Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปรากฏการณ์พระสงฆ์รูปหนึ่งนำสังฆทานซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งของที่ไม่จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งของที่ควรถวายในหลักว่าด้วยสังฆาทาน เช่น สากกะเบือ ดอกไม้จันทน์  โดยระบุว่าเป็นปริศนาธรรม  ประเด็นคือการนำเรื่องสังฆทานมาใช้เป็นอุบายทางการเมืองเหมาะสมหรือไม่? เป็นการหมิ่นและย่ำยีเจตนาดั้งเดิมตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหรือไม่? และเป็นการทำลายศรัทธาปฏิบัติของชาวพุทธหรือไม่? การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นอาจาระวิบัติ (ความประพฤติที่น่ารังเกียจ ไม่เหมาะสมสำหรับผู้เป็นพระภิกษุสงฆ์) หรือไม่?


ควรทำความเข้าใจก่อนว่า สังฆทานตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้นไม่ปรากฏว่ามีการใช้เพื่อเป็นปริศนาธรรม หรืออุบายวิธีสอนคนแต่อย่างไร ปรากฏแต่หลักฐานว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการถวายทานเท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่าจะมีผลานิสงส์มาก เนื่องจากเป็นการวถวายทานที่ไม่จำเพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เป็นการถวายเพื่อสงฆ์ ซึ่งหากสงฆ์รับก็จะรับเป็นของสาธารณะและจะมีกระบวนการมอบสิทธิให้สำหรับผู้เหมาะสมต่อไป เช่นกรณีที่พระพุทธองค์ตรัสแนะนำให้พระนางมหาปชาบดีถวายผ้าจีวรแก่สงฆ์ ไม่ต้องถวายเป็นการเฉพาะแก่พระองค์


ว่าด้วยของควรถวายและไม่ควรถวาย (สัปปุริสทาน-อสัปปุริสทาน ว่าด้วยเป้าหมายและผลคาดหวังจากการถวายสังฆทาน ดู อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่22 ข้อที่ 147-148 และในสัปปุริสทานว่าด้วยการทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน  ควรมอบให้ (ถวาย) อย่างสัตบุรุษ คือเลือกและรู้จักให้ตามหลักสัปปุริสทาน 8 ประการ ได้แก่  (1) ให้ของสะอาด หมายถึงเลือกสิ่งของที่บริสุทธิ์ ได้มาโดยสุจริตไม่ผิดศีลธรรม (2) ให้ของประณีต  หมายถึงให้สิ่งของที่ดี ให้ตามกำลังศรัทธา ดังที่ยึดถือกันว่าถ้าจะถวายของแก่พระสงฆ์ต้องเลือกของที่ดีที่สุด เช่น ถวายข้าวแรกเก็บเกี่ยว เป็นต้น (3) ให้ถูกเวลา  หมายถึง ผู้ให้ย่อมจะรู้กาลเทสะว่าเวลาไหนควรถวายอะไรได้ หรือไม่ได้ เช่น หากถวายภัตตาหารให้เป็นสังฆทาน ก็ต้องถวายในเวลาก่อนเพล หากถวายหลังจากเพลไปแล้วก็ควรเลือกถวายสิ่งของที่เป็นเครื่องใช้ที่เหมาะสม เช่น น้ำปานะ ดอกไม้ธูปเทียน สิ่งของที่ไม่ขัดต่อพระวินัยสงฆ์ (4) ให้ของที่สมควร หมายถึง สิ่งของที่จะนำไปถวายนั้นต้องพิจารณาว่าเป็นประโยชน์หรือเหมาะแก่ผู้รับ ในที่นี้หมายถึงพระสงฆ์จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นที่เข้าใจได้ทั่วไป เช่น ไม่ถวายสุรา ยาเสพติด เครื่องประดับประดา ซึ่งข้อนี้ควรพิจารณาให้ละเอียด เพราะโดยมากสิ่งของที่ถวายนั้นจะจัดโดยร้านขายสังฆภัณฑ์ที่ยังขาดความรู้อย่างถ่องแท้ หรือแม้เจ้าภาพที่จะจัดสิ่งของถวาย ก็จะจัดตามที่ตนเองเห็นว่าจะทำได้ เช่น ถวายสังฆทานอุทิศให้แก่ญาติพี่น้อง จึงเลือกสิ่งของที่ผู้ตายเคยชอบเคยใช้ แต่ผู้รับคือพระสงฆ์นั้นไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ได้ ในกรณีสังฆทานการเมืองก็เข้าข่ายนี้ คือสิ่งของที่นำมามอบถวายโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์แก่ผู้รับ เป็นการให้โดยแสดงเจตนาจากผู้ให้คือเพื่อต้องการเสียดสี เหยียดเยาะ   (5) เลือกให้  ข้อนี้สนับสนุนข้อที่ผ่านมา คือจะให้ของก็ต้องให้เกิดประโยชน์    คำว่าประโยชน์ ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดว่าต้องเป็นสิ่งของที่ต้องซื้อมาด้วยราคาแพง แต่ให้ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ และให้สิ่งของที่บริสุทธิ์สะอาด ไม่ต้องมากอย่าง  (6) ให้อย่างสม่ำเสมอ หมายถึง ชาวพุทธที่นิยมทำบุญก็จะถือว่าการทำบุญถวายทานเป็นเรื่องปกติในชีวิต เพราะเป็นการแสดงถึงคุณธรรมคือจาคเจตนา  (7)  ขณะถวายสังฆทาน ย่อมทำจิตใจผ่องใส ข้อนี้ เป็นเหตุและผลในตัวเอง ผู้ถวายทานย่อมเตรียมกุศลเจตนาทั้งก่อนให้ ขณะให้ ไม่ใช่ถวายด้วยจิตใจเต็มไปด้วยอคติ เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หากเข้าข่ายนี้ก็ไม่ชื่อว่าสังฆทาน ประการสุดท้าย  (8) ให้แล้ว ผู้ให้ย่อมเบิกบานใจ  หมายถึง ผู้ให้ย่อมปล่อยสละอย่างแท้จริง ไม่คิดเสียดายสิ่งของ หรือกังวลใจว่าสิ่งของนั้นจะเหมาะหรือไม่เหมาะ เพราะตนได้พิจารณาไว้เบื้องต้นแล้ว


เมื่อเป็นความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นตามหลักพระศาสนาแล้ว เรื่องการนำสังฆทานมาใช้เป็นอุบายทางการเมือง โดยมีเป้าหมายผิดแผกไปจากหลักการจึงถือว่าไม่เหมาะสม  ทั้งโดยสิ่งของและโดยกิริยาที่มอบให้ คือไม่ได้มอบโดยความเคารพ โดยความศรัทธา พฤติกรรมการถวายสังฆทานของพระสงฆ์รูปดังกล่าวไม่ได้เป็นไปในรูปแบบดังกล่าว ประการต่อมา พฤติการณ์นั้นเท่ากับเป็นการหมิ่นและย่ำยีเจตนาดั้งเดิมตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหรือไม่? และเป็นการทำลายศรัทธาปฏิบัติของชาวพุทธหรือไม่?  พิจารณาจากหลักฐานแล้วก็ประจักษ์ในตัวเอง ส่วนจะเป็นการทำลายศรัทธาที่ชาวพุทธเคยปฏิบัติกันมาหรือไม่นั้น อาจถือเป็นเรื่องปัจเจกไป  เพราะกรณีนี้ ผู้ให้ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำเป็นสังฆทานแบบที่ชาวพุทธทั่วไปปฏิบัติ กล่าวคือ เมื่อจะมีการถวายสังฆทาน ต้องมีศาสนพิธีประกอบ ตั้งแต่นำสิ่งของไปแล้ว ต้องแสดงเจตนาบริสุทธิ์ มีลำดับตั้งแต่จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำอาราธนาศีล สมาทานศีล และกล่าวคำถวายสังฆทาน ซึ่งกรณีสังฆทานการเมืองไม่ได้มีพฤติการณ์เช่นนั้น ข้อสังเกตประการสุดท้าย การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นอาจาระวิบัติ (ความประพฤติที่น่ารังเกียจ ไม่เหมาะสมสำหรับผู้เป็นพระภิกษุสงฆ์) หรือไม่? ทั้งนี้อาศัยเหตุที่ผู้นำสังฆทานไป มีฐานะเป็นภิกษุผู้ใต้ปกครอง ที่โดยมารยาทแล้วผู้น้อยจะให้ความเคารพยำเกรงผู้ใหญ่ทั้งโดยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และคุณธรรม ยิ่งผู้น้อยมีความเคารพก็จะยิ่งแสดงถึงความมีคุณธรรมของผู้ให้


คำว่าอาจารวิบัติ หมายถึง เสียอาจาระ เสียจรรยา มรรยาทเสียหาย ประพฤติย่อหย่อนไม่นำพาศรัทธา ซึ่งอาจปรับอาบัติเล็กน้อยตั้งแต่ถุลลัจจัยลงมาถึงทุพภาสิต แต่พระวินัยได้ระบุโทษเสียหายถึงขั้นที่สงฆ์สามารถจะลง “ตัชชะนียกรรม” ได้ (ดูรายละเอียดในพระวินัยปิฎก เล่มที่ 6 ข้อที่ 29 เป็นต้นไป)  ตัชชะนียกรรม หมายถึง กรรมที่สงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่, สังฆกรรมประเภทนิคหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร (ดู พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ของพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งต้องฝากไว้กับฝ่ายศาสนจักรพิจารณา

           
ที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้น ก็เพื่อกระตุ้นกระตุกปลุกชาวพุทธด้วยกันว่าควรมีท่าทีอย่างไรต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นท่าทีเพื่อสร้างสรรค์ หรือทำลาย เพราะประเด็นได้ขยายลุกลามไปเกินกว่าเรื่องสังฆทาน และกลายเป็นไฟลามทุ่งไปสู่ “การเมือง” ไปเสียแล้ว พุทธศาสนิกชนหลายคนกำลังงุนงงว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมสงฆ์ว่าสงฆ์กับสงฆ์กำลังทำอะไรกัน สงฆ์กับคนใครกำลังทำอะไรกันอยู่ สังคมกำลังประโคมคนดี  ในขณะที่ทั้งพระและคน (บางส่วน) กำลังถูกจัดการโดยคนดี คงจะมี “สังฆทานการเมืองภาคสอง” ให้เห็นในเร็ววันนี้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ผศ.ดร. วุฒินันท์ กันทะเตียน เป็นประธานหลักสูตรปริญญาโท หลักสูตรศาสนากับการพัฒนา มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net