Skip to main content
sharethis

นักศึกษา มธ. รวมตัว-จุดเทียน ที่ลานป๋วย มธ. ศูนย์รังสิต ค้านคำสั่งไล่ออก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เชื่อเป็นการคุกคามเสรีภาพด้วยเหตุผลทางการเมือง





26 ก.พ. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ลานป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต กลุ่มนักศึกษาที่ใช้ชื่อว่า "ประชาคมคัดค้านคำสั่งไล่อ.สมศักดิ์ออกจากราชการ" เปิดให้ลงชื่อในแถลงการณ์ "ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและงานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย" ซึ่งร่างขึ้นโดยนักวิชาการคณาจารย์ภาคประชาชนจากหลากหลายกลุ่มอาชีพทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กว่า 200 คนพร้อมจัดกิจกรรมจุดเทียนเพื่อแสงสว่างและเสรีภาพทางวิชาการ โดยกลุ่มนักศึกษาเห็นว่ากรณีคำสั่งไล่ออกสมศักดิ์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วยเหตุผลทางการเมือง

ทั้งนี้ กลุ่มนักศึกษาได้อ่านกลอนและอ่านแถลงการณ์ ก่อนจะร่วมจุดเทียนแสดงสัญลักษณ์พร้อมร้องเพลงเพื่อมวลชน ขณะที่บรรยากาศโดยทั่วไป นักศึกษาได้จัดบอร์ดให้เขียนแสดงความคิดเห็นกรณีอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกไล่ออก

อย่างไรก็ตาม มีเพียงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์เท่านั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ แสดงตนเข้าดูแลการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยกลุ่มนักศึกษาประกาศก่อนจัดกิจกรรมว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการเรียกร้องภายในมหาวิทยาลัย ไม่ได้กระทบต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

ทั้งนี้ แถลงการณ์มีข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย 3 ข้อ โดยเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย ชีวิต จิตใจ ของบุคลากร โดยไม่ให้อำนาจทางการเมืองมาแทรกแซง และขอให้ประกันสิทธิแก่บุคลากร ในการได้รับผลกระทบจากวิกฤติฯ ในการลากิจ ลาเพิ่มพูนความรู้  ลาออก และการการลี้ภัยฉุกเฉิน รวมทั้งเรียกร้องต่อผู้บริหารว่า หากไม่สามารถทำอะไรได้ ควรแสดงออกซึ่งสามัญสำนึกต่อสาธารณะ

 

0000


แถลงการณ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยในสถาบันการศึกษาชั้นสูง

อนุสนธิจากกรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งไล่ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการโดยที่ ดร.สมศักดิ์ถูกวิกฤติการณ์ทางการเมืองคุกคามถึงชีวิตจนต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศและได้ยื่นเรื่องขอลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการไว้ก่อน แต่เมื่อถูกถ่วงเรื่องไว้จึงได้แสดงความจำนงขอลาออกจากราชการดังความปรากฏในสื่อสาธารณะแล้วนั้น พวกเราเห็นว่า ดร.สมศักดิ์ ควรมีสิทธิอุทธรณ์และสิทธิอื่นๆ เช่น การลาเพิ่มพูนความรู้ การลากิจ กระทั่งการลาออก รวมไปถึงการต่อสู้คดีความในศาลยุติธรรมที่ไม่ใช่ศาลทหาร

และขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติการนำข้ออ้างเรื่องวินัยบุคลากร มาใช้เพื่อรวบรัดตัดตอนและลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของบุคลากรทางวิชาการ แม้พวกเรามิได้เห็นว่านักวิชาการควรมีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนทั่วไป แต่ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ การแสดงความเห็นวิชาการยิ่งต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้การแสดงความเห็นในประเด็นสำคัญของสังคมสามารถกระทำได้ และถูกตรวจสอบจากสาธารณชน มากกว่าจะโถมทับความเห็นที่แตกต่างด้วยการไล่ออกจากราชการโดยใช้อำนาจแบบเผด็จการ ซึ่งน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ละทิ้งโอกาสที่จะแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการปกป้องหลักเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของสถาบันการศึกษาชั้นสูง แต่กลับส่อแสดงความหวาดกลัวต่ออำนาจเผด็จการที่แทรกแซงเข้ามาในมหาวิทยาลัยจนละเลยที่จะปกป้องบุคลากรของตนซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อความน่าเชื่อถือด้านเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย

ดังนั้น พวกเราผู้มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้แสดงความกล้าหาญทางวิชาการและจริยธรรมอย่างเปิดเผยดังนี้

1.ในยามที่ประเทศชาติกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤติอันมีสาเหตุมาจากอคติของความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนาภาษาความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองมหาวิทยาลัยต้องแสดงบทบาทสูงสุดในการรับรองสิทธิและเสรีภาพของทรัพยากรบุคคลทางวิชาการและการวิจัยซึ่งได้แสดงความเห็นทางวิชาการโดยอิสระและสุจริต แต่กลายผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าวมหาวิทยาลัยจึงต้องปกป้องคุ้มครองความมั่นคงและความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของบุคลากรผู้นั้นอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยปราศจากการแทรกแซงของอำนาจทางการเมือง

2.ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องสร้างความมั่นคงทางวิชาชีพให้แก่บุคลากรผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ฯ ดังกล่าวด้วยการรับประกันสิทธิในการลากิจ การลาเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ การลาออกและสิทธิในการขอลี้ภัยฉุกเฉินโดยไม่ต้องมีการร้องขอ ทั้งนี้ โดยหลักการสากลแล้ว การขอใช้สิทธิดังกล่าวย่อมไม่มีผลเป็นโทษในทางวินัย

3.หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามที่ระบุไว้ได้อันเนื่องมาแต่การแทรกแซงและแรงกดดันหรือคำสั่งจากอำนาจทางการเมืองภายนอกมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องชี้แจงแก่สาธารณชนและแสดงสำนึกของความเป็นนักวิชาการและจริยธรรมทางวิชาการด้วยการลาออก พวกเราเชื่อมั่นว่า การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเป็นอิสระทางวิชาการนั้น จะช่วยให้สังคมได้เข้าใจมิติของวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน สามารถคลี่คลายไปได้ตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นหลักประกันความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เพื่อความเจริญงอกงามของประชาชนและประเทศชาติสืบไป

แถลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net