Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ณ วันที่ 5 มีนาคม 2558 เวลา 20.38 น. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 179 คน ได้ลงมติเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว ซึ่งได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558

โดยมีผู้เห็นชอบ 173 คน ไม่เห็นชอบ 0 คน งดออกเสียง 5 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน

นี้คือ 16 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับนี้ นับจากครั้งสุดท้าย คือ ปี 2542

นับต่อไปอีก 4 เดือน ภายหลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 บังคับใช้กับผู้ประกันตนทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 สนช. ได้รับหลักการวาระ 1 ของร่างกฎหมายประกันสังคมที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 รวม 29 เรื่อง ซึ่งต่อมาภายหลังการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พบว่า มีการแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งแตกต่างจากฉบับที่รับหลักการในวาระ 1 รวม 14 เรื่อง อีกทั้งยังมีผู้ขอแปรญัตติในบางมาตรารวม 7 เรื่อง  

อย่างไรก็ตามจากผลการพิจารณาในช่วงลงมติรายมาตราที่คณะกรรมาธิการฯได้มีการแก้ไขและมีผู้ขอแปรญัตติ พบประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ

(1)    ในมาตรา 40 ที่คณะกรรมาธิการฯได้แก้ไขว่า “การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ ประกันตนมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน” ซึ่งจากเดิมในร่างรัฐบาลเขียนไว้ว่า “การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน”

            ในมาตรานี้ภายหลังการอภิปรายแล้ว ทางคณะกรรมาธิการฯได้ขอแก้ไขในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ ให้คงไว้เหมือนเดิมตามร่างรัฐบาล คือ รัฐสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งที่ผู้ประกันตนสมทบ

(2)           ในมาตรา 77 ทวิ คณะกรรมาธิการฯไม่มีการแก้ไข โดยคงไว้ตามร่างรัฐบาล คือ “กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม และไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย” อย่างไรก็ตามในมาตรานี้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอแปรญัตติโดย “ขอตัดทิ้งทั้งมาตรา” โดยเห็นว่ามีความแตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ ซึ่งจะขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปี

ในมาตรานี้ภายหลังการอภิปรายแล้ว ทางผู้ขอแปรญัตติได้ขอถอนประเด็นที่นำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สรุปว่าให้คงไว้เหมือนเดิมตามร่างรัฐบาล คือ ได้รับบำเหน็จชราภาพเมื่อผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยได้สิ้นสุดจากความเป็นผู้ประกันตนและเดินทางกลับประเทศต้นทาง

สามารถแสดงเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนได้ในรูปตารางเรียงตามมาตราร่าง พ.ร.บ. ดังนี้

 

ข้อ

สาระสำคัญที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 1

สาระสำคัญใหม่ที่ถูกแก้ไข

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

ประเด็นที่
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ขอแปรญัตติ

สรุปผลการพิจารณาในช่วง
ลงมติวาระ
3 ว่าเห็นชอบ /
ไม่เห็นชอบในแต่ละมาตรา

(1)         

มีการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ รวมถึงครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้)

มีการเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม (นอกเหนือ จาก 2 กลุ่มตามตารางด้านซ้ายมือ) คือ กลุ่มลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและต้องไปประจำทำงานในต่างประเทศ

 

ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศสามารถเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายไทยลูกจ้างจะได้รับมากกว่ากองทุนประกันสังคมจากต่าง ประเทศ (กฎหมายฉบับ 2533 ได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้) (มาตรา 4)

นายกล้าณรงค์ จันทิก

ขอตัดนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ออกทั้งหมด

 

 

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(2)         

แก้ไขคำว่า “ลูกจ้าง” ให้มีความหมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(3)         

แก้ไขคำว่า “ทุพพลภาพ” ให้หมายถึง การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประ กอบการงานตามปกติได้  ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะ กรรมการการแพทย์ (กฎหมายเดิมระบุเพียงว่าต้องไม่สามารถทำงานได้เพียงเท่านั้น)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(4)         

แก้ไขคำว่า “ว่างงาน” ให้จำกัดเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างเท่านั้น

(กฎหมายเดิมรวมทุกกรณีที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง)

แก้ไขนิยามคำว่า “ว่างงาน” โดยให้คงไว้ตามเดิมใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่หมายความว่า การที่ผู้ประกัน ตนต้องหยุดงาน เนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง (มาตรา 5)

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(5)         

เพิ่มเติมคำว่า “ภัยพิบัติ” ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น โดยหมายถึงทั้งภัยธรรมชาติและมีผู้ทำให้เกิดขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตการได้รับลดหย่อนการออกเงินสมทบ

