Skip to main content
sharethis

ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2557) เป็นวาระสำคัญของนักสตรีนิยมทั่วโลก เนื่องจากเป็นวาระครบรอบ 20 ปีปฏิญญาปักกิ่ง ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนทำงานด้านสิทธิผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง โดยมีการทบทวนความก้าวหน้าและปัญหากันทุกๆ  5 ปี

ครบรอบ 20 ปีปฏิญญาปักกิ่ง สถานที่จัดงานใหญ่ก็อยู่ที่ประเทศไทยนี่เอง ที่ตึกองค์การสหประชาชาติ โดยมีคนทำงานส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศเข้าร่วมจากทุกมุมโลก

ในแง่หนึ่ง เมื่อเมืองหันกลับมาที่ขบวนการสิทธิผู้หญิงในสังคมไทย น่าสนใจว่าประเทศเรานี้มีคนทำงานด้านผู้หญิงที่ได้รับการยอมรับในเวทีสากล มีเสียงที่ดังพอที่จะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ  ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและกฎหมายได้ ทั้งสิทธิลาคลอด สิทธิในการเลือกใช้นามสกุล ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม หลายประเด็นนั้นในด้านหนึ่งก็มีความท้าทายในทางปฏิบัติ ขณะที่ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำถามท้าทายต่อคนทำงานด้านสิทธิผู้หญิงก็ดังขึ้นจากหลายทิศทาง เป็นต้นว่า ทำงานเฉพาะสิทธิผู้หญิงชนชั้นกลางมากไปหรือไม่ หรือจำกัดประเด็นเป็นเรื่องปัจเจก และสิทธิทางเพศ โดยยังพูดประเด็นอื่นๆ  น้อยไปหรือเปล่า

ในวาระวันสตรีสากล 8 มีนาคม ประชาไท สัมภาษณ์ อ.ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ., ผู้ยกร่างหลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา และกรรมการโครวการปริญญาโท สาขาวิชาสตรี เพศสถานะและเพศวิถีศึกษา, วิทยาลัย สหวิทยาการ มธ. เพื่อชวนเธอย้อนมอง 20 ปีปฏิญญาปักกิ่ง 20 ปีที่ผ่านมาของขบวนการสตรีนิยมในไทย ประเด็นไหนก้าวหน้า ประเด็นไหนยังล้าหลัง


ชมวิดีโอสัมภาษณ์ฉบับเต็ม


ชมวิดีโอฉบับย่อ

เริ่มจากเมื่อปีที่แล้วครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาปักกิ่ง แล้วก็มีการทบทวนกัน มีการจัดงานกันที่กรุงเทพ ทบทวนกันว่าเราก้าวหน้าไปแค่ไหนแล้ว ก็อาจจะมีหลากหลายมุมมองที่มองว่าบางอย่างเราก้าวหน้า บางอย่างเรายังไม่ขยับไปไหน ในฐานะที่อาจารย์เองเป็นนักศึกษาด้านสตรีศึกษา มองความก้าวหน้าของขบวนการสตรีนิยมในเมืองไทยอย่างไรบ้าง

ความน่าสนใจก็คือว่าขบวนการสตีนิยมไทยในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงเวลาของปฏิญญาปักกิ่ง ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ทำให้เราทบทวนมิติต่างๆ ว่านักสตรีนิยมได้มีคุณูปการหรือได้ทำงานผลักดันประเด็นผู้หญิงไปในทิศทางใดบ้าง ซึ่งโดยภาพรวมที่เราเห็นก็คือ มีความน่าสนใจก็คือในเรื่องของความก้าวหน้าในแง่ของการพยายามที่จะแก้ไขกฎหมาย หลายปีที่ผ่านมาเราได้มีการแก้กฎหมายไปหลายกฎหมายมาก

ซึ่งโดยภาพรวมแล้วดูเหมือนว่าประเทศไทยเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่อนข้างก้าวหน้ามากในการแก้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเรื่องของการใช้คำนำหน้านาม การใช้นามสกุลหรือว่าการที่จะเสริมสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิง-ชายต่างๆ  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า การแก้ไขกฎหมายมันไม่ได้เป็นหลักประกันในเรื่องของความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงหลายๆ กลุ่ม ซึ่งมักจะถูกเหมือนกับมองข้ามหรือละเลยไป ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ ถ้าเราจะทบทวนว่าปฏิญญาปักกิ่งมันส่งผลอะไรต่อสังคมไทยบ้าง เราอาจจะต้องกลับไปทบทวนถึงรากเหง้าของปัญหาของสังคมไทยอย่างแท้จริงว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แล้วเราได้ก้าวไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือตระหนักถึงปัญหานั้นอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง


อาจารย์มองว่าขบวนการสตรีนิยมในเมืองไทยที่ขับเคลื่อนกันอยู่ ที่มองว่าค่อนข้างก้าวหน้าในบางประเด็นนั้น มีอะไรที่ตกหล่นไปหรือยังขาดตกบกพร่องไปบ้าง

ในแง่หนึ่งเราต้องมองว่าปัญหาของผู้หญิงบ้านเรา ถ้าเรามองจากแนวคิดสตรีนิยมสกุลหลังอาณานิคมเราจะพบว่าปัญหารากฐานของผู้หญิงไทยที่เผชิญซึ่งเป็นปัญหาความรุนแรงที่เรามักจะละเลยกันไป ทั้งจากขบวนการสตรีนิยมเองด้วยก็คือปัญหาความรุนแรงอันเนื่องมาจากภาครัฐ ภาครัฐในที่นี้มันมีหลายมิติมาก ในแง่ขององค์กรที่เป็นหน่วยงานราชการต่างๆ หรือตัวระบบราชการเอง ที่มันเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมแล้วก็ก่อให้เกิดประเด็นปัญหาทั้งต่อผู้หญิง แล้วก็รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐที่มีลักษณะที่ขับเคลื่อนในระบบทุนนิยมซึ่งมันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ปัญหาเชิงโครงสร้างต่อผู้หญิงกลุ่มต่างๆ  ซึ่งตรงนี้โดยส่วนตัวมองว่านี่คือปัญหาหลักของผู้หญิงในสังคมไทยที่เผชิญแล้วก็เป็นปัญหาที่นักสตรีนิยมหรือขบวนการสตรีนิยมบ้านเรามักจะมองข้ามไป

จุดเน้นของขบวนการสตรีนิยมบ้านเรามักจะพูดถึงกันมากๆ ก็คือปัญหาเรื่องของกฎหมาย สิทธิทางกฎหมายมุ่งเน้นการแก้ไขกฎหมายความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศก็คือชายกับหญิงเป็นหลัก แล้วก็ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มองว่าเป็นปัญหาที่มักจะเป็นปัญหาเชิงปัจเจกบุคคล ไม่ได้เชื่อมโยงกับปัญหาโครงสร้างสังคมซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้หญิงกลุ่มหลักกลุ่มใหญ่ก็คือกลุ่มผู้หญิงในชนบท กลุ่มผู้หญิงยากจน กลุ่มผู้หญิงชายขอบทั้งหลายเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของกรณีของที่ดิน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นปัญหาหลักของผู้หญิงระดับล่างเลยทีเดียวที่จะต้องเผชิญว่าไม่มีที่ดิน ที่ดินถูกยึดไป อันเนื่องมาจากเป็นที่ของรัฐหรือรัฐจะเอาไปจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ  ซึ่งปัญหาการไม่มีที่ดินหรือการถูกแย่งชิงทรัพยากรมันก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องตามมามากมาย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาที่นักสตรีนิยมบ้านเรายังพูดถึงน้อย แล้วเราก็จะพบเห็นเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็นำโดยผู้หญิงลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้อย่างโดดเดี่ยว ตามลำพัง เพราะไม่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิง ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของผู้หญิงทั้งนั้นและก็เป็นปัญหาของผู้หญิงในระดับรากหญ้า แต่ว่านักสตรีนิยมกระแสหลักมักจะไม่มองว่านี่คือการเคลื่อนไหวของผู้หญิง


ขอให้อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่ง เพราะว่าสำหรับคนทั่วไปก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจด้วยว่าแล้วผู้หญิงในระดับรากหญ้าหรือคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวเรื่องของทรัพยากร เรื่องของสิทธิทำกิน ทำไมเราถึงต้องแยกประเด็นของผู้หญิงต่างออกไปจากประเด็นหลักเรื่องการถูกกดขี่โดยโครงสร้างรัฐ

จริงๆ  แล้วปัญหาของผู้หญิงมันก็เชื่อมโยงกับปัญหาของโครงสร้างหลักอยู่ แต่ว่าปัญหาของผู้หญิงมันจะมีมิติที่ทับซ้อนหรือว่าละเอียดอ่อนมากขึ้น เช่นประเด็นหลักๆ  พอผู้หญิงขาดที่ดินทำกินมันก็ส่งผลกระทบต่อระดับครอบครัว เช่นชีวิตจะทำมาหากินยังไง จะตอบโจทย์ยังไง ครอบครัวจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจจะต้องไปขายแรงงาน ไปเป็นคนยากจนในเมือง ไปทำงานในเมือง ไปประสบกับภาวะความรุนแรงต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงราคาถูกหรือไปมีชีวิตอยู่อย่างจำกัด กว่าจะได้เงินมา แล้วก็ลูกถ้ามีลูกอีก ก็จะประสบปัญหาอีกว่าการศึกษาจะได้รับไหม ที่อยู่ก็ยังไม่มีจะอยู่กันยังไง แล้วก็ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งส่วนหนึ่งก็โอบอุ้มคนรอบข้างด้วย

ดังนั้นการขาดปัจจัยในเรื่องของที่ดินทำกินหรือว่าการดำรงชีวิตมันส่งผลกระทบถึงระบบครอบครัวและก็ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง อย่างเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะบอกว่านี่ก็เป็นปัญหาของผู้หญิง แต่พอเรามองเห็นเป็นภาพรวมๆ กันเราอาจจะไม่ได้มองเชื่อมโยงไปว่าปัญหาของผู้หญิงที่มีความทับซ้อนหรือมีลักษณะเฉพาะ มันไปเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร ในมิติของชนชั้น ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่นักสตรีนิยมพยายามจะบอกว่ามันมีลักษณะเฉพาะที่เราต้องให้ความสำคัญ

แล้วก็สิ่งที่จำเป็นมากกว่านั้นก็คือต้องให้ผู้หญิงเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาด้วยมุมมอง แล้วก็วิธีการแก้ไขปัญหาของพวกเธอเอง เพราะแต่ละกลุ่มเขามีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันและก็ต้องการการสนับสนุนการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ละคนก็มีองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาอยู่แล้ว คือเขาไม่ได้รอความช่วยเหลืออย่างเดียวแต่ว่าเขามีขบวนการในการจัดการปัญหาความรุนแรงของเขาอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนรวมถึงนักสตรีนิยมชนชั้นกลางต้องเรียนรู้จากเขา เพื่อที่จะนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุดและแท้จริง

แต่ว่าที่ผ่านมาก็แทบจะไม่ค่อยมองเห็นขบวนการพวกนี้ชัดเจนนัก พูดถึงในมิติของสื่อด้วย หรือว่าในความรับรู้ของคนทั่วไปด้วย อาจารย์คิดว่ามันเกิดจากอะไร

ถ้าเชื่อมโยงไปสู่มิติของสื่อด้วย ก็อาจจะมองว่าอันนี้ก็เป็นความล้มเหลวขององค์ความรู้ด้านสตรีศึกษาในสังคมไทยด้วยระดับหนึ่ง ที่เราไม่สามารถที่จะอธิบายหรือเชื่อมโยงว่าจริงๆ แล้วความสำคัญของสตรีศึกษาในแง่ที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาสังคม มันสำคัญและจำเป็นอย่างไร เพราะภาพเหมารวมที่มีต่อความรู้แบบสตรีศึกษาหรือสตรีนิยมก็คือผู้หญิงออกไปเดินขบวนเคลื่อนไหว 8 มีนาคม ก็มาเรียกร้องกันทีนึง ถามว่าพวกเธอเรียกร้องอะไร ก็เรียกร้องสิทธิเสรีภาพซึ่งพวกเธอก็มีอยู่เยอะแยะมากมายอยู่แล้ว หรือว่าพวกนี้เกลียดผู้ชาย ผู้ชายเป็นพวกเลวร้าย เป็นพวกมีปัญหาครอบครัว ประสบความรุนแรงอะไรแบบนี้ และก็เรียกร้องกับสังคม นี่คือภาพเหมารวมที่คนมีต่อนักสตรีนิยม ขบวนการสตรีนิยมหรือองค์ความรู้สตรีนิยม

แต่ในแง่ของสตรีศึกษาที่แท้จริงในฐานะที่มันเป็นองค์ความรู้ มันเป็นสังคมศาสตร์แขนงใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็เชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมด้วย แล้วก็มันเป็นขบวนการที่มีทั้งในระดับสากล และในระดับท้องถิ่น ที่พยายามที่จะบอกว่าองค์ความรู้ที่ผ่านมามันถูกควบคุมแล้วก็ครอบงำโดยมุมมองแบบผู้ชาย มุมมองแบบผู้ชายในที่นี้ไม่ใช่ผู้ชายในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลหรือมีอวัยวะเพศเป็นผู้ชาย แต่มันคือมุมมองวิธีคิดที่มันละเลยองค์ความรู้และก็ประสบการณ์ของผู้หญิง นั่นหมายความว่าแม้แต่ตัวผู้หญิงเองที่ขาดมุมมองแบบสตรีนิยม ก็อาจจะคิดไม่ต่างจากผู้ชายหรือมีส่วนในการกดขี่ผู้หญิงได้เช่นเดียวกัน อันนี้ก็อาจจะมองได้ว่านี่แหละเป็นปัญหาขององค์ความรู้สตรีศึกษาหรือสตรีนิยมในบ้านเราเองที่มันยังก้าวไปไม่ถึงไหน ทำให้องค์ความรู้ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการมองประเด็นประเด็นปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลงว่ามันจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมองปัญหาที่มันซับซ้อนมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะบอกได้ว่าพื้นที่สื่อหรือว่าพื้นที่กระแสหลักทั้งหลายมันก็ถูกสถาปนาตัวโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนกระแสหลัก ซึ่งเขาไม่ได้ประสบปัญหาอย่างแท้จริงในเมื่อเขาใช้มุมมองแบบชนชั้นกลางในการมองหรือตัดสินปัญหานั้นก็ย่อมทำให้เขามีมุมมองที่จำกัด ที่มองไม่เห็นว่าหลายๆ ประเด็นนั้นมันเป็นปัญหายังไง

 

นอกเหนือจากเรื่องของความรู้ความเข้าใจแล้วในช่วงของเวลาที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตและการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขบวนการสตรีนิยมที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ อาจจะล้มเหลวในบางด้าน ในการพูดถึงผู้หญิงในบางมิติ อย่างเช่นช่วงที่ผ่านมาอาจจะพูดถึงเรื่องสิทธิทางการเมืองของผู้หญิง หรือผู้หญิงที่อยู่ในการเมือง ที่สุดแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเราไม่เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวออกมาพูดเรื่องสิทธิปกป้องผู้หญิงในบริบททางการเมืองมากเพียงพอ ตรงนี้อาจารย์มองว่ายังไง

อันนี้อาจจะต้องมองว่าในขบวนการสตรีนิยมเองมันก็เป็นพื้นที่ของนักวิชาการหรือว่าชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่เรียกว่าขาดมิติในการมองปัญหาแบบเชื่อมโยงแล้วก็ละเลยมิติในเรื่องของชนชั้น แล้วก็ความเชื่อมโยงทางสังคมอื่นๆ  ทำให้เรามองไม่เห็นว่าจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของผู้หญิงในมิติใดก็ตามมันล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ต้องชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นปัญหานั้นๆ อย่างไร

ในกรณีของมิติของผู้หญิงกับการเมืองเรามักจะไปเน้นย้ำกันในขบวนการสตรีนิยม ว่าเราต้องเพิ่มสัดส่วน นักการเมืองผู้หญิงมี ส.ส. ผู้หญิงไปมากๆ  มีรัฐมนตรีหรือว่ามีนายกรัฐมนตรีเลยก็ยิ่งดี แต่ว่าความย้อนแย้งที่น่าสนใจก็คือบ้านเราเคยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง แล้วก็ยุติตำแหน่งหรือบทบาททางการเมืองไป แล้วก็เผชิญกับภาวะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยประเด็นเพศวิถีที่ไม่เป็นธรรมในหลายๆ ประเด็น แต่นักสตรีนิยมกระแสหลักส่วนใหญ่เลือกที่จะเงียบเสียงมันก็สะท้อนให้เราเห็นว่า ในแง่หนึ่งมุมมองของนักสตรีนิยมเองก็มีลักษณะของการเลือกข้างหรือมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นปัญหาผู้หญิงในทางการเมืองกับขบวนการประชาธิปไตยเองด้วย

ซึ่งตรงนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นข้อจำกัดของขบวนการสตรีนิยมเองที่ไม่สามารถที่จะผลักดันประเด็นปัญหาของผู้หญิงให้เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ได้ ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกละเลยไป ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ถูกติดคุก หรือว่าผู้หญิงเสื้อแดง หรือผู้หญิงเสื้อเหลืองเองที่ออกมาเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนในการเมือง ซึ่งถ้าเรามองย้อนกลับไปเราจะพบว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะหลัง ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะมาก อย่างกรณีเสื้อแดงก็น่าสนใจเพราะเป็นผู้หญิงระดับล่าง ระดับรากหญ้าที่ลุกขึ้นมาต่อสู้หรือปกป้องสิทธิมุมมองทางการเมืองของตัวเอง แต่ว่าเสียงก็จะเงียบกว่า กรณีของกลุ่มผู้หญิงเสื้อเหลืองที่มีพื้นที่หรือมีบทบาทในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งตรงนี้เรียกได้ว่ายังเป็นข้อจำกัดของนักสตรีนิยมเองในการมองประเด็นปัญหาหรือการที่ใช้มุมมองทางการเมืองในการเลือกที่จะมองปัญหาของผู้หญิงด้วย

 

ที่ผ่านมาอาจจะเห็นความลักลั่นก็คือว่าเราเห็นขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องเรื่องสัดส่วนของ ส.ส. หญิง ของผู้แทนหญิงในสภาหรือว่าการเรียกร้องให้มีผู้นำหญิง แต่ว่าสิ่งที่เราพบก็คือว่าตัววาทกรรมที่จะมาใช้อธิบายในการที่จะไม่ปกป้อง ผู้นำหญิงหรือ ส.ส.หญิง หรือนักการเมืองหญิง ก็อาจจะบอกว่าพวกเธอไม่ใช่ตัวแทนของผู้หญิง หมายถึงว่าการเป็นผู้หญิงไม่ได้สะท้อนว่าเธอมีแนวคิดเรื่องผู้หญิงตรงนี้ อาจารย์มองว่ายังไง มันก็มีความย้อนแย้งในตัวเองอยู่

มันก็พูดได้ มันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันได้ในเชิงแนวความคิดว่าไม่ได้เป็นตัวแทนอย่างไร หรือในประเด็นไหน แต่ความน่าสนใจก็คือว่ามันขาดการถกเถียงลงไปในประเด็นเหล่านี้ว่า ไม่เป็นตัวแทนไม่เป็นอย่างไร ไม่เป็นในประเด็นไหน แล้วประเด็นปัญหาคืออะไร มันครอบคลุมถึงผู้หญิงทุกกลุ่มหรือไม่ ปัญหาคือข้อถกเถียงเหล่านี้มันไม่ถูกผลักไปสู่การตั้งคำถามในเชิงประเด็น ซึ่งทำให้ข้อถกเถียงมันก็ยังจำกัดอยู่แค่ว่าไม่เป็นตัวแทนเธอเป็นนอมินีของพี่ชาย ซึ่งกรอบการมองด้วยวาทกรรมเก่าๆ มันก็ยิ่งทำให้ประเด็นเรื่องผู้หญิงที่มันถูกละเลยอยู่แล้วโดยเฉพาะผู้หญิงชนชั้นล่างหรือผู้หญิงชาวบ้าน ซึ่งมีปัญหาอย่างที่บอกว่าปัญหาความรุนแรงจากรัฐต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน ระบบสาธารณสุขหรือว่าเรื่องของปัญหาความยากจนหรืออะไรก็ตามมันถูกกลบฝังลงไปอีก มันก็ยังวนเวียนอยู่กับวาทกรรมเดิม ไม่นำไปสู่การยกระดับไปสู่ข้อถกเถียงว่าแล้วปัญหาผู้หญิงจริงๆ ที่มันหายไปจากการไม่เป็นตัวแทนนั้นคืออะไร

ความน่าสนใจมันอยู่ตรงนี้ว่าทำไมประเด็นมันไม่ไปถึงตรงนั้น ก็เลยนำไปสู่ข้อสังเกตว่า หรือว่าถกเถียงกันด้วยความคิดในเชิงจำกัดของกรอบทางการเมือง แทนที่จะนำไปสู่เนื้อหาสารัตถะจริงๆ ของการทำงาน ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นเดียวกันกับที่กลุ่มที่โจมตีคุณยิ่งลักษณ์ใช้มาวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเด็นก็ไปไม่ถึงไหนนอกจากเอาพฤติกรรมส่วนตัวมาเชื่อมโยงกับเรื่องเพศวิถีหรืออะไรก็ตาม ซึ่งก็เป็นบทบาทของนักสตรีนิยมที่ขาดหายไปในสังคมไทย ที่จะพยายามผลักดันประเด็นให้มันไปสู่กรชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงของผู้หญิงหลากหลายกลุ่ม


แต่ในมุมมองของคนที่ทำงานเรื่องผู้หญิง เขาก็อาจจะมองได้ว่า ในด้านหนึ่งเขาก็สู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย พอเราพูดถึงประเด็นที่กว้างออกไป เช่น เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ขบวนการแรงงานหรือแม้แต่ขบวนการประชาธิปไตย มีบางเสียงเหมือนกันที่มองว่าทำไมผู้หญิงคนที่สนใจประเด็นเรื่องเพศหรือความเท่าเทียมทางเพศต้องสนใจประเด็นพวกนี้เยอะแยะเต็มไปหมดเลย หมายถึงว่าทำไมเราไม่สนใจแต่เรื่องเพศ

อันนี้ก็น่าสนใจ เราต้องตั้งคำถามกลับไปว่าแล้วทำไมเราหมกมุ่นกันแต่เรื่องเพศโดยทำให้ประเด็นอื่นๆ มันไม่เป็นประเด็นผู้หญิง อันนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามกลับไปมากกว่า เพราะว่าพอเราพูดถึงภาพของปัญหาผู้หญิงต้องบอกว่าคนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการผลักดันประเด็นสู่สาธารณะ เพราะจริงๆ คนในสังคมรับรู้ภาพปัญหาของผู้หญิงเหล่านี้อยู่แล้วว่ามันเป็นปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม แม้แต่นักศึกษาที่ยังไม่เคยเรียนวิชาที่สอน เข้ามาปุ๊บก็รู้เลยว่าผู้หญิงกับผู้ชายไม่เท่าเทียมกัน หนูถูกกระทำแบบนี้ เหล่านี้เป็นความไม่เท่าเทียม เหล่านี้คือความรุนแรง สิ่งเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของขบวนการสตรีนิยมที่ได้เคลื่อนไหวมา

แต่ว่าการที่เราขาดการเชื่องโยงนี่แหละเป็นมิติที่ขาดหายที่จำเป็น เพราะไม่อย่างนั้นเราจะโดดเดี่ยวมากจากการที่เรามองประเด็นปัญหาโดยที่เราไม่เชื่อมโยงกับใคร แล้วมันก็ถูกตั้งคำถามต่อไปว่ามันนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงหรือเปล่า เพราะว่าต้องอย่าลืมว่าสังคมไทยเรา ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังเป็นผู้หญิงที่ยากจน ยังเป็นผู้หญิงที่อยู่ในระดับชนชั้นล่าง ยังเป็นผู้หญิงในชนบท ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแรงงานอพยพในเมืองหรือว่าเป็นแรงงานที่เคลื่อนไหวไปมาอะไรมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาปากท้อง ปัญหาเรื่องชนชั้น ปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรหรือการถูกกระทำจากรัฐในมิติต่างๆ ยังเป็นปัญหาหลัก แต่ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าทำไมปัญหาเหล่านี้ไม่เคยถูกได้ยินหรือถูกนับรวมว่ามันเป็นปัญหาของผู้หญิงจากมิติของนักสตรีนิยมหลัก ก็สู้ได้ ก็ดี แต่ว่าอย่ากลบฝังเสียงอื่นๆ 

ถ้าพูดผลักดันประเด็นนี้ต่อไปมันก็ต้องตั้งคำถามอีกว่าจริงๆ บ้านเราขบวนการเคลื่อนไหวมันมีข้อจำกัดในแง่ของแหล่งทุนพอสมควร กรณีภาครัฐคงไม่ค่อยมีปัญหาแหล่งทุนมาก เพราะว่าจริงๆ แล้วก็ได้เงินงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐอยู่แล้ว แล้วก็นโยบายของรัฐมันก็สอดคล้องกับนโยบายของสหประชาชาติในการผลักดันประเด็นผู้หญิงเข้าสู่หน่วยงานราชการต่างๆ  แต่ภาคองค์กรพัฒนาเอกชนเราต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้เราประสบปัญหาวิกฤติก็คือ เราต้องพึ่งพาแหล่งทุนต่างชาติ ซึ่งประเด็นนี้มันมีการดีเบตกันเยอะมาก และมีหนังสือออกมาพอสมควรเลยว่าบทบาทของแหล่งทุนต่างชาติในการกำหนดประเด็นขับเคลื่อนหรือการเคลื่อนไหวในการทำงานของขบวนการ NGO มันก็ส่งผลให้มีข้อจำกัด

คือนักสตรีนิยมหลายคนอยากจะผลักดันประเด็นที่มันไปไกลมากกว่าแหล่งทุน แต่แหล่งทุนไม่สนับสนุนหรือหาเงินมาทำในประเด็นที่ตัวเองสนใจก็ยากมาก ถามว่าทิศทางการเติบโตของประเด็นมันมาจากไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมันก็ขับเคลื่อนมาจากแหล่งทุนในระหว่างประเทศที่มันเป็นตัวกำหนดประเด็น

ถ้าถามว่าอนามัยเจริญพันธ์หรือประเด็นเรื่องเพศก็เป็นประเด็นหลักที่มีการให้ทุนสนับสนุนในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ก็เลยดูเหมือนว่าเสียงดังแล้วก็โครงการนั้นมันหลากหลาย แต่การที่เราจะสนับสนุนประเด็นของผู้หญิงชาวบ้านรากหญ้าซึ่งเอาชีวิตรอดยังลำบากเลย แล้วก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับประเด็นปัญหาของตัวเองโดยใช้ทุนของตัวเองอีก อันนี้ต้องตั้งคำถามกลับไปว่าเราจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้เสียงเหล่านี้ดังขึ้นมาได้ยังไงจากมุมมองของนักสตรีนิยมหรือขบวนการสตรีนิยม ซึ่งคุณปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่เราละเลยไป


อาจารย์มีตัวอย่างพอจะยกมาได้ไหม พวกขบวนการผู้หญิงที่ต่อสู้ด้วยตัวเอง ขับเคลื่อนด้วยทุนของตัวเองที่ผ่านมา

จริงๆ ก็เยอะ อย่างกรณีถ้าเป็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยสัมผัสมาก็จะมีพวกบ่อนอกหรือบ้านกรูด อันนี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มอนุรักษ์ในท้องถิ่นเป็นชาวบ้านจริงๆ เลยที่อยู่ในพื้นที่ และก็ทราบถึงประเด็นปัญหาก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลงขันกัน สู้กันเอง หาความรู้กันเอง ไม่มีความรู้ตรงไหนก็เชิญนักวิชาการมา เชิญนักพัฒนาเอกชนมา เชิญสื่อมวลชนมา ทำงานขับเคลื่อนประเด็น แล้วก็ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ อย่างคุณกระรอก เท่าที่ทราบก็เปิดรีสอร์ทเพื่อที่จะหาเงินมาต่อสู้เคลื่อนไหว ต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจด้วย ต้องขับเคลื่อนด้วย อันนี้ก็สู้เองด้วยเงินทุนของตัวเอง หรือจริงๆ ชาวบ้านหลายๆ กลุ่มที่เป็นด้านสิ่งแวดล้อมก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กันแบบนี้ในภาคใต้เท่าที่เคยทราบมา หรือว่าในกรณีของเครือข่ายด้านการต่อสู้กับระบบสาธารณะสุข อย่างเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ก็ลงขันกัน อาจจะรับเงินบริจาค แต่เงินเงินบริจาคจะต้องไม่ผูกติดมาพร้อมกับเงื่อนไขของการยุติการต่อสู้หรือการจำกัดการต่อสู้ เพื่อที่จะผลักดันประเด็นของความเสียหายทางการแพทย์โดยการผลักดัน พ.ร.บ.สาธารณะสุข เหล่านี้เป็นต้น

หรือกรณีกลุ่ม Try Arm สาวโรงงานที่ถูกไล่ออก ก็ลุกขึ้นมาผลิตกางเกงใน เสื้อใน ยกทรง ชุดว่ายน้ำ หาทุนขายเอง เพื่อที่จะเผยแพร่แนวความคิดว่า Fair Trade การค้าขายที่เป็นระบบเป็นธรรมกับผู้ผลิต คุณภาพดี นี่คือย่างก้าวเล็กๆ ที่เราเห็นถึงความพยายามของผู้หญิงรากหญ้าที่ลุกขึ้นมาพูดเอง ประเด็นปัญหาของตัวเอง ต่อสู้เอง และก็ยืนหยัดด้วยตนเองจากเงินทุน ทำเศรษฐกิจของตัวเอง

หรือว่าระยะหลังที่มีกลุ่มน่าสนใจคือกลุ่มพนักงานบริการทางเพศ กลุ่มนี้ก็น่าสนในเพราะว่าประเด็นเหล่านี้มักจะถูกละเลยเพราะว่ามันเป็นประเด็นที่ต้องไปวิพากษ์กับระบบความเชื่อของสังคมว่าการขายบริการทางเพศควรจะมีสิทธิเป็นอาชีพไหม เป็นอาชีพของคนไม่ดีหรือเปล่า การแก้ไขกฎหมายหรือว่าถ้าผลักดันให้ประเด็นแหลมคมขึ้นไปก็อาจจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายหรือการทำแท้ง แต่พอประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอสู่สาธารณะอย่างไรก็ถูกตีตกลงไปทุกที คือประเด็นมันก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดได้ แต่ว่าเห็นความพยายามของคนกลุ่มนี้ที่ลุกขึ้นมาสู้เอง หาเงินทุนเอง แต่ว่าเสียงเบาเหลือเกิน แล้วก็มักจะไม่ถูกนับรวมด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของผู้หญิงหรือขบวนการสตรีนิยม ตรงนี้เป็นพันธกิจหรือภารกิจสำคัญขององค์ความรู้แบบสตรีศึกษาที่จะต้องเร่งสร้าง แล้วก็ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงว่าเป็นปัญหาของผู้หญิงที่แทรกซึมอยู่ทุกมิติของปัญหา เรามองแยกส่วนไม่ได้ เพราะถ้าเรามองแยกส่วนแล้ว แล้วเราก็จะมองไม่เห็นปัญหาอย่างแท้จริงและยิ่งกลบฝังเสียงของผู้ประสบปัญหาเอง นักวิชาการหรือนักสตรีนิยมพัฒนาตัวเองโดยการเป็นผู้เชี่ยวชาญพูดแทนโดยที่เราไม่ต้องฟังเสียงของผู้ที่ประสบปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งตัวเองคิดว่าตรงนี้เป็นจุดที่อันตรายมากๆ  ของการสร้างความรู้เรื่องสตรีศึกษาของคนไทย


ที่คุยกันไปข้างต้น เราวิพากษ์เรื่องของกระบวนการเคลื่อนไหวของนักสตรีนิยม แต่ว่าอยากให้อาจารย์มองลองมองในเชิงวิพากษ์ด้วยว่า 20 ปีที่ผ่านมาปฏิญญาปักกิ่ง ตัวองค์ความรู้ด้านสตรีศึกษาตัวการเรียนการสอนด้านสตรีศึกษาในสังคมไทยมันขับเคลื่อนไปแค่ไหน

สำหรับสังคมไทยเรา เรามีการสร้างองค์ความรู้ในสังคมไทยเราเอง ผ่านการเปิดหลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษาในปี 2544 เปิดครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามหลักสูตรสตรีศึกษา เพราะในช่วงนั้นเรามีความคิดเห็นที่สังคมไทยยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องผู้หญิงซึ่งเป็นความรู้จำเป็นที่เราต้องสร้างขึ้นมา และอีกแห่งหนึ่งก็คือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งภาพรวมที่ผ่านมาของการสร้างความรู้ในหลักสูตรสตรีศึกษา ผ่านการผลิตงานวิทยานิพนธ์ ก็อาจจะทำให้เห็นถึงมุมมองที่ ต่อสู้อย่างขับเคี่ยวกันอยู่ระหว่างองค์ความรู้กระแสวิพากษ์กับองค์ความรู้กระแสหลักในเรื่องของมุมมองที่ต่อสตรีนิยม

อย่างที่บอกว่าสตรีนิยมมันค่อนข้างมีความหลากหลายถ้าพูดในเชิงสำนักคิดไม่ว่าจะเป็นสตรีนิยมสายเสรีนิยม สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ สตรีนิยมสายเรดิคัล สตรีนิยมสายวัฒนธรรม หรือสกุลหลังอาณานิคม หรือบางคนบอกว่าบ้านเรามีสตรีนิยมสายอนุรักษ์นิยมด้วย (หัวเราะ) อันนี้ก็น่าสนใจนะคะ เพราะว่าเป็นลักษณะที่ขับเคี่ยวกันอยู่ของกระบวนการผลิตความรู้

เราก็จะเห็นชุดของการสร้างความรู้ในเชิงกระแสหลัก การสนับสนุนมุมมองในการเพิ่มเติมประเด็นในเรื่องของเพศสภานะเข้าไปในกระบวนการพัฒนา ทั้งของภาครัฐเองและองค์กรเอกชนเองเหล่านี้ เป็นต้น หรือเราก็จะเห็นอีกมุมมองหนึ่ง เป็นกระแสเชิงวิพากษ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวคิดสตรีนิยมในสกุลหลังอาณานิคม มองในแง่ของกระบวนการสร้างความรู้งานเชิงญาณวิทยาสตรีนิยม งานที่พูดถึงกระบวนการปลูกฝั่งหรือสร้างแนวคิดเพศสถานะในสื่อต่างๆ  แต่ว่างานในยุคหลังที่มีความน่าสนใจ จะเป็นงานในลักษณะเชิงวิพากษ์องค์ความรู้กระแสหลักในหลายๆ มิติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรุนแรง ที่เป็นเชิงวิพากษ์มุมมองในกระแสหลักที่มองว่าผู้หญิงเป็นเพียงเหยื่อของกระบวนการความรุนแรง เป็นเหยื่อตลอดการเป็นผู้รอคอยความช่วยเหลือ และมุมมองการให้ความช่วยเหลือในเชิงสังคมสงเคราะห์หรือว่าผู้ชายเป็นผู้กระทำความรุนแรงแต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่เรื่องงานวิจัยในประเภทหลังๆ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน  ผู้หญิงไม่ได้ยอมจำนน ต่อความรุนแรงนั้นๆ  ผู้หญิงมีมิติของการเป็นผู้กระทำผ่านการสร้างความรู้ในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในความรุนแรงอย่างไรให้ชีวิตอยู่รอดได้ แล้วก็มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นผู้ผ่านการเล่าเรื่อง มีการใช้กลวิธีใหม่ๆ เข้ามา หรือว่าการเปิดเผยตัวตนที่หลากหลายของเพศเดียวกันมีรูปแบบงานเขียนที่หลากหลายในเชิงอัตชีวประวัติ หรือในเชิงการบอกเล่าถึงมุมมองที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อการมองว่าเพศวิถีเป็นเรื่องนิ่งตายตัว หรือว่าเราจะพบเห็นงานวิจัยใหม่ๆ ของนักศึกษาในระดับปริญญาตรีก็มีความพยายามที่จะศึกษากลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น เช่น มีผู้ช่วยพยาบาล คนขับรถเมล์มีแม่เลี้ยงลูกคนเดียว พ่อมีลูกคนเดียวซึ่งปัจจุบันครอบครัว พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ  ไปศึกษาครอบครัวตัวเอง ไปศึกษาผู้หญิงโสดเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เรามองว่าไม่ใช่ผู้หญิงที่ประสบปัญหา แต่ความจริงแล้วมันมีความซับซ้อนของปัญหา ที่มักจะมองไม่เห็น หรือมองข้ามไป


ช่วยยกตัวอย่างปัญหาที่เรามองข้ามไปหรือมองไม่เห็น จากการศึกษาที่เราพบปัญหาที่ถกซ่อนอยู่

ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจก็จะมีกรณีของสาวโรงงาน เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ของคุณนฤมล กล้าทุกวัน ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ซึ่งชี้ว่ามีกระบวนการในการถูกควบคุมเวลาจากระบบทุนนิยมในระบบโรงงานสาวโรงงานที่จริงก็เป็นผู้หญิงจากชนบท เข้ามาทำงานในเมืองและถูกเรียกร้องเวลาสูงมากเพราะว่าการทำงานระบบกะของโรงงานก็เรียกร้องให้สาวโรงงานต้องทำงานหนักว่าจะมีกลยุทธ์ วิธีการในการจูงใจให้ผู้หญิงเหล่านี้สละเวลาในการทำงานมาทำงานให้โรงงานอย่างเต็มใจ เช่น เรื่องของการให้โอที และก็ผู้หญิงเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคลองกับระบบโรงงานและก็เวลาพักผ่อนก็ไม่ค่อยมีและถ้ายิ่งมีลูกมีครอบครัวยิ่งต้องมีวิธีการในการจัดการเช่นการจัดสรรเวลา เขาผลักภาระเหล่านี้ไปให้กับคนอื่นในครอบครัว และเวลาที่ต้องศูนย์หายไปเลยเช่นขาดลาไม่ได้ ถ้าขาดลาเท่ากับว่าจะจดแต้มว่าผู้หญิงเหล่านี้เหมือนกับไม่มีเบี้ยขยัน ถ้าถูกตัดเวลาเช่นมาทำงานสายคือต้องกลับไม่นับระบบโอทีที่สะสมมาใหม่ผู้หญิงเหล่านี้ก็ต้องพยายามที่เรียกว่าอย่างเต็มเวลา ซึ่งในงานศึกษาก็น่าสนใจที่ว่าผู้หญิงต้องการปรับตัวในหลายรูปแบบ ใน 4 ลักษณะด้วยกันก็คือ นิยามตัวเองว่าตัวเองเป็นแม่ที่ดี นั้นก็คือถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่มีเวลาให้ลูกแต่ตัวเองควรหาเงินสามารถที่จะเอาเงินมารองรับจุนเจือครอบครัวได้

สอง คือการเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองได้ถึงแม้ว่าไม่ได้มีการศึกษาแต่มีอาชีพการงานที่สามารถเป็นหลักพึ่งพาในครอบครัวได้

สาม นิยามในตัวเองในลักษณะจากการทำงานว่าตัวเองมีส่วนในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมีชื่อเสียงมีฝีมือในการทำงาน สี่คือเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในระบบทุนนิยมได้

อันนี้ก็เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจใหม่ที่เกิดขึ้น และชี้ให้เห็นถึงการดึงเสียงของผู้หญิงที่ขาดหายไป และเราก็มักจะไม่มองว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้หญิงที่แบกรับปัญหาอันเนื่องมาจากการพัฒนาของรัฐและทุนนิยม หรือกรณีศึกษาของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวมีความน่าสนใจมากในแง่ที่ว่าเป็นผู้หญิงที่ถูกละเลยไปจากขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมด้วย

มีงานวิจัยที่น่าสนใจบอกว่า ในบรรดาการศึกษาของกลุ่มคนยากจนที่เปรียบเทียบกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ผู้หญิงยากจนกว่าผู้ชาย โดยสัดส่วนและในบรรดาผู้หญิงที่ยากจนเมื่อศึกษาลึกลงไปอีกจะพบว่าผู้หญิงที่ยากจนที่สุดในบรรดาผู้หญิงที่ยากจน คือ ผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะกลุ่มนี้มันไม่มีระบบรองรับอะไรจากสังคม คือต้องอาศัยเครือข่ายส่วนตัวหรือการดิ้นรนเฉพาะตัวเพื่อที่จะอยู่รอดได้พร้อมกับลูกน้อย ในขณะที่รัฐพยายามแก้ไขปัญหาที่ด้วยการมองว่าเราจะต้องสร้างครอบครัวในอุดมคติขึ้นมาก็คือมีพ่อแม่ลูก ทำให้เกิดพ่อแม่วัยใสขึ้นมา ทำยังไงไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยเรียน สร้างครอบครัวในอุดมคติในรูปแบบของรัฐ แต่มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเลี้ยงลูกคนเดียว ผู้หญิงเหล่านี้แบกรับอะไรบ้าง

ถ้าเธอไม่มีเครือข่ายทางสังคมในภาวะที่มีลูกติดไม่สามารถออกไปทำงานได้กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ ในระดับล่างก็มีการแก้ไขปัญหากันเอง เช่น การรวมกันของกลุ่มที่มีลูกเด็กๆ ถ้ายากจนไม่มีเงินไปฝากเนอร์สเซอรี่ เขาก็จะฝากเลี้ยงกันหรือไม่ก็สลับกันเลี้ยงเพื่อให้ตัวเองมีเวลาไปทำงาน แต่ว่าในกรณีที่ไม่มีเครือข่ายทางสังคมและยากจนไม่มีอาชีพ เราจะพบเป็นข่าวที่ลำบากเช่นไปขโมยนมผงในห้างและถูกจับไม่มีเงินค่าปรับ เป็นภาพสะเทือนใจผู้คน ลูกก็ไม่ร้องไห้กัน เอาลูกไปเลี้ยงในห้องขังเป็นที่สังเวชใจเวทนาของผู้คน มันต้องตั้งคำถามกลับไปว่าโศกนาฏกรรมบุคคลมันเชื่อมโยงกับการขาดสวัสดิการของรัฐ และมองไม่เห็นว่ากลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ประสบปัญหา ซึ่งก็มีมิติทางชนชั้นด้วย

ถ้าคุณเป็นคนที่มีเงิน คุณก็ประกาศตัวแบบสวยๆ  ว่าฉันจะเลี้ยงลูกเดียว ฉันมีเงินซัพพอร์ท ได้รับรางวัล แต่ถ้าคุณเป็นผู้หญิงชั้นล่างมันไม่มีเครือข่ายที่จะซัพพอร์ท สวัสดิการของรัฐต่างๆ ไม่มี รัฐต้องเริ่มกลับมาคิดว่าจะแก้ไขปัญหาแบบอย่างไร ใครจะเป็นคนแบกรับโดยการปรับเปลี่ยนมุมมองแล้วก็เข้าไปถึงกลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหาและก็ผู้ด้วยเสียงของเขาเอง มุมมองการแก้ไขเป็นอย่างไร สวัสดิการควรเป็นแบบไหน ผู้หญิงบางคนไม่ได้ต้องการทิ้งลูก แต่เมื่อในสังคมไม่มีเงื่อนไขที่ต้องการให้เลี้ยงลูกจะอยู่อย่างไร และเราก็มักชอบที่จะประณามหญิงใจแตกทิ้งลูกไว้ไม่รัก แต่เราไม่มองว่าปัญหาเหล่านี้มันเป็นปัญหาที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม


หลักสูตรสตรีศึกษาตอนนี้มีระดับคือปริญญาตรีและปริญญาโทใช่ไหม

ตอนนี้ สาขาวิชาสตรี เพศสถานะและเพศวิถีศึกษาเรามีสอนแค่ในระดับปริญญาโท เมื่อก่อนเป็นหลักสูตรภาพพิเศษตอนนี้ได้ปรับหลักสูตรเป็นภาคปกติเรียนกลางคืนตนที่มาเรียนมาสามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยและเรามีการปรับหลักสูตรนอกจากปรับในเชิงรูปแบบมีการปรับในเชิงเนื้อหาให้มีความทันสมัยมากขึ้นขึ้น จากหลีกสูตรสตรีศึกษาเป็นสตรีเพศสถานะและวิถีศึกษาและมีการนำมิติของเควียร์ เรียกว่าเป็นความหลากหลายของเพสที่มันซับซ้อนมากขึ้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วยซึ่งจะทำให้หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกของอาเซียนมีการพูดถึงของเรื่องเพศวิถีและเรื่องเควียร์เข้ามาด้วย และตอนนี้ก็เปิดรับนักศึกษารุ่นใหม่ไปได้สองรุ่นแล้ว เป็นช่วงที่อยู่ในช่วงเปิดรับนักศึกษาในยุคปัจจุบัน


อาจารย์พบว่ามันมีความท้าทายอะไรไหม เช่น ได้ยินมาว่า มีคนเข้ามาเรียนเยอะ แต่สนใจที่จะเรียนต่อจนจบไม่มากนัก

ก็เป็นความท้าทายมากที่เราก็เรียกว่าอยู่ในระบบทุนนิยมที่การศึกษาจากระบบในปริญญาโทหรือปริญญาเอกมีลักษณะของการเพิ่มมูลค่าให้กับการทำงานมากกว่า

แต่ถามว่าสตรีศึกษามันยังจำเป็นมันยังสำคัญไหมในแง่ขององค์ความรู้ มันยังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าปัญหาของบ้านเราการผลิตองค์ความรู้มันไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แล้วยิ่งความจำกัดของมุมมองในประเด็นในผู้หญิงบ้านเรามันยังมีความจำกัดอยู่มาก ดังนั้นความพยายามที่จะต้อสู้ให้หลักสูตรหรือองค์ความรู้มันดำรงอยู่ในท่ามกลางเงื่อนไขสถานการณ์เหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย มันก็สนุกในเชิงของการพัฒนาความรู้ไปด้วย เพราะตอนนี้เราก็มีกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะเผยแพร่ความรู้นี้ในแง่ของตลาดวิชาของคนทั่วไปให้เข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มาเรียนถึงระดับปริญญาโท ในรูปแบบของการลงเรียนภาคฤดูร้อนเราเปิดมาเป็นปีที่สองแล้วตอนนี้เรายังจะเปิดรับในวันที่ 8 มีนาคม 2558 - 8 พฤษภาคม 2558 นี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่เปิดกว้างให้กับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในองค์ความรู้ของสตรีเพศสถานะและวิถีศึกษามาเรียนรู้และนำองค์ความรู้ไปมองประเด็นปัญหาได้อย่างซับซ้อนหลากหลายมากขึ้นหรือนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยการทำงานไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักวิชาการ อาจารย์/นักศึกษาป.ตรี-โท-เอก ก็สามารถสมัครเข้ามาได้ หลังจากจบหลักสูตรแล้ว เราจะมีการจัดสัมมนาวิชาการเพื่อแพร่องค์ความารู้เหล่านี้ไปสู้สังคมด้วย

ปีที่แล้วเรามีงานวิจัยที่น่าสนใจหลายชิ้นของนักศึกษาลงเรียนภาคฤดูร้อนถึงประเด็นปัญหาใหม่ๆ ของสังคม เช่น การสร้างภาพของผู้หญิงในการ์ตูนวอล์ทดิสนี่ย์ที่เราคุ้นเคยนิยายที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กมันคือการสร้างภาพมาตั้งแต่เด็กคือการเหมารวมผู้หญิงบางแบบลงไป หรือว่าการทำศัลยกรรมที่อาจะเป็นประเด็นที่สังคมสนใจว่าองค์ความรู้ที่ขาดหายไป องค์ความรู้ของแม่ค้าปากคลองตลาด องค์ความรู้ของคุณย่าคุณยายที่หายไป ซึ่งเราอาจมองข้ามไปว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้หญิงที่มีความรู้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเวทีที่ทำให้องค์ความรู้เหล่านี้ได้นำไปสู้การตั้งคำถามกับองค์ความรู้กระแสหลักในสังคมไทย และช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ที่มันขาดหายไปซึ่งคิดว่าพันธกิจภารกิจที่หลักสูตรสตรีศึกษาต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อทำให้สังคมไทยเห็นการขาดหวังว่าจะมีคนมาเรียนเพื่อเริ่มสร้างความรู้กับเรามาขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป


เรามักจะไม่ค่อยเห็นเวลาอาจารย์พูดเรื่องกระบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในระดับรากหญ้า มักไม่ค่อยเห็นกระบวนการที่แข็งแกร่งอย่างเช่นในอินเดีย  อะไรที่ทำให้แตกต่าง ปัจจัยอะไรที่ทำให้เราเห็นแบบนั้นในอินเดียค่อนข้างชัด อย่างเรื่องอนุรักษ์ ปกป้องท้องถิ่น ปกป้องสิ่งแวดล้อม

จริงๆ ลักษณะการเคลื่อนไหวของคนอินเดียเรียกว่ามีลักษณะเฉพาะเหมือนกัน เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมของอินเดียมีพัฒนาการที่ค่อนข้างยาวนาน และการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงที่ประสบปัญหาเฉพาะ ค่อนข้างเหนียวแน่นและตอบโจทย์ปัญหาที่เป็นรูปธรรมของผู้หญิงเหล่านั้นเอง อย่างกรณีที่ไปสัมผัสมา กลุ่มที่น่าสนใจเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มที่เป็นแม่ค้า ผู้หญิงกลุ่มนี้ก็คือไม่มีเงินทุน ที่จะไปเป็นเงินต้นทุนที่จะซื้อของไปขายของในตลาดและผู้หญิงเหล่านี้ก็รวมเงินกันคนละนิดคนละหน่อยมาเป็นกองทุน ให้กู้ยืมกันเองไม่มีดอก และใช้วิธีการที่ยืมก่อนและไปซื้อของ พอขายได้ก็เอามาคืนกลุ่มเป็นเงินมาหมุนเวียนกันเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมตอบโจทย์ของผู้หญิงรากหญ้าอย่างแท้จริง

ปัญหาของผู้หญิงที่ไม่มีต้นทุนคือไม่มีการเข้าถึงแหล่งทุนกู้ยืมได้ระบบเพราะว่าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถ้าต้องไปกู้ยืมเงินนอกระบบก็อาจประสบกับปัญหาขูดรีดดอกเบี้ยราคาสูงได้ ตัวอย่างเล็กๆ นี้คือตัวอย่างการที่ผู้หญิงในอินเดียรวมกลุ่มกันในประเด็นปัญหาของตัวเองโดยคนที่ออกมาพูดประปัญหาอย่างแท้จริงมันก็ทำให้ประเด็นปัญหามันขับเคลื่อนออกไป เท่าที่ทราบมาขบวนการสตรีนิยมของอินเดียมีการวิพากษ์กันเองมีความหลากหลายไม่สามารถมาพูดแทนกัน เป็นผู้หญิงชั้นชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง ก็มีปัญหากันคนละแบบ มีพลังความเข้มแข็งเพราะประเด็นมันได้ถูกขับเคลื่อนไป และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การพัฒนาองค์ความรู้ของสตรีนิยมในสกุลหลังอาณานิคมซึ่งต่อมาเป็นกลุ่มสำคัญที่ออกมาวิพากษ์นักสตรีนิยมผิวขาวตะวันตกกระแสหลัก ก็ล้วนมาจากนักสตรีนิยมอินเดียที่ไปลี้ภัยที่อเมริกาหรือต่างประเทศทั้งนั้นที่ขาเห็นว่าประเด็นปัญหาของผู้หญิง

มันมีความหลากหลายและก็ไม่สามารถพูดแทนกันได้ก็แตกแขนงออกมาในเชิงองค์ความรู้ที่งอกงามออกมาเป็นมุมมองที่ทำให้เราเข้าในใจประเด็นปัญหาความหลากหายของผู้หญิงได้มากขึ้น นั้นคือของอินเดีย แต่ว่าในกรณีสังคมไทยถามว่าไม่มีกลุ่มสตรีที่ออกมาเรียกร้องประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเหรอก็มีเราไม่มีกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวเรียกร้องประเด็นปัญหาของเขาเหรอความจริงก็มีแต่ที่บอกว่าด้วยเงื่อนไขของปัญหาของบ้านเราเองในแงของกระบวนการสตรีนิยมที่จำกัดในเชิงมุมมองและประเด็นการเคลื่อนไหวและไม่นับรวมเอาผู้หญิงเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสตรีนิยมทำให้ภาพของขบวนการสตรีนิยมมีอย่างจำกัดและไม่สอดรับกับประเด็นปัญหาที่หลากหลายของผู้หญิงอย่างแท้จริง


ที่อาจารย์พูดนี้ เชื่อมโยงไปที่คำถามสุดท้ายที่ว่าปรากฏการณ์ล่าสุดที่ตัวแทนของกลุ่มผู้หญิงลาออกจาก สนช. เสียงตอบรับกลับไปเป็นในทางที่ค่อนข้างวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรเรื่องของประเด็นที่ลาออกหรืออกมาวิจารณ์ซ้ำอีกครั้งว่าตัวแทนของกลุ่มผู้หญิงทำงานจำกัดประเด็นของตัวเอง ตรงนี้อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นประเด็นที่พูดมาคือขบวนการสตรีนิยมไทยสิ่งที่ขาดหายไปคือการเชื่อมโยงเรื่องของความเท่าเทียมกับชนชั้นซึ่งการที่เราขาดมิติของความเท่าเทียมและชนชั้น จริงๆ มีหลายมิติที่เราขาดชาติพันธุ์ ชนชั้น ความเท่าเทียม เพศสถานะ บทบาทเพศวิถี รวมไปถึงความคิด ทำให้เรามองไม่เห็นถึงปัญหาที่มีความซับซ้อนหลากหลายเข้าใจว่า ประเด็นที่ถกกันคือเรื่องของสัดส่วนของผู้หญิงในสภาที่เป็นประเด็นที่นักสตรีนิยมกระแสหลักให้ความสำคัญว่าการเพิ่มส่วนผู้หญิงก็น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของนโยบาย แต่ที่มองข้ามไปก็คือสัดส่วนเป็นสิ่งสำคัญถูกต้องคือมีส่วนของผู้หญิงมากขึ้นแต่ว่าในเรื่องของมุมมองความคิดไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ก็คือมุมมองยังมีลักษณะผลิตซ้ำ มุมมองกระแสหลักแบบชายเป็นใหญ่ที่กดขี่ผู้หญิงด้วยกันเอง มันก็ไม่ต่างกับที่เรามีผู้ชายอยู่ในระบบการเมือง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ให้มากขึ้นว่าว่าสัดส่วนยังไม่พอ สิ่งที่ต้องปรับปรุงก็คือมุมมองที่เชื่อมโยงเอามิติของความหลากหลายของประเด็นปัญหาผู้หญิง คือ เริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองของนักสตรีนิยมที่จะมองให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวมันยังมีข้อจำกัดอย่างไร ที่ทำให้เราไม่สามารถเชื่อมโยงความหลากหลายของประสบการณ์ของผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เคลื่อนไหวที่ทำให้สังคมเข้าใจของสตรีศึกษาในมิติที่ซับซ้อนไปกว่าในเรื่องของสัดส่วน


ประเด็นสุดท้ายจริงๆ  คือขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในไทยอาจจะไม่ค่อยตั้งแง่กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะสามารถแก้กม.ได้ด้วยการอยู่กับรัฐบาลแบบนี้ ซึ่งด้านหนึ่งก็สะท้อนว่าประเด็นสิทธิผู้หญิงไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากรัฐบาลประชาธิปไตย

พูดตรงๆ คือเผด็จการมันก็ง่ายที่จะล็อบบี้ หมายถึงกระบวนการในการผลักดันอะไรต่างๆ  ผ่านการล็อบบี้โดยคนจำนวนน้อยและก็ไม่ผ่านผ่านกระบวนการประชาธิปไตยจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ง่ายและรวดเร็ว จริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นผู้หญิงยังรวมถึงประเด็นอื่นๆ  ถ้ามีกระบวนการแบบนี้ในการผลักดันมันจะเร็ว

แต่ว่าเราก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า กระบวนการโร้คแมพการแก้กฎหมายประเด็นผู้หญิงเป็นกระบวนการสื่อสารกับสาธารณะด้วย นั่นคือกระบวนการประชาธิปไตยที่เราจะต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคม คิดว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายก็คือความไม่เป็นธรรม-ความไม่ชอบธรรมที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นคืออะไร ซึ่งกระบวกการในการสื่อสารกับสังคมมันเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องต้องใช้เวลา เพราะว่าไม่ว่าคุณจะเปลี่้ยนกฎหมายกี่ฉบับให้ก้าวยังไงก็ตามยังมีการทบทวนประเด็นของการผลักดันกฎหมายต่างๆ เรื่องสตรีนิยมยังมีข้อสังเกตเลยว่า กฎหมายบ้านเรามันก้าวหน้ามากแต่ปัญหาพอลงไปสู่ภาคปฏิบัติ หรือการบังคับใช้กฎหมาย มันมีข้อจำกัดมากมาย แท้ที่จริงแล้วกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยวัฒนธรรมประชาธิปไตย ในการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเข้าใจร่วมกัน มันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าสตรีนิยมมันจึงต้องไปกับกระบวนการประชาธิปไตยในการที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุดก็คือกระบวนการทางวัฒนธรรมไม่อย่างนั้นปิตาธิปไตยหรือสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ไม่ได้หมายถึงผู้ชายที่เป็นปัจเจกบุคคลแต่เป็นเชิงความคิดมันก็ไม่อยู่ยาวนานจนถึงทุกวันนี้ เพราะว่ามันต้องมีกระบวนการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมซึ่งก็เป็นการท้าทายของนักสตรีนิยมที่จะต้องท้าทายตัวเองด้วยในแง่การเปลี่ยนแปลง

 

ปฏิญญาปักกิ่ง กับ 12 เป้าหมายในการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพผู้หญิง

 

ปฏิญญาปักกิ่ง (Asian and Pacific Conference on Gender Equity and Women's Empowerment: Beijing+20 Review) มีเป้าหมายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและศักยภาพของผู้หญิงทั่วโลก มีประเด็นเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง ดังต่อไปนี้

1) ปัญหาความยากจน ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงในภูมิภาคยังคงอยู่ในภาวะยากจน และเผชิญกับการถูกบังคับให้ทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้รับค่าข้างระดับต่ำ
2) ผู้หญิงและโอกาสด้านสาธารณสุข ซึ่งปัญหาความยากจน และโอกาสในการศึกษาที่ต่ำกว่าผู้ชาย ทำให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่งผลให้โอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขต่ำลงไปด้วย และส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กหญิง
3) การเข้าถึงการศึกษาและการอบรม ซึ่งจากข้อมูลของยูเอ็นวีเมน มีผู้หญิงที่อ่านออกเขียนได้ เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงในบางประเทศในภูมิภาคนี้ และมีโอกาสในการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาต่ำกว่าเพศชาย
4) สิทธิทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ชายและผู้หญิงในเอเชียและแปซิฟิกได้รับโอกาสในการจ้างงาน ผู้หญิงได้รับโอกาสในการจ้างงานเพียงร้อยละ 62 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชาย และผู้หญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย โดยได้รับเพียง 70 - 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายเท่านั้น
5) ผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งและสงคราม ซึ่งผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย ทำร้าย บังคับใช้แรงงาน รวมไปถึงล่วงละเมิดทางเพศ และผู้หญิงเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยในการมีส่วนร่วมในระดับนโยบายในการการแก้ปัญหา ทั้งระหว่างการเจรจา หลังเจรจา และแม้ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งยาวนาน แต่กลับมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่มีนโยบายและแผนปฏิบัติในระดับชาติ ในประเด็นผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง
7) ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง โดยกลุ่มผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกปฏิเสธหรือมีความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างจำกัด อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายสูงในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงอคติทางเพศต่อคดีทางเพศ ขณะที่มีตัวเลขว่า ในบางประเทศ ผู้หญิงระหว่างอายุ 15-49 ปี เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากคนใกล้ตัว
8) ผู้หญิงในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเชิงนโยบาย ในภูมิภาคนี้มีสัดส่วนผู้หญิงในสภาเฉลี่ยเพียง 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น มีเพียงสามระเทศที่มีสัดส่วนผู้หญิงในสภาสูงกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์ และในภาคธุรกิจ มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงเพียง 6 เปอร์เซ็นต์
9) ผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งโอกาสจองผู้หญิงในการเข้าถึงทรัพยากรถูกจำกัดเพราะการเลือกปฏิบัติทางเพศ มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงพลังงานสะอาด ขณะที่ผลการสำรวจพบด้วยว่า ผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) มากกว่าผู้ชาย
10) ผู้หญิงกับสื่อ ในภูมิภาคนี้มีสื่อมวลชนหญิงเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิงที่มีโอกาสเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสื่อ มีไม่ถึง 1 ใน 5 ขณะที่ผลการสำรวจเนื้อหาพบว่าสื่อนั่นมีแนวโน้มในการส่งเสริมอคติทางเพศ มากกว่าที่จะตั้งคำถามท้าทาย ถึง 8 เท่า
11) เด็กผู้หญิง ในภูมิภาคนี้ อคติทางเพศ ทำให้ผู้หญิงขาดโอกาสการศึกษาหรือต้องออกจากโรงเรียน กว่าร้อยละ 40 ของเด็กผู้หญิงแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี
12) สิทธิมนุษยชนของผู้หญิง โดยกลุ่มผู้หญิงและเด็กในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ  เช่น การค้ามนุษย์ การบังคับให้ค้าบริการทางเพศ ฆาตกรรม ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครัวเรือน ขณะที่โอกาสน้อยในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net