สมบัติ จันทรวงศ์ : ว่าด้วยเรื่องของคน สัตว์ และการร่างรัฐธรรมนูญ

หมายเหตุ : ประชาไท ถอดความบทเสวนา ของสมบัติ จันทรวงศ์ ในงานเสวนาหัวข้อ “ไม่ใช่เรื่องหมูหมากาไก่” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการก่อตั้งคณะสังวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2558 ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น1 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สมบัติ จันทรวงศ์ : ว่าด้วยเรื่องของคน สัตว์ และการร่างรัฐธรรมนูญ

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ผู้จัดนี่ใจกล้ามากที่เชิญผมมา เพราะว่าผมเองผมก็ยังไม่ทราบว่าจะพูดเรื่องอะไร เขาก็บอกว่าอยากให้อาจารย์มาพูดเรื่องหมา เพราะเห็นว่าอาจารย์ชอบเลี้ยงหมา อันนี้ก็เป็นความจริง และผมเป็นคนไม่ชอบแมว (ผู้ฟังหัวเราะ) ประเด็นคือแมวนี่ก่อกวนมาก อย่างที่บอกแมวมันไม่ชอบอยู่บ้านตัวเอง ชอบไปวุ่นวายที่บ้านคนอื่น บ้านผมเนี่ยหลังคาต้องซ้อมอยู่หลายครั้ง เพราะแมวตัวโตกระโดดขึ้นบนหลังคาจนพังหมด ผมก็ไม่ทราบว่าจะจัดกการแมวอย่างดีโดยที่ไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้าน เคยใช้โฟมตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วทากาวดักหนู และก็เอาไปวางไว้ตรงที่แมวมาประจำ ได้ผลเลยครับเพื่อนบ้านมาขอร้อง อาจารย์อย่าทำเลย เพราะแมวกลับไปที่บ้านมันเละไปทั้งตัว ผมก็เลยทำใจไม่ทำอะไรมันอีก

ตอนที่แนะนำว่าผมชอบเลี้ยงหมา จริงๆ แล้วลูกชายเป็นผมสัตวแพทย์ เดี๋ยวผมจะกลับมาเรื่องสัตวแพทย์ แต่ว่าที่ผมอยากจะสรุป เพราะกลัวว่าไม่มีเวลา เลยขอพูดไว้ก่อนว่าผู้คนที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในปัจจุบัน จะเรียนรู้ได้เยอะมากเลยจากคนที่เลี้ยงแมวเลี้ยงหมา

ทีนี้เริ่มกันที่เรื่องมานุษยวิทยาว่าด้วยสัตว์ ผมก็ไม่มีข้อมูลมาก แต่ก็หาในGoogleดู ก็พบว่ามันแหม่งๆ นะ คือผมเดาว่าเอ๊ะคณะสังคมวิทยาจับเรื่องนี้ขึ้นมาเนี่ย มีดำริจะสอนวิชามานุษยวิทยาว่าด้วยสัตว์จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผมคิดว่ามันมีปัญหาค่อนข้างจะเยอะ ผมไปดูในโบชัวร์ ของ Matthew's University เขาพูดถึงเรื่อง Anthropology and the Animal แล้วเขาก็โปรยขึ้นมาว่าความสำคัญของวิชานี้เป็นอย่างไร เขาบอก Can we ever know what it is like to be a monkey? ผมสงสัยว่านี่เราอยากรู้จริงๆ เหรอว่าเป็นลิงมันเป็นอย่างไง Is it possible to learn to ‘talk dog’? ผมก็เอ๊ะ ผมคงไม่สนับสนุนให้ลูกผมไปเรียนวิชานี้นะ Many Amazonians, and even some scientists, consider animals to be ‘persons.’ Is this justified?  If so, what kinds of ‘interpersonal’ relations can we have with animals? เดี๋ยวผมจะบอกว่าทำไมผมคิดว่าไอ้นี่มัน bs. ทั้งสิ้นเลยนะ Animals force upon us questions that go to the heart of anthropology. How do we differ from animals? เพื่อที่จะเรียนรู้มนุษยวิทยาให้สุดขีด เพื่อที่จะตอบคำถามนี้เหรอ ว่าเราต่างจากสัตว์อย่างไร ผมว่าตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ถ้าหากว่าคณะสังคมวิทยามนุษยวิทยาคิดจะเปิดวิชาประเภทนี้ เพราะผมคิดว่าถ้าคุณไม่รู้เลยว่าคุณต่างจากสัตว์อย่างไร สอบเข้าธรรมศาสตร์มาได้อย่างไร

ผมเนี่ยมาจากสังคมโบราณ ซึ่งมองว่ามนุษย์อยู่กึ่งกลางระหว่างเทพเจ้า กับสัตว์ เราต่ำกว่าเทพเจ้าแน่นอน เราไม่มีทางรู้ว่าเทพเจ้าเป็นอย่างไร แต่เรารู้แน่ๆ ว่า เราต่างจากสัตว์อย่างไร ฉะนั้นผมไม่เคยมีปัญหากับเรื่อง interpersonal relations กับหมาที่ผมเลี้ยง ผมจะตั้งชื่อมันว่าอย่างไร ผมไม่ต้องไปขออนุญาติมัน นี่คือคำสอนที่อาจารย์ผม สอนว่า democracy คืออะไร democracy มันคือการที่เริ่มต้นจากจุดที่ว่ามนุษย์เนี่ย ทุกคนเท่ากัน ความเท่าเทียมกันระหว่างมุนษย์มัน self-evident มันประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปดูที่อื่นเลย เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์เท่ากัน คนอื่นจะอ้างตัวเองเป็นผู้ปกครองผู้อื่นไม่ได้ ถ้าหากว่าไม่มีความยินยอม แต่ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เนี่ยความแตกต่างมันชัดเจน เรากับสัตว์ใครใหญ่กว่ากัน เรากับสัตว์ต่างกันตรงไหน ไม่ต้องไปถาม การปกครองระหว่างเรากับสัตว์มันเป็นการปกครองแบบเผด็จการ

แต่ว่าเผด็จการอย่างไร มันก็มีนะครับ หนังสือ what philosophy can tell you about your dog มีคนเอามาให้ผม และผมก็คิดว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อที่จะมาพูดที่นี่ ผมอ่านไปอ่านมาก็พบว่า ผมไม่เห็นด้วยเยอะเลย แต่มีบางอันที่ผมเห็นด้วยเช่น “ถ้าเราเป็นนายที่ดีไม่ได้ หมาเราก็เป็นหมาที่ดีไม่ได้” ทั้งนี้คนที่สอนวิธีการเลี้ยงดูสุนัขสอนบอกว่า หมามันมองเราเหมือนกับเป็นจ่าฝูง เพราะเราสามารถหาอาหารมาให้มันกินได้ทุกวัน เราเป็นจ่าฝูงชั้นยอด อันนี้อาจจะมองในแง่ของพวกเทรนเนอร์ แต่ถ้ามองในแง่ของผม หมานี่กำเริบนะ คือมันเอาตัวผมไปเท่ากับมัน การที่หมาคิดอย่างนี้ไม่ผิด แต่ถ้ามนุษย์เราจะไปคิดอย่างนั้น ผมว่ามันประหลาด

อาจารย์คนเดียวกันสอนผมว่า เวลาเราพิจารณาสิ่งที่สูง กับสิ่งที่ต่ำ หากเราพิจารณาสิ่งที่ต่ำให้มองจากมุมของสิ่งที่สูง อย่าไปประเมินสิ่งที่สูงจากมุมมองที่ต่ำ เพราะการประเมินสิ่งที่สูงจากมุมมองที่ต่ำ มันจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างบิดเบี้ยวไปหมด ฉะนั้นหมามันมองเราเป็นจ่าฝูงที่เดินสองขา แต่ถ้าเรามองจากแง่มุมของเรา เรามนุษย์และนั่นคือหมา ข้อแตกต่างมันชัดเจน เพราะฉะนั้นเล่นกันได้ แต่อย่ามาเลียปากกัน

อันนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาของวิธีคิดสมัยใหม่ ที่เริ่มต้นด้วย Charles Darwin ผมก็ไปค้นงานเขามาอ่าน Darwin นั้นทำให้โลกตะวันสั่นสะเทือน จากทฤษฎีวิวัฒนาการของเขา ที่สรุปง่ายคือ มนุษย์เราพระเจ้าไม่ได้สร้าง แต่เป็นเรื่องของวิวัฒนาการซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของความบังเอิญ การผ่าเหล่า ทำให้เกิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ฉะนั้นเราในแง่หนึ่งจึงมีพื้นเพมาจากสัตว์ ไม่ได้ต่างจากสัตว์ ตรงนี้เป็นดาบสองคมก็คือว่า เรามองว่าเราไม่ต่างจากสัตว์ เราก็ควรจะมีสิทธิ์ทำอะไรได้เหมือนที่สัตว์ทำ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้ผิดอะไรเลย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็อาจจะมองได้ว่า วิวัฒนาการมันตลก ทำไมมันหยุดอยู่แค่นั้น ทำสัตว์ไม่วิวัฒนการเป็นอย่างอื่นต่อไป หรือถ้ามนุษย์เรายังวิวัฒนาการต่อไป ปัญหาก็คือว่ามันจะไปหยุดที่ตรงไหน

วิธีคิดของ Darwin ทำให้มีหลายคน หลายสำนักที่พยายามอธิบายวิวัฒนาการของมนุษย์จากแง่มุมนี้ มีหนังสืออยู่สองเล่มที่ผมอ่าน เล่มแรกอ่านเมื่อสัก 30 ปีมาแล้วThe Selfish Gene ของ Richard Dawkins อีกเล่มเป็นการวิวัฒนานการของมนุษย์จากแง่มุมของสังคม คือ The Imperial Animal ผู้เขียนสองคนนี้ประหลาดมาก คนหนึ่งคือ Lionel Tiger อีกคนคือ Robin Fox คือสองคนนี้มีชื่อเหมือนสัตว์ 4 ชนิด แล้วมาเขียนเรื่อง the imperial animal คือเรื่องนี้บอกว่า มนุษย์เป็นนักล่ามาแต่ดั่งเดิม วิวัฒนาการของมนุษย์ที่จะมาเป็นนักล่าใช้เวลาไม่รู้กี่ 10 ล้านปี

แต่ว่าพอมาถึงในโลกปัจจุบัน การที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรมเมื่อ 5,000 กว่าปี รู้จักอุตสาหกรรม 200 กว่าปี เกษตรกรรมทำให้มนุษย์ที่เป็นนักล่าจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นสัตว์ที่อยู่กับที่ ต้องทำนา เพาะปลูก การทำนามันต้องก้ม แต่การที่มนุษย์เป็นนักล่ามันคือการยืนสองขา และตามองไปข้างหน้า มันก็เป็นการฝืนธรรมชาติ ฉะนั้นคนที่เป็นชาวนาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินเป็นคนที่โชคร้าย ส่วนคนที่เป็นคนชั้นสูง ก็มีโอกาสที่จะเสวยสุขกับผลงานของชาวไร่ชาวนา แต่ตัวเองก็ยังสามารถเป็นนักล่าได้ด้วย เพราะการเป็นนักล่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ในสัญชาติญาณของมนุษย์ การที่มนุษย์เป็นนักล่า มนุษย์ต้องร่วมมือกัน คือกลุ่มก็ต้องไม่ใหญ่มากไป แล้วก็ประดิษฐ์เครื่องมืออย่างหยาบๆ ขึ้นมาเพื่อจะหาโปรตีนจากสัตว์ที่เป็นสัตว์ใหญ่

การเป็นนักล่าหมายถึงทุกคนมีส่วนในความตื่นเต้นจากการที่ไปล่า และเมื่อล่ามาได้แล้วทุกคนได้รับส่วนแบ่งเหมือนกันหมด ไม่มีความรู้สึกแปลกแยกเกิดขึ้น เพราะว่าอะไร สมมุติว่าล่าหมูป่าได้ตัวหนึ่ง หัวหน้าได้กินก่อน แต่ว่าหัวหน้าก็กินได้เท่าที่กินได้ เพราะมันไม่มีตู้เย็นไว้เก็บ ฉะนั้นผลมันก็แบ่งไปถึงทุกคน ไอ้คนที่ตัวเล็กที่สุดไม่มีบทบาทเลย เป็นแค่คนดูต้นทาง ก็ยังมีความสนุกสนานจากการเป็นนักล่า ฉะนั้นในสังคมนักล่าจึงไม่มีความรู้สึกแปลกแยกเกิดขึ้น แต่ว่าพอมาเป็นสังคมเกษตรกรรมเริ่มมีแล้ว เพราะมีคนบางคนเท่านั้นที่ยังเป็นนักล่าอยู่ได้ กษัตริย์ยังสวงนที่ที่ดินต่างๆ ไว้สำหรับตัวเองเข้าไปล่าสัตว์ได้ แต่ว่าคนอื่นเข้าไปล่าสัตว์ไม่ได้ พอมาสังคมอุตสาหกรรมยิ่งหนัก เมื่อ 200 กว่าปีมานี่เอง มนุษย์ส่วนหนึ่งถึงผลักเข้าไปอยู่ในโรงงาน เพราะนั้นวิถีชีวิตก็ถูกขัดจากแบบเดิมที่เคยเป็นนักล่าโดยสิ้นเชิง เหลือแต่คนเพียงส่วนน้อยในสังคมที่มีโอกาสเสี่ยง การเสี่ยงต่างหรือพนันที่มีนักการเมืองบางคนบอกว่า เป็นมรดกของมนุษยชาติเป็นความจริงนะ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นนักล่า นี่คือการอธิบายปรากฎการณ์จากแง่ของสังคม

แต่ว่า Richard Dawkins อธิบาย Selfish Gene ซึ่งเขาบอกว่าอยากตั้งชื่อว่า The immortal gene มากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือว่า สิ่งที่มีชีวิตไม่ใช่มนุษย์ แต่คือ Gene ในตัวคุณ DNA ในตัวคุณ มนุษย์เป็นเหมือนกับหุ่นชีวิตที่ช่วยให้ Gene ดำรงชีวิตต่อไปได้ เพราะฉะนั้นพอมองในแง่นี้ เอาหยาบๆเลยนะครับ พ่อแม่เราลงทุนในตัวเราซึ่งเป็นลูก มีจากพ่อมา 50 เปอร์เซ็น จากแม่ 50 เปอร์เซ็น มาเป็นตัวเราฉะนั้นพ่อแม่ที่รักเราเพราะอะไร เพราะว่ามี 50 เปอร์เช็นของเขาในตัวเรา แล้วก็รักหลานด้วยเพราะว่ามี 25 เปอร์เซ็นอยู่ในนั้น ถ้าพ่อแม่ลูกนั่งเรือไป แล้วเรือกำลังจะจม ก็ต้องช่วยลูกก่อนที่จะช่วยตัวเอง เพราะมันมี 50 เปอร์เซ็นอยู่ Gene ที่อยู่ในตัวพ่อแม่มันเก่าแล้ว เขาต้องการฝาก Gene ที่ยังเหลืออยู่ไว้ ถ้าอธิบายอย่างนี้เราก็ไปอธิบายศีลธรรมของมนุษย์กันใหม่ ว่าจะไปมองในแง่สังคมโดยรวม หรือจะมองในแง่ของ Organicism ที่เล็กที่สุดในตัวของมนุษย์

เพราะฉะนั้นถ้าจะศึกษาเรื่องของมานุษยวิทยากับสัตว์ คุณเป็นนักมานุษยวิทยาเฉยๆ ไม่ได้ คุณต้องมีความสามารถพิเศษ ผมว่าต้องเป็นอย่างน้อยเช่น สัตว์แพทย์ เป็นนักชีววิทยา เป็นอะไรต่ออะไรอีกเยอะแยะเลย จึงสามารถอธิบายได้ว่า Organicism ของสัตว์ต่างๆ เป็นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ ที่พูดๆ กันมาคือ พูดถึงหมาพูดถึงแมว เราพูดถึงสัตว์เลี้ยงในบ้าน เราไม่ได้พูดถึงสัวต์โดยธรรมชาตินะครับ ฉะนั้นถ้าเราจะศึกษาลิง ลิงที่อยู่ในเขาดินกับลิงที่อยู่ในป่ามันคนละเรื่องกันเลยนะ แมวป่ากับแมวบ้านก็คนละเรื่องเช่นกัน หมาที่ผมเลี้ยงอยู่เนี่ยนะมนุษย์เพาะพันธุ์ขึ้นมา มนุษย์สร้างมาให้หมาแบบนี้มีนิสัยใจคอแบบนี้ เราไม่ได้เลี้ยงสัตว์ที่เป็นธรรมชาติ เราเลี้ยงสัตว์ที่ถูกแปลงธรรมชาติแล้ว ให้กลายเป็นเครื่องมือที่มีชีวิตสำหรับมนุษย์

ฉะนั้นนักมานุษยวิทยา สำหรับคนที่ไปศึกษาลิงชิมแพนซี หรือกอริลลา มันก็ต้องตอบคำถามในทางวิธีวิทยาเหมือนกันว่า คุณเข้าไปแล้วคุณแน่ใจได้อย่างไรว่ามันตามคุณ หรือมันแค่มองข้ามคุณ หรือคุณรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่ได้หลอกคุณ ตลอดเวลาที่มันอยู่กับคุณแล้วทำท่านั้นท่านี้ จะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันไม่หลอกคุณ คือถ้าคุณเลี้ยงหมาเหมือนผมเนี่ยจะรู้เลยนะ คุณบอกห้ามออกจากบ้าน แต่พอคุณเปิดประตูบ้านปุ๊ปมันหายไปเลย แล้วมันก็ไปเที่ยว คุณไปตามไม่ไล่ให้มันกลับ มันก็ไม่กลับ แต่พอมันเหนื่อยมันก็กลับมาที่หน้าครางหงิงๆ  แล้วก็กระดิกหาง แล้วยอมให้คุณตี เห็นไหมมันก็หลอกเป็น มันล่อหลอกมนุษย์เป็น แล้วมันเรียนรู้จากใคร มันไม่ได้เรียนรู้จากผมนะ ทีนี้สัตว์ทั้งหลายที่ใครต่อใครเข้าไปดู ลิงชิมแพนซี กอริลล่า จะแน่ใจได้ไงว่ามันไม่หลอกคุณ และยิ่งถ้าคุณบอกว่า Can we ever know what it is like to be a monkey? คุณจะตอบได้ไงว่าลิงคิดอย่างไง

เอาละผมมาถึงบทสรุปคือว่า ในชีวิตการเลี้ยงหมา ผมเลี้ยงหมามาตั้งแต่เล็ก ชีวิตผมฝังหมามาแล้วนับไม่ถ้วน (ผู้ฟังหัวเราะ)มันตายแล้วเราก็ต้องฝั่งมันดูแลมันจนนาทีสุดท้าย สมัยก่อนผมเลี้ยงหมาโดยให้กินอาหารแบบเดียวกับคน เรากินอะไรเหลือก็ผสมให้มันกิน หรือไม่เราก็ไปซื้อมาต้มให้มันกินเป็นพิเศษ ผมอ่านตำราเขาบอกว่าในธรรมชาติหมาไม่กินอาหารแบบนี้หรอก สมมุติมันจับไก่ป่าได้ตัวหนึ่ง มันก็กินหมดทั้งตัว ทั้งขน พอมายุคหลังเราก็เลี้ยงโดยการให้กินอาหารเม็ดมันเป็นอาหารซึ่งแสนจะไม่เป็นธรรมชาติสำหรับหมา คิดดูสิครับมันเป็นอาหารเม็ดแห้งๆ แต่หมาเนี่ยวิธีฝึกให้มันกินก็คือให้มันกินแต่เล็ก พอเกิดมาพอมันเคี้ยวได้มันก็ต้องกินอาหารแบบนี้แล้ว มันก็กินของมันไป เมื่อสอนให้ถูกอาหารแบบนี้มันก็กินแบบนี้ไปเรื่อย แต่ถ้าเอาอาหารคนไปให้มันกินมันก็กิน แต่พอมันกินมากๆ เข้ามันก็ไม่กินอาหารเม็ดแล้วนะครับ

เพราะฉะนั้นคนที่ขายอาหารสุนัข หรืออาหารแมวบอกคือ ถ้าหากหมาคุณมันเคยกินอาหารแบบเดิม (ธรรมชาติ) วิธีที่คุณจะทำให้มันเปลี่ยนมากินอาหารเม็ดซึ่งสะดวกสำหรับคุณ และดีสำหรับมัน คุณต้องเริ่มด้วยกันให้มันกินทีละนิด เอามันผสมเข้าไปในอาหารที่มันกินอยู่เดิม ทีนิดทีละหน่อย อย่าให้มันทีเดียวเยอะๆ มันไม่กิน ให้มันล้วนๆ มันไม่กิน ต้องค่อยๆ ผสม จนกระทั้งในที่สุดปริมาณของอาหารเม็ดก็จะมากว่าปริมาณของอาหารธรรมชาติ ก็ลองคิดดูสิครับว่าที่ร่างรัฐธรรมนูญกันมาไม่รู้กี่ฉบับ พยายามจะยัดเยียด พยายามจะใส่อะไรลงไป ขอบคุณครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท