มองอีกด้านกรณีการประทานบัตรโครงการเหมืองโปแตชอาเซียน

นักวิชาการ เอ็นจีโอ และชาวบ้าน ชี้ การทำเหมืองโปแตช มีกระบวนการไม่ชอบธรรม หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาจเสียมากกว่าได้

 

หลังจากเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2558 ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดพิธีมอบใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ในโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ให้แก่ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) และจัดแถลงข่าวเรื่อง “ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชใบแรกของไทย 30 ปีที่รอคอย" ที่ห้องประชุมทองคำ ชั้น 1 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยมีจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เป็นประธานในพิธี

ข้อมูลโครงการฯ ระบุว่า ได้รับประทานบัตรเลขที่ 31708/16118 เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีอายุประทานบัตร 25 ปี   โดยสามารถผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลา 25 ปี จะสามารถผลิตปุ๋ยได้ประมาณ 17.33 ล้านตัน  ด้านสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทจะประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 24.17% กรมธนารักษ์ 11.50% บมจ.บางจาก 11.32% ประเทศอินโดนีเซีย 9.81% มาเลเซีย 9.81% กลุ่มไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง 22.46% อาซาฮี 1.84% เครือเจริญโภคภัณฑ์ 0.80% บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ประเทศละ 0.75% โดยรวมแล้วฝ่ายไทยถือหุ้นสูงสุด 67.30% ประเทศสมาชิกอาเซียน 21.87% และอื่นๆ 10.83%       

ขณะเดียวกันก็มีมุมมองของนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เฝ้าติดตามปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี  ต่อกรณีการออกประทานบัตรทำเหมืองแร่ โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนดังกล่าว

เริ่มต้นที่สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน มีการผลักดันกันมานานก่อนโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ปี 27 ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แสวงหาความร่วมมือกับบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจจากประเทศอื่นในอาเซียนมาร่วมลงทุน ดังนั้นจึงเรียกว่าเหมืองของรัฐบาลก็ว่าได้

"ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การได้มาซึ่งประทานบัตรก็ยิ่งไม่มีปัญหา อีกทั้งโครงการนี้มีการซื้อที่ดินทั้งแปลงกว่า 9,000 ไร่ เพื่อทำเหมืองทั้งบนดินและใต้ดินขุดชอนไชลงไป ซึ่งไม่มีพื้นที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ข้างบน ห่างไกลเมือง และหากจะถือเอาผู้มีส่วนได้เสียที่อาจจะได้รับกระทบในเขตเหมืองตามกฎหมายแร่ ก็คงไม่มี" 

สันติภาพกล่าวต่อว่า โครงการนี้ ได้เคยทำการทดลองขุดเอาเกลือไปขายแล้ว ตั้งโรงงานผลิตแร่โปแตช แต่ปัญหาสำคัญก็คือได้มีนักวิชาการด้านธรณีวิทยา ท้วงติงว่าเป็นแร่โปแตชคุณภาพต่ำ มีสัดส่วนของแร่แมกนีเซียมและเกลือสูง ซึ่งจะมีอันตรายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

"อีกปัญหาหนึ่งของโครงการนี้ก็คือเรื่องน้ำ เพราะในกระบวนการทำเหมืองจะใช้น้ำมาก แต่ปรากฏว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่ค่อยมีแหล่งน้ำ หรือถ้ามีก็จะเป็นการแย่งน้ำจากชุมชน" 

ด้านสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่า การให้ประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียน ของกระทรวงอุตสาหกรรมครั้งนี้  เป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลไทยให้กับนายทุนจากประเทศจีนที่กำลังขอสัมปทานแหล่งแร่โปแตชทั่วภาคอีสาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งหากมองในเรื่องของความคุ้มค่าเฉพาะการทำเหมืองคงได้น้อย เพราะเป็นแร่โปแตชชนิดคัลนาไลท์ที่มีคุณภาพต่ำ แต่ตนมองว่าน่าจะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเคมีคอล คอมเพล็กซ์ ตามมามากว่า

"กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงาน EIA และการรับรู้ข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่มีน้อยมาก ส่วนการผ่านรายงานก็เป็นไปอย่างเงียบเชียบ เนื่องจากว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะคอยกุมสภาพในพื้นที่ โดยมีนักการเมืองและผู้นำท้องถิ่นที่สนับสนุนเหมือง  ข่มขู่คุกคามชาวบ้านไม่ให้มีการคัดค้าน หรือออกมาแสดงความคิดเห็นต่างได้"

สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จะแย่งน้ำชาวบ้าน เพราะเหมืองพูดชัดว่าจะมีการใช้แหล่งน้ำในเขื่อนลำคันฉู ซึ่งกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเคยเรียกร้อง และรัฐบอกว่าเป็นแหล่งน้ำใช้ในการทำเกษตร

สุดท้ายมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี มาเป็นเวลากว่า 14 ปี ก็ได้สะท้อนว่า ตนไม่แปลกใจอะไรที่เหมืองแร่โปแตชอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จะได้รับประทานบัตรทำเหมือง เพราะภายใต้สถานการณ์ของกฎอัยการศึกชาวบ้านเหมือนถูกมัดไม้มัดมือ ไม่สามารถเรียกร้องคัดค้านได้ แต่ขณะที่ฝ่ายบริษัทสามารถเดินหน้าขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างสบาย ทั้งนี้ ตนก็เคยไปดูงานที่เหมืองโปแตชอาเซียน ซึ่งพบว่าเหมืองดังกล่าวไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ เพราะบริษัทเขาซื้อที่ดินทั้งหมด แต่บริเวณรอบเหมือง ก็มีปัญหาดินเค็มแพร่กระจาย แห้งแล้ง และต้นไม้ก็ไม่ค่อยมี

"สภาพพื้นที่มีความแตกต่างกันมากกับโครงการเหมืองแร่โปแตชที่อุดรฯ เพราะที่นี่พื้นที่ตั้งโรงแต่งแร่เป็นสันปันน้ำ มีทางหลวง ทางรถไฟ ทางน้ำ และลำห้วยต่างๆ ในเขตเหมือง ที่สำคัญคือมีชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และพื้นที่ทำเกษตรโดยรอบ ซึ่งชาวบ้านก็ได้คัดค้านมาตลอดทุกกระบวนการ"

ข้อมูลเพิ่มเติม ในส่วนโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดตั้งกลุ่มตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย ว่าจ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านความเห็นชอบจากสผ.(สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และการจัดประชุมประชาคมชาวบ้านในเขตคำขอประทานบัตร ที่ยังเหลือในพื้นที่ ต.ห้วยสามพาด และต.หนองไผ่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม และติดปัญหาการคัดค้านของกลุ่มชาวบ้าน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท