Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เพื่อให้มีบรรยากาศของการรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ตามนโยบายของ “รัฐบาลคุณธรรม” (เราจะไม่เรียก “รัฐบาลเผด็จการ” เพราะคำนี้มันบ่งถึงความเป็นจริงที่น่าขยะแขยง สังคมเราควร “คิดบวก” ตามคำสอนของพระ ว.วชิรเมธี คิดแต่คำสวยงามมาเจรจาพาทีกันเนาะ)  วันนี้เราจึงได้เชิญตัวแทนนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย กับตัวแทนอธิการบดีที่เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันฉันมิตร แต่พอเริ่มเสวนาได้สักพัก ก็เกิด “วิวาทะ” กันขึ้น ทั้งสองฝ่ายโต้ตอบกันไปมา จนผู้ดำเนินรายการไม่สามารถขัดจังหวะได้ เลยปล่อยเลยตามเลย แต่ผมเห็นว่าวิวาทะครั้งนี้มีสาระน่าสนใจ จึงถอดเทปมานำเสนอดังนี้

นักศึกษา – เป็นเรื่องเหลือเชื่อมากเลย ที่ในโลกสมัยใหม่เช่นปัจจุบัน มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยไปเข้าไปเป็น สนช. นั่งควบตำแหน่งในรัฐบาลรัฐประหารอย่างหน้าไม่อาย

อธิการบดี – คุณพูดอย่างนั้นไม่ได้หรอก ถ้าคุณอ้างว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คุณต้องเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย พวกผมก็มีสิทธิไปร่วมกับรัฐบาลได้

นักศึกษา – เคารพสิทธิของคนอื่น แปลว่าอะไรครับ การเคารพสิทธิจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเรารักษาหลักการ และกติกาประชาธิปไตยที่รับรองการมีสิทธิที่เท่าเทียมของทุกคนเอาไว้ แต่อธิการบดีไปร่วมกับรัฐบาลรัฐประหารที่ทำลายหลักการ กติกานั้นไปแล้ว แปลว่าอธิการบดีเคารพสิทธิของพวกผมและประชาชนทั้งประเทศหรือครับ อธิการบดีอ้างสิทธิอะไรในการไปร่วมมือกับรัฐบาลรัฐประหารที่ทำลายหลักการ กติการับรองสิทธิของประชาชน

อธิการบดี –  ต้องมองความเป็นจริงด้วยว่าทำไมเขาทำรัฐประหาร และเป้าหมายของการทำรัฐประหารคืออะไร คุณก็เห็นว่ามันเลือกตั้งไม่ได้ มันมีความขัดแย้ง มีการปลุกระดมมวลชนกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกัน เขาจำเป็นต้องทำรัฐประหารเพื่อคืนความสงบสุขให้กับบ้านเมือง และเพื่อปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยั่งยืน

นักศึกษา – นั่นมันเป็นคำพูดหลอกเด็ก ใครที่ติดตามการเมืองก็รู้กันทั้งนั้นว่า รัฐประหาร 2557 คือรัฐประหารต่อเนื่องจากรัฐประหาร 2549 กลุ่มคนที่ออกมาขัดขวางการเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารก็คือกลุ่มเดิมๆ แต่เปิดหน้าเล่นมากขึ้น นักการเมืองที่เคยอยู่เบื้องหลังก็ลงมาเป็นแกนนำเองเลย ส่วนฝ่ายทำรัฐประหารก็กลุ่มเดิมและเปิดหน้ามากขึ้น ความขัดแย้งแตกแยกที่เป็นมาและเป็นอยู่จริงมันก็คือความขัดแย้งแตกแยกระหว่างฝ่ายถูกทำรัฐประหาร ฝ่ายไม่เอารัฐประหาร กับฝ่ายทำรัฐประหารและเครือข่ายสนับสนุนเท่านั้น กลุ่มอำนาจที่ทำรัฐประหารไม่ใช่ “คนกลาง” ที่อวตารมาจากดาวอังคาร

อธิการบดี – แล้วยังไง คุณจะปล่อยให้ประเทศตกอยู่ในอำนาจของนักการเมืองโกงตลอดไปอย่างนั้นหรือ เลือกตั้งทีไรก็ชนะทุกที เพราะมอมเมาประชาชนให้เสพติดนโยบายประชานิยม ซื้อเสียงเข้ามา แล้วก็มาโกง แถมยังจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองโกงอีก พวกคุณรับได้หรือ

นักศึกษา – รับไม่ได้ครับ พวกผมก็คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่เมื่อเขาถอนร่างกฎหมายนั้นแล้วและยุบสภาแล้ว ก็ควรปล่อยให้กระบวนการดำเนินไปตามครรลองประชาธิปไตย ต้องปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้ง ปัญหาคอร์รัปชัน ระบบของกองทัพ ตุลาการ และสถาบันอื่นๆที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่ผ่านกระบวนการรัฐประหาร

อธิการบดี –  เลือกตั้งก็พรรคการเมืองโกงชนะอีก แล้วพวกคุณคิดว่าการปฏิรูปภายใต้อำนาจของพรรคการเมืองโกงมันจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยั่งยืนหรือ เขาถึงต้องทำรัฐประหารเพื่อล้างนักการเมืองโกง เก็บกวาดบ้านให้สะอาดแล้วปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไงครับ

นักศึกษา – อืม เวลาพูดถึงนักการเมือง เรามักจะหมายเฉพาะ “นักการเมืองในระบบเลือกตั้ง” และนักการเมืองประเภทนี้เท่านั้นที่โกงเป็น แต่จริงๆ มันมี “นักการเมืองนอกระบบเลือกตั้ง” ที่เล่นการเมืองทั้งหน้าฉากหลังฉาก มีอำนาจต่อรอง กระทั่งมีอำนาจกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แถมนักการเมืองประเภทนี้ยังมีอภิสิทธิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐครั้งแล้วครั้งเล่า นักการเมืองประเภทนี้โกงไม่เป็นหรือครับ ประชาชนตรวจสอบพวกเขาได้อย่างไร พวกอธิการบดีที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจากการเลือกตั้งบ่อยๆ ชักชวนชาวมหาวิทยาลัย และออกไปนำมวลชนเป่านกหวีดต้านรัฐบาล และสุดท้ายก็เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลรัฐประหาร อย่างนี้ไม่ใช่ “นักการเมืองนอกระบบเลือกตั้ง” หรอกหรือ พวกท่านก็กำลังเล่นการเมืองนอกระบบเลือกตั้งอยู่ไม่ใช่หรือ แต่มีความชอบธรรมอะไรที่จะอุปโลกน์ตัวเองเป็นตัวแทนประชาชน

อธิการบดี – รัฐประหารมันเกิดขึ้นแล้ว ประเทศชาติต้องเดินหน้าต่อ ในเมื่อได้รับเชิญให้ไปทำงานเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ พวกเราเห็นว่าตัวเองมีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่จะทำประโยชน์ หรือช่วยให้การปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้ เราก็เห็นว่าควรเข้ามาช่วยกันทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ ด้วยเจตนาดี เราไม่ได้เข้ามาเพื่อโกงชาติบ้านเมือง อย่าจัดเราไปรวมกับนักการเมืองเลยครับ

นักศึกษา – นิยามของคำว่า “โกง” คืออะไรครับ นักการเมืองโกง ก็คือการกระทำทุจริตผิดกฎหมาย รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญล้มระบบ แปลว่าไม่โกง ซื่อสัตย์ต่อหลักการ กติกา ต่ออำนาจของประชาชนเช่นนั้นหรือ บรรดาอธิบารบดีที่เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลรัฐประหาร ก็ซื่อสัตย์ต่อหลักการและกติกาประชาธิปไตย ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนนักศึกษาให้ยึดถือความถูกต้องชอบธรรมของทั้งเป้าหมายและวิธีการเช่นนั้นหรือ หากอุดมคติส่วนหนึ่งของสถาบันอุดมศึก คือสร้างการเรียนรู้และวัฒนธรรมประชาธิปไตยแก่นักศึกษา ประชาชน อธิการบดีไม่ได้โกงต่ออุดมคติดังกล่าวของมหาวิทยาลัยหรอกหรือ ไม่ได้ทรยศต่อจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่ควรจะมีในมหาวิทยาลัยและเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมหรอกหรือครับ

อธิการบดี – มหาวิทยาลัยมันมีความหลากหลายนะ เป็นธรรมดาที่เราจะคิดต่างกัน คุณคิดแบบคุณคุณก็มีเหตุผลของตัวเอง แต่ไม่ควรล่วงล้ำมากล่าวหาจริยธรรมของพวกผม พวกคุณมีเหตุผลของพวกคุณ พวกผมก็รับฟังและเคารพ แต่พวกผมมีเหตุผลของพวกผม พวกคุณก็ควรรับฟังและเคารพด้วยเช่นกัน

นักศึกษา – คำว่าการรับฟังและเคารพเหตุผลของกันและกัน มันจะ make sense ก็ต่อเมื่อเรายืนยันสิ่งนี้พร้อมกับยืนยันกติกาที่ free and fair แก่ทุกฝ่ายเท่านั้น แต่ข้ออ้างที่อธิการบดีเรียกว่าเหตุผลนั้น คือข้ออ้างเพื่อให้ความชอบธรรมในการเข้าร่วมกับรัฐบาลรัฐประหาร ทว่ารัฐประหารได้ทำลายกติกาที่ free and fair ลงไปแล้ว ข้ออ้างนั้นมันจึงไม่ได้แสดงถึงความมีเหตุผลหรือ rationality ของตัวมันเองแต่อย่างใด มันเท่ากับอธิการบดีกำลังจะบอกว่า “พวกคุณต้องรับฟังและเคารพเหตุผลของพวกผมในการสนับสนุนอำนาจที่ไม่รับฟังและเคารพเหตุผลของพวกคุณภายใต้กติกาที่ free and fair“ มีแต่คนไร้ปัญญาสุดๆ เท่านั้นที่จะยอมรับว่าข้ออ้างแบบนี้เป็นเหตุผล

เสียงแทรก – ขออภัยครับ ขอขัดจังหวะนิดเดียวครับ พอดีอาจารย์สมชาย เจียม ขอสไกป์เข้ามาจากต่างดาวครับ แกอยากร่วมแจมกับเราด้วย เชิญครับอาจารย์ สั้นๆ นะครับ

สมชาย เจียม – สวัสดีครับ ผมคิดว่าข้ออ้างต่างๆ ของอธิการบดีเพื่อให้ความชอบธรรมกับการเข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลรัฐประหารนั้น มันแสดงถึงความป่าเถื่อนทางปัญญาสุดๆแล้วครับ คือคุณจะมาพูดเรื่องตัวเองมีสิทธิ มีเหตุผล มหาลัยมีความหลากหลาย ควรรับฟังเหตุผลของกันและกัน นักการเมืองโกง เราจะปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์และยั่งยืน บลา บลา สิ่งที่คุณพูดทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันไม่ make sense เลยครับ ถ้าคุณไม่ยืนยัน “เสรีภาพ” มันต้องมีเสรีภาพที่จะพูดกันด้วยเหตุผลได้ทุกเรื่องก่อนครับ สิ่งที่อธิการบดีพูดมาถึงจะเป็นไปได้ การปฏิรูปที่พวกคุณเข้าไปร่วมก็ไม่ได้ยืนยันเสรีภาพดังกล่าวนี้เลย มันจึงแสดงความอ่อนด้อยของวุฒิภาวะทางปัญญาชัดๆ เถียงยังไงก็เถียงสู้เด็กไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นหลักการประชาธิปไตยหรือจริยธรรม นี่มันเป็น “ตลกร้าย” อย่างน่าเศร้าของมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ที่นักศึกษากำลังตื่นตัวเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่อธิการบดีกลับเดินตามตูดทหาร...(เซ็นเซอร์) 

วิวาทะได้ยุติลง เมื่ออธิการบดีขอตัวไปประชุม สนช.

 

หมายเหตุ: ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์สมมติในบริบทสถานการณ์จริงของการปะทะทางความคิด ช่วงหลังรัฐประหาร 2557

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net