Skip to main content
sharethis

ลูกจ้าง รง.ขนมชื่อดังบุรีรัมย์ฮือประท้วง ถูกไล่ออกไม่เป็นธรรม ซ้ำไม่จ่ายค่าแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่บริเวณหน้าบริษัท คิดถึงเบเกอรี่ จำกัด โรงงานผลิตขนม ตั้งอยู่เลขที่ 631 ถ.บุรีรัมย์-ห้วยราช-กระสัง หมู่ที่ 1 บ.โคกวัด ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้มีพนักงาน และลูกจ้างกว่า 30 คนรวมตัวกันถือป้ายชุมนุมประท้วงนายจ้างที่ไล่ออกโดยไม่มีเหตุผล ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 58 เป็นต้นมา ทั้งไม่ยอมจ่ายค่าแรงงาน จนทำให้ได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้บริหารรายใดออกมาชี้แจงเหตุผลถึงสาเหตุที่ไล่ออก และไม่จ่ายเงินเดือน และค่าแรงงานให้แก่พนักงาน และลูกจ้างแต่อย่างใด ทำให้พนักงาน และลูกจ้างเกิดความสับสน ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพนักงาน และลูกจ้างที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
       
โดยทางพนักงาน และลูกจ้างได้เรียกร้องขอให้ผู้บริหารยอมจ่ายเงินเดือนที่คงค้างไว้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ไปร้องเรียนทั้งที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าว่านายจ้างจะชี้แจงสาเหตุการไล่พนักงาน ลูกจ้างออก และจ่ายเงินเดือนคงค้าง รวมถึงสวัสดิการแต่อย่างใด จึงพากันออกมาชุมนุมประท้วงหน้าโรงงานเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้
       
ต่อมา พ.ท.ประพล อาจหาญ หัวหน้าศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือประชาชน กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย นางลมหวล วัฒนากลาง นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ เดินทางมาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนจะให้ตัวแทนลูกจ้างเข้าหารือกับทางโรงงาน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติเนื่องจากนายจ้างไม่ยอมออกมาชี้แจงเจรจากับพนักงาน ลูกจ้างด้วย มีแต่ผู้จัดการของโรงงานเท่านั้นที่ออกมาปฏิเสธไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ ต้องรอฝ่ายบริหารเท่านั้น
       
ทำให้ พ.ท.ประพลต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรียกทั้งนายจ้างและลูกจ้างมาเจรจาหาข้อยุติกันอีกครั้งที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 13 ก.พ. 58 เวลา 09.30 น.
       
นางพิมพา สิลินทบูล อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 164 หมู่ 7 ต.บ้านปรือ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนได้รับความเดือดร้อนมากว่า 1 เดือน หลังจากที่โรงงานไล่ออกโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีการจ่ายค่าแรงเดือนสุดท้ายให้ จนถึงขณะนี้ตนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในครอบครัวก่อน ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ซึ่งเราก็ทำงานมาโดยตลอด ลูกจ้างกว่า 30 คนที่ถูกเลิกจ้างยังไม่มีใครได้รับเงินค่าจ้างเลยแม้แต่คนเดียว ที่ผ่านมาเคยเรียกร้องทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดให้มาตรวจสอบ ซึ่งเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
       
จึงอยากวิงวอนให้ผู้บริหารลงมาเจรจากับพนักงาน ลูกจ้างโดยด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ก็ขอให้มาพูดคุยตกลงกัน เพราะพวกเรายังไม่สามารถไปหางานทำที่อื่นได้ นอกจากรับจ้างทั่วไปเพื่อนำเงินมาประทังชีวิตไปก่อน
       
ด้าน นางลมหวล วัฒนากลาง นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้เดินทางมารับฟังปัญหาของพนักงานโรงงานดังกล่าว โดยทราบว่าลูกจ้างยังไม่ได้รับค่าจ้าง 1 เดือน โดยก่อนหน้านี้ลูกจ้างได้เขียนบันทึกคำร้องปากคำกรณีถูกไล่ออกและไม่ได้รับเงินค่าแรงไว้แล้วที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดก็ได้มีการประสานงานกับผู้บริหารโรงงานแล้ว แต่ทางโรงงานได้ขอเลื่อนการให้ข้อเท็จจริงแก่พนักงานตรวจแรงงานเป็นวันที่ 17 ก.พ.นี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-2-2558)

กทม.สรุปยอดแรงงานต่างด้าวลงทะเบียน 3.1 แสนราย

นางสาวนภาภรณ์ สวัสดิมงคล ผู้อำนวยการสำนักปกครองและทะเบียน กรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้กทม.ได้สรุปข้อมูลการรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวของศูนย์บริการการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ จำนวน 6 แห่งตามกลุ่มเขต ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการนำแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียน ได้แก่ 1.กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือที่ศูนย์กีฬารามอินทราเขตบางเขน 2.กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออกที่ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทองเขตมีนบุรี 3.กลุ่มเขตกรุงเทพกลางที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น)เขตดินแดง 4.กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน 5.กลุ่มกรุงเทพเหนือที่ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนาเขตทวีวัฒนา และ 6.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ที่ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา(บางบอน)เขตบางบอน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-31ต.ค.2557 มีแรงงานต่างด้าวเดินทางมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 311,179 คน แบ่งเป็นสัญชาติกัมพูชาจำนวน 142,125 คน สัญชาติเมียนมาร์ จำนวน 101,134 คน และสัญชาติลาว จำนวน 67,920 คน

นางสาวนภาภรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำนักงานเขตที่มีแรงงานต่างด้าว มาลงทะเบียนมากสูงสุด ได้แก่ เขตบางขุนเทียน จำนวน 17,949 คน บางกะปิ จำนวน 14,414 คน เขตคลองสามวา จำนวน 14,128 เขตประเวศ จำนวน 13,769 คน และเขตบางบอน จำนวน 12,630 คน ส่วนเขตที่มีแรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนน้อยที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ เขตบางรักและเขตบางกอกใหญ่ จำนวน 1,621 คน เขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 1,804 คน เขตปทุมวัน จำนวน 2,196 คน และเขตบางพลัด จำนวน 2,286 คน

อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการตรวจสอบพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะสิ้นสุดการพิสูจน์สัญชาติ ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ขณะเดียวกันกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้เปิดศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 1 กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งวังไชยา(นางเลิ้ง) ถนนนครสวรรค์ แขวงสวนจิตรดาเขตดุสิต เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทำบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวในกรณีที่บัตรสูญูหาย เพื่อให้ทำงานในประเทศไทยโดยไม่ผิดกฎหมาย

ด้านม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในกรุงเทพฯมีประชากรแฝงอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นประชากรต่างด้าว จาก 3 สัญชาติ ประกอบด้วย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ประมาณ 1 ล้านคน ดังนั้น กทม.จะดูแลประชาชนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ทุกคนตามอำนาจหน้าที่ โดยให้บริการต่างๆ อาทิ การจ้างงาน การสาธารณสุข รวมถึงด้านการศึกษาที่เปิดโอกาสให้บุตรของแรงงานต่างด้าวสามารถเข้าศึกษาในสถานศึกษาของกทม.ได้ โดยขอจัดทำหลักฐานทางทะเบียนราษฎรตามสถานะบุคคล เพื่อใช้ในเป็นหลักฐานในการแสดงตนในเรื่องต่างๆ ด้วย

(กรุงเทพธุรกิจ, 13-2-2558)

โรงผลิตน้ำแข็งสัตหีบ ระเบิดก๊าซแอมโมเนียรั่ว ผู้ว่าชลสั่งระงับผลิตชั่วคราว
 
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 14 ก.พ.58 นายปริญญา โพธิสัตย์ นายอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี พร้อมด้วย นายชวัฒน์ เทพทัพ ปลัดฝ่ายความมั่นคง และนายสมศักดิ์ ทับกลัด กำนันตำบลนาจอมเทียน ได้เดินทางเข้าตรวจสอบ โรงผลิตน้ำแข็งสัตหีบ ม.5 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังเกิดเหตุเครื่องผลิตน้ำแข็งระเบิด ทำให้ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล คนงานพากันวิ่งหนีตายอลหม่าน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เบื้องต้น รถดับเพลิงเทศบาลตำบลนาจอมเทียน ได้เข้าระดมฉีดน้ำกว่า 30 นาที เพื่อให้ก๊าซฟุ้งกระจาย จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
 
นางสมพงษ์ อยู่หาร อายุ 51 ปี เจ้าของกิจการ เล่าว่า โรงงานผลิตน้ำแข็งแห่งนี้ ได้เปิดทำการมานานกว่า 40 ปี เป็นโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอสัตหีบ ปัจจุบันมีเครื่องจักรผลิตน้ำแข็งจำนวน 5 เครื่อง ก่อนเกิดเหตุขณะที่คนงานกำลังทำงานอยู่นั้น เครื่องจักรตัวที่ 2 วาล์วปิดเปิดเกิดรั่ว จนเกิดระเบิดขึ้น ก๊าซแอมโมเนียจำนวนมาก ที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำแข็ง ได้รั่วไหลฟุ้งกระจายปกคลุมตัวโรงงาน ทำให้คนงานจำนวนกว่า 10 คน ได้พากันวิ่งหนีตายกันอลหม่าน ก่อนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะเข้ามาระงับเหตุไว้ได้ทัน ส่วนสาเหตุเกิดจากวาล์ว หรือลิ้นเปิดปิดท่อส่งแอมโมเนีย ชำรุด แรงอัดจึงทำให้เกิดระเบิดมีเสียงดังสนั่น
 
ด้าน นายปริญญา โพธิสัตย์ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้เข้าทำการตรวจสอบ พร้อมรายงานให้ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รับทราบ จึงมีคำสั่งให้ทางโรงงานระงับการเดินเครื่องผลิตน้ำแข็งชั่วคราว รอให้ทาง อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัย ซึ่งหลังมีการตรวจสอบ และซ่อมทำจนเสร็จสมบูรณ์ ก็จะอนุญาตให้เปิดทำการได้ตามปกติ  
 
สำหรับ ก๊าซแอมโมเนีย จะมีกลิ่นฉุนรุนแรง เมื่อผสมกับอากาศจะติดไฟได้ มีพิษต่อเนื้อเยื้อต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตา ผิวหนัง เยื่อจมูก เยื่อบุทางเดินระบบหายใจ ถ้าในสภาพที่ถูกอัดให้เป็นของเหลวจะมีฤทธิ์กัดผิวหนังได้รุนแรงมาก ก๊าซแอมโมเนียจะเริ่มทำให้แสบตาตั้งแต่ความเข้มข้น 130-200 ถ้าเข้มข้นถึงระดับ2,500 พีพีเอ็ม อาจทำให้เกิดของเหลวในปอด (Pulmonary edema) และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

(บ้านเมือง, 15-2-2558)

บุกจับโรงงาน จ.ตาก ลอบใช้แรงงานเด็ก-เล็งของบรัฐ 10 ล.สำรวจตัวเลขทำแผนระดับชาติ

(16 ก.พ.)  ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาประชาพิจารณ์ผลวิจัยเรื่อง “การดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายปีงบประมาณ 2552 - 2557” ว่า ปัญหาการใช้แรงงานเด็กเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากนานาประเทศ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งล่าสุดไทยถูกเฝ้าระวังอยู่ ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปีพ.ศ. 2541 ห้ามการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง กสร. ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ทีม โดยสนธิกำลังกับทหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตรวจสอบปัญหาการใช้แรงงานเด็กในพื้นที่ต่างๆ โดยจากการตรวจสอบล่าสุดในจังหวัดตาก พบการใช้แรงงานเด็กอายุระหว่าง 11 - 14 ปี ในประเภทกิจการสิ่งทอ 2แห่ง จำนวนเด็ก2 คน และ ประเภทกิจการอิเล็กทรอนิกส์ 1 แห่ง จำนวนเด็ก 3 คน ทั้งหมดเป็นชาวพม่า และได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดแล้ว  ทั้งนี้ กสร. เตรียมจะสำรวจตัวเลขเด็กทำงานและเด็กที่ถูกใช้แรงงาน รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องนี้และสามารถนำไปชี้แจงต่ออเมริกาได้ คาดว่า ใช้งบดำเนินการกว่า10 ล้านบาท ซึ่งขณะอยู่ระหว่างรองบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล
       
นายพีรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลประเมินผลการดำเนินนโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ฉบับที่ 1 ปีงบประมาณ 2552 - 2557 ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์ คือการสร้างความตระหนักรู้ให้ครอบครัวและชุมชนถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็กและเฝ้าระวัง /การสร้างและพัฒนาระบบรับแจ้งเหตุ และรับเรื่องราวร้องทุกข์ในภาคต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นแรงงานเด็ก / การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ /ให้ความรู้ด้านกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ  ขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีคาดว่าจะสรุปผลประเมินเร็วๆนี้และจะนำผลประเมินดังกล่าว มาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายฉบับที่ 2 ปีงบประมาณ 2558 - 2563

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-2-2558)

หนุนตั้ง “ธนาคารแรงงาน” แนะทำแบบสหกรณ์เน้นออม - กู้ดอกเบี้ยต่ำ

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานสัมมนา เรื่อง สานพลังประชาชนในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปด้านแรงงาน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการแรงงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยในที่ประชุมมีการหารือใน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. การแก้ไขกฎหมายด้านแรงงาน 2. การพัฒนาความเป็นอยู่และสวัสดิการของแรงงานให้ดีขึ้น และ 3. การพัฒนากระบวนการแรงงานทั้งระบบ ซึ่ง คสรท. ได้เสนอให้รัฐบาลรับรององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานที่ปัจจุบันมีอยู่ 12 - 13 ฉบับ รวมทั้งเสนอให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน โดยให้ใช้ชื่อว่า ประมวลกฎหมายคนทำงานเพื่อให้ครอบคลุมแรงงานทั้งในและนอกระบบในทุกสาขาอาชีพ โดยนำกฎหมายแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาบูรณาการและรวมเข้าไว้ด้วยกัน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน  กฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน กฎหมายคุ้มครองแรงงานประมง กฎหมายคุ้มครองแรงงานด้านเกษตร  กฎหมายด้านแรงงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น เพื่อให้กฎหมายสามารถให้ความคุ้มครองดูแลแรงงานได้ในทุกอาชีพ และเพื่อให้การพิจารณาคดีด้านแรงงานเป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น ไม่เกิดความขัดแย้งในแง่ของกฎหมาย ปรับกระบวนการพิจารณาคดีในศาลแรงงานให้รวดเร็วขึ้น
       
นายชาลี กล่าวอีกว่า ทราบมาว่า กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการของ กมธ. ขึ้นมาศึกษาการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบที่มีอยู่กว่า 30 ล้านคน มีที่พึ่งพิงด้านการเงินและสามารถออมเงินได้ โดยเบื้องต้นมีแนวคิดให้แรงงานมาฝากเงิน และหากแรงงานประสบปัญหาด้านการเงินก็มากู้ยืมเงินธนาคารได้ ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับการจัดตั้งธนาคารแรงงานแต่ขอเสนอแนะว่าการดำเนินงานของธนาคารควรมีทำในลักษณะคล้ายกับสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเน้นส่งเสริมด้านการออมเป็นหลัก เพื่อให้แรงงานมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ส่วนการปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยแรงงานควรให้กู้เฉพาะในยามจำเป็น เช่น กรณีถูกบีบบังคับให้ออกจากงานหรือถูกเลิกจ้างกะทันหัน โดยเป็นการให้กู้ในวงเงินที่ไม่สูงและคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะได้สามารถใช้หนี้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่สร้างหนี้ผูกพันในระยะยาว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-2-2558)

รบ.เร่งเพิ่มจำนวนเด็กสายช่าง ดันม.ปลายสายสามัญเรียน 2 วุฒิ

16 ก.พ. 58 เมื่อเวลา 13.00 น.ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อม นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา และม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แถลงข่าวผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เรื่องอาชีวศึกษานำชีวิตสดใส และโรดแมปการกำจัดขยะมูลฝอยของเสียอันตราย

โดยนายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ทั่วโลกยอมรับว่าอาชีวะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ เมื่อดูว่าประเทศนั้นๆ พัฒนา ต้องดูจากเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี โดยขึ้นอยู่กับ สินค้าและการบริการที่มีคุณภาพ โดยขึ้นอยู่กับบุคลากร ซึ่งมาจากอาชีวะ ตอนนี้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด และเมื่อพูดถึงความต้องการด้านกำลังคนซึ่งเป็นที่ต้องการในระบบอุตสาหกรรม เราไม่สามารถผลิตคนได้อย่างเพียงพอ ด้านระบบอุตสาหกรรมต้องการกำลังคนปีละ กว่า 50,000 คน แต่สามารถผลิตได้เพียงประมาณ 30,000 คนต่อปี การโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ต้องการปีละ 120,000 คนโดยประมาณ แต่ผลิตได้เพียงปีละประมาณ 4,000 คน นี่คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น คนที่มาเรียนสายอาชีพในปัจจุบันนั้นมีจำนวนน้อยกว่าที่ควร

นอกจากนั้นยังมีปัญหาในส่วนของเมื่อเรียนจบแล้วไม่ยอมทำงานหากปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเกิดวิกฤติ ทางรัฐบาลจึงมอบหน้าที่ให้กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนแรงงาน ในส่วนของระดับปวช. ปีนี้ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นปีละ 5 เปอร์เซนต์ โดยมีวิธีการให้วิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน กว่า 1,800 แห่ง เปิดรับอย่างเต็มที่เพื่อป้อนบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานและทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งโครงการโดยพยายามให้เด็กที่เรียนมัธยมปลายสายสามัญต้องเรียนมากเป็นพิเศษ โดยเพิ่มให้เรียนสายอาชีพในวันเสาร์อาทิตย์ และเมื่อจบการศึกษาจะมีวุฒิทั้ง 2 อย่าง โดยจะเริ่มโครงการดังกล่าวกับโรงเรียนมัธยมประจำตำบลและอำเภอบางแห่งเป็นลำดับแรก นอกจากนั้นจะส่งเสริมให้มีคนที่อายุมากกว่า 18 ปี ได้เรียนสายอาชีพภายใต้ชื่อ อาชีวะนอกระบบ และส่วนที่ 3 คือช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานที่อยู่ในตลาดอาชีพอยู่แล้ว ให้มีทักษะดีขึ้น และเพิ่มทักษะให้กับอาชีพอื่นๆ

นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า สำหรับฝีมืออาชีวะของไทยนั้นเป็นที่ 1 ในอาเซียน ทางรัฐบาลมีโครงการเพื่อพัฒนามาตรฐานเด็กอาชีวะเพื่อไปถึงมาตรการสากล โดยร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน จีน สิงคโปร์ เพื่อส่งเด็กอาชีวะแลกเปลี่ยนและพัฒนาทักษะเป็นระดับสากล ทั้งนี้อีกส่วนหนึ่งคือจัดอาชีวะให้ได้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยเรามีจัดโครงการอาชีวะศึกษาทวิภาคี  คือ อาชีวะที่ทางสถานประกอบการและวิทยาลัยร่วมกันทำงาน เพื่อจะได้จบออกมาแล้วรับทำงานได้เลย โดยจัดตตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมด้านภาครัฐและเอกชนด้านอาชีวะศึกษา (กรอ.อศ.) และร่วมกันทำงานต่อไป

ด้าน นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความคืบหน้าโรดแมปการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ตามที่คสช.ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติว่า การกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมใน 6 จังหวัดวิกฤติ ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และลพบุรี มีจำนวนขยะมูลฝอยตกค้างรวม 907,000 ตัน สามารถกำจัดได้แล้ว 130,635 ตัน ส่วน จ.ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีขยะมูลฝอยตกค้าง 10,140,000 ตัน กำจัดได้แล้ว 8,103,500 ตัน ขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ กำจัดด้วยการใช้ดินฝังกลบในพื้นที่ และปรับพื้นที่เพื่อรองรับขยะใหม่ พร้อมทั้งมีการร่วมมือกับเอกชน รื้อร่อนขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลงอาร์ดีเอฟ ป้อนเข้าสู่เตาเผาปูนซีเมนต์ หรือเตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน

นางสุณี กล่าวว่า ส่วนที่สองคือ การวางแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยใหม่ ด้วยการลด และคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง โดยเบื้องต้นแบ่งเป็น 264 กลุ่มพื้นที่ อีกทั้ง ใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานในการกำจัดโดยให้ความสำคัญกับการแปรรูปป็นพลังงาน ที่คาดว่าจะสามารถลิตพลังงานไฟฟาได้ 227.58 เมกกะวัตต์ ที่ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่งคือ เทศบาลภูเก็ต จ.ภูเก็ต และเทศบาลนครหาดใหญ่จ.สงขลา สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 25.7 เมกกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 3 แห่ง คือกรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น และเทศบาลตำบลแม่ขรี จ.พัทลุง

ทั้งนี้ในส่วนที่สาม คือการวางระเบียบมาตรการบริหารจัดการ โดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะจัดทำกฏและระเบียบเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ประกอบด้วย กฎกระทรวงการคัดแยก เก็บขน และกำจัดขยะมูลฝอย กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำเนียบการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอย ตามพระราชบัญญัตื(พ.ร.บ.)การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการขยะแห่งชาติ พ.ศ. ...ที่คาดว่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในเดือนก.ค. และร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ... ที่คาดว่าจะเสนอสนช.ในเดือนเมษายนต่อไป

(แนวหน้า, 16-2-2558)

รัฐ-กมธ.ยืนยัน ไม่ตัดสิทธิกรณีว่างงาน

(17 ก.พ.) ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดแถลงข่าวกรณีเครือข่ายแรงงานออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ... ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า จะตัดสิทธิกรณีว่างงานกรณีลาออกจากงานเอง ว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบในเรื่องนี้และได้ให้นโยบายเรื่องใดที่เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนก็อย่าทำ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยว่า ไม่ให้มีการตัดสิทธิกรณีว่างงาน โดยให้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม กลับไปใช้ข้อความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตามเดิม ทั้งนี้ ขณะนี้ยืนยันได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่มีการตัดสิทธิกรณีว่างงานอย่างแน่นอน
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้หารือกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับแรงงานกลุ่มนี้ที่มีกว่า 25 ล้านคน โดยเฉพาะช่วงเข้าฤดูแล้ง เนื่องจากจำนวนนี้กว่าเป็น 15 ล้านคน เป็นแรงงานภาคเกษตร ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปวางแผนเพื่อดูแลแรงงานในส่วนนี้ ส่วนแรงงานนอกระบบอีกกว่า 10 ล้านคน ที่เป็นแรงงานอิสระ เช่น ขับรถแท็กซี่ ให้มีการจัดอันดับความเร่งด่วนที่จะเข้าไปดูแล โดยในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มอบแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดไปดูแล รวมทั้งเร่งสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนในการฝึกอบรมสร้างผู้นำเครือข่ายแรงงานในจังหวัดต่างๆ
       
พล.อ. สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีในปีนี้จะจัดขึ้นงานเน้นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช โดยใช้งบประมาณ 4.5 ล้านบาท ส่วนขอเรียกร้องนั้นเบื้องต้นเครือข่ายแรงงานเสนอให้ตั้งสภาความร่วมมือแรงงานสัมพันธ์ประกอบด้วยตัวแทนสภานายจ้าง 14 คน สภาลูกจ้าง 14 คน รวมทั้งแรงงานนอกระบบ กระทรวงแรงงาน และนักวิชาการด้านสันติวิธี เพื่อเป็นเวทีให้นายจ้างกับลูกจ้างได้พูดคุยเพื่อยุติข้อพิพาทและแก้ปัญหาด้านแรงงาน และเครือข่ายลูกจ้างยังเสนอให้จัดตั้งกรมต่างๆเพิ่มเติม เช่น กรมปลอดภัย ซึ่งตนเองเห็นว่าอนาคตควรให้หน่วยงานราชการเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น จึงไม่ควรขยายเพิ่มเติมมาก

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-2-2558)

กกจ.เผยแรงงานไทยในเยเมน 20 คน ปลอดภัยทั้งหมด

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยในประเทศเยเมน หลังกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมชีอะห์ยุบสภา โค่นอำนาจรัฐบาลเยเมน และเข้ายึดกรุงซานา เมืองหลวง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ที่เยเมนจำนวน 20 คน กับบริษัท Nabors Drilling International Ltd. ประกอบกิจการก่อสร้าง ในตำแหน่ง ช่างไฟฟ้า วิศวกรไฟฟ้า ช่างเทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานที่เคยทำงานอยู่แล้ว โดยขณะนี้แรงงานไทยทั้งหมดยังปลอดภัยดี ส่วนสถานการณ์ในประเทศลิเบียนั้น ล่าสุด ยังไม่มีความรุนแรง และปัจจุบันมีแรงงานไทยในลิเบียเหลือจำนวน 173 คน ทำงานในกิจการน้ำมัน ท่อส่งน้ำมันทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ไม่สงบมักจะเป็นตอนเหนือ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18-2-2558)

รธน.ใหม่ชงตั้ง 'ธนาคารแรงงาน' เปิดช่องรับอนุสัญญาไอแอลโอ

การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) เพื่อพิจารณาบทบัญญัติเป็นรายมาตราแห่งรัฐธรรมนูญ ในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ นั้น เมื่อวานนี้ (17 ก.พ.) ได้เข้าสู่การพิจารณาในส่วนที่ 9 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญคือ มาตรา (4/1/9) 1 ให้มีการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผังเมืองตามหลักธรรมาภิบาล การเข้าถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมวางหลักการปฏิรูปไว้ 4 แนวทาง คือ

1.ปฏิรูปโครงสร้าง องค์กร กฎหมาย และประมวลกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง อาทิ การจัดการทรัพยากรที่ดิน การจัดการทรัพยากรน้ำ พื้นที่คุ้มครองทางทะเล การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า

2.มีกลไกจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และประเมินผลผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ กองทุนสิ่งแวดล้อม การจัดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินและพื้นที่ในทะเล รวมถึงการประเมินผลสิ่งแวดล้อมตามยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนพัฒนาทางพื้นที่

3.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม โดยคำนวณต้นทุนตามความเสียหายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกบังคับคดีสิ่งแวดล้อม และ 4.ปรับปรุงกลไกและกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ผ่านการพิจารณาในรายละเอียดและปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสมชัดเจนมากขึ้น โดยไม่ปรับสาระสำคัญของบทบัญญัติที่เสนอแต่อย่างใด

จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณา ส่วนที่ 11 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยมีสาระสำคัญของบทบัญญัติที่เสนอ คือ มาตรา (4/1/11)1 การปฏิรูปแรงงานต้องเป็นไปตามหลักการคือ

1.กำหนดกลไก ปรับปรุง หรือตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิของผู้ทำงานหรือผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง 2.ตั้งธนาคารแรงงาน หรือกองทุนแรงงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

ทั้งนี้ สาระสำคัญคือเพื่อเป็นไปตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะการรับรองสิทธิแรงงานตามที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) กำหนดไว้ในอนุสัญญา ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมควรและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง หลังจากที่อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะการให้สัตยาบัน ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาตลอด

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ท้วงติงว่า อนุสัญญาไอแอลโอทั้ง 2 ฉบับซึ่งไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน การระบุบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญถือเป็นการบังคับให้รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นหากจะให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานในการรวมตัวหรือเจรจาต่อรอง ต้องปรับใหม่เป็น "กำหนดกลไก ปรับปรุง หรือตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิผู้ใช้แรงงาน เพื่อรับรองเสรีภาพในการสมาคมและในการรวมตัว ร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ"

ขณะที่ประเด็นธนาคารแรงงาน ที่ประชุมได้ถกเถียงกันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะตามเหตุผลของการเสนอเพื่อให้มีแหล่งเงินหรือกองทุนที่ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าถึงได้ง่าย และลดปัญหาของการกู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยที่สูง ทั้งนี้ มีผู้ที่เห็นว่าควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว แล้วแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินสำหรับผู้ใช้แรงงานโดยให้ธนาคารของรัฐที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบันทำหน้าที่แทน เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ให้มีนโยบายสนับสนุนความต้องการของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะเหมาะสมมากกว่า

อีกทั้งการจัดตั้งธนาคารใดๆ ต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วย เพราะที่ผ่านมามีธนาคารเฉพาะกิจที่ได้รับการจัดตั้งและขาดการบริหารจัดการที่ดี เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ ทำให้มีปัญหาอย่างมาก
อย่างไรก็ดี กรรมาธิการฯที่ต้องการให้คงเนื้อหาส่วนนี้ไว้ แสดงความคิดเห็นว่าข้อเสนอเรื่องธนาคารแรงงาน เป็นการปฏิรูปและแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งการตั้งธนาคารก็ได้มีการศึกษาและมีแผนดำเนินการไว้แล้ว หากไม่รับข้อเสนออาจทำให้เกิดผลกระทบ และยากที่จะชี้แจงต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้เข้าใจได้

ท้ายสุด กมธ.ยกร่างฯมีมติให้คงบทบัญญัติว่าด้วยธนาคารแรงงานเอาไว้ แต่ได้เพิ่มเติมถ้อยคำให้ชัดเจน คือ ธนาคารแรงงาน ถือเป็นธนาคารเฉพาะกิจ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนใช้แรงงาน

(กรุงเทพธุรกิจ, 18-2-2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net