(กฎหมายเดิมไม่มี)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(6)         

แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรม การประกันสังคม ให้ประกอบด้วย ปลัดกระ ทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 6 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนัก งานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุ การ  ทั้งนี้กรรมการต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน

 

(กฎหมายเดิมกำหนดผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 5 คน และไม่ได้ระบุเรื่องที่มาจากการเลือกตั้งไว้ รวมทั้งกรรมการไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์ สิน)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

องค์ประกอบของคณะกรรมการประกัน สังคม ให้เพิ่มเติมผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาอีก 1 ตำแหน่งจากองค์ประกอบเดิมที่ระบุไว้แล้ว เพราะเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบในการส่งเสริมดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ

 

และสำหรับในส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เพิ่มเป็นฝ่ายละ 7 คน (เนื่องจากมีการเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเป็น 7 คน ทำให้ต้องเพิ่มตัวแทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเข้าไปด้วย)

 

อีกทั้งผู้แทนทั้ง 2 กลุ่มนี้ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส (มาตรา 7)

นายมนัส โกศล ในฐานะกรรมาธิการ 

ขอตัดคำว่า “สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส” ออก

 

นายสุธรรม พันธุศักดิ์

ขอเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการ จากเดิมที่กำหนดว่าปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ขอแก้ไขใหม่โดยให้กรรมการประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(7)         

กำหนดให้คณะกรรมการประกัน สังคมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นที่ปรึกษาไม่เกิน 7 คน โดยการสรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความ สามารถและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ในด้านการเงินการคลัง ด้านระบบงานประกันสังคม ด้านการบริหารการลงทุน ด้านบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์

 

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

 

(กฎหมายเดิมกำหนดผู้ทรงวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน และมาจากด้านประกันสังคม แรงงาน การแพทย์ กฎหมาย และอื่นๆ)

มีการแก้ไขใหม่ โดยเพิ่มเติมถ้อยคำดังนี้

 

-        หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ทรงวุฒิให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของกรรมการ

 

-        เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ทรงวุฒิและที่ปรึกษาจากเดิมอีก 3 ข้อ คือ ต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ , ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต , ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ปี

 

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ และนายธานี อ่อนละเอียด

 

ขอแก้ไขถ้อยคำในเรื่องคุณสมบัติ โดยจากเดิมเขียนไว้ว่า “ไม่เป็น” หรือ “ไม่เคย” ขอแก้ไขใหม่ โดยตัดคำว่า “ไม่” ออกจากประโยคนั้นๆ

 

กล่าวโดยง่าย คือ วรรคแรกเขียนไว้ว่ากรรมการหรือที่ปรึกษาไม่มีลักษณะต้อง ห้าม ดังต่อไปนี้ ดังนั้นวรรคต่อมาไม่ต้องใส่คำว่า “ไม่เป็นแล้ว” เพราะจะซ้ำซ้อนกับวรรคข้างต้น คือ มีคำว่า “ไม่” 2 ครั้ง ในมาตราเดียวกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น

มาตรา 8/2 กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งหรือที่ปรึกษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(2) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

 

ผู้แปรญัตติ ได้ขอตัดคำว่า “ไม่” หน้า ข้อความข้อ (2) ออก เป็นต้น

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

 

ยกเว้นเพียงคุณสมบัติเรื่องต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี ให้ตัดถ้อยคำนี้ออกไป

(8)         

การกำหนดเรื่องกรรมการ ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราการทุจริต ที่จะต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยให้เปิดเผยต่อสาธารณชนทราบไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว

(กฎหมายเดิมไม่มีการระบุในเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

นายสุธรรม พันธุศักดิ์

 

ขอแก้ไขใหม่ว่า ไม่ต้องเปิด เผยต่อสาธารณชน เว้นแต่มีผู้ร้องขอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่ามีเหตุส่อไปในทางทุจริตและประ พฤติมิชอบ

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ

(9)         

ไม่มีการระบุไว้

ไม่มีการระบุไว้

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ และนายธานี อ่อนละเอียด

ขอแก้ไขใหม่ทั้งหมดในเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกัน สังคม โดยเสนอดังนี้

 

-     ให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

 

-     กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

 

-     เงินกองทุนให้เป็นของกองทุน และไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ผู้แปรญัตติขอถอน ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีข้อสรุปเรื่องให้กระทรวงแรงงานนำประเด็นที่แปรญัตตินี้ไปตั้งไว้เป็นข้อสังเกตในการดำเนินการต่อไปในอนาคต

