‘อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง’ กับ 5 บทบาทเพื่อสันติภาพปาตานี (ตอนจบ): สร้างคน สร้างสันติภาพ

ตอนจบของรายงานพิเศษชุด ‘อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง’ กับ 5 บทบาทเพื่อสันติภาพปาตานี นำเสนอบทบาทการสร้างคนไปจนถึงสร้างสันติภาพ บทบาทนักเชื่อมต่อสันติภาพผู้สุภาพอ่อนน้อม รอบด้านทั้งงานความรู้ การขับเคลื่อน และการสื่อสาร ผสานการทำงานแนวใหม่ที่บูรณการทั้ง 3 เรื่องเข้าด้วยกัน

เปลี่ยนสู่การต่อสู้ด้วยสันติวิธี
“จากนี้ไปเราไม่สามารถที่จะต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงได้ เพราะอาจจะมีมือที่สามเข้ามาทำลายพวกเราได้ แล้วจะกลายเป็นปัญหาอื่นได้”

เจ๊ะฆูรอนิง หรือนายมะรอนิง สาและ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานี บอกว่า นั่นคือคำประกาศจากอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ต่อหน้าชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานีหลังการชุมชุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีในปี 2547

เจ๊ะฆูรอนิงบอกว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ต้องการให้ชาวบ้านต่อสู้ด้วยสันติวิธี โดยให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยปัญหาในอ่าวปัตตานีโดยอาจารย์เป็นที่ปรึกษาให้ และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

“ดังนั้นเราต้องสู้ด้วยความรู้ ต้องให้ความรู้ทุกเรื่องแก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นทางเลือกของชาวบ้านนอกจากการทำประมง เพราะในช่วงนั้นทรัพยากรในทะเลลดลง” เจ๊ะฆูรอนิงกล่าว

สร้างนักวิจัยท้องถิ่น
เจ๊ะฆูรอนิง เล่าว่า ตอนนั้นทางผู้ดำเนินโครงการต้องการให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยท้องถิ่นอ่าวปัตตานี อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์จึงเสนอชื่อตนกับชาวบ้านอีก 3 คนให้เป็นนักวิจัยท้องถิ่น

“ตอนแรกพวกเราปฏิเสธ เพราะไม่เคยเป็นนักวิจัยมาก่อน แต่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ต้องการให้เป็นและจะเป็นที่ปรึกษาให้ พวกผมจึงตอบรับ” เจ๊ะฆูรอนิงกล่าวก่อนจะเล่าต่อไปว่า

จากนั้นก็เริ่มเก็บข้อมูลและเขียนรายงานส่งให้มูลนิธิเล็ก-พระไพ วิริยะพันธุ์ สุดท้ายงานวิจัยชิ้นนี้กลายเป็นงานวิจัยที่ดีเด่นของปีนั้น และได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “เสียงสะท้อนหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี”

นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ประเทศมาเลเซียและช่างภาพ AFP จังหวัดปัตตานีเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยร่วมงานกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์หลายปี เล่าว่าในช่วงทำโครงการพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวประมงพื้นบ้านอย่างมากด้วย ขณะเดียวกันยังทำวิจัยปัญหายาเสพติดด้วยในจังหวัดภูเก็ตด้วย

“ปอเนาะควนหรัน” กรณีพิพาทหลังปี 2547
ในช่วงหลังปี 2547 เป็นต้น บทบาทของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ในกรณีพิพาทอันเนื่องจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ก็ถือว่าโดดเด่นพอสมควร ดังตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

นายนาวาวี เล่าว่า มีครั้งหนึ่งที่เกิดเหตุกราดยิงเด็กนักเรียนปอเนาะบำรุงศาสตร์ บ้านควนหรัน ม.2 ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปหลายคน เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านอย่างมากจึงปิดถนนประท้วง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนก่อเหตุ

“ตอนนั้นแต่ชาวบ้านต้องการคุยกับอาเยาะห์คนเดียวเท่านั้น อาเยาะห์จึงได้เข้าไปเจรจากับชาวบ้าน จนชาวบ้านยอมเปิดทางเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุได้ เพื่อสืบสวนหาคนผิดมาลงโทษ”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกลางดึกวันที่ 17 มีนาคม 2550 และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ซึ่งหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐที่ชาวบ้านยอมเปิดทางให้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุได้ คือ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น

นักการเมืองท้องถิ่น
อีกบทบาทหนึ่งในด้านงานชุมชนของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ คือการเป็นนักการเมืองท้องถิ่น แม้จะเป็นบทบาทที่เจ้าตัวไม่ชอบก็ตาม แต่จำเป็นต้องทำตามคำร้องขอของชาวบ้าน เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างในพื้นที่

นายนาวาวี บอกว่า ชาวบ้านมาร้องขอเพราะเห็นว่าพ่อเป็นนักวิชาการสายพัฒนา และหวังว่าสามารถพัฒนาชุมชนได้

อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ลงสมัครเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปุยุด หลังจากลาออกจากราชการเมื่อปี 2547 ได้ไม่นาน ทว่าสิ่งที่เขาได้รับในช่วง 3 ปีในการทำงานบริหารท้องถิ่น คือการสูญเสียลูกน้องคนสนิทด้วยคมกระสุนถึง 2 คน

นายนาวาวี บอกว่า แม้ว่าพ่อได้วางรากฐานการพัฒนาไว้หลายอย่าง แต่หลังจากหมดวาระก็ไม่ยอมลงสมัครต่อเพราะไม่ชอบระบบราชการ

“ทุกคืนตอนที่อาเยาะห์เป็นนายก อบต. คนในครอบครัวหลับไม่เคยสนิท เพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุไม่ดี”

งานที่ต้องเข้าถึง
นางสาวคะนึงนิจ มากชูชิต ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนศรัทธา บอกว่า การประเมินงานชุมชนศรัทธาของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์คือการลงไปคุยกับผู้นำสี่เสาหลักในชุมชน ซึ่ง“บางครั้งเราก็เข้าไปไม่ถึง”

นางสาวคะนึงนิจ บอกด้วยว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์มีส่วนช่วยให้ชุมชนศรัทธาเดินหน้าได้ เพราะอาจารย์จะคุยแบบมีเป้าหมายและมีความละเอียดอ่อน “อาจารย์พอจะมองเห็นศักยภาพของคนในพื้นที่ แล้วอาจารย์ก็สามารถกระตุ้นคนเหล่านั้นได้จนขับเคลื่อนงานชุมชนศรัทธาต่อไป”

“อาจารย์เป็นคนพูดน้อยแต่ฟังมาก และสิ่งที่พูดก็คือข้อเท็จจริง ไม่ใช่เอาแต่ความรู้สึก ซึ่งการจะสร้างสันติภาพให้ได้นั้นจำเป็นต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน นี่คือสิ่งที่อาจารย์บอกไว้”

สร้างคน-คนสานงานต่อ
ไม่เพียงแต่ผลิตสื่อเท่านั้น แต่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ยังผลิตนักสื่อสารด้วย หลายคนที่เคยร่วมงานกับเขาได้สานงานต่อทางด้านการสื่อสารมาจนปัจจุบัน หรือไม่ก็เป็นนักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคม

ตัวอย่างเช่น นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ประเทศมาเลเซียและช่างภาพ AFP จังหวัดปัตตานี นางรอซีดะห์ ปูซู นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดปัตตานี และประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

นางโซรยา จามจุรี นักวิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี ซึ่งโซรยาเป็นคนหนึ่งที่ริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่

นางสากีเราะห์ แยนา อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี นางอัสรา รัฐการันต์ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และนางนาอีมะห์ ดอเลาะ ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว

รวมทั้งนายญามาล จิตต์หมวด ลูกชายของ รศ.ดร.เสาวนีย์ จิตต์หมาด กรรมการอำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งทั้งสองคนเป็นผู้ประสานงานหลักในการนำร่างของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์กลับมาบ้านนั่นเอง

ดูแลคนทำงาน
นายตูแวดานียา บอกว่า เขาเองสามารถมาถึงจุดนี้ได้ ถือเป็นคุณูปการของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ทั้งสิ้น เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ ส่งผลให้ตัวเองได้เป็นผู้สื่อข่าวช่อง 3 มาเลเซียและช่างภาพ AFP ในปัจจุบัน

“อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ให้ผมรู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่และนอกพื้นที่หลายคน สอนให้กล้าพูด จนสามารถเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุได้ โดยเรียนรู้เทคนิคการพูดจากอาจารย์ เพราะอาจารย์เป็นคนที่มีความสามารถในการพูดสูง”

ตูแวดานียา เล่าว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เป็นคนที่ความมุมานะสูง และมีความซื่อสัตย์ในการทำงาน ดูแลคนทำงาน บางครั้งถึงกับต้องควักเงินเดือนตัวเองมาจ่ายค่าตอบแทนคนทำงานในช่วงไม่มีงบโครงการ

“ผมอยู่กับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ 11 ปี เห็นการทำงานของอาจารย์มาตลอด เราเดินทางลงพื้นที่ทุกสัปดาห์โดยไม่เคยคิดถึงความเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ไม่ได้รวย เพราะอาจารย์เพิ่งมีบ้านเป็นของตัวเองหลังจากลาออกจากข้าราชการไปแล้ว”

“เป้าหมายอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ คือ ต้องการพัฒนาการศึกษา อาชีพ และสร้างคนในพื้นที่ให้มีความพร้อมต่อการพัฒนาจะมีขึ้นในอนาคต อาจารย์ไม่ได้ต้องการความร่ำรวย” ตูแวดานียากล่าว

นายจะเด็ด ศิริบุญหลง บอกว่า หาคนที่ทำงานแบบอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้ยาก เพราะปฏิบัติกับเพื่อนร่วมงานเสมือนกับคนในครอบครัว ทำให้คนอื่นเกรงใจและให้ความเคารพนับถือ จะเด็ดเล่าว่า เขากับอาจารย์สองคนเท่านั้นที่เป็นพนักงานประจำของสำนักส่งเสริมฯ แต่เมื่อมีโครงการพื้นที่ชุมน้ำนานาชาติเข้ามาก็มีคนมาทำงานด้วยกันหลายคน ซึ่งก็กลายเป็นคนที่แบมะสร้างขึ้นมา

นางสาวลม้าย มานะการ ที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันชุมชนท่องถิ่นพัฒนา (LDI) บอกว่า “อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์คือคนที่พี่รักมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นคนที่ไม่ซับซ้อน ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ที่สำคัญเวลามีนักพัฒนาเอกชนคนไหนเดือดร้อน อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ก็จะช่วย ทำให้อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์รู้จักกับเอ็นจีโอเยอะ”

รศ.ดร.สุกรี บอกว่า ยังมีอีกบทบาทหนึ่งของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนักแต่สำคัญมากก็คือ การดูแลสมาชิกสมาคมภูมิบุตรที่ตนเป็นนายกสมาคมอยู่ในขณะนี้

สมาคมภูมิบุตร เป็นสมาคมของผู้สำเร็จการศึกษาตามโครงการของกระทรวงมหาดไทยที่ให้สิทธิแก่นักศึกษามุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

เป็นพ่อและพี่น้องที่ให้โอกาส
รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด กรรมการอำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า เล่าว่า รู้จักอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ตั้งแต่ปี 2513 เพราะเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยกัน โดยอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เป็นรุ่นน้อง

“สมัยนั้นดิฉันทำกิจกรรมชมรมมุสลิมจุฬาลงกรณ์ แต่อาจารย์ไม่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ไม่ได้ทำกิจกรรม เพราะต้องทำงานเลี้ยงตัวเองระหว่างเรียน”

ความใกล้ชิดระหว่าง รศ.เสาวนีย์ กับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์มีมากถึงขนาดถึง รศ.เสาวนีย์เคยส่งนายญามาล ลูกชายไปให้อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ดูแลหลังจากเรียนจบมัธยมแล้ว จนกระทั่งสามารถสอบเข้าเรียน ม.อ.ปัตตานีได้ ในเอกสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

เธอบอกว่า ส่งลูกชายไปเพื่อให้บ่มเฉพาะอุดมการณ์ทำงานเพื่อสังคม ซึ่งในช่วงที่นายญามาลมีเวลาว่างจากการเรียน ก็จะไปห้องทำงานของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ที่สำนักงานส่งเสริมฯ เพื่อช่วยงานทุกอย่างที่ทำได้ โดยเฉพาะช่วยขับรถลงพื้นที่ต่างๆ ตรงนี้ทำให้ลูกชายได้รับอุดมการณ์จากอาจารย์อย่างเต็มที่

“ลูกชายได้รับรู้ปัญหาของสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่ลูกได้อยู่กับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ทำให้ลูกชายมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและหน้าที่การงานของตนเอง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ดังนั้นอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เหมือนกับพ่อแท้ๆ คนหนึ่งของเขา”

ความใกล้ชิดของทั้งสองคนอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นพี่น้องกันของทั้ง 2 คน ซึ่ง รศ.เสาวนีย์บอกว่า เวลาตัวเองไปที่บ้านอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ แม่ของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ก็จะมองเธอเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง และเธอก็ถือเป็นแม่ของตัวเองด้วยเช่นกัน

รศ.เสาวนีย์ บอกว่า ด้วยความที่ตนเองไม่ใช่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่หลายครั้ง ทั้งที่พูดภาษามลายูก็ไม่ได้ แต่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ก็จะให้โอกาสได้พบปะพูดคุยกับคนในพื้นที่ทุกครั้ง ไม่ทำให้รู้สึกว่าแปลกแยก

“เราเป็นพี่น้องที่ให้โอกาสซึ่งกันและกัน แม้แต่ในการแนะนำตัวอัฮหมัดสมบูรณ์ก็จะแนะนำเหมือนกับเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกัน”

รศ.เสาวนีย์ บอกว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ให้โอกาสเธอมากที่สุดมี 2 คน คนแรกคืออาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ คนที่สองคือ ผศ.ดร.อิสมาแอ ลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟอฎานี

เดินทาง-สร้างสันติภาพ
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่รับรู้ถึงบทบาทของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ในความพยายามสร้างสันติภาพอยู่พอสมควร ทั้งการอภิปรายในเวทีต่างๆ หรือการเดินสายบรรยายในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ

แต่ใครจะรู้ว่าการทำงานในบทบาทด้านนี้ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีของความรุนแรง อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

หลายครั้งที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ปรากฏตัวในเวทีสาธารณะ มักมีเสียงกระซิบหลังเวทีว่าเขาเป็น “โต๊ะนา” ทำงานให้รัฐไทย หรือแม้กระทั่งบางครั้งที่บินลัดฟ้าไปหาบางคนถึงต่างทวีปก็ไม่พ้นข้อครหาเดียวกัน

“ในช่วงแรกๆ ของทำงานในเรื่องกระบวนการสันติภาพ อาจารย์ถูกมองในแง่ลบจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่คิดเห็นต่างจากรัฐมองว่าเป็นฝ่ายรัฐ ส่วนฝ่ายรัฐมองว่าเป็นพวกที่คิดเห็นต่างจากรัฐ”

นายตูแวดานียา บอกว่า การทำงานด้านสันติภาพนี้ อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ใช้เวลาอย่างน้อย 8 ปีในการสร้างความไว้วางใจจากทั้ง 2 ฝ่าย อาจารย์เดินทางไปทั่วจนสุดท้ายสามารถพิสูจน์ถึงความพยายามที่จะขับเคลื่อนสันติภาพให้เกิดขึ้นให้ได้จริงๆ ซึ่งเป็นงานที่หนักและอันตรายมาก

อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ปีในการสร้างความไว้วางใจจากทั้ง 2 ฝ่าย เขาต้องเดินทางไปทั่วสารทิศ ส่วนใหญ่ไปในนามส่วนตัว เพราะความเชื่อมั่นว่า กระบวนการสันติภาพจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ถ้าทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งแน่นอนเป็นงานที่หนักและอันตราย

อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ พูดถึงความพยายามของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ในการเดินสายเพื่อสร้างสันติภาพว่า ได้ผลระดับหนึ่งแล้วและกำลังเดินหน้าต่อไปด้วยดี เพราะอยู่ในช่วงประสานงานกับกลุ่มต่างๆ

อาจารย์ประสิทธิ์ บอกว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์พยายามลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อรับฟังเสียงพวกเขาว่าคิดอย่างไร ต้องการอะไร แล้วพยายามประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนอง ซึ่งแนวคิดอย่างนี้สามารถแก้ปัญหาได้

อาจารย์ประสิทธิ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “น่าเสียดายที่อาจารย์เสียชีวิตเสียก่อน และยังไม่รู้ว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป และยากมากที่จะหาคนมาแทนที่เขาได้อย่างนี้”

แม้จะหนักและอันตราย แต่ไม่ได้หมายความว่า สันติภาพปาตานีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะหากทุกคนพร้อมที่จะสานต่อภารกิจเพื่อสันติภาพอย่างที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้ทำเป็นแบบอย่างไว้ สันติภาพที่แท้จริงก็คงจะเกิดขึ้นได้ในเวลาอีกไม่นาน อินชาอัลลอฮ

บทบาททั้งหมดที่กล่าวถึงทั้ง 4 ตอนนั้น เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มานำเสนอ เพื่อให้เห็นการทำงานที่เชื่อมร้อยหรือผสมผสานระหว่างงานความรู้ การขับเคลื่อนและการสื่อสารไว้ด้วยกัน

ขณะที่อัฮหมัดสมบูรณ์เองก็ไม่เคยแสดงอาการเกรี้ยวกราดกับใคร และมีความเป็นนักวิชาการ รวมถึงนักเคลื่อนไหวและนักสื่อสารอยู่ในตัวด้วย

การทำงานของอัฮหมัดสมบูรณ์ จะเน้นใช้หลักวิชาการผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่นในการขับเคลื่อนงานไปพร้อมกับคนในชุมชนหรือเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็พยายามสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ออกมาให้คนในสังคมใหญ่ได้รับไปด้วย ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่มีและสร้างขึ้นเอง

กล่าวได้ว่าอัฮหมัดสมบูรณ์เป็นผู้ที่ครบเครื่อง ทั้งงานความรู้ การขับเคลื่อน และการสื่อสาร ซึ่งเป็นการทำงานแนวใหม่ที่บูรณการทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวเข้าด้วยกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท