Skip to main content
sharethis

หลายชุมชน-ภาคประชาสังคมถกเรื่องปฏิรูป จับตากฎหมายปิโตรเลียม ไม่รองรับสิทธิชุมชน ผลักภาระให้ ปชช.พิสูจน์ความเสียหายเอง ส่วนกฎหมายแร่ ที่ผ่านมาเวลาเกิดเรื่องปนเปื้อนร้องเรียนไปหน่วยงานไหนก็ไม่ขยับ ด้านแผนแม่บทป่าไม้ก็ใช้เร่งขับคนออกจากป่า ขณะที่ชาวบ้านอีสาน-ใต้ ขอให้เลิกกฎอัยการศึก ขอ “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับแสดงความเห็นต่อเรื่องที่จะกระทบชุมชน

25 ก.พ. 2558 - ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีการจัดเวทีสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 2 “จับตาการเพิ่มอำนาจรัฐ ปกป้องอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องดีกว่าเดิม” โดยมีบำรุง คะโยธา เป็นผู้เปิดสภาประชาชนดังกล่าว ทั้งนี้ตลอดช่วงเช้า มีการอภิปรายหัวข้อ “จับตาการเพิ่มอำนาจรัฐ ปกป้องประชาชน กฎหมายแร่ เพิ่มอำนาจรัฐรอนสิทธิประชาชน” โดยเป็นการหยิบยกกรณีปัญหาจากพื้นที่ ซึ่งชุมชนต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน

สัมปทานปิโตรเลียม ปกป้องสิทธิชุมชน
กรณีปัญหา: บ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่ากฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมของไทยอยู่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งระบุว่า รัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียม และรัฐจะมอบสิทธิให้กับเอกชนเข้ามาดำเนินกิจการต่างๆ โดยภาพรวมเป็นการระบุถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐจะได้รับจากปิโตรเลียม แต่ไม่มีการรองรับสิทธิและประโยชน์ของประชาชนและชุมชนแม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง

อิฐบูรณ์กล่าวต่อว่ากฎหมายฉบับนี้มีความล้าหลัง เพราะในกฎหมายระบุว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นกับคู่สัญญาจะต้องดำเนินคดีในศาลต่างประเทศไม่ใช่ศาลไทย อันเนื่องมาจากอยู่ภายใต้ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ แม้ว่าในขณะนั้นประเทศไทยจะมีศาลเกิดขึ้นแล้วก็ตามกระบวนการพิจารณาความเสียหายอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัจจุบันยังใช้กฎหมายการละเมิดทั่วไป ที่ประชาชนต้องดำเนินการพิสูจน์ด้วยตัวเอง และมีคดีที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้น้อยมากประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ ในขณะเดียวกันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เพราะมีการกำหนดราคาค่าก๊าซจากส่วนกลาง และรายได้ที่รัฐได้รับจากปิโตรเลียมไม่มีการระบุว่าจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนและชุมชนซึ่งควรต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

กฎหมายแร่ เพิ่มอำนาจรัฐลิดรอนสิทธิประชาชน
กรณีปัญหา: การสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและเหมืองแร่โปแตส

สมิทธ์ ตุงคะสมิต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่าในช่วงที่มีการให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ รัฐบาลในขณะนั้นไม่มีการอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเหมือง แต่ให้ความหวังกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะทำให้พื้นที่มีความเจริญ ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าการเปิดเหมืองแร่ทองคำจะทำให้ได้รับผลกระทบจากสารพิษไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่นำมาใช้ในกระบวนการแยกทองออกจากหิน โดยสารไซยาไนด์ไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ ทางเหมืองจะปล่อยให้ระเหยไปตามธรรมชาติ โดยการนำไปทิ้งไว้ในบ่อทิ้งกากแร่ ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อกลางแจ้งขนาดใหญ่ นอกจากนี้ประชาชนยังได้รับผลกระทบจากสารหนูและแมงกานีส ซึ่งเป็นสารที่มาพร้อมกับทองคำ มีผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท เปลี่ยนแปลงยีนส์และก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กคลอดใหม่มีอาการผิดปกติเพิ่มขึ้น เช่น อาการหัวโต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและเจ็บป่วยจำนวนมาก

สมิทธ์กล่าวต่อว่า ตลอดระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง ดั้งนั้นกรณีที่เกิดขึ้นนี้สามารถนำไปใช้เป็นบทเรียนให้กับประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ว่ารัฐมีความรู้มากมายในการจัดการกับเรื่องต่างๆ ภาคประชาสังคมควรเตรียมรับมือและต่อสู้ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มความรู้ให้กับประชาชน

แผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้ กรณีปัญหา: สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

ธนากร อัฐประดิษฐ์ สหพันธ์เกษตรภาคเหนือกล่าวว่า แผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทยให้มีอย่างน้อยร้อยละ 40 ของประเทศ โดยแผนแม่บทฉบับดังกล่าวมีข้อสังเกตที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียพื้นที่ทำกิน การได้มาซึ่งกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องพิทักษ์ป่าไม้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 17 คน ซึ่งขาดความหลากหลายและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม การร่างกฎหมายดำเนินการเพียง 45 วันเท่านั้น นอกจากขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนแล้วยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอีกด้วย เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะหากวิเคราะห์ตามหลักการเสียพื้นที่ป่า ต้องมีการกล่าวถึงป่าที่หายไปในช่วงของการให้สัมปทานป่าไม้ ซึ่งไม่มีการระบุไว้ในแผนแม่บทแต่อย่างใด ไม่มีการกล่าวถึงที่ดิน ส.ป.ก. และเกิดการกีดกันชาวบ้านให้ออกนอกพื้นที่ โดยหากพิจารณาจากแผนที่ที่แสดงพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยจะพบว่า เป็นพื้นที่เดียวกับที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเป็นผู้ดูแลและอนุรักษ์ป่าไม้เหล่านั้นมากกว่าเป็นผู้ทำลาย

เด่น คำแหล้ ประชาชนจาก ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้กล่าวว่า มีชาวบ้านจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเด่นได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมามีป้ายปิดประกาศของ คสช. ฉบับที่ 64/2557 ไว้ที่หมู่บ้านเพื่อทวงคืนพื้นที่ป่า ระบุว่าให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน ซึ่งเป็นการประกาศที่ไม่มีการชี้แจงล่วงหน้า หลังจากนั้นชาวบ้านได้ทำเรื่องขออุทธรณ์เรื่อยมา และล่าสุดมีคำตัดสินว่า ให้ทำการรื้อถอนออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 6 มีนาคมที่จะถึงนี้ หากไม่รื้อถอนด้วยตนเอง ทางเจ้าหน้าที่จะเข้ารื้อถอน แต่ชาวบ้านต้องจ่ายค่ารื้อถอนด้วย

พื้นที่ปลอดภัยของประชาชน
กรณีปัญหา: การทำกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อรนุช ผลภิญโญ จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าวว่าภายหลังจากมีการเข้ายึดอำนาจของ คสช. ประชาชนไม่มีพื้นที่ที่ปลอดภัย เนื่องจากประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพแม้แต่การที่จะพูดคุยหารือเกี่ยวกับปัญหาของชุมชน เพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาควบคุมและสั่งห้าม มีการตัดต้นยางพาราของชาวบ้านทิ้ง โดยอ้างว่าเป็นของนายทุน เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เจ้าหน้าที่ทหารทำตัวเป็นผู้คุ้มครองนายทุนให้เข้าไปปล้นทรัพยากรชุมชน เช่น การให้นายทุนเข้าไปขนแร่ออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่เป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมอุทยานป่าไม้ ในการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน และมีชาวบ้านหลายคนถูกจับและถูกเรียกร้องค่าเสียหาย เพราะปกป้องสิทธิประโยชน์ให้กับชุมชน

อรนุชกล่าวต่อว่าขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ยุติกฎหมายและคำสั่งที่มีผลเสียต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น คำสั่งเรื่องการปรับทัศนคติ และยุติการทำร้ายประชาชนโดยใช้แนวคิดเรื่องความมั่นคงมาเป็นข้ออ้าง

ด้าน อัครเดช ฉากจินดา แกนนำกลุ่มรักเมืองกระบี่กล่าวว่า การทำกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้เพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ยังไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการรับฟังและแสดงความคิดเห็นเพราะมีการระดมเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพร้อมอาวุธมาคุ้มครองเชิงข่มขู่กลุ่มคัดค้าน ปัจจุบันชาวบ้านจำนวนมากยังไม่ทราบว่าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากจะมีการระบุถึงพื้นที่ปลอดภัยของประชาชนควรระบุให้ชัดเจนถึงกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นให้มีความหลากลาย ได้รับการยอมรับ และสามารถปฏิบัติได้จริง

ทั้งนี้ภายหลังการแสดงความเห็น มีการเผยแพร่ “คำประกาศสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปฉบับที่ 3: ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” เฝ้าระวังการเพิ่มอำนาจรัฐ สร้างพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน” โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการใช้อำนาจรัฐควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารราชการแผ่นดิน ทบทวนการใช้กฎอัยการศึก เปิดหรือสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาชุมชน การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net