Skip to main content
sharethis

เปิดคำประกาศประชาชน จากคณะเดินสานใจสู่สันติฯ “ขอพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคน” หลังจากถึงจุดหมายปลายทางที่ตากใบ ระยะทาง 170 กิโลเมตรจากยะลาใช้เวลา 7 วัน พร้อมเรียกร้อง 5 ข้อเพื่อสันติ หยุดใช้ความรุนแรงต่อเป้าอ่อนแอ ฟังเสียงจากใจได้อะไรจากการเดิน พบมิตรภาพที่หายไปกลับคืนมา

นายรักษ์ชาติ สุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายชาวไทยพุทธเพื่อสันติภาพ และนางรอมือละห์ แซยะ ภรรยานายมูฮำหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ถูกคมขังอยู่ในเรือนจำกลางปัตตานี ได้ร่วมกันอ่าน “คำประกาศประชาชนชายแดนใต้” หลังจากคณะเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ได้เดินเท้ามาถึงโรงเรียนตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา

นายรักษ์ชาติ สุวรรณ และนางรอมือละห์ แซยะ ขณะอ่านประกาศฯ ร่วมกัน

การอ่านคำประกาศดังกล่าว ถือเป็นการสิ้นสุดของการเดินเท้าจากจังหวัดยะลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมารวมกว่า 100 คน จากหลากหลายองค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีคณะครูและนักเรียนของโรงเรียนตากใบให้การตอบรับ

คำประกาศนี้มีข้อเรียกร้อง 5 ข้อดังนี้
1.ขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกครั้ง และขอให้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนให้เราก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันด้วยความเข้มเข้มยิ่งขึ้น
2.ขอให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงหยุดใช้ความรุนแรงต่อเป้าอ่อนแอ (Soft target) ซึ่งหมายถึงเด็ก ผู้หญิง ผู้ที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบ รวมถึงหยุดใช้ความรุนแรงในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายถึงศาสนาสถานของทุกศาสนา และพื้นที่ซึ่งมีผู้คนต่างศาสนาได้ใช้ร่วมกัน เช่น ตลาด โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น
3.การเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ ควรช่วยให้เราเรียนรู้ที่เอาชนะความกลัว ก้าวออกไปพบกับคนที่เราคิดว่าเป็น แล้วแปลงความระแวงให้เป็นการรู้จักกันด้วยใจทีเปิดกว้างยิ่งขึ้น
4.ทุกคนต้องการความปลอดภัย มีความปรารถนาที่จะให้ความรุนแรงลดลง ดังนั้น เราจะต้องป้องกันตัวเอง ขณะเดียวกันต้องช่วยป้องกันความปลอดภัยให้แก่เพื่อนผู้ที่มีความแตกต่างจากเราด้วย
5.เราหวังว่าการเดินทางสานใจสู่สันติในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มจ้น และจะมีความริเริ่มอื่นๆ ทั้งจากคนในและนอกพื้นที่ ที่เป็นการแสดงออกและการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดสันติชายแดนใต้

เสียงจากใจ ได้อะไรจากการเดิน

จากนั้นอาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล มอบธงของ “คณะ เดินจากศาลายา สู่สันติปัตตานี” ให้แก่นางรอมือละห์ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่อไป
ธงดังกล่าวเคยมอบให้แก่นายมูฮำหมัดอัณวัร เมื่อครั้งคณะเดินจากศาลายา สู่สันติปัตตานี นำโดย รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเดินทางถึงมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 หลังจากเดินเท้ามาเป็นใช้ระยะทางประมาณ 1,100 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม - 1 กันยายน 2553 รวมระยะเวลา 53 วัน

จากนั้นได้มอบธงของคณะเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ตากใบ เพื่อสานต่อโครงการเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ต่อไปในอนาคต

นางแยนะ สะแลแม แกนนำสตรีเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวว่า หากชาวตากใบจะจัดโครงการเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ให้เดินถึง อ.สุไหง โก-ลก หรือ อ.แว้ง ตนก็พร้อมประสานงานให้

แพทย์หญิงฉุลีรัตน์ สกุลราษฎร์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลตากใบ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีคณะเดินสานสู่สันติชายแดนใต้เดินมาถึงตากใบ เพียงแต่ก้าวแรกของการเดินมันสามารถสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้แล้ว และกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างสันติสุขในอนาคตต่อไป

นายฟิตรี มามะแตหะ หนึ่งในผู้ร่วมเดินสานใจฯ กล่าวว่า การร่วมเดินครั้งนี้ได้ค้นพบความเป็นศอฮาบะห์ (ความเป็นพี่น้องกัน) ของผู้ร่วมเดินทั้งมุสลิมและไทยพุทธ นอกจากนี้ยังค้นพบว่าสันติภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ทุกคนต้องแสวงหาร่วมกัน เพราะกว่าสันติภาพจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

พบมิตรภาพที่หายไปกลับคืนมา
นางสาวหทัยรัตน์ สุดา เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) ซึ่งทำงานด้านโรคเอดส์และร่วมเดินด้วย กล่าวว่า เดิมตั้งใจจะมาร่วมเดินในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558 แต่เมื่อเกิดเหตุระเบิดในเมืองนราธิวาส ช่วงบ่ายวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 จึงตัดสินใจมาร่วมเดินในวันเกิดเหตุเลย เพราะเห็นว่าต้องรีบสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนทุกๆคนในพื้นที่

