5 มี.ค.58 : จับตาวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ....ฉบับ สนช.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นับตั้งแต่การแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เมื่อปี 2542 ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมครั้งล่าสุด ภายหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา และมีการแก้ไขครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 และ 2542 ตามลำดับ

16 ปีผ่านไป ประเทศไทยกำลังจะมีการประกาศใช้กฎหมายประกันสังคมที่มีการแก้ไขเป็นครั้งที่ 3

เพราะไม่กี่วันข้างหน้านี้ พฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการลงมติในวาระ 3 เพื่อพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว ซึ่งได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา และได้นำส่งรายงานการพิจารณาต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558

14 ครั้งของการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ จำนวน 18 คน ที่แต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ผู้ซึ่งมาทำหน้าที่หมอตำแยคลอด “ร่างกฎหมายประกันสังคมในรูปโฉมโนมพันธุ์ใหม่” ออกมา

            แน่นอนกว่าร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้จะคลอดออกมา ก็พบว่าเส้นทางการเกิดขึ้นมาของร่างกฎหมายประกันสังคม ได้ถูกทำแท้งมาแล้วถึง 2 ครั้ง ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวคือ

-        10 ปี ผ่านไป สิงหาคม 2552 คณะรัฐมนตรีในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเวลาเดียวกันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรเครือข่าย ก็ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับบูรณาการแรงงาน หรือฉบับ 14,264 รายชื่อ เพื่อเสนอประกบการพิจารณาควบคู่กับร่างของรัฐบาลเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2553 ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 2554 สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ทั้งนี้ไม่มีฉบับผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอกฎหมาย)

            การประชุมพิจารณามาถึงขั้นตอนรับหลักการวาระ 1 ของวุฒิสภาเมื่อพฤษภาคม 2554 อย่างไรก็ตาม 11 พฤษภาคม 2554 เกิดการยุบสภา มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมิได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาต่อ จึงถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณาอีกต่อไป

-        20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีการบรรจุวาระการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อธันวาคม 2554

            ท่ามกลางการรอคอยกว่า 1 ปี เดือนมกราคม 2556 ร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านการเห็นชอบเมื่อเมษายน 2555 ถึงมีการนำเข้าบรรจุวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1

อย่างไรก็ตาม “ฟ้าได้ผ่าลงกลางใจผู้ใช้แรงงานอย่างหฤโหด” 21 มีนาคม พ.ศ.2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับ 14,264 รายชื่อ ดังนั้นจึงได้ถือว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตกไปจากการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติไทย

            ขณะเดียวกันเมษายน – มิถุนายน 2556 คณะกรรมาธิการฯชั้นสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมจนแล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แต่ต่อมาเมื่อ 9 ธันวาคม 2556 มีการยุบสภา ทำให้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้ต้องยุติการดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติชั่วคราว จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

-        22 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเมื่อกันยายน 2557 กระทรวงแรงงานเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับแก้ไขเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับที่ สนช. เร่งรัดให้เกิดขึ้นและครม. ได้เห็นชอบเมื่อ 21 ตุลาคม 2557 ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการวาระ 1 เมื่อ 31 ตุลาคม 2557 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จนแล้วเสร็จเมื่อกุมภาพันธ์ 2558

            ในช่วงการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมปี 2557-2558 นี้เอง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานได้มีการรวมตัวกันในนาม “เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร”[1] นำเสนอหลักการ 4 ประการ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานให้ถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรม ประกอบด้วย (1) หลักความครอบคลุมผู้ทำงานทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (2) หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ และยึดหลักธรรมาภิบาล โดยต้องบูรณาการเพื่อประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการที่เชื่อมโยง (3) หลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ (4) หลักความยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสามารถออกแบบและปรับปรุงกองทุนให้เหมาะสม

เนื่องจากพบว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ พบว่า การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่ยังไม่มีความเป็นอิสระ ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ และรวมถึงความไม่ครอบคลุมทั่วถึงในการคุ้มครองแรงงานทุกคน

คปค. ได้มีการยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 เพื่อขอให้ชะลอการนำร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาของสนช. และเสนอให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านก่อน แต่ก็มิได้มีผลเปลี่ยนแปลงความเร่งด่วนนี้แต่อย่างใด

เพราะวันรุ่งขึ้น 31 ตุลาคม 2557 สนช. ได้มีมติวาระ1 รับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....จำนวน 18  คน ได้แก่

(1)       พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร และทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ

(2)       ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษธำรง ทัศนาญชลี

(3)       พลเอกมารุต ปัชโชตะสิงห์

(4)       นายสุรเดช วลีอิทธิกุล

(5)       นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์

(6)       นายชูศักดิ์ จันทยานนท์

(7)       นายมนัส โกศล

(8)       พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ

(9)       นายเจตน์ ศิรธรานนท์

(10)     นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

(11)     นายอิสระ ว่องกุศลกิจ

(12)     นายโกวิท สัจจวิเศษ

(13)     นายประเวศ อรรถศุภผล

(14)     นายศุภชีพ ดิษเทศ

(15)     นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล

(16)     นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา

(17)     นายอนุชา รัตนสินธุ์

(18)     นางสาวอรุณี ศรีโต

โดยคณะกรรมาธิการฯมีการประชุมทั้งสิ้นรวม 14 ครั้ง คือ วันที่ 7, 10, 17, 24 พฤศจิกายน วันที่ 1, 8, 15, 22 ธันวาคม 2557 วันที่ 5, 12, 19 มกราคม 2558 และวันที่ 2, 9 และ 23 กุมภาพันธ์ 2558

ทั้งนี้พบว่าในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ประเด็นที่ถูกจับตาและเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงจากผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ คือ การยืนยันให้กลับไปใช้นิยามเดิมในมาตรา 5 กรณีคำว่า “ว่างงาน” ที่เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับคณะรัฐมนตรีนี้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนิยามว่างงานใหม่เป็นว่า “ให้จำกัดเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างเพียงเท่านั้น” ซึ่งถือว่าเป็นการลอนสิทธิคนงานอย่างยิ่ง

เมื่อมาพิจารณาสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ สนช. รับหลักการวาระ 1 พบว่ามีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 รวม 29 เรื่อง ซึ่งต่อมาภายหลังการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พบว่า มีการแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งแตกต่างจากฉบับที่รับหลักการในวาระ 1 รวม 14 เรื่อง อีกทั้งยังมีผู้ขอแปรญัตติในบางมาตรารวม 7 เรื่อง

โดยสามารถแสดงเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนได้ในรูปตารางเรียงตามมาตราร่าง พ.ร.บ. ดังนี้

 

ข้อ

สาระสำคัญที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 1

สาระสำคัญใหม่ที่ถูกแก้ไข

โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

ประเด็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ได้ขอแปรญัตติ

(1)         

มีการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ รวมถึงครูหรือครูใหญ่ของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้)

มีการเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่นี้ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 กลุ่ม (นอกเหนือ จาก 2 กลุ่มตามตารางด้านซ้ายมือ) คือ กลุ่มลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและต้องไปประจำทำงานในต่างประเทศ

 

ทั้งนี้เพื่อให้ลูกจ้างคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศสามารถเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายไทยลูกจ้างจะได้รับมากกว่ากองทุนประกันสังคมจากต่าง ประเทศ (กฎหมายฉบับ 2533 ได้ยกเว้นคนกลุ่มนี้ไว้) (มาตรา 4)

นายกล้าณรงค์ จันทิก

ขอตัดนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” ออกทั้งหมด

 

 

(2)         

แก้ไขคำว่า “ลูกจ้าง” ให้มีความหมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย)

ไม่มีการแก้ไข

-

(3)         

แก้ไขคำว่า “ทุพพลภาพ” ให้หมายถึง การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประ กอบการงานตามปกติได้  ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะ กรรมการการแพทย์ (กฎหมายเดิมระบุเพียงว่าต้องไม่สามารถทำงานได้เพียงเท่านั้น)

ไม่มีการแก้ไข

-

(4)         

แก้ไขคำว่า “ว่างงาน” ให้จำกัดเฉพาะกรณีการถูกเลิกจ้างเท่านั้น

(กฎหมายเดิมรวมทุกกรณีที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง)

แก้ไขนิยามคำว่า “ว่างงาน” โดยให้คงไว้ตามเดิมใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ที่หมายความว่า การที่ผู้ประกัน ตนต้องหยุดงาน เนื่องจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง (มาตรา 5)

-

(5)         

เพิ่มเติมคำว่า “ภัยพิบัติ” ให้มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น โดยหมายถึงทั้งภัยธรรมชาติและมีผู้ทำให้เกิดขึ้น เพื่อกำหนดขอบเขตการได้รับลด หย่อนการออกเงินสมทบ (กฎหมายเดิมไม่มี)

ไม่มีการแก้ไข

-

(6)         

แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประกันสังคม ให้ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวง มหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณ สุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 6 คน ที่มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด และให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ  ทั้งนี้กรรมการต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน

 

(กฎหมายเดิมกำหนดผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 5 คน และไม่ได้ระบุเรื่องที่มาจากการเลือกตั้งไว้ รวมทั้งกรรมการไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

องค์ประกอบของคณะกรรมการประกัน สังคม ให้เพิ่มเติมผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาอีก 1 ตำแหน่งจากองค์ประกอบเดิมที่ระบุไว้แล้ว เพราะเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบในการส่งเสริมดูแลเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ

 

และสำหรับในส่วนผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เพิ่มเป็นฝ่ายละ 7 คน (เนื่องจากมีการเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเป็น 7 คน ทำให้ต้องเพิ่มตัวแทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเข้าไปด้วย)

 

อีกทั้งผู้แทนทั้ง 2 กลุ่มนี้ที่มาจากการเลือกตั้ง ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส

(มาตรา 7)

นายมนัส โกศล ในฐานะกรรมาธิการ 

ขอตัดคำว่า “สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส” ออก

 

นายสุธรรม พันธุศักดิ์

ขอเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการ จากเดิมที่กำหนดว่าปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ขอแก้ไขใหม่โดยให้กรรมการประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ

(7)         

กำหนดให้คณะกรรมการประกัน สังคมมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นที่ปรึกษาไม่เกิน 7 คน โดยการสรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความ สามารถและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี ในด้านการเงินการคลัง ด้านระบบงานประกันสังคม ด้านการบริหารการลงทุน ด้านบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านเศรษฐศาสตร์

 

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

 

(กฎหมายเดิมกำหนดผู้ทรงวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน และมาจากด้านประกันสังคม แรงงาน การแพทย์ กฎหมาย และอื่นๆ)

มีการแก้ไขใหม่ โดยเพิ่มเติมถ้อยคำดังนี้

 

-        หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ทรงวุฒิให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของกรรมการ

 

-        เพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ทรงวุฒิและที่ปรึกษาจากเดิมอีก 3 ข้อ คือ ต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ , ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต , ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ปี

 

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ และนายธานี อ่อนละเอียด

 

ขอแก้ไขถ้อยคำในเรื่องคุณสมบัติ โดยจากเดิมเขียนไว้ว่า “ไม่เป็น” หรือ “ไม่เคย” ขอแก้ไขใหม่ โดยตัดคำว่า “ไม่” ออกจากประโยคนั้นๆ

 

กล่าวโดยง่าย คือ วรรคแรกเขียนไว้ว่ากรรมการหรือที่ปรึกษาไม่มีลักษณะต้อง ห้าม ดังต่อไปนี้ ดังนั้นวรรคต่อมาไม่ต้องใส่คำว่า “ไม่เป็นแล้ว” เพราะจะซ้ำซ้อนกับวรรคข้างต้น คือ มีคำว่า “ไม่” 2 ครั้ง ในมาตราเดียวกัน

 

ยกตัวอย่างเช่น

มาตรา 8/2 กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งหรือที่ปรึกษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(2) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

 

ผู้แปรญัตติ ได้ขอตัดคำว่า “ไม่” หน้าข้อความข้อ (2) ออก เป็นต้น

(8)         

การกำหนดเรื่องกรรมการ ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราการทุจริต ที่จะต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยให้เปิดเผยต่อสาธารณชนทราบไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว

(กฎหมายเดิมไม่มีการระบุในเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

นายสุธรรม พันธุศักดิ์

 

ขอแก้ไขใหม่ว่า ไม่ต้องเปิด เผยต่อสาธารณชน เว้นแต่มีผู้ร้องขอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่ามีเหตุส่อไปในทางทุจริตและประ พฤติมิชอบ

(9)         

ไม่มีการระบุไว้

ไม่มีการระบุไว้

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ และนายธานี อ่อนละเอียด

ขอแก้ไขใหม่ทั้งหมดในเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกัน สังคม โดยเสนอดังนี้

 

-     ให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

 

-     กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

 

-     เงินกองทุนให้เป็นของกองทุน และไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

(10)      

แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ โดยเพิ่มเติมเรื่องคณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพิ่มขึ้นมาอีกข้อ

(กฎหมายฉบับ 2533 ไม่มีการระบุไว้)

แก้ไขใหม่เป็น

 

การพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการ และรวมถึงผู้ทรงวุฒิ ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการที่มีอยู่ ตามระเบียบที่คณะ กรรมการกำหนด

-

(11)      

แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการการแพทย์ ให้ประกอบ ด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 16 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ หรือในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขหรือด้านการพัฒนาคุณภาพสถาน พยาบาล โดยให้ผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดเพียงรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆเท่านั้น)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

-        คณะกรรมการการแพทย์ให้แต่งตั้งผ่านวิธีการสรรหา ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของกรรมการ

 

-        ให้เพิ่มผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 1 คน เข้าร่วมเป็นกรรมการการแพทย์ด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นมิติทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนในรายละเอียดเชิงลึกแก่คณะกรรมการการแพทย์ (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้)

 

-

(12)      

เพิ่มเติมข้อความเรื่อง กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการตามหลักสากล มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

(กฎหมาย 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

มีการแก้ไขถ้อยคำใหม่เป็น

 

กองทุนประกันสังคมต้องวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กองทุนตามมาตรฐานการบัญชี  มีบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร พร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ

 

ทั้งนี้ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เพื่อกำกับดูแลความโปร่งใสได้มาตรฐาน และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

 

หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการ

-

(13)      

กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์ เพื่อประโยชน์ของกองทุนได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

(14)      

ไม่มีการระบุไว้

ไม่มีการระบุไว้

รศ.ทวีศักดิ์ ศุทกวาทิน

ขอเพิ่มเติมข้อความสำหรับผู้ประกันตามมาตรา 39 ดังนี้

 

เมื่อผู้ประกันตนได้โอนย้ายไปเป็นผู้ประกันตนของกองทุนอื่นของรัฐ ให้มีสิทธิได้รับเงินสมทบที่ได้นำส่งเข้ากองทุนคืน โดยให้กองทุนประกันสังคมดำเนิน การโอนเงินสมทบดังกล่าวไปให้กองทุนอื่นของรัฐ ที่รับโอนผู้ประกันตนไปจากกองทุนประกันสังคม

(15)      

ขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากยิ่งขึ้น

 

และเพิ่มเติมเรื่องการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

 

(กฎหมายเดิมกำหนดไว้แค่เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 เท่านั้นที่จะสมัครเข้ามาตรา 40 ได้ และไม่มีการกำหนดอัตราเงินสมทบของรัฐบาลว่าจะต้องสมทบจำนวนเท่าใด)

แก้ไขเฉพาะในเรื่อง การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

 

-

(16)      

รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนได้ ในกรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

(17)      

กำหนดการคำนวณเงินเพิ่มที่นาย จ้างค้างชำระเงินสมทบ ทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของลูกจ้าง โดยกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องจำนวนเงินสมทบสุทธิที่นายจ้างต้องจ่าย)

ไม่มีการแก้ไข

-

(18)      

ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน ไม่เป็นการตัดสิทธิจากกฎหมายอื่นๆที่ต้องได้รับอยู่แล้วด้วย และสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

(19)      

ขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเป็น 2 ปี (กฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 1 ปี)

ไม่มีการแก้ไข

-

(20)      

แก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ สำหรับการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยแก้ไขใหม่จาก 9 เดือนเป็น 15 เดือน (กฎหมายเดิมเป็นการนำค่าจ้างสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 9 เดือน มาคำนวณ)

ไม่มีการแก้ไข

-

(21)      

ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรส หรือบุตรของผู้ประกัน ตนตามมาตรา 33 ซึ่งจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือตาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กฎหมายเดิมได้ยกเว้นเรื่องนี้ไว้ มาตรา 61 เดิม แก้ไขใหม่อยู่ในมาตรา 28)

ไม่มีการแก้ไข

 

-

(22)      

ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย (กฎหมายเดิมไม่มีเรื่องค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ในส่วนค่าบำบัดทางการแพทย์ ให้เพิ่มค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ เข้ามาด้วย

 

รวมทั้งให้เพิ่มเรื่อง ค่าใช้จ่ายเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เมื่อสำนักงานได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว ให้สำนักงานมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้

 

เหตุผลเพื่อไม่ต้องรอการพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้ถูกหรือผิด (กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้)

 

มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมให้สามารถใช้สิทธิในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้

-

(23)      

สิทธิประโยชน์ในกรณีคลอดบุตร กฎหมายฉบับ พ.ศ. 2533 ระบุไว้ว่าผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือน ภายในระยะ เวลา 15 เดือน

 

หมายเหตุ : มาตรานี้คงไว้ตามกฎหมายเดิม ฉบับที่เข้า สนช. ไม่มีการแก้ไขใหม่ แต่คณะกรรมาธิการฯได้ขอแก้ไขเอง

ขอแก้ไขใหม่เป็น จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 5 เดือน

 

รวมทั้งให้ตัดประโยชน์ทดแทนที่กำหนดไว้ว่าคลอดบุตรได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้นออก

 

(เนื่องจากประชากรของประเทศลดลงอย่างมาก และขาดแคลนวัยแรงงาน จึงไม่ควรกำหนดจำนวนบุตรไว้)

-

(24)      

ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และการทุพพลภาพนั้นมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรม การการแพทย์กำหนด มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตลอดชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

-

(25)      

กำหนดเรื่องการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย โดยได้ระบุว่า

 

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกัน ตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 50ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 3

 

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกัน ตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือน ที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 10

แก้ไขใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตัวคูณ

 

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 4

 

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือน ที่คำนวณได้ตามมาตรา 57 คูณด้วย 12

 

-

(26)      

ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสีย ชีวิต มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิต (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ ระบุเพียงเรื่องทุพพลภาพเท่านั้น)

ไม่มีการแก้ไขถ้อยคำ แค่แก้ไขการจัดวรรคตอนและย่อหน้าเท่านั้น

-

(27)      

กำหนดประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ทั้งนี้บุตรดังกล่าวต้องไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

 

(กฎหมายเดิมระบุว่าต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กฎหมายใหม่ตัดประโยค “ชอบด้วยกฎหมาย” ออกไป)

ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร จำนวนคราวละไม่เกิน 2 คน ขอแก้ไขใหม่เป็น 3 คน

 

(เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนมีบุตรเพิ่มขึ้น)

 

-

(28)      

กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญ ชาติไทย สามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม และไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

(กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

ไม่มีการแก้ไข

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และพลเรือเอกวัลลภ   เกิดผล

 

ขอตัดถ้อยคำในมาตราดังกล่าวนี้ออกทั้งหมด

 

โดยเห็นว่ามีความแตกต่างและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ ซึ่งจะขอรับได้เมื่ออายุ 55 ปี

(29)      

ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสีย ชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประ โยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ (กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้)

แก้ไขใหม่เป็นดังนี้

 

กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ ให้มีสถานะเป็น “ทายาท” เหมือนกับทายาทผู้มีสิทธิ ซึ่งได้แก่ บุตร สามีหรือภรรยา บิดาและมารดา โดยให้ได้รับ 1 ส่วน

 

(กฎหมายฉบับ 2533 ไม่ได้ระบุไว้)

-

(30)      

ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

 

เมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน

 

ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

(กฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้) ดูมาตรา 79/1

ไม่มีการแก้ไข

-

(31)      

กำหนดบทลงโทษกรณีที่นายจ้างไม่ยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลา

 

เหตุผลเพื่อเป็นมาตรการบังคับให้นายจ้างต้องยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ

 

(กฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดในกรณีนี้ไว้) ดูมาตรา 97 

ไม่มีการแก้ไข

-

(32)      

ในร่างฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช.ไม่มีการระบุไว้

มีการเพิ่มเติมมาตราที่ 44 /1 เข้ามา โดยระบุว่า

 

พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนในวันประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้

-

 

นอกจากนั้นแล้ว คณะกรรมาธิการฯยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ดังนี้

(1)    หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตน ควรมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการที่เหมาะสม ทั้งนี้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างควรมาจากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนด้วย

(2)    สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนั้น ให้สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดทำระบบฐานข้อมูลและระบบการส่งต่อเกี่ยวกับการใช้สิทธิของผู้พิการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ถูกปฏิเสธการใช้สิทธิ

(3)    สำนักงานประกันสังคมควรปรับรูปแบบการสื่อสารต่อผู้ประกันตนให้ได้รับรู้สิทธิของตน และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง

(4)    การโอนย้ายสิทธิไปเป็นสมาชิกกองทุนอื่นของรัฐ และให้มีสิทธิได้รับเงินสมทบที่ได้นำส่งเข้ากองทุนคืน โดยโอนเงินดังกล่าวนี้ให้กับกองทุนที่รับโอนไป เห็นว่าในร่างกฎหมายฉบับแก้ไขที่รับหลักการเรื่องนี้ในวาระ 1 ไม่ได้ระบุไว้ จึงไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้

(5)     ในอนาคตหากมีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ควรมีการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง

ประการสำคัญ ถ้าถามว่า “มีอะไรใหม่บ้าง” ในร่างกฎหมายที่คลอดออกมานี้ นอกเหนือจากในเรื่องของประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตน ทั้งการขยายความคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น ได้แก่ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ, คนทำงานบ้านที่มิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย, กลุ่มลูกจ้างที่ไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงในกลุ่มแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆที่นอกเหนือจากที่กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้ กับการเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดหรือยกเลิกเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิแก่ผู้ประกันหรือผู้มีสิทธิเท่านั้น นอกนั้นแล้วก็เป็นเพียงการปรับปรุงองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษา กรรมการการแพทย์ การเพิ่มเติมกรรมการตรวจสอบ และกำหนดบทบัญญัติในการลดหย่อนเงินสมทบในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลดรายจ่ายให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน

พบว่า มี 4 เรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งและควรพึงพิจารณาต่อในเชิงรายละเอียด ได้แก่

(1)    การเพิ่มคณะกรรมการตรวจสอบเข้ามาอีกคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารกองทุนให้เกิดความโปร่งใส แต่ทั้งนี้การได้มาของคณะกรรมการนั้นก็ยังคงเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด

(2)    ผู้แทนที่มาจากฝ่ายลูกจ้างกับฝ่ายนายจ้างให้มาจากการเลือกตั้ง โดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้แทนทั้ง 2 กลุ่มร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ระเบียบการได้มาก็เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด

(3)    กรณีของเงินสมทบของผู้ประกันตนในมาตรา 40 ที่ผ่านมานั้น เครือข่ายแรงงานนอกระบบได้มีการเรียกร้องเสมอมา ให้มีการปรับแก้ไขอัตราเงินสมทบของรัฐให้ได้สัดส่วนที่เป็นธรรมกับที่ผู้ประกันตนสมทบ แต่ทุกครั้งของการพิจารณาในรัฐสภายามที่มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม กลับไม่สามารถผลักดันประเด็นนี้ได้เลย และนี้อาจเป็นครั้งแรกที่มีการแก้ไขให้อัตราเงินสมทบของมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน

(4)    ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ซึ่งในกฎหมายเดิมฉบับปี 2533 ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ และส่งผลต่อผู้ประกันตนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานในระบบที่นายจ้างประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554 และต้องปิดโรงงาน หรือกรณีในกลุ่มลูกจ้างที่นัดหยุดงานหรือถูกปิดงานจากนายจ้างอันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ต้องหยุดงานเป็นเวลานานและไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นผู้ว่างงาน แต่กลับไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวนี้

อีกทั้งมีความจำเป็นต้องตระหนักอย่างยิ่งยวดด้วยว่า แท้จริงแล้วปัญหาสำคัญของกองทุนประกันสังคม คือ การบริหารจัดการโดยภาคราชการที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง ไม่มีการกระจายอำนาจตามหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่ยังขาดความเป็นมืออาชีพ แม้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่มเข้ามาอีกคณะหนึ่งแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นหลักประกันที่จะแสดงให้เห็นถึงการบริหารงานที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งก็ยังไม่มีคณะกรรมการการลงทุนที่มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคมที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ที่พร้อมจะเข้ามา “ล้วงลูกและครอบงำการบริหารงานผ่านประธานกรรมการประกันสังคมได้อยู่ตลอดเวลา

นี้ต่างหากคือ ประเด็นที่เป็น “หัวใจสำคัญ” ที่พึงจักต้องได้รับการแก้ไขและพิจารณาอย่างจริงจัง



[1] เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร ประกอบด้วย 1. สภาแรงงานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย 2. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 3. ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ 4. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ 5. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 6. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 7. มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน 8. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9. มูลนิธิเพื่อนหญิง 10. สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 11. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 12. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย 13. มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 14. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

หมายเหตุ : ปรับปรุงจากบทความเดิมของผู้เขียนเรื่อง “ปรับปรุงให้ดีขึ้น” หรือ “แย่ลงกว่าเดิม” กับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ....ฉบับ สนช. ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 13 มกราคม 2558 ซึ่งในขณะนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ฉบับนี้จึงเพิ่มเติมผลการพิจารณาครบทุกมาตรา และประเด็นที่มีผู้ขอแปรญัตติในวาระ 3 คือ วาระการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท