Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

 

“อินดี้”เป็นปรากฏการณ์ของวัฒนธรรมวัยรุ่นที่เกิดทั่วโลกในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา  หากมองย้อนไปอาจจะเรียกได้ว่าหลังจากยุคฮิปปี้ในทศวรรษที่ 60 แล้ว  ไม่มียุคของวัยหนุ่มสาวที่เป็นปรากฏการณ์โลกเกิดขึ้นอีกเลยนอกจากยุคอินดี้ในทศวรรษที่ 90  อินดี้และฮิปปี้ต่างก็ยึดเอาดนตรีร็อกเป็นสารัตถะเช่นเดียวกัน  แต่อินดี้เกิดมาในยุคอวสานของอุดมการณ์ร็อก( the end of rock ideology)  อินดี้จึงไม่มีคือภาพลักษณ์แบบขบถสังคมเช่นเดียวกับพวกฮิปปี้   แต่พวกเขาเป็นเพียงแค่เยาวชนหนุ่มสาวที่สะพายกีต้าร์และร้องเพลงร็อก(ในภาษาถิ่นของตนเอง)เท่านั้นหรือ?  ข้อเขียนสั้นๆชิ้นนี้ชวนย้อนมอง 20 ปีของกำเนิดอินดี้ในไทย 

 (1)

การกล่าวถึงอินดี้ในไทยคงต้องย้อนไปช่วงที่กระแสดนตรีแบบอัลเทอร์เนทีฟที่ได้รับความนิยมในไทยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536  หากหลังเหตุการณ์พฤษภทมิฬ 35 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นการแสดงพลังชนชั้นกลางกับการเมืองไทย  กล่าวว่าการเกิดของกระแสนิยมอัลเทอร์เนทีฟที่เกิดตามมาในปีนั้น  ก็น่าจะถือว่าเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกลาง(รุ่นเยาว์) [i]กับวัฒนธรรมก็ว่าได้  แต่พวกเขาเหล่านั้นต้องการแสดงตัวตนผ่านปฏิบัติการทางวัฒนธรรมที่เป็น “เสียง”ของเขาจริงๆมากกว่าเรื่อง“การเมือง”ที่พวกเขาถูกมองเป็นเพียงแค่ตัวสำรอง  เราจะเห็นว่าดนตรีและแฟชั่นดูจะเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลาง(รุ่นเยาว์)หยิบฉวยได้ง่ายที่สุด  แต่ทำไม่ต้องเป็นดนตรีร็อกจากวัฒนธรรมตะวันตก  เหตุผลที่น่าจะกล่าวได้ก็คือกระแสดนตรีร็อกในตะวันตกช่วงต้นทศวรรษที่ 90 (ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ) นักดนตรีร็อกกลับมามีภาพลักษณ์แบบของแอนตี้ฮีโร่( anti- hero)และมีความกล้าที่จะแสดงออก  ดังนั้น ไม่แปลกใจหากศิลปินอย่างเคิร์ท โคเบนจากวงเน่อร์วานา หรือสองพี่น้องกัลลาเกอร์จากวงโอเอซิสจะเป็นชื่นชอบของวัยรุ่นในยุคนั้น  

อย่างไรก็ตามปฏิบัติการทางวัฒนธรรมของเยาวชนชนชั้นกลางที่ต้องการหยิบยืมวัฒนธรรมตะวันตกมาแสดงตัวตนของตนเอง(อีกครั้ง)นั้นดูไม่ง่ายนัก  เพราะยุคนั้นวัฒนธรรมสมัยนิยมในเมืองไทยมีพื้นที่ให้พวกเขาไม่มากนัก  หากคุณไม่ไปเดินห้าง ดูฟรีคอนเสิร์ต  สิ่งที่คุณทำได้ก็คือนั่งเปิดเพลงฟังและเล่นกีต้าร์(แบบเหงาๆ)อยู่ที่บ้าน  การฝ่าด้าน(อุตสาหกรรม)วัฒนธรรมแบบไทยๆ ของพวกเขาจึงถือว่าเป็นภารกิจแรกที่ต้องทำ

(2)

รูปแบบของการบริโภคดนตรีของเยาวชนไทยถูกผูกไว้กับสื่อกระจายเสียงมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 50 ดังนั้น ดีเจผู้ดำเนินรายการวิทยุจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างรสนิยมการฟังเพลงมาโดยตลอด  ในยุคเริ่มต้นของกระแสอัลเทอร์เนทีฟก็เช่นเดียวกัน  วาสนา วีระชาติพลีดีเจนักจัดรายการวิทยุเพลงสากลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย  ได้นำเอาดนตรีสไตล์นี้จากอังกฤษมาเปิดแนะนำให้ผู้ฟังในรายการทาง FM 105.5 ของเธอจนดนตรีที่เธอใช้คำเรียกว่า“โมเดิร์น ร็อก”( Modern Rock) กลายเป็นกระแสนิยมในหมู่นักศึกษา เพลงที่เธอนำมาเปิดในช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นเพลงร็อกที่มาจากอังกฤษ  อย่างเช่นงานเพลงของวง  Suede, Manic Street Preacher, Primal Scream, Jesus and Mary Jane ที่ล้วนแล้วแต่เป็นวงดนตรีในกระแสดนตรีที่เรียกว่า “อัลเทอร์เนทีฟ”(alternative)ของอังกฤษ(ยุคก่อนที่กระแส Brit-pop จะบูม)  ที่จริงการจัดเพลงของวาสนาในยุคนั้นเป็นถือว่าเป็นยุคตกต่ำของรายการเพลงสากลในรายการวิทยุของไทยก็ว่าได้  ด้วยเหตุที่ว่าค่ายเพลงใหญ่ของไทยเข้ามาเช่าคลื่นและจัดทำรายการเพลงไทยเพื่อโปรโมทศิลปินจากค่ายตนเอง 

จากกระแสความนิยมที่เกิดจากรายการวิทยุดังกล่าว  ทำให้สื่อนิตยสารดนตรีภาษาไทยเช่นมิวสิค เอ็กเพรส, บันเทิงคดี  หันมาให้ความสนใจเสนอเรื่องราวของแนวดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ  รายการดนตรีในเคเบิ้ลทีวีที่เพิ่งเกิดในช่วงนั้นก็มีช่วงของการนำเสนอดนตรีแบบอัลเทอร์เนทีฟ  นอกจากนี้การเกิดกระแสนิยมอัลเทอร์เนทีฟในไทยในช่วงนั้น  ยังนำพาเอาบริษัททุนข้ามชาติด้านอุตสาหกรรมเพลงหลายบริษัทไม่ว่า BMG, WEA, Sony Music เปิดบริษัทสาขาในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น  ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับ พ.ศ.2537 มีผลบังคับใช้ ( ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงอย่าง Oasis มีชื่อเสียงในไทยเพราะ Sony Music โปรโมทอย่างมาก)  นอกจากผลิตงานของศิลปินอัลเทอร์ต่างชาติในสังกัดออกจำหน่ายแล้ว ต่อมาสาขาบริษัทเหล่านี้ยังเซ็นสัญญากับวงอัลเทอร์เนทีฟไทยหลายวง    ที่จริงหากเราเชื่อมโยงภาพกระแสอัลเทอร์เนทีฟไทยเข้า สื่อกระจายเสียง(โทรทัศน์ วิทยุ)  สื่อสิ่งพิมพ์( หนังสือพิมพ์บันเทิง นิตยสารดนตรี)  สื่อบันทึกเสียง(คาสเส็ตเทป ซีดี)  เคเบิลทีวี  กฎหมายลิขสิทธิ์  ภาพรวมทั้งหมดนี้คือโครงสร้างของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมดนตรีของไทยที่เติบโต พร้อมๆกับการปะทะกับการเข้ามาของโลกาภิวัตน์ของสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงต่างชาติ  ที่มีเงื่อนไขจากการที่ประเทศไทยเตรียมพร้อมการเปิดเสรีการค้าสินค้าทางวัฒนธรรมและการสื่อสาร ตามข้อตกลงการค้าโลกที่ไทยจะเข้าร่วมในปี พ.ศ. 2538  ดังนั้น อัลเทอร์เนทีฟจึงเกิดมาท่ามกลางกระแสของสื่อที่ไหลอย่างเชียกรากของการปรับตัวของรัฐกับทุนเสรีนิยมใหม่

(3)

แต่แล้ววงโมเดิร์น ด็อกกับงานชุดเสริมสุขภาพที่ออกมาในช่วงเดือนกันยายนของปี พ.ศ. 2537 ก็ถือว่าเป็น“เสียงแรก”ที่เปล่งฝ่าด่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมออกมาได้(ในช่วงแรก)  ที่จริงหากย้อนไปก่อนหน้านั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน  วงครับ ซึ่งถือว่าเป็นวงอัลเทอร์เนทีฟไทยวงแรกของไทยก็มีงานชุด View ออกมา แต่ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันในวงแคบกว่าโมเดิร์น ด็อก  อย่างไรก็ดีปี พ.ศ. 2538-2539 น่าจะถือว่าเป็นยุคบูมของอัลเทอร์เนทีพไทยอย่างแท้จริง  ซึ่งถือว่าเป็นผลพวงของกระแสความนิยมที่มาจากเพลงฮิต “ก่อน”ของโมเดิร์น ด็อก (แม้ว่า “บุษบา”จะเป็นซิงเกิ้ลแรกที่ทำให้คนรู้จักวง)  จากเพลงดังกล่าวนำไปสู่การสร้างยอดจำหน่ายเทปคาสเซ็ตหลายแสนชุด  จนทำให้บริษัทต้นสังกัดของวงอย่างเบเกอรี ถือกำเนิดในฐานะค่ายเพลงอิสระ  มีวงดนตรีสมัครเล่นแนวอัลเทอร์ พร้อมกับค่ายเพลงอิสระเกิดตามขึ้นมามากมาย  หลายวงเกิดกับค่ายอิสระ หลายวงเกิดกับค่ายใหญ่ของไทย และอีกลายวงได้เซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ต่างชาติ อย่างเช่น ‘ป้าง’ นครินทร์ กลิ่นศักดิ์และวงสติวเดนต์ อั๊กลี่กับ Sony Music, ‘ออดี้’ ธนะยส จิวานนท์กับ BMG  สไมล์ ปัฟฟาโล่กับ EMI  แต่ก็ยังอีกหลายวงก็เลือกที่จะออกงานกับค่ายที่ตนเองตั้งขึ้น  ไม่มีใครรู้ว่ามีวงดนตรีแนวอัลเทอร์เกิดขึ้นจำนวนมากเท่าไร  แต่ที่รู้แน่ๆก็คือเกิด“เด็กอัลเทอร์”กลายเป็นแฟชั่นของเยาวชนในยุคนั้น

มีคำที่มักใช้อธิบายการเมืองวัฒนธรรมของการเกิดอินดี้ในโลกตะวันตก คือ  การสร้างอำนาจให้กับผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาฐานะเป็นผู้ผลิต(consumer as producer)  แต่ปรากฏการณ์ของการเกิดวงดนตรีและค่ายเพลงในไทยมีข้อพิจารณาที่ต่างออกไป  เพราะวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟที่ตั้งขึ้นล้วนใหม่เป็นวงประเภท “สตูดิโอแบนด์”( studio band)คือตั้งวงเพื่อมุ่งหวังที่จะเซ็นสัญญากับบริษัทและออกอัลบั้มเพลง  สถานะทางสังคมวิทยาของวงดนตรี( band)จึงอิงกับระบบอุตสาหกรรมดนตรีมากกว่า  แม้จะดูต่างจากระบบ “Star System”ของค่ายเพลงก็ตาม  แต่ไม่ว่าจะเป็นค่ายอิสระเล็กๆที่เกิดขึ้นใหม่ บริษัทค่ายเทปใหญ่ทั้งของไทยและของต่างประเทศ  ดูเหมือนศิลปินจะมีโอกาสทำงานเพลงเองโดยเฉพาะการแต่งเพลงและการบันทึกเสียง แต่กลไกลอื่นๆ ภายใต้โครงสร้างของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมของไทยยังคงถูกควบคุมการใช้สื่อ โดยเฉพาะสื่อกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ที่เป็นสื่อหลักของการแพร่กระจายผลงานของเพลง(และมิวสิควิดีโอ)ของเพลงสมัยนิยมไทย  ดังนั้น  หากเป็นวงอัลเทอร์ดังจริงก็ต้องออกรายการโลกดนตรีทางช่อง 5 หรือ 7 สีคอนเสิร์ต ด้วยเช่นกัน  รวมทั้งการ“เยี่ยมแท่นพิมพ์”ที่เหล่าศิลปินอัลเทอร์หน้าใหม่ทั้งหลายต้องเดินทางไปเยี่ยมเพื่อให้ช่วยโปรโมทหลังมีงานใหม่ออกจำหน่าย  ยังไม่นับรวมที่พวกอัลเทอร์หลายคนต้องไปออกรายการแบบเกมโชว์  

(4)

เราจะเห็นว่าการที่ดนตรีแบบอัลเทอร์เนทีฟได้ถูกสร้างกระแสนิยมในไทยโดยผ่านสื่อกระแสหลัก ในช่วงแรกๆจะช่วยกระตุ้นให้ชนชั้นกลางรุ่นเยาว์จำนวนมากกล้าคิด กล้าแสดงออกผ่านงานดนตรีและวัฒนธรรม  แต่“อัลเทอร์”ก็ไม่เคยเป็น “ทางเลือก”จริงๆตามความหมายของมันในภาษาอังกฤษ  การกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของดนตรีสมัยนิยม  ทำให้ในระยะต่อมาการไม่ประสบความสำเร็จในยอดขายของศิลปินเหล่านั้น ทำให้พวกเขาค่อยๆหายไปตามระบบธุรกิจในระยะเวลา 3-4 ปี  อาจกล่าวได้ว่าในเวทีอัลเทอร์เนทีฟชนชั้นกลางรุ่นเยาว์แพ้ให้กับทุน  แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้หายไปเช่นเดียวพวกฮิปปี้ไหนที่กลายเป็นคนทำงานออฟฟิศและกลายเป็นผู้บริหารที่มีฐานะอันมั่นคง   พวก“อินดี้”ยังคง หาทางที่จะ“เปล่งเสียง”ของพวกเขาต่อไป..... โปรดติดตาม ตอนที่ 2 ว่าด้วยวัฒนธรรมกับปฏิบัติการ

 

 




[i] นิยามของคำว่า “ชนชั้นกลางรุ่นเยาว์”ในที่นี้ ผู้เขียนใช้เพื่อสื่อถึงกลุ่มเยาวชนที่เป็นลูกหลานของชนชั้นกลางในแง่ของสถานะทางเศรษฐกิจและพวกเขากำลังศึกษาในระดับมัธยมและอุดมศึกษาในขณะนั้น  แต่วัตถุประสงค์หลักของการเขียนผู้เขียนต้องการสื่อถึงการชนชั้นกลางรุ่นเยาว์เหล่านี้เปลี่ยนในฐานะที่เป็นชนชั้นกลางในฐานะผู้ผลิตทางวัฒนธรรม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net