(10)      

แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพ้นตำแหน่งของคณะ กรรมการ โดยเพิ่มเติมเรื่องคณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพิ่มขึ้นมาอีกข้อ

(กฎหมายฉบับ 2533 ไม่มีการระบุไว้)

แก้ไขใหม่เป็น

 

การพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ และรวมถึงผู้ทรงวุฒิ ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการที่มีอยู่ ตามระเบียบที่คณะ กรรมการกำหนด

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(11)      

แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรม การการแพทย์ ให้ประกอบ ด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 16 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ หรือในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขหรือด้านการพัฒนาคุณภาพสถาน พยาบาล โดยให้ผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดเพียงรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆเท่านั้น)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

-        คณะกรรมการการแพทย์ให้แต่งตั้งผ่านวิธีการสรรหา ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของกรรมการ

 

-        ให้เพิ่มผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 1 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการการแพทย์ด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นมิติทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนในรายละเอียดเชิงลึกแก่คณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้)

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(12)      

เพิ่มเติมข้อความเรื่อง กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการตามหลักสากล มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

(กฎหมาย 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

มีการแก้ไขถ้อยคำใหม่เป็น

 

กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กองทุนตามมาตรฐานการบัญชี  มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ

 

ทั้งนี้ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสได้มาตรฐาน และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

 

หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(13)      

กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ เพื่อประโยชน์ของกองทุนได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(14)      

ไม่มีการระบุไว้

ไม่มีการระบุไว้

รศ.ทวีศักดิ์ ศุทกวาทิน

ขอเพิ่มเติมข้อความสำหรับผู้ประกันตามมาตรา 39 ดังนี้

 

เมื่อผู้ประกันตนได้โอนย้ายไปเป็นผู้ประกันตนของกองทุนอื่นของรัฐ ให้มีสิทธิได้รับเงินสมทบที่ได้นำส่งเข้ากองทุนคืน โดยให้กองทุนประกันสังคมดำเนิน การโอนเงินสมทบดังกล่าวไปให้กองทุนอื่นของรัฐที่รับโอนผู้ประกัน ตนไปจากกองทุนประกันสังคม

ผู้แปรญัตติขอถอน

(15)      

ขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากยิ่งขึ้น

 

และเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

(กฎหมายเดิมกำหนดไว้แค่เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 เท่านั้นที่จะสมัครเข้ามาตรา 40 ได้ และไม่มีการกำ หนดอัตราเงินสมทบของรัฐบาลว่าจะต้องสมทบจำนวนเท่าใด)

แก้ไขเฉพาะในเรื่อง การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

 

-

ลงมติแล้วไม่เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ ทั้งนี้ให้กลับไปใช้ถ้อยคำเดิม ตามร่างรัฐบาลที่รับหลักการวาระ 1

(16)      

รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประ กันตนได้ ในกรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(17)      

กำหนดการคำนวณเงินเพิ่มที่นาย จ้างค้างชำระเงินสมทบ ทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของลูกจ้าง โดยกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องจำนวนเงินสมทบสุทธิที่นายจ้างต้องจ่าย)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(18)      

ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน ไม่เป็นการตัดสิทธิจากกฎหมายอื่นๆที่ต้องได้รับอยู่แล้วด้วย และสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(19)      

ขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเป็น 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 1 ปี)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(20)      

แก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ สำหรับการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยแก้ไขใหม่จาก 9 เดือนเป็น 15 เดือน (กฎหมายเดิมเป็นการนำค่าจ้างสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 9 เดือน มาคำนวณ)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(21)      

ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรส หรือบุตรของผู้ประกัน ตนตามมาตรา 33 ซึ่งจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือตาย มีสิทธิได้ รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกัน สังคมและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นเรื่องนี้ไว้ มาตรา 61 เดิม แก้ไขใหม่อยู่ในมาตรา 28)

ไม่มีการแก้ไข

 

-

-

(22)      

ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย (กฎหมายเดิมไม่มีเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ในส่วนค่าบำบัดทางการแพทย์ ให้เพิ่มค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ เข้ามาด้วย

 

รวมทั้งให้เพิ่มเรื่อง ค่าใช้จ่ายเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว ให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้

 

เหตุผลเพื่อไม่ต้องรอการพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้ถูกหรือผิด (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้)

 

มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมให้สามารถใช้สิทธิในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ ทั้งนี้ได้มีการเรียงถ้อยคำใหม่ในมาตรานี้ให้สมบูรณ์ขึ้นว่าประโยชน์ทดแทนใดควรมาก่อนหลัง ตามลำดับ

(23)      

สิทธิประโยชน์ในกรณีคลอดบุตร กฎหมายฉบับ พ.ศ. 2533 ระบุไว้ว่าผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายในระยะ เวลา 15 เดือน

หมายเหตุ : มาตรานี้คงไว้ตามกฎหมายเดิม ฉบับที่เข้า สนช. ไม่มีการแก้ไขใหม่ แต่คณะกรรมาธิการฯได้ขอแก้ไขเอง

ขอแก้ไขใหม่เป็น จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 5 เดือน

 

รวมทั้งให้ตัดประโยชน์ทดแทนที่กำหนดไว้ว่าคลอดบุตรได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้นออก

(เนื่องจากประชากรของประเทศลดลงอย่างมาก และขาดแคลนวัยแรงงาน จึงไม่ควรกำหนดจำนวนบุตรไว้)

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(24)      

ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และการทุพพลภาพนั้นมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรม การการแพทย์กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตลอดชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(25)      

กำหนดเรื่องการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย โดยได้ระบุว่า

 

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกัน ตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 50ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 3

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือน ที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 10

แก้ไขใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตัวคูณ

 

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 4

 

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือน ที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 12

 

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(26)      

ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสีย ชีวิต มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ระบุเพียงเรื่องทุพพลภาพเท่านั้น)

ไม่มีการแก้ไขถ้อยคำ แค่แก้ไขการจัดวรรคตอนและย่อหน้าเท่านั้น

-

-

(27)      

กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ทั้งนี้บุตรดังกล่าวต้องไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

 

(กฎหมายเดิมระบุว่าต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กฎหมายใหม่ตัดประโยค “ชอบด้วยกฎหมาย” ออกไป)

ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร จำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ขอแก้ไขใหม่เป็น 3 คน

 

(เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนมีบุตรเพิ่มขึ้น)

 

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(28)      

กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม และไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

(กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และพลเรือเอกวัลลภ   เกิดผล

 

ขอตัดถ้อยคำในมาตราดังกล่าวนี้ออกทั้งหมด

 

โดยเห็นว่ามีความแตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ ซึ่งจะขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปี

ผู้แปรญัตติขอถอน ให้ให้กลับไปใช้ถ้อยคำเดิมตามร่างรัฐบาลที่ลงมติรับหลักการในวาระ 1

(29)      

ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสีย ชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประ โยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ ให้มีสถานะเป็น “ทายาท” เหมือนกับทายาทผู้มีสิทธิ ซึ่งได้แก่ บุตร สามีหรือภรรยา บิดาและมารดา โดยให้ได้รับ 1 ส่วน

(กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้)

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

(30)      

ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

 

เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน

ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

(กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) ดูมาตรา 79/1

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(31)      

กำหนดบทลงโทษกรณีที่นายจ้างไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลา

เหตุผลเพื่อเป็นมาตรการบังคับให้นายจ้างต้องยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ

 

(กฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดในกรณีนี้ไว้) ดูมาตรา 97 

ไม่มีการแก้ไข

-

-

(32)      

ในร่างฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช.ไม่มีการระบุไว้

มีการเพิ่มเติมมาตราที่ 44 /1 เข้ามา โดยระบุว่า

 

พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนในวันประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้

-

ลงมติแล้วเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ

นอกจากนั้นแล้ว คณะกรรมาธิการฯยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาแต่อย่างใด รวม 5 เรื่อง ดังนี้

(1)    หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน ควรมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างควรมาจากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนด้วย

(2)    สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนั้น ให้สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำระบบฐานข้อมูลและระบบการส่งต่อเกี่ยวกับการใช้สิทธิของผู้พิการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ถูกปฏิเสธการใช้สิทธิ

(3)    สำนักงานประกันสังคมควรปรับรูปแบบการสื่อสารต่อผู้ประกันตนให้ได้รับรู้สิทธิของตน และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง

(4)    การโอนย้ายสิทธิไปเป็นสมาชิกกองทุนอื่นของรัฐ และให้มีสิทธิได้รับเงินสมทบที่ได้นำส่งเข้ากองทุนคืน โดยโอนเงินดังกล่าวนี้ให้กับกองทุนที่รับโอนไป เห็นว่าในร่างกฎหมายฉบับแก้ไขที่รับหลักการเรื่องนี้ในวาระ 1 ไม่ได้ระบุไว้ จึงไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้

(5)     ในอนาคตหากมีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ควรมีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net