Skip to main content
sharethis

แนะนายจ้าง-ลูกจ้างตกลงในองค์กร ก่อนหาตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

(26 ก.พ.) ที่ รร.เซนจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนาต้นแบบนายจ้างและลูกจ้างที่มีระบบบริหารจัดการที่ด้านแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ ว่า การที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของนายจ้าง และลูกจ้างได้จำนวนมาก ถือว่าการทำงานของ กสร.ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะความสำเร็จที่แท้จริงนายจ้างและลูกจ้างจะต้องมีช่องทาง หรือกฎระเบียบที่พูดคุยตกลงกันเองภายใน และได้ข้อสรุปโดยไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่ดีกว่าการนำข้อพิพาทมาสู่คนกลาง อย่างกระทรวงแรงงาน หรือนำไปสู่ขั้นตอนของศาลแรงงาน ซึ่งจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ โดยที่ผ่านมา ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ศาลมีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่กลับไม่ได้รับมอบหมายงานให้ทำ แม้จะให้เงินเดือนตามเดิม นำมาสู่ข้อพิพาทว่า ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
       
“การพึ่งพาคนกลาง หรือศาล เมื่อเกิดข้อพิพาทนั้น หากไกล่เกลี่ยโดยคนนอกถามว่ากลับมาทำงานร่วมกันจะได้ไหม จะมองหน้ากันติดหรือเปล่าเพราะเป็นการยุติข้อพิพาทที่ไม่ได้มาจากข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย แต่มาจากกฎหมาย และที่ผ่านมา ศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน นายจ้างก็จ่ายเงินเดือนแต่ไม่มอบหมายงานให้ทำ ลูกจ้างก็มาร้องเรียน กสร.อีกว่า เสียศักดิ์ศรี ซึ่งในเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างมอบหมายงานให้ทำ มีเพียงกฎหมายให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเท่านั้น แต่หากเกิดกรณีนี้ขึ้นจริงก็จะให้เจ้าหน้าที่ กสร.เข้าไปช่วยเจรจา” รมว.แรงงาน กล่าว
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้อาจจะให้สหภาพแรงงานที่มีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่สหภาพ หรือลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อกำหนดเป็นช่องทางในการเจรจาข้อพิพาทโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และจะพยายามลดขนาดของปัญหาลง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-2-2558)

สปส.เสนอผู้ประกันตน ม.40 โอนสิทธิบำนาญชราภาพเข้า กอช.

(26 ก.พ.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ดำเนินการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หลังจากนั้นจะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในส่วนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีความพร้อมโดยเบื้องต้นในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในทางเลือกที่ 3 สามารถโอนสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพ เข้าไปอยู่ในกองทุน กอช.ได้ทันที สำหรับทางเลือกที่ 4 และ 5 ที่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ และสิทธิทดแทนในกรณีอื่นๆ นั้น หากสมัครใจจะโอนไปยัง กอช. ในส่วนสิทธิบำนาญชราภาพได้ แต่สิทธิอื่นๆ นั้นต้องมาศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะมีแนวทางอย่างไรให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด
       
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนในมาตรา 40 ตามทางเลือกที่ 3, 4 และ 5 ที่มีอยู่กว่ากว่า 1 ล้านคนไม่ต้องการโอนไปยัง กอช. สามารถลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่ง สปส.พร้อมที่จะจ่ายเงินคืนให้ทั้งในส่วนผู้ที่ประกันตนจ่ายเงินสมทบ และรัฐบาลร่วมสมทบ โดยรัฐบาลได้มีการตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้ ในปี 2558 ที่มีการจ่ายเงินเข้ามาแล้ว จำนวน 1,300 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการจ่ายเงินคืนแก่ผู้ประกันตนต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง โดยระหว่างนี้ผู้ประกันตนที่ยังไม่ลาออกยังสามารถจ่ายเงินสมทบ และได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลต่อไปจนกว่าแนวทางการปฏิบัติของ กอช.จะชัดเจน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-2-2558)

GM เตรียมเลิกผลิต Chevrolet Sonic ในไทยภายในเดือนมิ.ย. พร้อมปลดพนักงาน

บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ประกาศในวันนี้ (27 ก.พ.) ว่าทางบริษัทจะยกเลิกการผลิตรถยนต์รุ่น Chevrolet Sonic ในประเทศไทยภายในเดือนมิ.ย. โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ พนักงานจำนวน 3,200 คนในประเทศไทยจะได้รับแจ้งให้เข้าร่วมโครงการลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนหลายร้อยคน
การประกาศของ GM ในวันนี้ มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้บริษัทเปิดเผยว่าจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย และจะปลดคนงานจำนวน 500 คน

ทั้งนี้ GM ระบุว่า โรงงานเบกาซี ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงจาการ์ตา และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1995 จะถูกปิดลงในเดือนมิ.ย.นี้ เนื่องจากประสบปัญหาค่าใช้จ่ายด้านชิ้นส่วนอะไหล่ที่สูงขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์รุ่น Chevrolet Spin ไม่เป็นไปตามเป้า โดย GM จะมีการนำเข้ารถยนต์รุ่น Chevrolet Orlando จากเกาหลีใต้ ขณะที่ยังคงมีการผลิตรุ่น Trailblazer และ Captiva ในประเทศไทย

(thaipr.net, 27-2-2558)

คปก.เสนอด่วนต่อ ครม. ให้ชะลอร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย ศ.ดร. คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ....” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยคปก.ขอให้ชะลอการเสนอร่างพรบ.ทั้งสองฉบับไว้ก่อนเพื่อทบทวนหลักการและสาระสำคัญของร่างพรบ. เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศในการปรับปรุงร่างกฎหมายสองฉบับดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดเผยและทั่วถึง เพื่อให้ระบบแรงงานสัมพันธ์เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การพัฒนาประเทศทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทั้งสองฉบับมีความสำคัญและจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและได้ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนหลายครั้ง อาทิ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมาธิการแรงงานจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลแรงงานกลาง ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภานายจ้าง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (ILO) แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ องค์กรภาคประชาสังคม พบว่ามีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่ากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่ทันสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันที่ซับซ้อนและหลากหลาย ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน

คปก.มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีการหยิบยกเอาเนื้อหาของร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.... ฉบับบูรณาการแรงงานที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอค้างอยู่ในสภาแต่มีการยุบสภาไปก่อนมาพิจารณา นอกจากนี้ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รวมถึงผู้ทำงานในหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เช่น องค์กรมหาชน หน่วยงานนิติบุคคลของรัฐ องค์กรอิสระของรัฐ เป็นต้น และไม่ควรแบ่งแยกสิทธิในการรวมตัวจัดตั้ง และการเจรจาต่อรองระหว่างภาคเอกชนกับรัฐวิสาหกิจเป็นสองฉบับ

ยิ่งไปกว่านั้น คปก.เห็นว่าหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองและไม่สอดคล้องพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีด้วย อย่างไรก็ตาม คปก.เสนอว่าในระหว่างที่ยังมิได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว กระทรวงแรงงานและรัฐบาลควรนำหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศ

(สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, 3-3-2558)

พบลูกเรือประมงไทยกลับจากโซมาเลีย ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางาน

วันที่ 3 มีนาคม นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.ได้ประสานไปยังกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) เพื่อตรวจสอบเรื่องการจ้าง งาน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของลูกเรือ ประมงไทย 4 คนถูกโจรสลัดโซมาเลีย ควบคุมตัวและได้รับการช่วยเหลือกลับมาไทยแล้ว

กรมการกงสุลตรวจสอบแล้วพบว่าลูกเรือทั้ง 4 คน ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ จากกองทุนฯ

ส่วนการช่วยเหลือลูก เรือประมงทั้ง 4 คนนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องเงิน ช่วยเหลือเยียวยา และขณะนี้กกจ.ได้ให้เจ้าหน้าที่ จัดหางานจังหวัดซึ่งลูกเรือประมงทั้ง 4 คนมี ภูมิลำเนาอยู่ คือ จังหวัดระนอง ตราดและบุรีรัมย์ เข้าไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อสอบถามและช่วยเหลือให้มีงานทำหากต้องการทำงานทางกกจ.ก็จะช่วยเหลือ แต่คงต้องให้พักผ่อนระยะหนึ่งก่อนเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจเพื่อให้มีความพร้อมทำงาน

(มติชน, 3-3-2558)

รมว.แรงงาน เผย ครม. เห็นชอบแผนจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ หลังครบกำหนดพิสูจน์สัญชาติ 31 มี.ค.
       
(3 มี.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เสนอแผนการจัดการต่างด้าว 3 เรื่อง ได้แก่ การดำเนินการภายหลังครบกำหนดพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ในวันที่ 31 มีนาคมโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2558 จะได้รับการตรวจลงตราและได้รับอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 และสามารถขออนุญาตทำงานต่อได้อีก 2 ปี หลังสิ้นสุดการอนุญาต 31 มีนาคม 2559 (ถึง 31 มีนาคม 2561) 2.กลุ่มที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ เป็นกลุ่มที่ยื่นแบบบัญชีรายชื่อเพื่อขอรับการตรวจสัญชาติ แต่ยังไม่สามารถเข้ารับการตรวจสัญชาติได้ จะผ่อนผันให้อยู่ในไทยชั่วคราว และอนุญาตให้ทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับอนุญาตให้อยู่และอนุญาตให้ทำงานต่อไปอีก 2 ปี 3. กลุ่มที่ยังไม่ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติ หากไม่มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่และขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 30มิถุนายน 2558 ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และ4.กลุ่มผู้ติดตาม ที่อายุไม่เกิน 15 ปี ให้มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่พร้อมกับแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่สองการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล แบ่งเป็นระยะสั้น เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน 2558 ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วันสตอปเซอร์วิส) ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล โดยจะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ส่วนระยะยาวจะขออนุมัติให้มีการนำเข้าแรงงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จากประเทศอื่นๆ ตามความต้องการของนายจ้าง และเรื่องที่สาม สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูและครบกำหนด 4 ปี จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง 3 ปีแล้ว จึงจะกลับมาทำงานในไทยได้อีกครั้ง เป็น 30 วัน ซึ่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยต้องออกประกาศเพื่อรองรับ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-3-2558)

สนง.ถสิติ เผยคนว่างงาน ม.ค.58 เพิ่มขึ้น 1.1%, ระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน ม.ค.58 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  พบว่าภาพรวมสถานการณ์แรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน จาก 3.61 แสนคน เป็น 4.04 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 และ หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือน ธ.ค.57 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.84 แสนคน จาก 2.20 แสนคน เป็น 4.04 แสนคน

ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.01 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.36 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 2.47 แสนคน โดยผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน  มีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 จำนวน 4.2 แสนคน จาก 38.43 ล้านคน เป็น 38.01 ล้านคน และ  ผู้มีงานทำ 37.36 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 จำนวน 4.3 แสนคน จาก 37.79 ล้านคน เป็น 37.36 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 1.1

ผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลง ในสาขาต่างๆ ได้ดังนี้ ผู้ทำงานที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต 3.5 แสนคน (จาก 6.30 ล้านคน เป็น 6.65   ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง 1.0 แสนคน (จาก 2.18 ล้านคน เป็น 2.28 ล้านคน) สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 4.0 หมื่นคน   (จาก 0.17 ล้านคน เป็น 0.21 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 3.0 หมื่นคน (จาก 0.64 ล้านคน เป็น 0.67 ล้านคน)

ส่วนผู้ทำงานลดลง ได้แก่  สาขาภาคเกษตรกรรม 4.8 แสนคน (จาก 11.71  ล้านคน เป็น 11.23 ล้านคน) สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 4.2 แสนคน (จาก 6.71 ล้านคน เป็น 6.29 ล้านคน) สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 7.0 หมื่นคน (จาก 1.28 ล้านคน เป็น 1.21 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย 6.0 หมื่นคน (จาก 0.59 ล้านคน เป็น 0.53 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 5.0 หมื่นคน (จาก 2.69 ล้านคน เป็น 2.64 ล้านคน)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 4.04 แสนคน  คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 ประกอบด้วย  ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.64 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.40 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคบริการและการค้า 1.19 แสนคน ภาคการผลิต 7.8 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 4.3 หมื่นคน

นอกจากนั้น ยังพบว่า ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 1.44 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 9.5 หมื่นคน ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 6.6 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.0 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 1.41 แสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.7 หมื่นคน ภาคเหนือ 6.2 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 5.8 หมื่นคน และภาคใต้ 5.6 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคกลางมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.2 รองลงมาเป็น กรุงเทพมหานครและภาคใต้ มีอัตราการว่างงานเท่ากันคือ ร้อยละ 1.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.0  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 0.9

(สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 3-3-2558)

โรงงานรองเท้าขนาดกลางหลายเจ้าระส่ำ! เริ่มขายกิจการ-ลดขนาดธุรกิจ เหตุต้นทุน-ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น

(4 มี.ค.58) นายชนินทร์ จิตโกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีผู้ผลิตรองเท้าขนาดกลางในไทยบางรายประกาศขายกิจการซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักหลังจากที่ก่อนหน้านี้โรงงานผลิตรองเท้าในไทยเหล่านี้มีการปรับตัวด้วยการลดขนาดธุรกิจ ลดกำลังการผลิตลงเพื่อที่จะประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้จากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งในแง่ของวัตถุดิบ ค่าแรงงานที่ปรับขึ้นทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน  รวมถึงการแข่งขันกับต่างประเทศที่สูงขึ้น โรงงานรองเท้าในไทยขนาดกลางที่เน้นรับจ้างผลิตหรือเน้นงานระดับล่างโอกาสที่จะทยอยปิดกิจการจะเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักเพราะต้นทุนของไทยภาพรวมไม่สามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามได้ เมื่อเจอภาวะค่าเงินบาทแข็งค่ายิ่งทำให้การแข่งขันตลาดส่งออกไม่ดีตามไปด้วย

นายชนินทร์  กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันปัญหาล่าสุดที่ยังต้องเผชิญคือการขาดแคลนแรงงานฝืมือจำนวนมากเนื่องจากแทบไม่มีแรงงานฝีมือรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มเติมเพราะเป็นงานที่ต้องอดทนและใช้เวลาฝึก ภาพรวมแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมรองเท้าจึงขาดแคลนไม่น้อยกว่า 30,000 - 40,000 คน ทำให้ไม่สามารถขยายการผลิตได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวหันไปผลิตสินค้าในระดับบนเพื่อความอยู่รอดหากจะคงกิจการเอาไว้

(TNN, 4-3-2558)

ก.แรงงาน เตรียมออกประกาศอาชีพที่ต้องมีหนังสือรับรองก่อนทำงาน เบื้องต้นนำร่อง 2 สาขาอาชีพ ช่างเชื่อม - ไฟฟ้า

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ  อธิบดีกรมพัฒนา ฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพร. อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับสมาคมอาชีพต่างๆ กำหนดสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อ สาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินการ จำนวน 10 สาขาอาชีพ ว่า มีความจำเป็นต้องออกประกาศให้ผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าว จะต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถหรือไม่ เช่น อาชีพในสาขาช่างต่างๆ หรืออาชีพที่หากใช้บุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการอาจก่อให้เกิดอันตรายโดยเบื้องต้นจะเสนอ ต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาให้ออกประกาศจำนวน 2 สาขาอาชีพ ได้แก่ ช่างเชื่อม และช่างไฟฟ้าเป็นอาชีพที่ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถซึ่งเบื้องต้นจะต้องมีข้อกำหนดให้ปรับตัวก่อนจะบังคับใช้จริง
       
อธิบดี กพร. กล่าวอีกว่า เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว นายจ้างต้องจ้างบุคคลที่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเท่านั้น โดย กพร. จะเป็นผู้ทดสอบความรู้ความสามารถและออกหนังสือรับรองให้ และหากผู้ประกอบการจ้างบุคคลที่ไม่มีหนังสือรับรองต้อง จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และผู้ที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม จะพิจารณาประกาศ รายชื่ออาชีพที่ต้องใช้หนังสือรับรอง ความรู้ความสามารถให้ทันกำหนด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือ แรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 บังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม นี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-3-2558)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net