เสวนาตุลาการศึกษา: จากการเมืองเชิงตุลาการ ถึงอัตลักษณ์ตุลาการในสังคมไทย

18 ก.พ. 2558 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายของคณะนิติศาสตร์ จัดเสวนา-เสรี-สาธารณะในหัวข้อ “ตุลาการศึกษา” มีวิทยากรคือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล และกฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยตลอดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์ พร้อมบันทึกภาพและเสียงการเสวนาด้วย

การศึกษา “การเมืองเชิงตุลาการ”
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวถึง “การเมืองเชิงตุลาการ” (Judicialization of the Politics) ซึ่งหมายถึงกระบวนการในการทำให้ประเด็นทางการเมืองเข้ามาอยู่ในกระบวนวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ หรือเป็นการทำให้ประเด็นปัญหาทางการเมืองต่างๆ อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน ที่มีการขยายบทบาทของฝ่ายตุลาการให้กว้างขวางมากขึ้น ขยายเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เคยถูกนับว่าเป็นพื้นที่ในการตัดสินของฝ่ายตุลาการมาก่อน

ข้อจำกัดของการศึกษาตุลาการในสังคมไทย คือในทางรัฐศาสตร์ก็มักจะสนใจฝ่ายบริหาร คือศึกษาคณะรัฐมนตรี หรือฝ่ายนิติบัญญัติ คือศึกษาสภา ระบบเลือกตั้ง หรือการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายตุลาการเท่าที่ควร ขณะที่ในทางนิติศาสตร์ ก็มักจะเป็นการศึกษาเชิงนิติ-สถาบัน เน้นศึกษาบทบาทหน้าที่ของตุลาการ โครงสร้างองค์กร ระบบศาล หรือความสัมพันธ์กับฝ่ายอื่นๆ

เมื่อการศึกษาส่วนมากเป็นแบบนี้ กลับกลายเป็นเพดานของการทำความเข้าใจสถาบันตุลาการในสังคมไทย ทำให้ตอบคำถามหลายๆ เรื่องไม่ได้ ปรากฏการณ์หลายอย่างในเมืองไทยต้องการคำอธิบายต่อสถาบันตุลาการอย่างมาก ขณะที่ในโลกตะวันตกมีงานศึกษาจำนวนมากที่ช่วยขยายเพดานความรู้เกี่ยวกับบทบาทของตุลาการมากขึ้น

โดยทั่วไป อำนาจของตุลาการมักถูกอธิบายแบบ “จืดๆ” ว่าทำหน้าที่ตัดสินข้อขัดแย้งทาง “กฎหมาย” ไม่ถูกมองว่าสัมพันธ์กับการเมือง ไม่สัมพันธ์กับระบบการเมือง แนวคิดคลาสสิกแบบ Montesquieu จะให้ความสำคัญกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มองว่าฝ่ายตุลาการไม่มีความหมายอะไร หรือแนวความคิดแบบนิติศาสตร์เชิงกลไก ที่เชื่อว่าผู้พิพากษาทำหน้าที่ไปตามกลไก ไปตามระบบ ตัดสินไปตามหลักวิชา โดยปราศจากอคติ ความเข้าใจแบบนี้ทำให้ตุลาการไม่ค่อยถูกศึกษามากนัก

แต่ความสนใจเรื่อง “การเมืองเชิงตุลาการ” กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญในปลายศตวรรษที่ 20 โดยในยุโรปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศเผชิญปัญหาเรื่องระบบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง พอหลังสงครามโลก เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “คลื่นลูกที่สามของระบบรัฐธรรมนูญนิยม” ในยุโรป โดยมีการเขียนรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างกว้างขวาง และเกิดการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่ทำหน้าที่ชี้ขาดปัญหาสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ขยายไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก

บทบาทหน้าที่ของฝ่ายตุลาการก็ขยายตัวอย่างมาก ศาลเข้าไปตัดสินทั้งเรื่องการเลือกตั้ง การยุบพรรค ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งต่อได้หรือไม่ เสรีภาพการนับถือศาสนา เสรีภาพการแสดงความเห็น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เกิดปรากฏการณ์ที่ศาลขยายอำนาจไปแตะในเรื่องต่างๆ จำนวนมาก

สมชายกล่าวถึงบทบาทสี่เรื่องที่เห็นอย่างเด่นชัดของอำนาจศาล ได้แก่ หนึ่ง เป็นผู้กำกับกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย โดยศาลเข้ามาเป็นผู้ตัดสินประเด็นสำคัญๆ ทางการเมือง เช่น รับรองผลการเลือกตั้ง การยุบพรรค

สอง คือการสั่นคลอนเอกสิทธิ์ของสถาบันจากการเลือกตั้ง โดยเดิมสถาบันจากการเลือกตั้งจะมีเอกสิทธิ์บางอย่าง เช่น การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ แต่หลายประเทศนโยบายเหล่านี้ถูกโต้แย้งโดยคำพิพากษาของศาล สถาบันที่เคยกำหนดนโยบายเริ่มถูกท้าทายโต้แย้งจากฝ่ายตุลาการ

สาม คือศาลเข้ามารับรองการเปลี่ยนแปลงระบอบ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นและประเทศที่ประชาธิปไตยยังง่อนแง่น ศาลกลายเป็นองค์กรสำคัญในการรับรองการเปลี่ยนผ่านจากระบบประชาธิปไตยไปสู่การรัฐประหาร และจากการรัฐประหารกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ประเทศสำคัญๆ เช่น ปากีสถาน ที่ศาลเข้าไปบอกว่าเมื่อรัฐประหารสำเร็จย่อมมีอำนาจในการปกครอง แต่ศาลปากีสถานก็บอกว่าคณะรัฐประหารไม่สามารถอยู่ได้นานตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องของความจำเป็น ศาลจึงกำหนดว่าช่วงเวลาเท่านี้ต้องคืนระบบประชาธิปไตย

สี่ ศาลมีบทบาทในการสร้างความหมายของวาทกรรมเกี่ยวกับชาติ เช่น ในอิสราเอล ศาลเข้าไปวางนิยามกำหนดว่าใครเป็น “ยิว” หรือไม่ เป็นคนตัดสินว่า “ความเป็นยิว” คืออะไร

ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้อำนาจสูงสุดของรัฐสภาเดินสู่ความตกต่ำ รัฐสภากลายเป็นอำนาจที่ด้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายตุลาการ อีกทั้งยังเกิดความเสื่อมถอยของหลักการพิจารณาปัญหาทางการเมือง โดยที่เดิมศาลมักจะไม่ยุ่งกับข้อถกเถียงในทางการเมือง (political question doctrine) เช่น นโยบายนั้นดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ ศาลอเมริกาจะวางหลักไว้เลยว่าไม่ยุ่ง แต่บัดนี้ต่อให้เป็นปัญหาทางการเมือง ศาลก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ข้อถกเถียงสำคัญที่เกิดขึ้น คือใครมีความชอบธรรมมากกว่ากันระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กับผู้พิพากษาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือระหว่างสถาบันของเสียงส่วนใหญ่ กับสถาบันของชนชั้นนำ เรื่องนี้กลายเป็นวิวาทะใหญ่มานานแล้ว ที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นความยุ่งยากของการตอบโต้ของเสียงข้างมาก (Counter majoritarian difficulty)

ปัญหานี้มีตัวอย่างข้อถกเถียงระหว่าง Carl Schmitt กับ Hans Kelsen โดย Kelsen สนับสนุนการมีศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าการปกครองโดยเสียงข้างมากต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลรัฐธรรมนูญเหมาะจะทำหน้าที่จำกัดอำนาจนี้ แต่ Schmitt เห็นว่าประเด็นของฝ่ายนิติบัญญัติไม่อาจตัดสินได้โดยฝ่ายตุลาการ ปัญหาทางการเมืองต่างๆ ต้องให้ฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งตัดสิน ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไม่ได้

