Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่นานมานี้ผู้นำชาติตะวันตกเรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนาของมุสลิมมีบทบาทในการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง ทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่ชาวมุสลิม ขณะเดียวกันสื่ออย่างดิอิโคโนมิสต์ก็เสนอว่าควรสร้างเสาหลักในการตีความคำสอนเพื่อแก้ปัญหากลุ่มหัวรุนแรง ขณะที่ชาวมุสลิมประธานกลุ่มต้านหัวรุนแรงเสนอว่าควรวิจารณ์ศาสนาได้


28 ก.พ. 2558 ในขณะที่ผู้นำชาติตะวันตกอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา เรียกร้องให้ชาวมุสลิมสายกลางรวมถึงครูสอนศาสนาและปัญญาชนมุสลิมช่วยต่อต้านการก่อการร้ายจากกลุ่มหัวรุนแรงอย่าง 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' ด้วยการร่วมต่อต้าน "การตีความศาสนาอิสลามแบบบิดเบือน" และต่อต้านคำกล่าวเท็จที่ว่า "อเมริกาและชาติตะวันตกกำลังทำสงครามกับอิสลาม" สำหรับชุมชนชาวมุสลิมเองก็กำลังมีการถกเถียงกันในแง่ที่ว่าแนวคิดอุดมการณ์ของอิสลามมีอิทธิพลต่อกลุ่มหัวรุนแรงจริงหรือไม่

เมื่อไม่นานมานี้ อาห์มัด อัลตอยยิบ แกรนอิหม่ามจากมหาวิทยาลัยอัลอัสซาร์ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษามุสลิมนิกายซุนนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศว่า แนวคิดแบบหัวรุนแรงเกิดจากการตีความคัมภีร์อัลกุรอานและการตีความซุนนะห์ (การกระทำตามแบบอย่างของศาสดา) ไปในทางที่ผิด

บทความในดิอิโคโนมิสต์ชี้ว่าชาวมุสลิมนำเรื่องหลักการของคำว่า "ญิฮาด" และคำว่า "ตักฟีรี" มาเป็นหัวข้อสนทนาหลัก ในขณะที่กลุ่มหัวรุนแรงตีความ "ญิฮาด" ว่าเป็นการประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์แม้จะมีการโต้เถียงกันในหมู่พวกหัวรุนแรงว่าควรจะทำสงครามนี้กับใครกันแน่ แต่ก็มีครูสอนศาสนาอิสลามส่วนหนึ่งแย้งว่า "ญิฮาด" ไม่ได้หมายถึงการทำสงครามแต่หมายถึงการพยายาม "ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสันติภาพและความดีงามภายใต้การเชื่อฟังองค์อัลเลาะห์"

อีกคำหนึ่งที่มีปัญหาคือคำว่า "ตักฟีรี" ซึ่งหมายถึงการที่ชาวมุสลิมคนหนึ่งกล่าวหาชาวมุสลิมคนอื่นว่าเป็นผู้ไม่มีศรัทธาหรือผู้ละทิ้งศาสนา ซึ่งจะต้องโทษประหารชีวิต กลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลเคดาใช้ตักฟีรแค่ในบางกรณีเพราะกลัวว่าจะเสียการสนับสนุนจากชาวมุสลิม ส่วนไอซิสใช้ตักฟีรไปทั่วโดยเฉพาะต่อนิกายชีอะฮ์ ในชณะที่ปัญญาชนมุสลิมหลายคนโต้แย้งว่าตักฟีรจะประกาศใช้ได้ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นยอมรับสารภาพเรื่องการเลิกศรัทธาในศาสนาด้วยตนเอง อีกทั้งผู้ที่มีสิทธิประกาศตักฟีรมีแต่สภาอุเลมา (ulema) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายศาสนาและเทววิทยาที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น


นักคิดชาวมุสลิมอดีตผู้ร่วมกลุ่มกบฎเสนอ ไม่ควรละเลยการวิจารณ์ศาสนา

มายิด นาวาซ เป็นอดีตผู้เข้าร่วมกลุ่มกบฏศาสนาอิสลามในอียิปต์ แต่ปัจจุบันเขาเป็นประธานกลุ่มนักคิดต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรงชื่อกลุ่ม 'ควิลเลียม' (Quilliam) เขาเขียนบทความในเว็บไซต์ เดอะ การ์เดียน เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเคยถูกชักจูงไปในทางความคิดเชิงหัวรุนแรงมาก่อน นาวาซระบุว่า "เห็นได้ชัดว่าแนวคิดอิสลามแบบสุดโต่งกับแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติมีลักษณะไปในทางเดียวกัน และผมเชื่อว่าเราสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ในวิธีการแบบเดียวกัน"

หลังจากกรณีการเปิดเผยชื่อจริงของ "ญิฮาดิ จอห์น" ชายปริศนาผู้อ่านคำประกาศในวิดีโอตัดคอเหยื่อของไอซิส รวมถึงที่มาว่าเป็นชาวคูเวตที่อพยพไปอยู่อังกฤษตั้งแต่อายุ 6 ปี และกรณีอื่นๆ ที่มีคนในยุโรปเดินทางไปร่วมกับไอซิส ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเกณฑ์คนเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรง

นาวาซมองว่าในขณะที่สังคมตะวันตกมีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีการเหยียดเชื้อชาติได้ดีจนทำให้มีการใช้ความรุนแรงจากประเด็นเชื้อชาติลดลงต่อยังแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอในเรื่องกลุ่มผู้มีแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา กรณีที่ "ญิฮาดิ จอห์น" ผู้มีชื่อจริงว่า โมฮัมเหม็ด เอมวาซี เคยอ้างว่าเขาถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาก่อนเมื่อปี 2553 แต่นาวาซชี้ว่านั่นเป็นเพราะเอมวาซีเคยพยายามเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธชื่อ 'อัลชาบับ' มาก่อน ทำให้ถึงแม้ว่าการใช้วิธีแก้ปัญหาแบบผิดๆ ของทางการจะยิ่งผลักให้คนเหล่านี้ไปสู่หนทางของกลุ่มหัวรุนแรงมากขึ้น แต่ก็ละเลยไม่ได้ว่ามีคนบางกลุ่มพยายามชักจูงพวกเขาให้ร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงมาก่อนแล้ว

นาวาซซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามระบุอีกว่าแนวคิดแบบอิสลามสุดโต่งยังเป็นการปลุกให้เกิดพวกขวาสุดโต่งขึ้นและพวกสุดโต่งทั้งสองฝ่ายจะสร้างปัญหาแบบงูกินหางไม่รู้จบ แต่ก็ไม่ควรละเลยว่าแนวคิดอุดมการณ์ของอิสลามที่มีการชักจูงทางความเชื่อไปในทางที่ผิดก็ถือเป็นปัญหาด้วย โดยกลุ่มผู้อ้างอุดมการณ์แบบอิสลามมักจะพยายามชักจูงผู้คนแบบเดียวกับกลุ่มแนวคิดขวาจัดคือการแบ่งแยกและเหยียดเชื้อชาติโดยอาศัยข้ออ้างความไม่พอใจ

"มันเป็นเรื่องไม่จริงใจสำหรับชาวมุสลิมและคนอีกจำนวนมากถ้าหากจะวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นว่ามาจากความคับแค้นจากนโยบายการต่างประเทศแต่อย่างเดียวโดยไม่มีการหักล้างความเชื่ออุดมการณ์ของอิสลามเลยทั้งในแบบที่แสดงออกอย่างสันติและแสดงออกอย่างรุนแรง ถ้าไม่มีการวิจารณ์หักล้างที่ว่านี้ เราก็เป็นแค่เครื่องมือของกลุ่มโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ที่จะใช้ถ้อยคำของพวกเราเพื่อสร้างเรื่องให้ตัวเองเป็นเหยื่อต่อไปเรื่อยๆ แบบเดียวกับที่พวกเหยียดเชื้อชาติพูดถึงผู้อพยพ" นาวาซระบุในบทความ

"แนวคิดอิสลามไม่ได้รุนแรงอยู่ตลอด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ควรท้าทายมันเลย ความต้องการบังคับคนอื่นให้นับถือศาสนา ไม่ว่าจะโดยกฎหมายหรือสงคราม ล้วนเป็นความคิดที่น่ารังเกียจทั้งสิ้น และพวกเราก็ทำถูกต้องที่ได้ขจัดลัทธิเทวาธิปไตย (theocracies-การปกครองที่ถือเทพหรือพระเจ้าอยู่เหนือรัฐ) ออกจากยุโรปเมื่อนานมาแล้ว" นาวาซระบุในบทความ


ดิอิโคโนมิสต์เสนอ สถาบันอิสลามควรช่วยเป็นเสาหลักเชิงอุดมการณ์ไม่ให้เกิดกลุ่มหัวรุนแรง

ปัญหาประการหนึ่งที่ศาสนาอิสลามนิกายซุนนีประสบอยู่คือไม่มีผู้นำเชิงหลักการที่ชัดเจนทำให้ยากต่อการควบคุมกลุ่มหัวรุนแรง และยังทำให้มีการตีความกฎชะรีอะฮ์และหลักปฏิบัติฮะดิดไปได้หลายทาง แม้แต่กลุ่มติดอาวุธที่โหดเหี้ยมไม่แพ้ไอซิสอย่างกลุ่มโบโก ฮาราม ก็ยังตีความจากแหล่งเดียวกันต่างกัน มีรัฐบาลในตะวันออกกลางหลายประเทศพยายามสร้างอำนาจนำเชิงหลักการใหม่ เช่น การเปลี่ยนตัวผู้สอนศาสนาจำนวนมากในอียิปต์ให้เป็นกลุ่มผู้ที่มาจากมหาวิทยาลัยอัลอัสซาร์และให้เทศนาแต่ในรูปแบบที่รัฐบาลรับรอง หรือในไนจีเรียมีการจัดการศึกษาผสมระหว่างอิสลามกับฆราวาสนิยมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสอนในเชิงปั้นให้เกิดกลุ่มหัวรุนแรง

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่ากลุ่มหัวรุนแรงจำนวนมากจะปฏิเสธกลุ่มผู้นำทางศาสนาที่มีการปรับตัวและคิดว่าเป็นการ "บิดเบือนอิสลามที่แท้จริง" พวกเขาพยายามหวนกลับไปหายุคสมัยแบบดั้งเดิมของช่วงยุคศาสดามูฮัมหมัด

อย่างไรก็ตามการมีผู้นำเชิงหลักการก็มีปัญหาในแง่ที่กลุ่มประชาชนผู้ลุกฮือต่อต้านเผด็จการมักจะไม่เชื่อถือผู้มีอำนาจทางศาสนาโดยเฉพาะถ้าพวกเขามีผลประโยชน์ร่วมทางการเมืองหรืออยู่ฝ่ายรัฐบาล ผู้นำตะวันออกกลางบางคนยังใช้สนับสนุนกลุ่มศาสนาสลับกับการกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นผุ้ก่อการร้ายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองชั่วคราว

นอกจากนี้กลุ่มผู้มีอำนาจเชิงหลักการอย่างเช่นกลุ่มผู้นำศาสนาจากอัลอัสซาร์ก็ไม่สามารถตามทันเรื่องการสื่อกับคนทั่วไป ชาวตะวันออกกลางผู้ที่เข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตและอ่านออกเขียนได้ก็สามารถแสวงหาการตีความใหม่ๆ จากสื่อต่างๆ ได้ ราฟาเอล ลุฟเฟอว์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้ศึกษานิกายซุนนีมองว่า คนเหล่านี้มักจะหลงเชื่อสื่อของไอซิสที่มีรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูดกว่าและเข้าถึงคนทั่วไปได้มากกว่าขณะที่สื่อจากสถาบันทางศาสนามักจะดูหัวสูงและเข้าใจยากกว่า

ที่ร้ายไปกว่านั้นในบางประเทศที่มีสถาบันทางศาสนาที่มีอำนาจนำก็ใช้มันไปในทางที่โหดร้ายและลิดรอนเสรีภาพเช่นเดียวกัน เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบียหรืออียิปต์ที่มีการลงโทษผู้ที่ไม่เชื่อในศาสนาอิสลาม แต่การเสนอให้ส่งเสริมหลักการในเชิงเสรีนิยมไปโดยทันทีก็อาจจะขัดใจกลุ่มมุสลิมหัวอนุรักษ์ในตอนนี้ได้ ดิอิโคโนมิสต์จึงเสนอว่าการให้รัฐจัดการกับผู้ที่เทศนาสนับสนุนความรุนแรงอาจจะช่วยได้รวมถึงการมีกลุ่มอำนาจเชิงหลักการควรจะนำเสนอการตีความอิสลามในแบบของตนให้เข้าถึงง่ายกว่านี้

 

เรียบเรียงจาก

There is a heated debate about the role of Islam in jihadism. Will it make a difference?, The Economist, 28-02-2015
I was radicalised. So I understand how extremists exploit grievances, The Guardian, 26-02-2015

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Maajid_Nawaz

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net