eastbound TBM Launching Ceremony)โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย-สถานีท่าพระ ได้กล่าวถึงการเดินหน้าพิจารณาศึกษารูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ระหว่างกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา

โดยมติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากที่มีแนวคิดจะให้เอกชนไทยที่มีศักยภาพมาร่วมลงทุนไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ซี.พี. หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ไทยเบฟฯ และบริษัท บีทีเอสฯ โดยมี 2 เส้นทางที่จะเร่งดำเนินการให้ทันในรัฐบาลนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน

ซึ่งแนวคิดคือ ทางเอกชนจะไปกู้เงินก้อนใหญ่มาก่อสร้างให้ โดยอาจจะร่วมกันหลายบริษัทเป็นลักษณะโฮลดิ้ง อาจจะเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศบ้าง ในประเทศบ้าง ก็แล้วแต่เอกชนจะดำเนินการ จากนั้นจะเข้ามาร่วมกับภาครัฐบาล และมาเจรจาว่าจะลงทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น 70:30  หรือ 50:50 หรือรับสัมปทาน แบ่งปันผลประโยชน์ จะมาคุยในรายละเอียดกันต่อ

"เงินก่อสร้างเป็นแสนล้านบาท ไม่ใช่เงิน 5 บาท 10 บาท เขากำลังตัดสินใจกันอยู่ เพื่อหาข้อเสนอให้เหมาะสม ถ้าไม่เหมาะสม เขาก็ไม่ทำ ก็จบ ปีนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน" นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำ

ขณะเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ว่า ขณะนี้ ทางกลุ่มซีพี และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้เข้ามาขอข้อมูล ขณะเดียวกัน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) ได้ส่งหนังสือขอประสานมาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างนัดหารือ โดยกระทรวงคมนาคมกำลังรวบรวมแผนงานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา เพื่อนำเสนอครม.ขออนุมัติในหลักการเดือน พ.ค. นี้

นอกจากนี้จะบรรจุโครงการเพิ่มเติมในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ช่วยลดปัญหาการจราจรทางถนน, ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน, ลดงบประมาณซ่อมบำรุงถนนและลดระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ส่วนรูปแบบการร่วมลงทุน PPP ซึ่งทำได้ทั้งการเจรจากับผู้สนใจ เหมือนโครงการรถไฟไทย-จีน หรือเปิดประมูลแข่งขัน แต่เพื่อไม่ให้มีข้อครหาเรื่องความโปร่งใส โดยจะประมูลเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินก่อน เพราะมีปัญหาการเดินทางโดยรถยนต์ไม่สะดวก โดยค่าก่อสร้างเบื้องต้นหากความเร็วระหว่าง 200-250 กม./ชม.นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 350 ล้านบาท/กม. บวกความยากหรือง่ายของการก่อสร้างและขึ้นกับสภาพภูมิประเทศที่เส้นทางผ่าน โดยจะนำข้อมูลที่มีประโยชน์ของผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิม เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ,กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง มาใช้ร่วมด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และทำให้โครงการมีความคุ้มทุน ซึ่งแนวคิดของรัฐบาลเห็นว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงยิ่งระยะทางยาว ยิ่งใช้เงินมาก และคืนทุนยาก เพราะเมื่อลงทุนสูงจะกำหนดค่าโดยสารสูงผู้โดยสารจะน้อย และหากเน้นเส้นทางที่จะมีผู้โดยสารมาก แบ่งสัดส่วนการลงทุนและการหารายได้ให้เหมาะสม จากการเดินรถประมาณ 40% และการบริการที่สถานี,พัฒนาชุมชนใหม่ที่ต่อเนื่องกับสถานีอีก 60% จะคืนทุนได้หลังปีที่ 10 ไปแล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net