การขยายอำนาจของฝ่ายตุลาการถูกศึกษาค่อนข้างมากในประเทศนอกยุโรป เช่น ในเอเชีย หรือลาตินอเมริกา เพราะส่วนมากเป็นประเทศกึ่งประชาธิปไตย ประเทศประชาธิปไตยไม่เสรี หรือระบอบอำนาจนิยม ประเทศเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการเมืองเชิงตุลาการที่เกิดในยุโรป ถูกดัดแปลงให้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันทั่วโลก

งาน Judicialization of Politics in Asia ของ Bjorn Dressel (2013) ได้ศึกษาบทบาทการเมืองเชิงตุลาการในเอเชีย เขาสรุปเป็นแผนภาพว่าสามารถแสดงออกได้ในสี่รูปแบบ โดยแกนตั้งเป็นความอิสระของศาล แกนนอนคือศาลเข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะในประเด็นที่ชี้เป็นชี้ตายทางการเมือง

ในญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย ศาลมีความอิสระสูง แต่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองน้อย ในกัมพูชา ศาลมีความอิสระน้อย เข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองน้อย ส่วนในเกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศาลมีความอิสระสูง เข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองมาก เขาเรียกแบบนี้ว่า “Judicial Activism” ซึ่งเขาคิดว่าตรงกับความหมายของตุลาการภิวัตน์มากกว่า

ส่วนประเทศไทย Dressel มองว่าความเป็นอิสระของศาลไทยต่ำ แต่เข้าไปมีบทบาททางการเมืองสูง เรียกว่า “Politicization of the Judiciary” ซึ่งอาจแปลได้ว่าเป็น “ตุลาการเชิงการเมือง” คือการที่ศาลโดดเข้าไปเล่นและเลือกข้างทางการเมืองอย่างสำคัญ ไม่เหมือน “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งหมายถึงการตีความกฎหมายให้ขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่า

ในเมืองไทย บทบาทของตุลาการถูกกล่าวถึงอย่างมากจากงานของธีรยุทธ บุญมี ที่เสนอเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งในทัศนะของเขา บทความนั้นเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเพื่อเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ โดยไม่มีฐานความรู้มากสักเท่าใด แต่กลับถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ปัญหาคือเพดานความรู้เกี่ยวกับบทบาทตุลาการในสังคมไทยนั้นคับแคบ จนกระทั่งเราไม่สามารถมองตุลาการในแบบอื่นๆ ได้

สมชายเสนอว่า “การเมืองเชิงตุลาการ” (Judicialization of the politics) จะเป็นกรอบการวิเคราะห์และอธิบายปรากฏการณ์การเมืองเชิงตุลาการที่กว้างขวางขึ้น ทำให้เห็นบทบาททาง “การเมือง” ของตุลาการ และเห็นบทบาท “หลายหน้า” ของตุลาการ ที่สำคัญคือดึงฝ่ายตุลาการเข้ามาอยู่ในกรอบวิเคราะห์การเมือง ฝ่ายตุลาการไม่ได้อยู่นอกการเมือง แต่อยู่ในการเมือง และเล่นการเมืองแบบหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ

ตุลาการศึกษากับอัตลักษณ์ตุลาการไทย
กฤษณ์พชร โสมณวัตร กล่าวถึง ตุลาการศึกษาว่าคือการทำให้ “ตุลาการ” ทั้งในฐานะตัวบุคคล หรือในฐานะสถาบัน กลายมาเป็นองค์ประธานในการศึกษา นอกจากการศึกษาที่ อ.สมชายเสนอในทางการเมือง ยังสามารถเสนอตุลาการได้ในหลายๆ แง่มุม  โดยใช้วิธีการศึกษาที่หลากหลาย (Interdisciplinary) ทั้งในเชิงรัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์ หรือวรรณคดีศึกษา

กฤษณ์พชร ยกตัวอย่างงานศึกษาของต่างประเทศที่น่าสนใจ เช่น งาน The Making of Law ของ Bruno Latour ที่ศึกษาตุลาการศาลปกครอง (Conseil D’Etat) ของฝรั่งเศส ในเชิงชาติพันธุ์วรรณา โดยผู้ศึกษาเข้าไปฝังตัวเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทั้งในเชิงวัฒนธรรม ระบบคิด ภาษาไวยากรณ์ของข้อถกเถียงในศาล ความรู้สึกนึกคิดและวิธีการให้เหตุผลของคนในศาล สถาปัตยกรรมของศาล การจัดการเอกสารของศาล

งาน Court Watcher ของ Clare Cushman ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของศาลสูงในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติที่เป็นส่วนตัว และเชิงลึกของผู้พิพากษา ทำให้เห็นองค์ประกอบความเป็นมนุษย์ในผู้พิพากษา อธิบายกระบวนการสรรหา ขั้นตอนการฝึกหัด ชีวิตครอบครัว การทำให้เห็นผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นมนุษย์ มีชีวิตจิตใจ มีการใช้อคติ และฉันทามติอย่างมนุษย์ทั่วไป

หรืองาน A People’s History of the Supreme Court ของ Peter Iron ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Howard Zinn โดยเป็นการเขียนประวัติศาสตร์กฎหมายใหม่จากมุมมองของคนข้างล่าง โดยตั้งสมมติฐานว่าการอธิบายศาลสูงสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีส่วนในการขัดเกลาหลักกฎหมาย มีส่วนในการสถาปนาความสง่างามของศาล ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ของผู้พิพากษาที่สร้างศาลอันน่าเคารพขึ้นมา

ส่วนงานตุลาการศึกษาในประเทศไทยค่อนข้างกระจัดกระจายและไม่เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่ต้องการศึกษาสิ่งอื่นมากกว่า แต่บังเอิญเห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตุลาการ เลยมีเชิงอรรถหรือข้อเสนอเล็กน้อย เช่น งานศึกษาของนวลน้อย ตรีรัตน์ ที่ศึกษาการสร้างเครือข่ายทางการเมืองใหม่ของผู้บริหารระดับสูงของศาลยุติธรรม ผ่านหลักสูตรการอบรม หรืองาน “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งไม่ได้พูดถึงผู้พิพากษาเป็นหลัก แต่ก็มีส่วนที่อธิบายถึงกฎหมายและผู้พิพากษา

กฤษณ์พชรได้กล่าวถึงงานศึกษาของตนเองที่กำลังทำอยู่ เรื่อง “อำนาจในอัตลักษณ์ตุลาการ” โดยศึกษาเรื่องนี้เพราะเห็นว่าอำนาจของตุลาการในเมืองไทยขยายตัวมากขึ้นทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เช่น ศาลรู้ดีว่าอะไรคือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศ รู้ว่าอะไรเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง หรือคำตัดสินในคดีหนึ่งมีการอธิบายถึงความหมายของความรัก จนเห็นได้ว่าตุลาการมีอำนาจในการนิยามความหมายทางสังคมต่างๆ โดยมีอำนาจรัฐ อำนาจทางสังคมวัฒนธรรมสนับสนุน

คำถามคืออำนาจลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร เขารู้สึกว่าตนเองเป็นใคร และสังคมมองว่าเขาเป็นอย่างไร โดยศึกษาจากหนังสืองานศพของผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกว่าความทรงจำอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้พิพากษาจะถูกจดจำไว้และทำให้กลายเป็นประวัติศาสตร์

จากหนังสืองานศพเหล่านี้พบว่ามีแบบแผนลักษณะสำคัญสี่ประการในตัวตนประดิษฐ์ของตุลาการ โดยแบบแผนเหล่านี้จะเห็นได้ชัดมากในตุลาการที่ถูกมองว่าเป็นตุลาการในอุดมคติ คือสัญญา ธรรมศักดิ์

แบบแผนประการที่หนึ่ง คือการพูดถึงความเป็นคนดี หรือผู้ทรงศีล โดยเน้นพิเศษที่ความซื่อสัตย์ ยุติธรรม, ความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เช่น การปฏิบัติตนตามประเพณี หรือร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง หรือการใช้ธรรมะของพุทธศาสนาในการทำงานตุลาการ เช่น การอ้างถึงการใช้จิตที่ว่างในการตัดสิน ทำให้เกิดภาพตุลาการที่เป็นผู้ทรงศีลในทางศาสนา การเป็นคนดี ผู้อุปถัมภ์ศาสนาเป็นคติของผู้ปกครองไทยแต่โบราณทำให้ผู้พิพากษามีอำนาจเชิงวัฒนธรรม

สอง ความเป็นผู้ดี หรือการเป็นสุภาพบุรุษ ทั้งภาพลักษณ์ภายนอกและทัศนะภายในจิตใจ การแต่งกายภายนอกที่เรียบร้อย สมฐานะ ต้องมีรายได้เพียงพอกับมาตรฐานการครองชีพอย่างสมฐานะ มีรายได้เพียงพอ และยังขยายไปถึงคนในครอบครัวด้วย มีการทำแบบประเมินความดีความชอบของตุลาการในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดไปถึงการศึกษาของภรรยา ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา พฤติกรรมของภรรยา ความเป็นผู้ดีทำให้ผู้พิพากษาโดดเด่นกว่าคนทั่วไปในสังคม

สาม ความเป็นผู้รู้ ผู้พิพากษาจะเน้นย้ำความเป็นผู้ทรงความรู้ด้านกฎหมาย เน้นความทรงจำเกี่ยวกับการเรียนการสอบผู้พิพากษาว่ายากเย็นแสนเข็ญ และบางส่วนมีลักษณะการเบียดขับผู้อื่นว่าไม่รู้ทางกฎหมาย สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าเขารู้จริงหรือไม่จริง แต่อะไรทำให้เขาคิดว่าเขารู้จริง และการที่เขารู้จริงอย่างนั้นทำให้เขาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไร

สี่ ความเป็นผู้ภักดี ถูกแสดงออกทั้งในทางส่วนตัวและในการทำงาน โดยเฉพาะการอ้างอิงถึงการทำงานในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ บางกรณีพระมหากษัตริย์กลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของตุลาการ มีการจัดกิจกรรมอุปสมบทหมู่ตุลาการเฉลิมพระเกียรติ หรือความหมายของตราสัญลักษณ์ของสำนักงานศาลยุติธรรม ที่หมายความถึงว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นผู้พระราชทานความบริสุทธิ์ยุติธรรมทั่วแผ่นดิน

โดยสรุป ความเป็นคนดี ผู้ดี ผู้รู้ ผู้ภักดี ไม่ได้ถูกเน้นย้ำพร้อมกันอย่างสม่ำเสมอในกลุ่มอาชีพอื่นๆ อัตลักษณ์ทั้งสี่ประการที่ประกอบประสานกันสร้างอำนาจพิเศษให้ผู้พิพากษา สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าเขามีลักษณะอย่างนั้นจริงหรือไม่ แต่อัตลักษณ์เป็นภาพที่ประกอบสร้างขึ้นได้ และผลิตซ้ำได้ผ่านกลไกต่างๆ 

“การทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของตุลาการ จะช่วยทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้พิพากษามากขึ้น มนุษย์ทั้งในแง่ที่สง่างาม และมีความบกพร่อง แทนที่เราจะสมมติ หลอกตัวเองให้ผู้พิพากษาเป็นอรหันต์ในคราบฆราวาสไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่จริง และจะส่งผลต่อตัวตุลาการเองและระบอบการเมืองไทย” กฤษณ์พชรกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท