Skip to main content
sharethis

ระบุหากบังคับใช้ไม่ได้แก้ปัญหาแต่จะทำให้การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอลง ศูนย์ดำรงธธรรมไม่ได้แก้ปัญหาให้ผู้เดือดร้อน ถาม สนช.ว่าจะทำให้พลเมืองเติบโตได้อย่างไรในเมื่อยังจำกัดเสรีภาพ ชี้ควรพูดคุยระดมความคิดจากคนในสังคม แต่ยังไม่ควรออกตอนนี้

หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.พ.58 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐสภา ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในวาระแรก โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะว่า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน สอดคล้องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น  ซึ่งสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนลงมติรับหลักการในวาระแรก ด้วยคะแนน 182 งดออกเสียง 4 โดย ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน  22 คน ดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีทั้งสิ้น 35 มาตรา อาทิ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร เขตพระบรมมหาราชวัง, ห้ามชุมนุมที่รัฐสภา ทำเนียบ และศาล ในระยะห่าง 50 เมตร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุม, ห้ามขวางทางเข้า-ออก รบกวนการทำงานการใช้บริการหน่วยงานรัฐ ทั้งท่าอากาศยาน, ท่าเรือ, สถานนีรถไฟ, ขนส่งสาธารณะ, โรงพยาบาล, สถานศึกษา, ศาสนสถาน, สถานทูต, สถานกงสุล และสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ, ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ห้ามปราศรัยในเวลาเที่ยงคืนถึง 06.00 น. ต้องไม่เคลื่อนการชุมนุมในเวลา 18.00 - 06.00 น. การสลายการชุมนุมต้องขออนุมัติจากศาล

วันนี้ 1 มี.ค.58 เวลาประมาณ 16.00 น. นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน และทำงานเกาะติดประเด็นปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบจากโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคอีสาน ได้มีความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า พ.ร.บ.นี้เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนในการใช้สิทธิเรียกร้อง และในอนาคตการเรียกร้องของชุมชนที่เดือดร้อนเรื่องปากท้อง ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ จะไม่ได้รับการแก้ไข

"ถ้ากฎหมายนี้บังคับใช้จะส่งผลให้การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอลง ซึ่งต้องเข้าใจว่าประชาชนเดือดร้อนจากโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ ขณะที่รัฐจะบีบบังคับให้ประชาชนไปร้องเรียนผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมที่ไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา"

เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน ยังกล่าวต่อว่า ร่างดังกล่าวที่ สนช.รับหลักการไปแล้วด้วยจำนวนเสียงมากมายนั้น ตนมองว่าสนช.ที่สนับสนุนแยกไม่ออกระหว่างม็อบมีเส้นกับม็อบชาวบ้านที่ไม่มีเส้น เราทราบกันว่าการชุมนุมที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐพยายามที่จะห้ามไม่ให้ชุมนุมโดยมักจะอ้างความวุ่นวาย ความสงบบ้าง โดยมีการสกัดไม่ให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนชุมนุม ไม่ยอมพบพูดคุยและถ้า พ.ร.บ.นี้ออกมาแล้ว เช่นต้องมีการแจ้งก่อนล่วงหน้า หรือขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถามว่าหน่วยงานที่ชาวบ้านจะต้องไปเจรจา ยื่นข้อเสนอปัญหาจะต้องหลบหนีแน่นอนไม่ยอมพบชาวบ้าน

"อยากถามต่อไปยัง สปช.ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญว่าถ้า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ออกมาแล้ว จะทำให้ความเป็นพลเมืองเติบโตได้อย่างไร ถ้าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานถูกจำกัด และผมมองว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ยังไม่ควรออกตอนนี้ ควรให้มีการถกเถียงจากคนในสังคมมากกว่านี้ไม่ใช้เอาอารมณ์ของคนในสังคมที่เบื่อการชุมนุมฉวยโอกาสออกกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน และโดยเฉพาะตำรวจเป็นผู้ถือกฎหมายเราจะไว้ใจได้อย่างไร" นายสุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net