Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

มีคำถามกันมากว่า การอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระ กำลังมีลักษณะเป็น “เผด็จการธรรมวินัย” มี “ตำรวจธรรมวินัย” คอยจับผิดพระว่าอย่างนั้นอย่างนี้ทำไม่ได้ ส่งผลให้ไม่มีเสรีภาพในการตีความธรรมวินัย ขาดความหลากหลาย ความมีชีวิตชีวาในพุทธศาสนาไทยๆ เป็นต้น


สิทธิอำนาจและผลประโยชน์จากการอ้างธรรมวินัย

แต่ข้อเท็จจริงคือ พระสงฆ์ไทยทุกนิกาย ทุกกลุ่ม ไม่ว่าพระในและนอกสังกัดมหาเถรสมาคม ต่างอ้างว่าตนเองเป็น “เถรวาท” และถือวินัยสงฆ์ (ศีลพระ) เถรวาท 227 ข้อ การอ้างเช่นนี้ทำให้พระมีอภิสิทธิ์ (สิทธิพิเศษ) ต่างๆ เหนือคนธรรมดามากมาย เช่น มีสถานะภาพสูงกว่าชาวบ้าน เป็นที่ศรัทธากราบไหว้ของผู้คน มีสิทธิอำนาจในการสอนศีลธรรม เป็น “เนื้อนาบุญ” รับบริจาคปัจจัยสี่จากชาวบ้าน กินฟรีอยู่ฟรี และ ฯลฯ

ถามว่าพระเป็น “ผู้ผลิต” หรือไม่? ตอบว่าเป็น เช่น เป็นผู้สอนศีลธรรม ให้บริการด้านกิจกรรมปฏิบัติธรรม พิธีกรรมและอื่นๆ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นการให้ “ฟรีๆ” หรือไม่ ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าพระจะสอนธรรม เขียนหนังสือธรรมะ เสวนาธรรม บรรยาย อภิปรายธรรมในเวทีวิชาการ จัดค่ายปฏิบัติธรรม ให้บริการด้านพิธีกรรม หรือทำการเผยแผ่พุทธศาสนาด้วยวิธีใดๆ แทบทั้งหมดนั้นมี “ค่าตอบแทน” ทั้งสิ้น แต่เราเรียกว่า “เงินทำบุญ” และพระก็รับเงินทำบุญนั้นเป็น “ของส่วนตัว” ได้ด้วย

แต่ตามวินัยสงฆ์ พระรับเงินเป็นสมบัติส่วนตัวไม่ได้ ถ้ารับก็ต้องอาบัติ “นิคสัคคีย์ปาจิตตีย์” ต้องปลงอาบัติ หรือแก้การผิดวินัยสงฆ์ข้อนี้ได้ด้วยการ “สละคืนให้สงฆ์” คือต้องมอบเงินนั้นให้เป็นของสงฆ์หรือของส่วนรวม สำหรับใช้เพื่อกิจการส่วนรวมของวัด หรือให้พระทุกรูปมีสิทธิ์เบิกใช้ยามจำเป็น เช่นค่ารักษาพยาบาลยามป่วยไข้เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง พระสงฆ์ไทยสามารถมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้เป็นร้อยๆ ล้าน รับโอนเงินใน “ชื่อตัวเอง” ได้เป็นร้อยๆ ล้าน พันล้าน โดยไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องถูกรัฐตรวจสอบเรื่องร่ำรวยผิดปกติ ฯลฯ เพียงเพราะอ้างว่านั่นคือ “เงินบริจาคทำบุญ”

สำหรับบรรดาลูกศิษย์พระรวยๆ เช่นนั้น ก็ไม่ได้สนใจจะตรวจสอบอยู่แล้ว เพราะเชื่อใจท่าน ยิ่งถูกกล่อมเกลาให้เชื่อกันว่าท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส กระทั่งมี “ญาณวิเศษ” หยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ด้วยแล้ว ยิ่งเชื่อต่อไปว่าการที่ท่านมีบัญชีเงินฝากในชื่อตัวเองเป็นร้อยเป็นพันล้าน นั่นก็ยิ่งแสดงถึงบุญบารมีอันสูงส่งของท่าน ใครคิดสงสัยหรือจะตรวจสอบความโปร่งใสของท่าน ย่อมมี “จิตอกุศล” เกิดขึ้น เป็นบาปกรรมแก่ตัวเองเปล่าๆ ไม่บังควรคิดเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง

 

ตรรกะของการอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระ (และที่พอทำได้เพียงน้อยนิด)

อย่างไรก็ตาม แม้พระสงฆ์ทุกกลุ่มจะอ้างความชอบธรรมในสถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ทางนามธรรมและทางวัตถุจากการถือวินัยสงฆ์ หรือศีลพระ 227 ข้อ แต่ในความเป็นจริงชาวพุทธไทยก็ให้ความสนใจ หรือสามารถตรวจสอบพระได้จริงๆ ด้วยการอ้างวินัยสงฆ์เพียง 4 ข้อ หรือ “ปาราชิก 4 ข้อ” ที่ถ้าพระละเมิดแล้วจะขาดจากความเป็นพระเท่านั้น แปลว่าศีลพระอีก 223 ข้อ เป็นเรื่องที่แต่ละวัด แต่ละสำนักจะตรวจสอบกันเอง (แต่เราเคยเห็น “การตรวจสอบกันเอง” หรือไม่ ส่วนใหญ่เรารู้เมื่อเป็น “ข่าว”)

ตรรกะของการอ้างวินัยสงฆ์ตรวจสอบพระ คือการที่ชาวบ้านเรียกร้อง-ต่อรอง “ความรับผิดชอบ-accountability ทางศีลธรรม” จากพระ หมายความว่าเมื่อพระอ้างธรรมวินัยอะไรให้ความชอบธรรมแก่สถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ตัวท่านควรได้รับ ประชาชนก็มีสิทธิอ้างธรรมวินัยที่ท่านอ้างนั้นมาเรียกร้องความรับผิดชอบกับท่านได้ แต่ที่ชาวพุทธไทยอ้างตรวจสอบพระได้จริงๆ คือ 4 ข้อนี้เท่านั้น

1. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่ฆ่าคน ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ห้ามฆ่ามนุษย์” (ปาราชิกข้อที่ 1)

2. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่คอรัปทรัพย์สินคนอื่น ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ไม่ถือเอาของคนอื่นที่มีราคาตั้งแต่ 5 มาสก หรือ 1 บาทขึ้นไป” (ปาราชิกข้อ 2)

3. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ห้ามเสพเมถุนหรือมีเพศสัมพันธ์” (ปาราชิกข้อ 3)

4. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่คอรัปศรัทธาหรือหลอกลวงหากินกับศรัทธาของพระชาชน ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ห้ามอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน” อันเป็นการห้ามอ้างคุณวิเศษหลอกลวงหากินกับศรัทธาของประชาชน (ปาราชิกข้อ 4)

จะเห็นว่า หากเทียบกับสถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ทั้งทางนามธรรมและวัตถุที่พระได้รับ การเรียกร้อง “ความรับผิดชอบ” จากพระเพียง 4 ข้อนี้ เป็นการเรียกร้องที่ “น้อยมาก” ข้อ 1, 2 และ 4 เป็นจริยธรรมพื้นฐานที่แม้แต่ฆราวาสก็ต้องปฏิบัติกันทุกองค์กรอยู่แล้วทั้งนั้น ไม่มีองค์กรหรือสถาบันทางสังคมอารยะที่ไหนอนุญาตให้สมาชิกองค์กร/สถาบันฆ่าคน โกง หรือโฆษณาตัวเองเกินจริงเพื่อหลอกลวงหากินเอาเปรียบประชาชนได้ สิ่งที่ต่างจากชาวบ้านก็มีเพียงข้อ 3 พระต้องถือพรหมจรรย์เท่านั้น (แต่ถ้าท่านจะไม่ถือพรหมจรรย์ ก็ต้องประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าท่านเป็นนิกายหรือกลุ่มสงฆ์ที่พระมีเมียได้ หากชาวบ้านเขาศรัทธา สนับสนุนก็อยู่ได้ จะไม่มีใครอ้างวินัยสงฆ์เถรวาทเรื่อง “ห้ามเสพเมถุน” ไปเอาผิดท่านได้)

ฉะนั้น การอ้างปาราชิก 4 ข้อ ตรวจสอบพระ เป็น “อำนาจต่อรองน้อยนิด” ที่ชาวบ้านพอจะมีอยู่จริงๆ ขณะที่พระไทยไม่ต้องถูกชาวบ้านตรวจสอบวินัยสงฆ์อีกตั้ง 223 ข้อ และยังมีอภิสิทธิ์ต่างๆอีกมากดังกล่าวแล้ว เช่นมีเงินในชื่อตัวเองหรือส่วนตัวได้เป็นร้อยๆ ล้าน โดยไม่ถูกชาวบ้านตั้งคำถามทั้งๆ ที่ผิดวินัยสงฆ์ชัดเจน ไม่ต้องเสียภาษี หรือถูกตรวจสอบเรื่องรวยผิดปกติ ฯลฯ


ยังไม่แยกศาสนาจากรัฐการอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระไม่ make sense?

มีข้อโต้แย้งว่า ระบบปกครองสงฆ์ที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นการอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระภายใต้ระบบเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากการอ้าง 112 ไปเอาผิดคนอื่นๆ

ความเข้าใจเช่นนี้ เพราะไปคิดว่าระบบมหาเถรสมาคมไม่ต่างอะไร หรือ “เท่ากับ” อำนาจเผด็จการรัฐประหาร แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะอำนาจเผด็จการรัฐประหารนั้นฉีกรัฐธรรมทิ้ง และตั้งกฎการปกครองขึ้นมาใหม่ แล้วเอาผิดคนอื่นๆ ภายใต้กฎที่ตนเองตั้งขึ้น

แต่มหาเถรสมาคมนั้นแม้จะถูกสถาปนาขึ้นโดยอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จริง แต่ไม่ได้ฉีก “ธรรมวินัย” ทิ้ง และไม่ได้บัญญัติธรรมวินัยขึ้นมาใหม่ได้ ธรรมวินัยมีอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งพระไตรปิฎกก็ไม่ใช่มหาเถรสมาคมเขียนขึ้น แต่มีอยู่ก่อน และที่ชาวพุทธไทยถือกันคือ “พระไตรปิฎกภาษาบาลี” ที่เขียนขึ้นในศรีลังการาว 500 ปี หลังพุทธปรินิพพาน (ซึ่งยังถืออย่างเทียบเคียงกับฉบับสันสกฤต และฉบับอักษรโรมันเป็นต้นด้วยเพื่อเทียบเคียงความสอดคล้องกัน ซึ่งแปลได้ในระดับหนึ่งว่าคณะสงฆ์ไทยเอง “ผูกขาด” ความถูกต้องของพระไตรปิฎกไม่ได้จริง)

ถึงจะเป็นเช่นนั้น มหาเถรสมาคมก็มีอำนาจ “ผูกขาด” การตีความ? ก็อาจเป็นเช่นนั้นได้ แต่ “ผูกขาดอย่างสิ้นเชิง” ได้จริงๆหรือ? ถ้าได้ ทำไมมีการตีความพระไตรปิฎกแบบพุทธทาส, หลวงพ่อชา (ขณะปฏิบัติวิปัสสนาในสายหลวงพ่อชา-พระอาจารย์มั่น ท่านห้ามพระอ่านพระไตรปิฎกและหนังสือใดๆ ให้ใช้สติและปัญญาพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตของตนเองโดยตรงเท่านั้น) แบบธรรมกาย สันติอโศก ฯลฯ เกิดขึ้นได้

แปลว่า ถึงมหาเถรสมาคมจะพยายามผูกขาด แต่ก็ไม่สามารถอ้างธรรมวินัยมาเอาผิดการตีความต่างกันได้ เพราะพุทธะไม่ได้บัญญัติไว้ในธรรมวินัยให้เอาผิดการตีความคำสอนต่างกัน หรือแม้แต่ตีความผิด หากพระจะผิดก็เฉพาะกรณีละเมิดวินัยสงฆ์เท่านั้น (ซึ่งหลังสมัยพุทธกาลก็ขึ้นอยู่กับวินัยสงฆ์ของแต่ละนิกาย ไม่ใช่อ้างวินัยสงฆ์ของนิกายหนึ่งไปตัดสินนิกายอื่นได้)

ฉะนั้น ธรรมวินัยที่สงฆ์กลุ่มไหน นิกายไหนอ้างความชอบธรรมให้กับตัวเองนั่นแหละ คือธรรมวินัยที่ประชาชนมีสิทธิ์อ้างตรวจสอบพระสงฆ์กลุ่มนั้น นิกายนั้น และในเมื่อพระสงฆ์ไทยทุกกลุ่ม ทุกนิกายต่างอ้างวินัยสงฆ์เถรวาท ซึ่งตามหลักการของวินัยสงฆ์เถรวาทที่อ้างกันนั้น ก็สามารถอ้างตรวจสอบพระทุกรูปตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมาถึงพระธรรมดาได้ใน “มาตรฐานเดียวกัน” ฉะนั้นย่อมชอบธรรมที่ชาวพุทธจะอ้างวินัยสงฆ์ดังกล่าวตรวจสอบพระสงฆ์ไทย แม้จะยังไม่แยกศาสนาออกจากรัฐก็ตาม

เพราะตรรกะของ “การแยกศาสนาจากรัฐ” ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการที่ศาสนาใดๆ จะตรวจสอบกันตามหลักการเฉพาะของศาสนานั้นๆ แต่ตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐเป็นส่วนหนึ่งของไอเดีย secularism-ฆราวาสนิยม ที่ต้องการทำให้ทุกเรื่องอยู่ภายใต้กติกาทางโลก หรือทำให้การปกครองของรัฐ-การเมือง เศรษฐกิจ สังคมอยู่ภายใต้หลักการ กติกาทางโลก ที่มี rationality-ความเป็นเหตุผล มีเสรีภาพที่จะตั้งคำถามได้ เถียงได้ วิจารณ์ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ไม่ทำให้เรื่องของรัฐ การเมือง เศรษฐกิจสังคม หรือกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ อยู่ภายใต้ความเชื่อทางศาสนา หรือความจริงสูงสุดที่เถียงไม่ได้ แตะไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ เอา “ความเป็นศาสนา” ออกไปจาการเมือง หรือกิจกรรมสาธารณะเช่นเรื่องสิทธิ ความยุติธรรมเป็นต้นให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่อง “อุดมคติ” ที่แต่ละสังคมอาจยังบรรลุถึงได้ไม่เท่ากัน

ส่วนเรื่องศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล รัฐต้องรับรองเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา แต่ถ้าหากศาสนา นิกายศาสนา หรือกลุ่มศาสนาต่างๆ จะถือหลักการหรือกติกาทางศาสนาบางอย่างร่วมกัน และตัดสินผิด ถูกตามกติกานั้นๆ เช่นสงฆ์เถรวาทตัดสินว่า พระขาดจากความเป็นพระเพราะต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อ ก็เป็นเรื่องข้อตกลงทางศาสนากันเอง รัฐไม่เกี่ยวข้อง ไม่เข้าไปแทรกแซงว่าทำอย่างนี้ถูกหรือผิด นักเสรีนิยมเองก็ไม่ไปยุ่งด้วย เพราะเป็นสิทธิทางศาสนาที่ต้องได้รับการเคารพ

ณ ปัจจุบัน สังคมไทยยังไม่แยกศาสนาจากรัฐ ก็ยังไม่มีกติกาห้ามรัฐเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของศาสนา แต่ประเด็นคือ การที่รัฐเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของศาสนานั้นมัน “ผิด” หลักการของ “รัฐฆราวาส” แน่นอน แต่ก็ไม่ได้เท่ากับว่าไม่สามารถปรับอาบัติพระที่ทำผิดวินัยสงฆ์ได้ หากอธิบายได้ว่ากระบวนการตัดสินพระทำผิดวินัยสงฆ์ได้ดำเนินไปตามกรอบธรรมวินัย

เช่น หากมีการกล่าวหาว่า “พระภิกษุ ก.จ้างวานฆ่าคนอื่นตาย” ถ้ามีการดำเนินการตามหลัก “สัมมุขาวินัย” คือให้ผู้กล่าวหามาให้การ แสดงพยานหลักฐาน และให้ผู้ถูกกล่าวหามาแก้ต่าง แสดงพยานหลักฐานหักล้าง และคณะสงฆ์ที่เป็นกลางตัดสินออกมาอย่างเปิดเผยและยุติธรรม การตัดสินเอาผิดทางวินัยสงฆ์ว่าพระ ก.ต้องอาบัติปาราชิก และให้สึกจากพระ ก็ย่อมชอบธรรมตามธรรมวินัย แม้พุทธศาสนาจะยังไม่แยกจากรัฐก็ตาม

หากอ้างว่า “ถ้ายังไม่แยกศาสนาจากรัฐ จะดำเนินการกับพระ ก.เช่นนั้นไม่ได้” ก็เท่ากับกำลังอ้างหลักการแยกศาสนาจากรัฐเป็น “หลักการสูงสุด” ของความชอบธรรมในการแก้ปัญหาภายในของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และเท่ากับกำลังยืนยันว่าพระสงฆ์ปัจจุบันสมควรได้สถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ต่างๆ จากการอ้างความชอบธรรมจากธรรมวินัย แต่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อธรรมวินัยนั้นเลย

ตรรกะแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลและไม่สามารถปฏิบัติได้จริงอยู่แล้ว และหาก “ปฏิบัติได้จริง” ก็เท่ากับว่าถึงพุทธศาสนาจะยังไม่แยกจากรัฐ  รัฐ(โดยมหาเถรฯ) ก็ไม่มีสิทธิ์อ้างวินัยสงฆ์ดำเนินการใดๆ แก่พระทำผิดวินัย ปล่อยให้พระแต่ละวัดตรวจสอบกันเอง หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าสิ่งที่ผู้อ้างตรรกะเช่นนี้ต้องการก็เกิดขึ้นได้จริงๆ แล้ว (คือพระสงฆ์แต่ละวัดมีอิสระตรวจสอบกันเอง) ก็ไม่จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ

แต่เนื่องจากตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐ ไม่เกี่ยวกับเรื่องตรวจสอบพระทำถูก ทำผิดวินัยสงฆ์โดยตรง ฉะนั้นแม้ (ถ้า)ในความเป็นจริงมหาเถรฯ จะปล่อยให้พระแต่ละวัดตรวจสอบกันเองอย่างอิสระ การแยกศาสนาจากรัฐก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอยู่นั่นเอง ตราบที่เราต้องการให้รัฐเป็นรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

พูดให้ชัดๆ คือ ตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐ ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการทำถูก ทำผิดหลักการภายในศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวโดยตรงกับความเจริญหรือเสื่อมของศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ ถ้ายืนยันตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐจริงๆ ถึงแม้ถ้าแยกศาสนาจากรัฐวันนี้แล้วพุทธศาสนาจะหมดไปจากสังคมไทยทันที ก็ต้องแยกให้ได้ เพื่อให้รัฐไทยเป็นรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตยให้ได้

แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า พุทธศาสนาที่อยู่ภายในรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตยจะมีอิสระคลี่คลาย งอกงามมีชีวิตชีวาอย่างตอบสนองต่อวิถีชีวิตสมัยใหม่มากกว่าปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าถ้ายังไม่แยกพุทธศาสนาจากรัฐแล้ว จะอ้างธรรมวินัยตรวจสอบความรับผิดชอบของพระสงฆ์ไม่ได้เลย        

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net