Skip to main content
sharethis

วงเสวนาเผยเด็กไทยเผชิญภัยออนไลน์สูงขึ้นทั้งสื่อลามก-พนันออนไลน์ เสนอรัฐเร่งสร้างการรู้เท่าทัน ออกกฎหมายคุมสื่อลามกเด็กเป็นการเฉพาะ แนะตั้งหน่วยงานจัดการปัญหาพนันออนไลน์ เหตุมีกฎหมายหลายฉบับแต่ขาดกลไกในการจัดการปัญหา

17 ก.พ. 2558 ในเวทีสัมมนาหัวข้อ "การป้องกันเด็กจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม" ที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติเผยเด็กไทยเผชิญภัยร้ายจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งเรื่องเพศ เกมออนไลน์ และการฉ้อโกง ระบุมีเด็กไทยตกเป็นเหยื่อประมาณ 50 รายต่อเดือน เด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย เหตุรู้ไม่เท่าทัน

“เทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสิ่งยั่วยุสำหรับเด็กมากขึ้น ทั้งเรื่องเพศ เกมออนไลน์ รวมถึงการฉ้อโกง หลอกลวงทางออนไลน์ด้วย โดยวัยที่อันตรายที่สุดคือเด็กที่สามารถออกไปนอกบ้านเองได้ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกล่อลวง เพราะคนร้ายเริ่มเห็นช่องโหว่ว่าเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่มีความรู้เท่าทันสื่อมากพอ จึงหลอกล่อให้เด็กตกเป็นเหยื่อ” พ.ต.อ.นิเวศน์กล่าว

พ.ต.อ.นิเวศน์ กล่าวถึงข้อจำกัดของการจัดการปัญหาคือเรื่องบุคลากร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องใช้เวลาในการเก็บพยานหลักฐาน รวมทั้งปัญหาการรักษาบุคลากรให้อยู่กับองค์กรด้วย เนื่องจากตำรวจที่จบคอมพิวเตอร์เมื่อมาปฏิบัติด้านนี้ มักได้เงินเดือนน้อยและไม่มีเงินประจำตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัย เนื่องจากต้องรอจัดซื้อตามรอบปีงบประมาณ ซึ่งบางครั้งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อีกข้อจำกัดสำคัญคือ การที่กฎหมายตามเทคโนโลยีไม่ทัน การไม่ได้รับความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศนั้นมักเป็นปัญหาเรื่องการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการ ซึ่งได้รับล่าช้า

พ.ต.อ.นิเวศน์ กล่าวย้ำว่า ในการป้องกันและปราบปรามการล่อลวงเด็กทางออนไลน์นั้น การเข้าถึงข้อมูลทางออนไลน์มีความสำคัญมาก เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

นางสาวศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวถึงบทบาทของมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยว่า มูลนิธิเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมอินเทอร์เน็ตฮอตไลน์สากล ซึ่งที่ผ่านมาได้ไปอบรมเรื่องการวิเคราะห์ภาพลามกเด็ก ซึ่งในต่างประเทศมีโปรแกรมและผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์รูปร่างหรือสรีระว่าคนที่อยู่ในภาพเป็นเยาวชนหรือไม่ นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังทำงานสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้เทคโนโลยีให้กับเด็ก ปัจจุบันมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านนี้โดยตรง

นางสาวศรีดา กล่าวถึงปัญหาของการดำเนินงานในปัจจุบันคือ หาคนทำงานยาก เนื่องจากงานด้านนี้มีความเครียดสูง เพราะเจ้าหน้าที่อาจต้องอยู่กับรูปลามกเด็กเป็นเวลานาน ทั้งยังประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ และเรื่องการขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากมูลนิธิไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมาย เมื่อมีเรื่องขึ้นจึงต้องประสานความร่วมมือไปยังตำรวจ ซึ่งบ่อยครั้งคดีก็ไม่มีความคืบหน้า

นางสาวศรีดาเน้นว่า ประเทศไทยควรต้องมีศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนการล่อลวงเด็กทางออนไลน์ และควรต้องมีกฎหมายคุ้มครองเด็กจากสื่อลามกเด็กเป็นการเฉพาะ ซึ่งไม่ควรใช้คำว่า "สิ่งยั่วยุ" เพราะเป็นคำที่ค่อนข้างกว้างและเปิดให้ตีความได้มากเกินไป ที่สำคัญคือ ผู้ปกครอง โรงเรียน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องควรเร่งสร้างการรู้เท่าทันสื่อ และรัฐก็ควรสนับสนุนงบประมาณในเรื่องนี้

นายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวถึงภัยจากอินเทอร์เน็ตที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชนอย่างมากคือ การพนันออนไลน์ ทั้งนี้บทเรียนจากเรื่องการพนันออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก เป็นอุทาหรณ์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ถ้าสามารถพัฒนาระบบการดูแลภายในครอบครัวได้ ก็จะทำให้ลูกรู้เท่าทันการใช้อินเทอร์เน็ต

นายพงศ์ธรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในบางประเทศการพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ทุกประเทศห้ามเด็กเล่นการพนัน และถือเป็นนโยบายที่ต้องมีการคุ้มครองป้องกัน ขณะที่ในประเทศไทยกำหนดให้การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี การพนันที่อยู่บนโลกออนไลน์ไม่อาจแยกแยะได้ว่าผู้พนันเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยในประเทศไทย กฎหมายที่สามารถใช้ป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันมีหลายฉบับ แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เนื่องจากขาดกลไกหลักที่จะมาจัดการกับปัญหา

นายพงศ์ธร กล่าวว่าจากการทบทวนองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการระดมความเห็นในเวลาต่างๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ มีการจัดตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาดูแลด้านนี้โดยตรง แม้ว่าปัจจุบันมีกรรมการคุ้มครองเด็กระดับชาติ แต่กรรมการดังกล่าวประชุมเพียงปีละสองครั้ง จึงไม่อาจรับมือกับปัญหาการพนันออนไลน์ของเด็กที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยี

“ตอนนี้เรามีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองและป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันอยู่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ที่ระบุห้ามเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเล่นการพนัน และ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่ให้การคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไม่ให้เล่นการพนันและเข้าถึงพื้นที่ที่จัดให้มีการพนัน แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ ซึ่งบทเรียนจากการมีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 24 เรื่องห้ามไม่ให้มีการเล่นการพนันที่ผิดกฎหมาย อาจจะเป็นโมเดลการจัดการเรื่องนี้ที่ต้องมีหน่วยงานดูแลอย่างชัดเจน และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ภาครัฐควรจะจัดตั้งองค์กรกลางในการจัดการและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยได้รับความคุ้มครองและป้องกันความเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในวงจรการพนัน”

ทั้งนี้การสัมมนาหัวข้อ "การป้องกันเด็กจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม" เป็นส่วนหนึ่งของ "เวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเอเชีย สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น โครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดผลกระทบจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และองค์กรเครือข่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net