“คณะเดินสานใจเดินทางมาไกล เมื่อใกล้จะถึงจุดหมายก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นทำให้คนที่ร่วมเดินรู้สึกไม่ปลอดภัย ดิฉันเป็นคนนอกพื้นที่ที่มาทำงานที่นี่ต้องการความปลอดภัย ชาวบ้านต้องการความปลอดภัย แต่ที่ผ่านมามีอะไรบ่างอย่างที่ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน ความเป็นเพื่อนหายไป แต่การเดินครั้งนี้ทำให้เราได้ความเป็นเพื่อนกลับคืนมา ได้มิตรภาพกลับคืนมา เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดิน” นางสาวหทัยรัตน์ กล่าว

นางสาวหทัยรัตน์ กล่าวปิดท้าย การเดินครั้งนี้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบ ทำให้รู้ว่ากาลเวลาไม่ได้ช่วยให้ความเจ็บปวดของผู้สูญเสียเหล่านั้นหายไป ความเจ็บปวดยังอยู่ตลอดไป ดังนั้นการให้กำลังใจแก่พวกเขาจึงมีความสำคัญ ในระหว่างการเดินได้เจอกับคนแก่มุสลิมคนหนึ่งที่พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่จากการสัมผัสด้วยแววตารู้สึกว่าเขามีความหวังมากขึ้นจากการที่มีคนนอกพื้นที่ได้มาพบปะเยี่ยมเยียน

....................................................................................
คำประกาศ ประชาชนชายแดนใต้ต้องการความปลอดภัย (ฉบับเต็ม)
จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบความรุนแรงและการสูญเสียแสนสาหัสเป็นเวลา 11 ปี แล้ว องค์กรภาคประชาสังคม จึงได้โครงการเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้และพบว่าไม่ว่าฝ่ายใดต่างก็มีความเห็นอกเห็นใจกัน และมีความปรารถนาที่จะเห็นดินแดนแห่งนี้มีความปลอดภัย

เมื่อวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2558 องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ประกอบด้วยเครือข่ายไทยพุทธ ศูนย์เยาวชนฟ้าใส สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี เครือข่ายประชาสังคมนราธิวาส เครือข่ายชุมชนศรัทธา - กัมปงตักวา สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครยะลา และศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ เดินจากจังหวัดยะลาถึงอำเภอตากใบ เป็นระยะ 170 กิโลเมตร เพื่อนำความห่วงใยของชาวมุสลิมและไทยพุทธ ทั้งในและนอกพื้นที่มาแบ่งปัน โดยหวังว่าน้ำใจและความปรารถนาดีที่ต่อกัน จะช่วยพวกเราร่วมกันก้าวข้ามความกลัว และความหวาดระแวง ไปสู่การดูแลความปลอดภัยให้แก่กัน
ผู้ร่วมเดินทางสานใจสู่สันติชายแดนใต้ได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งทุกข์และสุขของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งในระหว่างการเดินทาง การพบปะกับชุมชนในช่วงเย็นของทุกๆวัน แม้ว่าเราได้ฟังเรื่องที่เศ้ราโศกมากมายอันเป็นผลจากความรุนแรง แต่พวกเราได้พบกับรอยยิ้มตลอดเส้นทาง และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งเมื่อเราได้ขอให้ทุกคนปลอดภัย เมื่อเดินทางถึงตากใบ ได้มีโอกาสรับทราบถึงความสูญเสียของผู้เป็นเหยื่อความรุนแรงเมื่อกว่าปีที่แล้ว และปรารถนาที่จะเห็นการเยี่ยวยาทางสังคมแก่ผู้ที่ประสบเคราะห์จากเหตุการณ์ตากใบ เพื่อให้ลูกหลาวของเรา ได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและมีความเอื้ออาทรต่อกันไปในอนาคต พวกเราอยากประเด็กบางประเด็กที่อาจจะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้

1.ขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ พวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกครั้ง และขอให้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนให้เราก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันด้วยความเข้มเข้มยิ่งขึ้น

2.ขอให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงหยุดใช้ความรุนแรงต่อเป้าอ่อนแอ (Soft target) ซึ่งหมายถึงเด็ก ผู้หญิง ผู้ที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบ รวมถึงหยุดใช้ความรุนแรงในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายถึงศาสนาสถานทุกศาสนา และพื้นที่ซึ่งผู้คนต่างศาสนาได้ใช้ร่วมกัน เช่น ตลาด โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น

3.การเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ ควรช่วยให้เราเรียนรู้ที่เอาชนะความกลัว ก้าวออกไปพบกับคนที่เราคิดว่าเป็น แล้วแปลงความระแวงให้เป็นการรู้จักกันด้วยใจทีเปิดกว้างยิ่งขึ้น

4.ทุกคนต้องการความปลอดภัย มีความปรารถนาที่จะให้ความรุนแรงลดลง ดังนั้น นอกจากเราจะต้องป้องกันตัวเอง เราควรช่วยป้องกันความปลอดภัยให้แก่เพื่อนผู้ที่มีความแตกต่างจากเราด้วย

5.เราหวังว่าการเดินทางสานใจสู่สันติในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มจ้น และจะมีความริเริ่มอื่นๆ ทั้งจากคนในและนอกพื้นที่ ที่เป็นการแสดงออกและการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดสันติชายแดนใต้

อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
21 กุมภาพันธ์ 2558
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net