Skip to main content
sharethis

กรณี สนช. 50 ราย ตั้งภรรยา-บุตร-เครือญาติเป็นผู้ช่วย จนวิป สนช. ขอความร่วมมือให้เครือญาติลาออก-ล่าสุด พล.อ.สมเจตน์ ระบุว่าให้บุตรชาย-น้องชายลาออกแล้ว เพื่อให้สังคมสบายใจและเป็นแบบอย่างที่ดี ด้าน "ศรีสุวรรณ จรรยา" ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน หากผิดจริงให้คืนเงินแก่แผ่นดิน และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

กรณีที่สำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ตรวจสอบพบสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนกว่า 50 ราย แต่งตั้งภรรยา-บุตร-เครือญาติ เข้าดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยดำเนินงาน สนช. รับเงินเดือนระหว่าง 15,000 บาท - 24,000 บาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้ยังเปิดเผยด้วยว่า  พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 สมาชิก สนช. แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ คู่สมรส รับตำแหน่ง ผู้ช่วยประจำตัว สนช. ผู้ชำนาญการประจำตัว สนช. และ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว รวม 3 ตำแหน่ง รับเงินเดือน 59,000 บาท นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

และต่อมา วิป สนช. ขอความร่วมมือให้สมาชิก สนช. ที่ตั้งเครือญาติมาช่วยงานในตำแหน่ง สนช. ขอให้เครือญาติลาออกจากตำแหน่งนั้น

ล่าสุดวันนี้ (4 มี.ค.) ข่าวสดออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ซึ่งยอมรับว่านำบุตรชายและน้องชายมาช่วยงาน ซึ่งในส่วนบุตรชายได้ลาออกจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนน้องชายที่มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประจำตัว สนช. แม้ขณะนี้จะใช้งานอยู่ ก็จะให้ไปลาออกเช่นกัน เพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ แม้จะไม่ใช่มติวิปสนช. เป็นแค่การขอความร่วมมือ แต่ตนก็พร้อมแสดงสปิริตให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จะได้เป็นแบบอย่างที่ดี

"เท่าที่คุยกับสนช.หลายคน เมื่อมีข่าวออกมาทุกคนก็เกิดความไม่สบายใจ เพราะทุกคนมีเจตนาดี ในการเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ขณะนี้ สนช.หลายคนได้ให้เครือญาติไปลาออกจากตำแหน่งแล้ว ก่อนที่วิป สนช.จะขอความร่วมมือมาเสียอีก รวมไปถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีการตั้งเครือญาติมาช่วยงาน ก็สั่งให้ไปลาออกแล้วเช่นกัน" พล.อ.สมเจตน์กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า แม้การแต่งตั้งเครือญาติมาช่วยงาน จะทำได้ตามกฎหมาย แต่เมื่อสังคมเกิดความไม่สบายใจ เห็นว่าไม่มีความเหมาะสม เราก็พร้อมแก้ไข ไม่ขอแก้ตัว ส่วนเหตุผลที่นำบุตรชายและน้องชายมาช่วยงานนั้น ไม่ขอพูดถึงเหตุผล เพราะพูดไปจะหาว่าแก้ตัว ตนมีเหตุผลแน่นอน แต่ไม่ขอชี้แจง เพราะไม่รู้ว่าพูดไปแล้วจะเป็นผลดีหรือยิ่งเป็นผลเสียหนักยิ่งขึ้น มีการนำไปขยายผลต่อไปอีก จึงไม่ขอแก้ตัว แต่ขอแก้ไขดีกว่า

ทั้งนี้ พล.สมเจตน์ กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่ามีกระบวนการทำลาย สนช. อย่างที่นายตวง อันทะไชยออกมาระบุ แต่ยอมรับว่า เมื่อ สนช.เข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นจุดอ่อนอยู่แล้ว พอเกิดเรื่องขึ้นก็ต้องถูกนำไปขยายความอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามขอขอบคุณสังคมที่เห็นว่า การแต่งตั้งเครือญาติมาช่วยงานเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แม้กฎหมายจะไม่ห้ามไว้ ถือว่าสังคมเดินมาถูกทางแล้ว อยากให้สังคมทำแบบนี้ตลอดไป เพื่อช่วยกันตรวจสอบนักการเมืองที่จะเข้ามา  

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 3 มี.ค. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิก สนช. กว่า 50 คน เลขาธิการวุฒิสภา และรองเลขาธิการวุฒิสภา กรณีสมาชิก สนช.ทำการแต่งตั้งภริยา บุตร และเครือญาติมาช่วยงานในตำแหน่งต่างๆ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง และเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน

ทั้งนี้ หากดำเนินการไต่สวน แล้วพบว่ามีความผิดจริง ให้ดำเนินการคืนเงินประจำตำแหน่งทั้งหมดแก่แผ่นดิน และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใส ขอให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและสรุปรายงานแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net