Skip to main content
sharethis

บวรศักดิ์เผย เตรียมตั้งคณะกรรมปรองดองแห่งชาติ เสนอร่างกฏหมายอภัยโทษ วางกรอบ 5 ปี ส่งสัญญานเดินสายคุยแกนนำเสื้อแดง

ว่ากันด้วยเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง สัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 ก.พ. 2558) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมกันทั้งหมดสามวัน คือในวันที่ 11-13 ก.พ. โดยมีการพูดคุยกันในหลักการของรัฐธรรมนูญ ในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ซึ่งไม่เคยถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้เห็นเป็นรายมาตรา จากรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ปรากฏให้เห็นแต่เพียงว่า มีการพุดคุยกันในคณะกรรมาธิการฯ ถึงหลักการในการปรองดอง ทว่าก็ได้มีกระแสเดินหน้าปรองดองนอกรัฐสภาออกมาให้อยู่บ้าง

คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ : อภัยโทษ ไม่ใช่นิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 เป็นเรื่องที่น่าจับตาไม่น้อย แต่บางคนก็อาจจะเห็นว่าเป็นเพียงละครหน้าฉากเพียงเท่านั้น เมื่อบวรศักดิ์ อุวรรณโณ พร้อมคณะ 10 คน ได้เดินทางไปรับประทานอาหารร่วมกับขวัญชัย ไพรพนา หลังจากเสร็จสิ้นภาระกิจใน เวทีประชาเสวนาหาทางออก "สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย" ที่จังหวัดอุดร ซึ่งจัดเป็นเวทีที่ 5

บวรศักดิ์กล่าวในเวทีครั้งนี้ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำลังคุยกันว่า ต้องมีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ สร้างบรรยากาศให้ปรองดองทั้งประเทศ ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน คู่ขัดแย้ง 5 คน โปรดเกล้าฯโดยพระมหากษัตริย์ มีอำนาจศึกษาหาทางออก ความขัดแย้งจากงานศึกษาไว้แล้วของหน่วยงานต่างๆ จากนั้น เสนอร่างกฎหมายอภัยโทษกับคนที่ให้ข้อเท็จจริง เยียวยาผู้เสียหาย และได้รับผลกระทบ โดยให้เวลาการทำงาน 5 ปี

พร้อมทั้งกล่าวว่า "ผมจะไปพบกับคุณขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร โดยนัดกันกินข้าวเย็น ความจริงพบคุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ มาแล้ว คุณขวัญชัย เดิมนัดว่าจะมาให้ความคิดเห็น แต่คณะกรรมาธิการยกร่างฯทำงานไม่ทันในช่วงนั้น เมื่อเรามาเปิดเวทีที่ จ.อุดรธานี เราจึงนัดกินข้าวกัน ผมก็ยังไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร คงจะเจรจาพูดคุยกันในฐานะคนเคยรู้จักกัน คงต้องถามเรื่องจะหาทางออกอย่างไร ที่จะลดความขัดแย้งลง"

ขณะที่เมื่อกลับไปเปิดข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านการเมือง พบว่าได้มีการทำข้อเสนอให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไว้ในเรื่องของการปรองดอง ซึ่งมีแนวทางที่เห็นตรงกันว่าควรจะมีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เป็นกลไกลที่คอยป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นควรจะมีกลไลที่จะช่วยทำหน้าที่พูดคุยเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งดังกล่าว และหากที่ถึงที่สุดแล้วความขัดแย้งนั้นก่อให้เกิดความเสียหายก็ควรที่จะมีกลไกดูแลฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะตั้งไม่ใช่รัฐบาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

 

เรียบเรืยงจาก : มติชนออนไลน์ ,ประชาไท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net