ความทรงจำ ความหวังและ 'วันพรุ่งนี้'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

น่าทึ่งมากนะครับที่คุณประภาส ชลศรานนท์ ได้แต่งเพลง “วันพรุ่งนี้” ขึ้นมา โดยได้ผนวกรวมเอา “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ไว้ด้วยกันอย่างแยบคาย การเลือกให้เด็กทวงถาม “ ความทรงจำ” เพื่อนำไปสู่การกระตุกเตือนให้ผู้คนหวนกลับไประลึกถึงการบอกเล่า/สอนสั่งในเรื่องความดีงามของความสัมพันธ์ทางสังคมในครั้งเก่าก่อน ขณะเดียวกันก็โยงมาสู่ปัจจุบันที่ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่บอกเล่า/สอนสั่งมา และได้โยงไปสู่ความหวังในอนาคตว่าหากพี่ป้าน้าอาปู่ย่าตายายที่ขัดแย้งกันในวันนี้หวนระลึกและใช้ความทรงจำเก่ามาคืนความสามัคคี ลูกหลานก็จะปฏิบัติตามและอนาคตก็ย่อมสดสวยเหมือนเดิม

กล่าวได้ว่าความปรารถนาของมนุษย์ในการสร้างสังคมที่ดีกว่าก็จะต้องจำเป็นที่จะต้อง “ควบรวม” อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกันเช่นนี้แหละ เพราะการทำความเข้าใจปัจจุบันได้ก็จำเป็นต้องสร้างการอธิบายอดีต พร้อมกันนี้การมองเห็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนจากอดีตมาปัจจุบันก็จะทำให้มองเห็นแนวทางในการสร้าง “ ความหวัง” ให้แก่อนาคต

นักทฤษฏีสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์จำนวนไม่น้อยพยายามที่จะเขียนหนังสือเพื่อชักชวนให้ผู้อ่านมองเห็นความสำคัญของการมองต่อเนื่องระหว่าง อดีต ปัจจุบัน กับอนาคต แต่บทเพลงสั้นๆนี้ได้สรุปความหมายและได้เชื่อมต่อเอาไว้อย่างครบถ้วนทีเดียว

แต่ความปรารถนาของเด็กน้อยที่หวังจะกระตุกเตือนญาติผู้ใหญ่ทั้งหมดก็คงจะไม่มีพลังอย่างที่คุณประภาสคาดหวัง  เพราะความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปี  ได้ทำให้ “อดีต”ของผู้ใหญ่แต่ละกลุ่มเป็นอดีตที่ไม่เหมือนกันอีกแล้ว ผู้ใหญ่บางกลุ่มอาจจะตอบแก่เด็กน้อยว่า “เขาไม่ลืมหรอก” แต่เขาก็จะบอกต่อไปว่าเมื่อก่อนที่เขาเชื่อเช่นนั้นและสอนสั่งไปเพราะถูกทำให้เชื่อว่าสังคมเป็นเช่นนั้น  แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว  ผู้ใหญบางกลุ่มก็อาจจะเน้นย้ำอดีตว่าเป็นอ่ย่างนั้นจริงๆ แต่ปัจจุบันไม่สามารถกลับคืนได้อีกแล้วเพราะทนอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

“อดีต” ไม่ใช่เรื่องที่ตายตัว  หรือไม่ใช่เพียงแค่ถาวรวัตถุทีคงที่ตลอดกาล  หากแต่เป็นกระบวนการการให้ ”ความหมาย” แก่อดีต  การให้ความหมายแก่อดีตก็ไม่ใช่เพียงเพราะค้นพบหลักฐานใหม่ๆ แต่ความเปลี่ยนแปลงของการดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้คนให้ “ความหมาย” ต่ออดีตไปในทิศทางที่สอดคล้องไปกับปัจจุบันกาลของเขา

“ความทรงจำ” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสังคมก็เช่นเดียวกัน   “ความทรงจำ” ชุดหนึ่งเคยหล่อเลี้ยงความหวังในวันนี้และวันข้างหน้าจึงมีโอกาสที่จะหมดพลังไปในยามที่ผู้คนได้เริ่มเปลี่ยนความหมายของตนเองซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความหมายต่ออดีตไปพร้อมๆกัน

