Skip to main content
sharethis

กมธ. ยกร่าง รธน. เผยได้ข้อยุติเรื่องความปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้งสามารถเสนอ พ.ร.ก.อภัยโทษ ให้กับคู่ขัดแย้งได้ ด้าน 'พุทธะอิสระ' เรียกร้องปฏิรูปศาสนจักร

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมานายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่าคณะกรรมาธิการพิจารณาบทบัญญัติกลไกที่จะสร้างความปรองดอง ในหมวดที่ 3 โดยกำหนดว่าเพื่อประโยชน์ในการสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ เสริมสร้างความปรองดองระหว่างคนในชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสร้างแนวทางที่จะนำพาไปสู่ความมีเสถียรภาพ และสันติสุขอย่างยั่งยืน ให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง

โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ จะต้องศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ และใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และสร้างเครื่อข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มีกระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้น

เป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้นำความขัดแย้งทุกกลุ่ม เพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน รวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ ให้เยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายและครอบครัว รวมถึงฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคล ซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงาน และผู้กระทำซึ่งได้แสดงความสำนึกผิดต่อคณะกรรมการฯ แล้ว

ให้การศึกษา เรียนรู้แก่สาธารณชนเพื่อให้ตระหนักถึงผลความรุนแรง ความเกลียดชัง และส่งเสริม เสนอแนะการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคม และดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การดำเนินการของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ

“บุคคลที่จะได้รับอภัยโทษนั้น จะบังคับใช้กับบางกรณี และต้องเป็นผู้ที่ได้รับโทษแล้วเท่านั้น เพราะยังมีความผิดติดตัวอยู่ไม่ใช่การนิรโทษกรรม ทำให้ไม่มีการเขียน คำว่านิรโทษกรรม” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนคุณสมบัติของคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ จะถูกกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักเกณฑ์การสำนึกผิด แต่คณะกรรมการดังกล่าว จะเน้นเพื่อเป็นเวทีให้คู่ขัดแย้งได้พูดคุยกันเพื่อการสำนึกผิด อำนาจในการอภัยโทษยังคงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์


หลวงปู่พุทธะอิสระเรียกร้องนายกฯ ปฏิรูปศาสนจักร

วันเดียวกันนั้น (20 ก.พ.) นายมหัศจักร โสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ และนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นตัวแทนหลวงปูพุทธะอิสระ  ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้อง พิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอให้ปฏิรูปศาสนาจักรให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริงตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง

หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ปัจจุบันนักบวชละเมิดบทบัญญัติธรรมวินัยจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความเสียหาย มีกฎหมายที่อ่อนแอ ขาดผู้ชำนาญการในการใช้กฎหมาย จนมีมิจฉาชีพแอบแฝงเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา เข้าไปแสวงหาประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีวัดพระธรรมกายที่มีผู้บริจาคเงินจำนวนมาก จนมีพระเถรชั้นผู้ใหญ่เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ในหนังสือระบุอีกว่า ขอเสนอให้ปรับเปลี่ยนและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาให้ทันสมัย โดยกำหนดบทลงโทษให้ชัดเจน เพื่อขจัดมิจฉาชีพที่เข้ามาหาประโยชน์ในรูปของนักบวช ดังนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรีแก้ไขปัญหาเพื่อทำบุญให้กับแผ่นดิน และคนในชาติอย่างแท้จริง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของคณะกรรมการอยู่แล้ว จึงจะนำเข้าหารือในที่ประชุม และส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา


ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net