เพิ่มขั้นตอนแก้ รธน.ใช้มติสภา 2 ใน 3 และศาล รธน.วินิจฉัย - แก้หลักสำคัญต้องประชามติ

ร่าง รธน. บท “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของ ส.ส.และ ส.ว. จากเดิม รธน.50 ใช้เสียงกึ่งหนึ่ง - ผ่านสภาแล้วต้องส่ง "ศาล รธน." วินิจฉัยว่ามีผลเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบรัฐหรือไม่ - แก้ไข “หลักการพื้นฐานสำคัญ” เมื่อผ่านสภา-ศาล รธน. แล้ว ต้องประชามติ - ทุกๆ 5 ปี “คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระ” จะประเมินผล รธน. พร้อมเสนอร่างแก้ไข

28 ก.พ. 2558 - ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการนัดประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 53-58 ระหว่างวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 - วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีระเบียบวาระการประชุมเป็นการพิจารณายกร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น

ล่าสุด พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการ ได้นำเสนอรายงานความคืบหน้าของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันศุกร์ที่ 27 ก.พ. มีการพิจารณา บทสุดท้าย "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" โดยยังรอการระบุมาตรา และร่างมาตรา 196 ที่รอการพิจารณา (อ่านเอกสารเผยแพร่) โดยมีส่วนที่สำคัญดังนี้

แก้ไขรัฐธรรมนูญ สองสภาต้องใช้เสียง 2 ใน 3 จากเดิมใช้เสียงกึ่งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ในร่างรัฐธรรมนูญบับนี้ยังคงระบุไว้ว่า “จะกระทำมิได้” เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสองสภา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเพียงเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” นอกจากนี้หลังผ่านขั้นตอนของสองสภาแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ” หรือไม่ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีการแก้ไข โดยมีรายละเอียดดังนี้

บทสุดท้าย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

“มาตรา (ส) 1 การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะกระทำมิได้”

“มาตรา (ส) 2 การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญนี้ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา (ส) 4

หลักการพื้นฐานสำคัญตามวรรคหนึ่ง หมายถึง

(1) หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทางการเมือง

(2) โครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การมีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

(2/1) กลไกเพื่อการรักษาวินัยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ

(3) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

(4) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้าง ความปรองดอง

(5) หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทสุดท้ายนี้

การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขยายหรือเพิ่มสิทธิเสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมของพลเมืองทางการเมือง หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของศาลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญตามมาตรานี้

“มาตรา (ส) 3 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและ สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น สามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่ มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภาเห็นชอบแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือมีข้อความขัดหรือแย้ง ต่อมาตรา (ส) 1 หรือไม่ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ใน กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ หรือมี ข้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา (ส) 1 ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป แต่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานสำคัญ ให้รัฐสภาดำเนินการตามมาตรา (ส) 4 ต่อไป

(8) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 158 และมาตรา 159 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่มติยืนยันต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

 

แก้ไข "หลักการพื้นฐานสำคัญ" ผ่านสภา-ศาล รธน. แล้ว ต้องลงประชามติ

ขณะที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ภาค 1 หมวด 1 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติม “หลักการพื้นฐานสำคัญ” ได้แก่ (1) หลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในทางการเมือง (2) โครงสร้างของสถาบันการเมือง ซึ่งได้แก่การมีสองสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ (2/1) กลไกเพื่อการรักษาวินัยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ (3) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (4) สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้าง ความปรองดอง และ (5) หลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทสุดท้าย

โดยทั้ง 5หัวข้อนี้ นอกจากจะต้องผ่านการลงมติของสองสภา และมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และผ่านขั้นตอนวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นจะต้องนำไปลงประชามติก่อน เมื่อผ่านขั้นตอนลงประชามติแล้วจึงจะนำมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้

“มาตรา (ส) 4 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา (ส) 2 ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และ วิธีการตามมาตรา (ส) 3 เว้นแต่ 3

(1) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(2) ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามมาตรา (ส) 3 (8) แล้วให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติก่อนนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในกรณีที่ประชาชนผู้มำใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป แต่ถ้าประชาชนผู้มาใช้สิทธิ ออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ก็ให้ดำเนินการต่อไป ตามมาตรา (ส) 3 (8) ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ”

 

ทุกรอบ 5 ปี 5 หน่วยงานจะตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้รัฐธรรมนูญ - พร้อมเสนอร่างแก้ไข

ขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังกำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาคณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละ 1 คน เพื่อประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทุกรอบ 5 ปีที่ใช้รัฐธรรมนูญ และให้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย

“มาตรา (ส) 5 ทุกรอบห้าปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาคณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายละหนึ่งคน ประกอบกันเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระตามวรรคหนึ่งเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เสนอร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ต่อไป และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย”

 

ม.196 เพิ่มขั้นตอนในส่วนการทำสนธิสัญญาที่มีผลต่ออธิปไตย

ในส่วนของมาตรา 196 หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดขั้นตอนให้ต้องได้รับความเห็นชชอบของรัฐสภา โดยมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ดังนี้

“มาตรา 196 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

หนังสือสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญตามวรรคสอง หมายถึงหนังสือ สัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือ องค์การระหว่างประเทศตามวรรค สอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับทำหนังสือสัญญานั้น โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ในการนี้คณะกรรมธิการจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว

เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาหรือจะเข้าทำหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว ในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยำผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม

ให้มีกฎหมายว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาซึ่งครอบคลุมถึงการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป

ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 166 มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท