Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

บทนำ

ปัจจุบันมีผู้ตั้งข้อสังเกตมากมายถึงรูปแบบการจัดระบบองค์การการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ว่ามีอิทธิพลของความเป็นเผด็จการและความอนุรักษ์นิยม (conservative) แอบแฝงอยู่มาก ทำให้สังคมสงฆ์ในปัจจุบันมีรูปแบบการจัดองค์การที่กลายเป็นองค์กรแบบรวมศูนย์ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางวงล้อม กระแสแห่งการปฏิรูปประชาธิปไตย และการเมืองภาคประชาชน นี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของหลายสาเหตุ ที่ทำให้องค์กรสงฆ์เกิดปัญหาด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในหลากหลายด้าน อันมีสาเหตุจากอิทธิพลของกฎหมายปกครองสงฆ์ที่ไม่ยืดหยุ่น และเอื้อต่อระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวมา

ดังนั้นการศึกษาทำความเข้าใจถึงความเป็นมาและพัฒนาการของอิทธิพลของระบบการปกครองรัฐไทยที่มีผลต่อการจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสนใจและร่วมกันแสวงหาทางออก เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงรากเหง้าแห่งความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยของสังคมสงฆ์ และเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเหตุผลและคำตอบของคำถามที่ว่าเหตุใดรูปแบบการปกครองสงฆ์ไทยจึงกลายมามีรูปแบบที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน


จุดมุ่งหมายของสังคมสงฆ์ที่แท้ จุดมุ่งหมายที่ต้องไปให้ถึง

พระพุทธเจ้าทรงสร้างสังคมสงฆ์ เพื่อให้เป็นตัวแทนแห่งผู้ศึกษาปฏิบัติตนตามคำสอนและสืบทอดสั่งสอนสังคม เพื่อธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา เป็นตัวกลางระหว่าง ธรรมะและสังคม เป็นตัวเชื่อมสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การสร้างสังฆะให้เป็นสังคมแห่งการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ในสังคมให้สูงสุดได้อย่างที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ดีเมื่อพระองค์ทรงสร้างสังคมขึ้นมาแล้ว ย่อมเกิดปัญหาความไม่เรียบร้อยในหมู่สงฆ์ที่ยังไม่บรรลุธรรมและไม่เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการมีองค์กรสงฆ์บ้าง ตามธรรมดาของมนุษย์ที่มาจากหลากหลายกลุ่มชนและมีพื้นฐานความคิด คติ และสาเหตุในการเข้ามาบวชแตกต่างกัน พระพุทธองค์จึงทรงสร้างหรือวางข้อบัญญัติซึ่งเรียกว่า พระวินัย หรือพระวินัยบัญญัติขึ้นแก่คณะสงฆ์ เพื่อให้เป็นระเบียบแบบแผนเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อความเรียบร้อยและอยู่เป็นปกติของคณะสงฆ์ โดยทรงมีจุดมุ่งหมายคือเน้นที่การวางกฎเพื่อเอื้อต่อการสร้างให้สังคมสงฆ์เป็นสังคมแห่งการศึกษาเพื่อเข้าใจสัจธรรม และเมื่อก่อนจะปรินิพพาน พระองค์ยังได้ตรัสสั่งให้พระสงฆ์ยึดพระธรรมและพระวินัย ที่ทรงวางเอาไว้เป็นใหญ่กว่าบุคคลที่ไม่มีความแน่นอน และพระสงฆ์ทั้งมวลก็น้อมรับนำแนวคิดนี้มาปกครองสงฆ์สืบมา โดยยกให้พระวินัยอันวางไว้ดีแล้ว เป็นหลักในการสร้างและรักษาสังคมสงฆ์ให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ภายใต้การควบคลุมตรวจสอบทั้งจากพระสงฆ์เองและประชาชนทั้งในและนอกศาสนา ดังพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 1  พระวินัยปิฎก เล่มที่ 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 ว่า “อปฺปสนฺนานํ  วา  ปสาทาย  ปสนฺนานํ  วา  ภิยฺโยภาวาย” อันแปลว่า “เพื่อยังชนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส และให้ชนที่เลื่อมใสแล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้น”    ภายใต้ปรัชญาดังกล่าว ทำให้สถาบันสงฆ์ในฐานะสถาบันหนึ่งในพระพุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่รอดท่ามกลางความกดดันและความผันแปรทางการเมืองและสงครามมาได้โดยตลอดช่วงเวลากว่า 2,500 ปี ทำให้องค์กรสงฆ์เป็นองค์กรที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ สามารถทำหน้าที่และดำรงอยู่สืบเนื่องยืนยาวมามากกว่าองค์การใดในโลก แต่เมื่อมามองที่คณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน กลายเป็นว่าได้มีปัญหาหลาย ๆ ประการเกิดขึ้น ทั้งความล่าช้าในการวินิจฉัยอธิกรณ์ของสงฆ์ ความขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน รวมไปถึงการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ที่ยึดถือตามตามแบบแผนโบราณ ที่ละเลยวัตถุประสงค์หลักของพระพุทธองค์ ทำให้หลายส่วนประสบปัญหาด้านประสิทธิผล ที่นำมาใช้ได้จริงในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสังคมปัจจุบัน จนมีบางท่านกล่าวว่าล้าสมัยไม่ทันต่อเหตุการณ์และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านบุคลากรและเผยแพร่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทยโดยรวม

ทั้งหมดนี้สังเกตได้จากความพยายามของพระสงฆ์และผู้มีส่วนเกี่ยวของที่มองเห็นปัญหาและหาทางปฏิรูปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของคณะสงฆ์ให้มีความคล่องตัวและเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ในภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามลดระบบศักดินาที่แอบแฝงอยู่ในคณะสงฆ์เพื่อเปิดทางให้สังคมสงฆ์เข้าสู่ยุคแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคม ดังที่พระพุทธเจ้าทรงหวัง ไม่ใช่ยุคแห่งอนุรักษ์นิยมที่เน้นอำนาจและตัวบุคคลที่ไม่มีความแน่นอน ที่เอื้อต่อการขาดประสิทธิภาพและวิสัยทัศน์ในการปกครอง จนปล่อยปละละเลยให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ล้มเหลวในด้านผู้เป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชน กลายมาเป็นสาเหตุของเสื่อมความศรัทธาเลื่อมใสและความเจริญของพระพุทธศาสนาเสียเองเช่นในปัจจุบัน

เช่นนั้นแล้ว เหตุใด? คณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันจึงมีปัญหามากมาย สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างชัด เพื่อเป็นคำตอบหนึ่งของการค้นหาปัญหาที่ยังถูกหมักหมมและเป็นแนวทางหาทางแก้ไขให้สังคมสงฆ์ไทยกลับไปเป็นสังคมแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพเช่นในสมัยพุทธกาล


ยุคพระธรรมวินัยที่ประชาชนถือพระสงฆ์เป็นผู้ให้การศึกษาแก่สังคม

พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยมานานกว่า 2,500 ปี จากการมาของสมณทูตแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช นักโบราณคดีต่างสันนิษฐานว่าเมืองแห่งแรกในดินแดนแถบนี้ที่ยอมรับนักถือพระพุทธศาสนาคือเมืองต่าง ๆ กัน บ้างก็ว่าคือนครปฐม เมืองหลวงแห่งอาณาจักรแห่งทวารวดีโบราณ ก็ว่าคือเมืองสะเทิม ในรัฐมอญของพม่า บ้างก็ว่าคือเมืองอู่ทอง ในดินแดนภาคกลางประเทศไทยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ข้อสันนิษฐานจะต่างกันไป แต่พระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ได้กลายเป็นตัวจักรสำคัญในการเอื้อต่อการวางรูปแบบปกครองรัฐรุ่นแรก ๆ ในดินแดนแถบนี้ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า ในสมัยนั้น ดินแดนแถบนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านก้าวกระโดดจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเริ่มแรกของการตั้งบ้านเมืองอาณาจักร เมื่อผู้ปกครองรับนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ต่างก็สถาปนาตัวผู้ปกครองรัฐเป็นธรรมราชาหรือพระมหากษัตริย์ตามคติศาสนา ดังในคติมอญ พระมหากษัตริย์จะมีคำว่าธรรมราชาต่อท้าย เป็นสิ่งแสดงถึงความสูงส่งในบารมีและเป็นฐานอำนาจในจิตสำนึกของประชาชนที่สำคัญในการผูกโยงและสร้างสถาบันกษัตริย์อันมั่นคงให้แก่ผู้ปกครอง ในขณะที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนาไปด้วยกันในฐานะฐานอำนาจทางจิตใจของสถาบันและคนในสังคม พระพุทธศาสนาจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวเร้าสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองโบราณแถบนี้มีการพัฒนาจากยุคสังคมกสิกรรมก่อนประวัติศาสตร์ ไปเป็นสังคมซับซ้อนแบบอาณาจักร มีตัวอักษรใช้ (อักษรปัลลวะซึ่งรับมาจากอินเดีย เป็นอักษรตระกูลเดียวกับอักษรพราหมีในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช) มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม แน่นอนว่าพระสงฆ์ย่อมต้องอยู่ในสถานะที่สูงส่ง ในฐานะผู้นำพัฒนาความความเจริญและสั่งสอนสืบทอดองค์ความรู้แก่คนในสังคม ความสำคัญนี้ได้ดำรงอยู่กับพระสงฆ์สืบมาจนถึงช่วงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยครั้งใหญ่ในช่วงไม่ถึงร้อยกว่าปีมานี้ อย่างไรก็ดี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รัฐหรือผู้ปกครองต่างก็ให้ความเคารพและยกย่องพระธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่มีการวางกฎระเบียบหรือจัดองค์กรสงฆ์ให้ผิดแผกไปจากพระธรรมวินัย กล่าวคือพระสงฆ์ก็ยังคงดำรงองค์กรอยู่ด้วยพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้ ภายใต้ “ความสัมพันธ์ 3 เส้า” ที่ได้สมดุลกันคือ พระสงฆ์ ประชาชน และรัฐ หรือถึงแม้มีการจัดองค์กรปกครองสงฆ์โดยฝ่ายรัฐ ก็ยังให้ความเคารพในพระธรรมวินัย กฎหมายที่ออกมาแก่สงฆ์ต่างก็เป็นตัวเสริมความหนักแน่นของบทลงโทษในพระวินัยบัญญัติเท่านั้น หาเป็นการเปลี่ยนหรือเสริมจนเกินขอบเขตพระวินัยจนไร้สาระไปเช่นในปัจจุบัน ดังเช่น “กฎพระสงฆ”  (สะกดตามตัวสะกดเดิม) ในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บังคับใช้แก่ผู้กระทำต้องอาบัติปาราชิกขั้นร้ายแรง ซึ่งนอกจากจะต้องสึกจากความเป็นพระแล้ว ยังต้องถูกประหารชีวิต และหลวงเข้าริบราชบาทว์เฆี่ยนตีญาติโยมของผู้ต้องอาบัติหนักนั้นอีกด้วย โดยสรุปในช่วงก่อนมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  รัฐเข้ามาจัดองค์กรสงฆ์ในลักษณะเป็นตัวเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรมวินัย ทำให้พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าสามารถเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ช่วยให้องค์กรสงฆ์ดำรงสถานะเป็นผู้นำด้านปัญญาหรือการศึกษาในสังคมมาโดยตลอดได้โดยไม่ถูกบังคับหรือจำกัดสิทธิ์จากฝ่ายรัฐที่มีความศรัทธาและ “ไว้ใจ” ในตัวบทบัญญัติแห่งพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า

 

จุดเริ่มต้นแห่งยุคอำนาจนิยมในคณะสงฆ์

ความเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรสงฆ์ตามพระธรรมวินัยต้องถูกลดบทบาทจากรูปแบบกระแสหลักไปเป็นตัวประกอบ เริ่มมาจากความเปลี่ยนแปลงรัฐประศาสโนบายของผู้ปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 จากนโยบายรวมศูนย์กลางอำนาจของรัฐเข้าสู่ศูนย์กลาง ภายใต้ชื่อ “มณฑลเทศาภิบาล” ในขณะที่มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรก เพื่อกำกับดูแล และจัดระเบียบการปกครองสงฆ์ใหม่หมดทั่วสังฆมณฑล ให้สามารถตอบสนองและเป็นผู้ถ่ายถอดนโยบายและค่านิยมที่ส่วนกลางสร้างขึ้นแก่ประชาชนได้ แต่ทว่าด้วยรูปแบบการจัดองค์กรที่เน้นที่ผู้ปกครองส่วนกลาง ทำให้กฎหมายดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรสงฆ์ที่เน้นอำนาจเป็นใหญ่ และจากการปฏิรูปการศึกษาในสมัยต่อมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์เริ่มถูกลดบทบาทจากการเป็นผู้นำความรู้และคนในสังคม ทำให้องค์กรสงฆ์จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถรับได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ทว่าด้วยการเน้นอำนาจที่มาจากกฎหมายดังกล่าว ทำให้องค์กรสงฆ์ได้อำนาจที่อนุรักษ์นิยมและไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้องค์กรสงฆ์ชะงักและไม่พัฒนาในบางช่วงจนตามการศึกษากระแสใหม่ไม่ทัน และกลายเป็นว่าพระสงฆ์ได้ถูกลดบทบาทจากผู้นำเป็นผู้ตามทั้งจากอิทธิพลของความเปลี่ยนแปลงและความชะงักงันจนตามไม่ทันของผู้นำองค์กรสงฆ์เอง


ยุคสงฆ์นิยมประชาธิปไตย

จนต่อมาหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แล้ว ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี  โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงการจัดองค์กรปกครองสงฆ์ที่เปลี่ยนไปจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยชัดเจน ซึ่งเริ่มมีหลักการสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย  และเน้นที่ตัวพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลในการที่รัฐจำต้องปรับปรุงรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองบ้านเมือง จาก แถลงการณ์เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเมื่อ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2484 ออกตามความในราชกิจจานุเบกษา ความว่า (สะกดตามตัวสะกดเดิม)

“พระราชบัญญัติฉะบับใหม่นี้ ได้ถือหลักพระธรรมวินัยเป็นข้อสำคัญ ดังจะเห็นได้ในข้อบัญญัติหลายมาตรา ที่ไม่ยอมให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ขัดกับพระธรรมวินัย และถือหลักที่ว่า การกระทำทุกอย่างจะต้องเป็นไปในทางรักษาพระวินัยให้เคร่งครัด”

ผลของการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ เห็นได้จากความตื่นตัวของพระสงฆ์ในการมีส่วนร่วมในการปกครองตามรูปแบบพระราชบัญญัติที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย การได้นักวิชาการศาสนาที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหารองค์กรสงฆ์ และมีการรื้อฟื้นความเป็นผู้นำในด้านการศึกษาของสงฆ์จากการเริ่มดำเนินกิจการมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งขึ้นใหม่ในช่วงนี้ คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2488 และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2490 ที่ถูกทอดทิ้งไปในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5


ยุคเผด็จการในคณะสงฆ์

แต่ทว่าจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2505 หลังจากอำนาจของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ผู้นำสายคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2475 สิ้นสุดลง จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ นายกรัฐมนตรีสายนิยมกษัตริย์ ได้เข้ามามีอำนาจ ผลของรัฐบาลใหม่นี้ บางท่านกล่าวว่า เป็นยุคที่นำประเทศไทยเข้าสู่ยุคมืดแห่งการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร หลังจากที่ท่านได้ทำลายสถาบันประชาธิปไตยในฝ่ายอาณาจักรจนหมดสิ้นแล้ว จอมพลสฤษดิ์จึงเริ่มหันมาทำลายระบอบประชาธิปไตยในฝ่ายศาสนจักร โดยการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับใหม่ ซึ่งมีเค้าโครงมาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 5  ซึ่งเน้นหนักที่การให้อำนาจรวมศูนย์กับผู้ปกครองสงฆ์เป็นอย่างมาก เช่น ตามความในมาตรา 8 พระสังฆราชสามารถออกพระอักษรได้โดยไม่ต้องผ่านมหาเถรสมาคมและมหาเถรสมาคมจำต้องปฏิบัติตาม หรือการที่ให้เจ้าอาวาสมีอำนาจปกครองวัด และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการจัดการวัด ผู้ฝ่าฝืนถือว่าผิดกฎหมายฐานละเมิดคำสั่งเจ้าพนักงาน เช่นเดียวกันการละเมิดคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งเป็นให้อำนาจที่มากและเหมือนเผด็จการกลาย ๆ สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นที่มีรูปแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ สำหรับในวงการผู้ปกครองคณะสงฆ์เองนั้น แม้ในคณะสงฆ์เองก็มีการเปลี่ยนอำนาจจากคณะสังฆมนตรีเดิมที่เป็นนักวิชาการศึกษา เช่น พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) พระผู้พัฒนางานด้านพระพุทธศาสนาและการฟื้นฟูเผยแผ่พระพุทธศาสนาหัวก้าวหน้า หรือพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ราชบัณฑิตและนักวิชาการศาสนารูปสำคัญที่ริเริ่มวันอาสาฬหบูชา โดยพระพิมลธรรมนั้น ได้ “ถูกกระทำถึงขั้นต้องติดคุกทั้งผ้าเหลือง” ผลของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่มีต่อการเป็นผู้นำในด้านการศึกษาและพัฒนาคุณธรรมของคณะสงฆ์ พิจารณาได้จากกฎมหาเถรสมาคมหลายฉบับที่ออกมาในช่วงแรก ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความขาดวิสัยทัศน์การพัฒนาบุคลากรสงฆ์ ความอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง และการรวมศูนย์อำนาจอย่างชัดเจน เช่น คำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่อง ห้ามภิกษุสามเณร เรียนวิชาชีพหรือสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. 2521 ซึ่งไม่มีการระบุหรือนิยามให้ชัดเจนถึงวิชาชีพที่ห้ามพระเณรศึกษา ทำให้สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ห้ามพระเณรเข้าศึกษาโดยเด็ดขาดในทุกสาขาวิชาทั้งสายวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์โดยอ้างคำสั่งนี้ พระสงฆ์นักการศึกษาส่วนใหญ่จึงขาดการพัฒนาและต่อยอดความรู้ ทำให้พระสงฆ์ที่จบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ส่วนใหญ่จำต้องหาทางออก ด้วยการออกไปศึกษาวิชาการต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ที่ไม่มีคำสั่งหรือกฎที่จำกัดสิทธิ์ทางการศึกษาอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยทุนค่าใช้จ่ายที่มากมายมหาศาล และแม้ในช่วงหลังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย จะมีการผ่อนคลายบ้างแล้ว แต่อิทธิพลของคำสั่งนี้ก็ยังมีอยู่ ดังในการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะไม่รับพระเณรเข้าเรียนปะปนกับฆราวาส โดยอ้างเหตุผลจากคำสั่งดังกล่าว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่มีต่อการจัดการปกครองสงฆ์นั้น ได้ทำให้มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าส่วนกลางอย่างเบ็ดเสร็จ โดยรวบอำนาจเข้าสู่มหาเถรสมาคม ดังที่ ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ กล่าวไว้ว่า คณะสงฆ์เติบโตโดยปราศจากการถ่วงดุลและการตรวจสอบจากภาคประชาชนและภาครัฐ ประชาชนและพระสงฆ์ชั้นผู้น้อยไม่มีสิทธิ์เสียงในการตรวจสอบการใช้อำนาจในคณะสงฆ์ และในกิจการพระพุทธศาสนาทั้งปวง ส่งผลให้ผู้มีอำนาจในคณะสงฆ์มั่งคั่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่พระเถระผู้มีอำนาจซึ่งส่วนใหญ่ชราภาพแล้ว ไม่อาจแก้ปัญหาภายในของคณะสงฆ์ รวมทั้งภัยคุกคามพระพุทธศาสนาทั้งจากภายในและจากภายนอกได้เลย ส่งผลกระทบให้พระพุทธศาสนาโดยรวมเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ และไม่ว่าด้วยสาเหตุใด แม้การเมืองการปกครองไทยจะเปลี่ยนแปลงไป ผู้ปกครองผ่านมาและผ่านไป รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งและแก้ไขสร้างขึ้นใหม่โดยตลอดหลายฉบับ ก็ไม่ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับเผด็จการนี้แต่อย่างใด ซึ่งแม้ว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ในปี พ.ศ. 2535 แต่ทว่า เป็นการแก้ไขในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหารที่มาจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) ซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากประชาชน โดยผลของการเปลี่ยนแปลงทำให้อำนาจในการวางตัวผู้เข้าสู่มหาเถรสมาคมเป็นไปโดยผู้อาวุโสโดยสมณศักดิ์ ซึ่งการแต่งตั้งสมณศักดิ์ก็มาจากการพิจารณาจากมหาเถรสมาคมนั่นเอง ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากฎหมายคณะสงฆ์ฉบับต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นการรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จอย่างถึงที่สุด ภายใต้ “สังฆธรรมนูญ” ที่รัฐ “สร้าง” เพื่อครอบงำและ “บอนไซ” สงฆ์ให้ “เชื่อง”  สามารถควบคุมได้โดยสะดวก และทำให้พระสงฆ์ขึ้นตรงอยู่กับองค์กรแบบระบบราชการ (Bureaucratic) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบโครงสร้างที่แยกพระสงฆ์ออกจากประชาชน ตัวอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ผู้ปกครองสงฆ์กลายมาเป็นผู้ให้คุณให้โทษอย่างเบ็ดเสร็จโดยไม่คำนึงถึงความเห็นของประชาชนในท้องถิ่นรอบวัดเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสงฆ์นั้น กว่าจะพ้นจากตำแหน่งก็ต่อเมื่ออายุพ้น 80 ปี  ซึ่งทำให้ภาระงานคณะสงฆ์ตกที่พระสงฆ์ผู้แก่พรรษาโดยมาก จึงทำให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพและขาดวิสัยทัศน์ รวมทั้งมีความอนุรักษ์นิยมที่บางครั้งขัดขวางต่อการพัฒนาคณะสงฆ์ดังที่ พระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี กล่าวว่า “การเมืองคณะสงฆ์ เป็นสังคมแห่งการแก่งแย่งแข่งดีและน่าเบื่อ” และพระมหานรินทร์ นรินฺโท ที่ได้กล่าวสรุปถึงผลของสถานการณ์เช่นนี้ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การให้พระผู้ชราภาพ... ดำรงตำแหน่งผู้บริหารคณะสงฆ์นั้น เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาให้ล้าหลัง... เมื่อพระผู้เฒ่าแบบนอนโรงพยาบาลบริหารบ้านเมืองยังคงกุมอำนาจไว้ในย่ามอยู่อย่างไม่รู้วันตาย ก็อย่าหวังเลยว่าสังฆมณฑลไทยจะเจริญ”  ด้วยเหตุผลหลายประการดังกล่าว จึงกลายเป็นว่า องค์กรสงฆ์กลายเป็นผู้ถูกกระทำ โดยตัว “กฎหมายคณะสงฆ์” ของรัฐเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์โดย “ส่วนใหญ่” ขาดประสิทธิภาพในด้านการเป็นผู้นำด้านจิตใจของสังคมในเวลาต่อมา


การปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์ไทยคืนสู่พระธรรมวินัยภายใต้การอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ดีหลังการได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็มีความพยามจากหลายภาคส่วนในการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ทว่า ด้วยความยึดมั่นในอิทธิพลอย่างมั่นคงของมหาเถรสมาคม ทำให้ร่างพระราชบัญญัติไม่มีการแตะต้องมหาเถรสมาคมที่เป็นผู้กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในคณะสงฆ์ สิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงใจต่อไป

ดังนั้น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายคณะสงฆ์เพื่อให้มีความสอดคล้องกับระบบการปกครองประเทศ และในขณะเดียวกันก็สามารถสอดคล้องกับรูปแบบโครงสร้างคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย จึงควรเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคมทั้งภาครัฐ พระสงฆ์และประชาชน หลักการสำคัญที่ควรปรับปรุง คือการจัดวางโครงสร้างการปกครององค์กรสงฆ์ในระดับพระสังฆาธิการผู้บริหารทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสถึงกรรมการมหาเถรสมาคมให้เป็นระบบที่มีการตรวจสอบได้, โปร่งใสและยึดหลักคุณธรรมที่ใช้ดุลพินิจให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม ไม่เปิดช่องโหว่ให้มีระบบเส้นสายและวิ่งเต้นแบบข้าราชการ โดยไม่วางระบบที่เอื้อต่อระบบอุปถัมภ์ที่ยึดติดกับตำแหน่งอย่างเหนียวแน่น กฎระเบียบเหล่านี้จำต้องแก้ไขโดยเร็ว เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการพยายามรักษาและสืบทอดฐานอำนาจและการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการดำรงตำแหน่งเพื่อพัฒนาองค์กรสงฆ์ให้เป็นองค์กรเพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากแก้ไขได้ดังกล่าว พระสังฆาธิการในระบบใหม่ทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้การตรวจสอบและดูแลขององค์กรนักวิชาการพุทธศาสนา ที่มาจากพระสงฆ์ที่มีความรู้และได้รับการคัดเลือกมาจากพระสงฆ์ทั่วประเทศ แทนที่จะเป็นระบบแต่งตั้งสืบทอดอำนาจกันภายในวัดตัวเองเช่นในปัจจุบัน และภายใต้กฎใหม่ที่ให้สิทธิในการตรวจสอบและตั้งอธิกรณ์ได้ ทั้งจากพระสงฆ์และฆราวาสต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอธิกรณ์สงฆ์ (ศาลปกครองสงฆ์) ซึ่งทั้งสององค์กรจะเป็นองค์กรหลักในด้านวิชาการ, ตุลาการและการให้ความช่วยเหลือคณะสงฆ์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา รวมถึงการมีธนาคารพระพุทธศาสนา เป็นธนาคารหลักที่จัดเก็บหารายได้จากพุทธศาสนสมบัติและรับฝากปัจจัยจากวัดในพระพุทธศาสนาเพื่อนำไปหาประโยชน์ในทางที่ชอบ และนำดอกผลมาอุปถัมภ์บำรุงวัดทุกวัดในประเทศอย่างเท่าเทียมสมเจตนารมณ์ของผู้ถวายอุทิศเป็นสังฆทาน (ทานที่ให้แก่สงฆ์โดยส่วนรวม) เพื่อจัดสรรกองทุนดอกผลอันเกิดจากทานที่อุทิศแก่ “สังฆะ”  ให้เป็นกองทุนของคณะสงฆ์ ทั้งในด้านสาธารณูปการ สาธารณกุศล สาธารณสงเคราะห์ และการศึกษา ไม่ใช่ให้แก่วัดใดวัดหนึ่งหรือรูปใดรูปหนึ่ง อันจะเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงในด้านวิชาการและการจัดการศาสนสมบัติให้มีประสิทธิภาพและเท่าเทียม ซึ่งจะทำให้พระสงฆ์หันมาเน้นการพัฒนาในด้านการศึกษาพัฒนาจิตใจตนเองและกลายเป็นผู้นำการรักษาศีลธรรมของสังคมโดยไม่ต้องพะวงถึงความบกพร่องทางปัจจัยวัตถุ การเรี่ยไรอย่างบ้าคลั่งจะไม่เกิดขึ้น เพราะมีการเติมเต็มแก่วัดที่ขาดแคลน และในขณะเดียวกันเมื่อประกอบกับการมีพระสงฆ์ที่เป็นผู้แทนดูแลสงฆ์ในระดับต่าง ๆ ที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนให้ความสะดวกประสานงาน เป็นผู้รับใช้ หรือเรียกว่า “สังฆาภิบาล” เป็นตัวแทนอุปถัมภ์สงฆ์ แทนที่จะเป็น “สังฆาธิการ” ที่แปลตามตัวว่า ผู้แทนผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือสงฆ์ ที่เน้นอำนาจปกครองให้คุณให้โทษเบ็ดเสร็จเช่นในปัจจุบัน กล่าวคือระบบใหม่จะไม่มีพระผู้ปกครองสงฆ์ หากแต่มีพระผู้เป็นตัวแทนบริการสงฆ์ โดยกฎใหม่นี้จะมุ่งให้ความสำคัญและเคารพพระสงฆ์ผู้ดำรงศีล 227 ผู้ที่เป็น “พระสงฆ์” ในพระพุทธศาสนาอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน โดยไม่มีการแบ่งชนชั้นกันเองภายในคณะสงฆ์ดังเช่นในปัจจุบัน

เพราะเมื่อเราหันมาวาง “กฎหมาย” ที่ไม่ใช่ สิ่งที่ “กฎ” (หัว) และ “หมาย” (บังคับ) แต่หากเป็น “กฎ” ที่เป็นเพียงสิ่ง “ประกอบ”  ที่ขับเน้น “พระธรรมวินัย” อันเป็นกฎพุทธบัญญัติของพระพุทธเจ้า ที่ทรงวางโดยให้ความสำคัญกับบริษัททั้ง 4 มีส่วนในการรักษาและตรวจสอบความประพฤติของกันและกันได้อย่างเท่าเทียม  จะสามารถทำให้ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสสามารถอยู่ร่วมและอุปถัมภ์ซึ่งกันและกันได้อย่างผู้ที่มีความตั้งใจศึกษาพัฒนาตนไปสู่จุดมุ่งหมายระดับสูงของพระพุทธศาสนา คือ “ศีล ภาวนา” ที่ไม่ใช่เพียง “ทาน” ที่การเน้นแข่งกันสร้างถาวรวัตถุเท่านั้น ในขณะที่องค์กรพระพุทธศาสนาฝ่ายต่าง ๆ ล้วนมีความเข้มแข็ง เหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันผลักดันแก้ไขให้เกิดขึ้น

แต่หากไม่สามารถทำได้เช่นที่กล่าวมา ก็คงอาจจำต้องใช้ทางออกสุดท้าย คือการยกเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์และระบบสมณศักดิ์แต่งตั้งทั้งหมด คืนอำนาจในการตรวจสอบซึ่งกันและกันให้แก่ประชาชน เพื่อให้คณะสงฆ์เป็นองค์กรที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่แท้จริง และสามารถเป็นองค์กรตัวอย่างแก่ประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรสงฆ์เป็นองค์กรแห่งการศึกษาที่เน้นพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ ไม่ใช่เน้นอำนาจที่มาจากเผด็จการเป็นใหญ่ ที่ผิดจากหลักการก่อตั้ง “สังฆะ” ของพระพุทธเจ้า เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพราะว่า “สถาบันสงฆ์” นับเป็นตัวแทนด้านจริยธรรมของคนในสังคม และถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดทางสังคมที่สำคัญ หากตราบใดที่องค์กรสงฆ์ยังคงถูกครอบงำด้วยรูปแบบเผด็จการเช่นนี้อยู่  สังคมไทยก็คงยากที่จะหวังหาสังคมจริยธรรมที่สมบูรณ์และประชาธิปไตยที่แท้จริงได้เช่นเดียวกัน

 

บรรณานุกรม

“แถลงการณ์ เรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484,”  (2484, 14 ตุลาคม).  ราชกิจจานุเบกษา.
เล่ม 58 หน้า 1415-1417.
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์.  (2545).  พ.ร.บ. คณะสงฆ์กับอนาคตพระพุทธศาสนาของไทย.  
[ออนไลน์].  แหล่งที่มา : http://www.skyd.org/html/sekhi/54/017_act_sangha.html
พรพรรณ เลาหศิรินาถ.  (2533).  มอญ พม่า สุโขทัย ความสัมพันธ์ ประวัติศาสตร์.  กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
พระพรหมคุณาภรณ์.  (2539).  ธรรมะสู่การเมือง - นิติศาสตร์แนวพุทธ ช่วงที่ 3  (บรรยายที่  
สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อ วันที่  28  มีนาคม พ.ศ. 2539).  [ซีดี].  นครปฐม  :
วัดญาณเวศกวัน.
พระมหานรินทร์ นรินฺโท.  (2546).  มหาเถรสมาคมออกกฎ ให้พระสงฆ์อายุ 80 ปีขึ้นไปต้องเกษียณ.  [ออน-ไลน์].  แหล่งที่มา  : http://www.alittlebuddha.com/html/
The%20Vision%20of%20P.M.Narin/The%20Vision%20of%20Phramaha%20
Narin%2006.html
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี.  “กว่าจะมาเป็น ว.วชิรเมธี,”  รายการชีพจรโลก.  สถานีโทรทัศน์สีช่อง 9 อ.ส.ม.ท..  6 ตุลาคม 2552. 23.05-24.00
“พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505, ”  (2505, 31 ธันวาคม).  ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 79 ตอน
ที่ 115 ก ฉบับพิเศษ  หน้า 29.
“พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484,” (2484, 14 ตุลาคม).  ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 58
ตอนที่ 0 ก หน้า 1391.
“พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์,” (2445, 29 มิถุนายน).  ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 19
ตอนที่ 13 หน้า 214.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  (2535).  พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ 2500.
กรุงเทพมหานคร  :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
________.  (2535).  พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.  (2482).  กฎหมายตราสามดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ  :  มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.
สำนักนายกรัฐมนตรี.  (2547).  สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติ
คณะสงฆ์ พ.ศ. ......   แหล่งที่มา :www.thaigov.go.th/webold/news/cab/44/caba20nov44.doc
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม.  (2545).  มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 15/2544  มติที่ 224/2545
เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. …..   [ออน-ไลน์].  แหล่งที่มา : http://www.mahathera.org/uploaded_pdf/CCF02982551_00227.pdf
________.  (2546).  กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 และฉบับที่ 28 พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน
พระสังฆาธิการ.  [ออน-ไลน์].  แหล่งที่มา http://www.mahathera.org/
สุจิตต์ วงษ์เทศ.  (2547).  ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมสยามประเทศไทย.  กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์มติชน.
สุจิตต์ วงศ์เทศ.  (2549).  สุวรรณภูมิ ต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย.  กรุงเทพฯ  :  สำนักพิมพ์มติชน.
แสวง อุดมศรี.  (2528).  ศึกสมเด็จ.  กรุงเทพฯ  :  อมรการพิมพ์.
อารยะหญิง ศรัณพฤฒิ.  (2533).  ประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่อง เมืองนครปฐม. ปริญญานิพนธ์  ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์).  กรุงเทพฯ  :  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ถ่ายเอกสาร.

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน พระมหาเทวประภาส  วชิรญาณเมธี (มากคล้าย) เป็น นิสิตหลักสูตรปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net