“ความทรงจำ” ชุดที่ปรากฏในเพลง “วันพรุ่งนี้ “ เป็นความทรงจำชุดที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อมานานมานี้เอง หากคุณประภาสกลับไปอ่านขุนช้างขุนแผนหรือไปพักอาศัยกับพี่น้องชาวบ้านจริงๆ (ที่ไม่ได้ทำรีสอร์ตสวยๆขายนักท่องเที่ยวผู้โหยหาอดีต)  ก็จะพบว่าความเรียบง่ายในแบบของชุดความทรงจำที่บรรจุไว้ในบทเพลงนั้นไม่มีจริง นักศึกษาที่เดินทางเข้าป่าไปสบทบกับพรรคคอมมิวนิสต์หหลัง 2519 จำนวนไม่น้อยที่เข้าป่าไปพร้อมกับความเชื่อว่าชาวบ้านน่ารักและบริสุทธิ์ก็อกหักกลับมาไม่น้อยเพราะมนุษย์ทุกแห่งหนล้วนไม่เคยมีใครสมบูรณแบบ

“ความทรงจำ”ถึงอดีตที่แสนงามจึงเป็นเพียงภาพและบทเพลงที่ไม่สามารถจะกระตุ้นเตือนให้ใครได้หวนกลับสู่ความสัมพันธ์แบบเดิมอีกแล้ว นอกจากเสพความรู้สึกเพื่อเติมความโหยหาในบางช่วงเวลาเท่านั้น

เป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะผลัก “ ความทรงจำ” ชุดเดิมให้มีปฏิบัติการแบบเดิมในสังคมที่แปรเปลี่ยนจนระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดไม่เหมือนเดิมไปแล้ว และเราจะหวังผลักให้ความสัมพันธ์จริงๆทีแปรเปลี่ยนไปแล้วให้กลับมาอย่างเดิม ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน

“ความทรงจำ” เป็นฐานที่สำคัญที่สุดของการจัดตั้งสังคมของมนุษย์  คนแต่ละคนที่จดจำอะไรไว้มากมายไม่ได้จดจำในฐานะของปัจเจกชนเท่านั้น หากแต่สายใยที่เกาะเกี่ยวผู้คนในสังคมได้ทำให้ “ความทรงจำ” ของคนแต่ละรุ่นแต่ละช่วงเวลามีส่วนร่วมกันจนกล่าวได้ว่า “ความทรงจำ”ทั้งหมดเป็น”ความทรงจำร่วม”ของสังคมในระดับใดระดับหนึ่ง

“ความทรงจำร่วม” ของคนในสังคมจะนำให้เกิดการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคมนั้นๆ และการจัดวางนี่ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความหวังว่าอนาคตจะเดินไปอย่างไร

ในวันนี้ นอกจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่เกิดขึ้นและทอดยาวมานานกว่าสิบปี  ลึกลงไปสังคมไทยกำลังต้องการการให้ความหมายแก่ “ อดีต”กันใหม่  เพื่อที่จะร่วมกันสร้าง “ความทรงจำร่วม” ชุดใหม่อันจะเป็นฐานให้แก่สังคมที่งดงามในอนาคต 

ปัญหาที่สำคัญ ก็คือ  เราจะสัมพันธ์กับ “อดีต” เพื่อสร้าง “ความทรงจำร่วม” กันอย่างไรในการนำสังคมไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้   เพราะ “อดีต” หรือ “ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่เรื่องราวความรู้เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาแล้วอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจกัน  หากแต่ความรู้เรื่อง “อดีต” ล้วนแล้วแต่เป็นพลังทางภูมิปัญญาของคนในยุคปัจจุบันกาลหนึ่งๆที่เริ่มมองเห็นว่าสังคม ณ เวลานั้นมีปัญหาเกิดขึ้นและเขาไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเกิดขึ้น ความปรารถนาที่จะเข้าใจปัญหาในปัจจุบันกาลจะชังจูงให้ผู้คนหันกลับไปอธิบาย “อดีต” กันใหม่เพื่อที่จะให้สามารถทำเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันได้

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้มองเห็นบทบาทของสามัญชนคนธรรมดาในการสร้างประวัติศาสตร์ และก่อให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้คนโดยทั่วไป และส่งผลให้เกิดประวัติศาสตร์สังคม  ประวัติศาสตร์ของสังคม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชนชั้นรองที่ถูกกดขี่ (Subaltern) 

การเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์ที่มุ่งอธิบายบทบาทของผู้คนทั่วไปว่ามีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น  ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้หลักฐานในการเขียนประวัติศาสตร์โดยเริ่มไปใช้ความทรงจำมากขึ้น

ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในการเขียนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมในสังคมไทย  เช่น คำนำในงานเขียนเรื่อง “ตำนานเสนาบดีกรุงรัตนโกสินทร์ “ ของขุนวรกิจพิศาล (เปล่ง สุวรรณจิตติ  พิมพ์ในปี พ.ศ. 2463)  ที่แสดงให้เห็นว่า “ในชั้นแรก ก็แลเห็นแต่ปฐมเหตุข้อเดียวว่า เพราะพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดิน พระองค์เป็นผู้ทรงรวบรวมกู้ให้คนมีขึ้นอย่างเดิม...มานึกดูอีกครั้งหนึ่งว่า...พระองค์ท่านพระองค์เดียวจะทรงปกป้องประเทศและชาติให้เจริญถาวรคงอยู่ได้เช่นนั้นหรือ  จำเป็นจะต้องมีเสนาอำมาตย์ราชเสวกช่วย...เมื่อแลเห็นความจริงฉะนี้แล้ว  ก็ทวีความรู้สึกมากขึ้นอยากจะทราบว่าใครเป็นผู้ช่วยเหลือในราชการแผ่นดินมาแต่ก่อนบ้าง...”

กล่าวได้ว่าเมื่อเกิดการขยายตัวของระบบราชการ สามัญชนที่ก้าวขึ้นมาเป็นข้าราชการระดับสูงก็ได้เกิดความสำนึกที่ว่าตนเองก็มีส่วนในการบริหารบ้านเมือง และความรู้สึกนี้เป็นแรงผลักดันให้กลับไปศึกษา “อดีต” กันใหม่  ตัวอย่างลักษณะนี้มีอีกมากมาย ที่น่าสนใจอีกหนึ่งปรากฏการณ์ได้แก่ ข้อสงสัยของสมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ในบทบาทของท่านผู้หญิงโม้ที่ว่าในพงศาวดารนั้น “ไม่เห็นแสดงอิทธิฤทธิ์อะไร” คำตอบของสมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอดีตความว่า “การสร้างรูปท่านผู้หญิงโม้นั้น เป็นอุทาหรณ์อันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าความคิดสมัยใหม่ผิดกับสมัยเก่า” (สาส์นสมเด็จ เล่ม 4 หน้า 267)

ความเปลี่ยนแปลงของการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์เช่นนี้ ได้แก่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง  ได้แก่  การทำให้เกิดการสร้าง “ความทรงจำร่วม” (Collective Memory) ของคนในชาติ  ได้แก่  การสร้างความคิดนามธรรมในการอธิบายลักษณะเฉพาะของชนชาติไทยในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชาติไทยดำเนินมาได้ถึง ณ ปัจจุบันกาล 

แกนกลางของ “ความทรงจำร่วม” นี้ ได้แก่  “ความสามัคคี” กันของคนในอดีตที่ได้นำพาให้ชาติไทยพ้นภัยกันมาได้ เมื่อใดที่แตกสามัคคีก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา  ภายใต้ความทรงจำร่วมเรื่องความสามัคคีก็จะเติมและสานไว้ด้วยความรัก/ประสานประโยชน์/แบ่งปัน ฯลฯ อันเป็นกลไกที่ทำให้ความสามัคคีดำเนินต่อไปได้

“ความทรงจำร่วม” ชุดนี้ส่งผลทำให้เกิดการกระทำรวมหมู่ของสังคมมาเนิ่นนาน  เพราะสามารถใช้ยึดโยงผู้คนในสังคมที่ยังมีการแตกตัวทางชนชั้นและสถานะไม่ชัดเจน  ความสามัคคีจึงป็นนามธรรมของปฏิบัติการณ์ทางสังคมของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นจริงในสังคมไทย

แต่ในยี่สิบปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคมที่หลากหลายมากขึ้น  แม้ว่าในคำกล่าวเชิงลบทำนองว่าคนไทยปัจจุบันนับถือคนมีเงินแม้ว่าเงินได้มาจากการโกงกิน ฯลฯ  แต่ก็แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เห็นความเปลี่ยนแปลงสถานภาพของผู้คนในสังคมว่ามีมากมายและลึกซึ้ง

ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นฐานการจัดตั้งทางสังคมก็ไม่มีพลังหลงเหลืออยู่  เพราะการเข้าถึงทรัพยากรได้กระจายมากขึ้นจนระบบอุปถัมภ์เปลี่ยนแปลงไปจนอาจจะเรียกไม่ได้แล้วว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ เพราะกลายเป็นการแลกเปลี่ยนชั่วคราวกันเป็นส่วนใหญ่  การใช้ถ้อนคำที่แสดงนัยยะว่าเป็น “อุปถัมภ์” เป็นเพียงฉากบังไม่ให้การแลกเปลี่ยนบาดความรู้สึกเท่านั้น  

ปฏิบัติการณ์ทางสังคมที่เป็นจริงของคนกลุ่มต่างๆหลายหลายสถานะและชนชั้น  ได้ทำให้ “ความทรงจำร่วม” ของสังคมไทยอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ  เพราะแกนกลางของ “ความทรงจำร่วม”  อันได้แก่ ความสามัคคี/การแบ่งปัน/ประสานผลประโยชน์ฯลฯลักษณะเดิม เริ่มไม่มีความหมายต่อจิตใจของผู้คนไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว

เพราะการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไปพบว่า  หากจะยึดมั่นความสามัคคีกันแล้วกลับทำให้คนบางกลุ่มฉวยเอาไปใช้หาประโยชน์เข้าตนเองได้มากกว่า 

ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่เกิดขึ้นและทอดยาวมานานกว่าสิบปีเกิดขึ้นมาจากการสูญเสียพลังของ “ความทรงจำร่วม” ชุดเดิม  สังคมไทยกำลังต้องการการให้ความหมายแก่ “อดีต” กันใหม่  เพื่อที่จะร่วมกันสร้าง “ความทรงจำร่วม” ชุดใหม่อันจะเป็นฐานให้แก่สังคมที่งดงามในอนาคต 

หากจะคิดถึงการใช้ความทรงจำร่วมกันในเรื่องความสามัคคีในการรักษาความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ก็จำเป็นที่จะต้องทำให้ความทรงจำร่วมชุดนี้มีความหมายต่อผู้คนให้มากที่สุด ท่ามกลางการแตกตัวทางชนชี้นและสถานะจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้คนทั้งหลายมองเห็น “ความสามัคคีอย่างเสมอภาค” ว่าเป็นแกนกลางของความทรงจำร่วมในอดีตที่ผ่านมา

บทเพลง “วันพรุ่งนี้” คงจะเป็นได้เพียงแค่บทเพลงที่ถูกบังคับให้ร้องกันในโรงเรียนในช่วงเวลาที่รัฐบาลและทหารกลุ่มนี้อยู่ในอำนาจเท่านั้น (นักศึกษาของผมล้อว่า “เปลี่ยนช่องได้ไหม” เวลาต้องฟังเพลงนี้ทางโทรทัศน์ครับ)  ศิลปิน /นักแต่งเพลง/ผู้สร้างงานศิลปท่านอื่นๆทั้งหลายอาจจะช่วยกันทดลองสร้างหรือเสนอ “ความทรงจำร่วม” กันชุดใหม่ๆ ที่อาจจะกินใจผู้คนในสังคมจนก่อรูปเป็นพลังทางสังคมก็ได้นะครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท