Skip to main content
sharethis

ระบบเฟซบุ๊กที่ชื่อ 'ดีปเฟซ' ที่สามารถจดจำใบหน้าและระบุตัวตนของผู้คนด้วยใบหน้าได้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ขณะที่ฝ่ายเฟซบุ๊กพยายามยืนยันว่าระบบนี้ทำขึ้นเพื่อช่วยปกป้องเวลามีคนอื่นแสดงรูปของผู้ใช้งานโดยจะให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกเบลอหน้าเพื่อปกป้องตัวตนได้

10 ก.พ. 2558 เว็บไซต์นิตยสารวิทยาศาสตร์ของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาการสหรัฐฯ (AAAS) ระบุว่าอีกไม่นานเว็บไซต์เฟซบุ๊กจะสามารถระบุตัวตนของคุณได้ไม่ว่าคุณจะไปปรากฏอยู่บนรูปถ่ายใดๆ ก็ตาม

แม้ว่าก่อนหน้านี้คงมีคนสงสัยอยู่บ้างว่าทำไมเว็บไซต์เฟซบุ๊กซึ่งเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีรูปถ่ายส่วนตัวของบุคคลมากที่สุดในโลกจึงสามารถถามว่าจะติดแท็กให้บุคคลในรูปโดยระบุตัวตนตรงกับบัญชีผู้ใช้ได้ นิตยสาร 'ไซเอนซ์' รายงานเรื่องนี้ว่าระบบที่ชื่อ 'ดีปเฟซ' (DeepFace) ของเฟซบุ๊กในตอนนี้ถูกพัฒนาให้สามารถจดจำหน้าตาของบุคคลได้แม่นยำมากเท่ากับความสามารถของคนทั่วไป

เรื่องนี้ฟังดูน่าเป็นห่วงสำหรับผู้รักสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ยานน์ เลอคุน นักวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กผู้นำการวิจัยเรื่องระบบปัญญาประดิษฐ์ของเฟซบุ๊กก็ยืนยันว่า การวิจัยระบบจดจำใบหน้าของพวกเขาไม่ได้ต้องการล่วงล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งมีอยู่นับพันล้านคน แต่เป็นการวิจัยเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของบุคคลมากกว่า

เลอคุนกล่าวว่าเมื่อระบบดีปเฟซพัฒนาสำเร็จแล้ว เวลาที่มีคนอัปโหลดรูปขึ้นเฟซบุ๊กทางระบบจะแจ้งเตือนผู้ใช้เมื่อพบว่ามีคนอื่นอัปโหลดรูปภาพที่มีตัวผู้ใช้อยู่ในภาพด้วยและทำให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะเบลอหน้าของตัวเองที่อยู่ในรูปเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวหรือไม่ อย่างไรก็ตามมีหลายคนที่ไม่ชอบให้คนอื่นรู้ตัวว่าเป็นใครโดยพวกเขาจะไม่ชอบระบบแท็กชื่อที่มีในเฟซบุ๊กอยู่แล้ว

ไม่เพียงแค่ระบบดีปเฟซเท่านั้นที่มีความพยายามจดจำและระบุใบหน้าของผู้คน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็กำลังให้ทุนวิจัยในเรื่องการจดจำใบหน้าด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน ในภาคเอกชนก็มีการแข่งขันโดยกูเกิลและบริษัทอื่นๆ พยายามพัฒนาระบบจดจำใบหน้าบนรูปถ่ายและในวิดีโอ

ในตอนนี้ยังไม่มีการระบุขอบเขตทางกฎหมายชัดเจนว่าระบบพิจารณาจดจำใบหน้าตัวบุคคลจะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง แต่ก็มีคนกังวลว่าเทคโนโลยีนี้จะสร้างปัญหาในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวมากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหา

เลอคุนเปิดเผยว่าคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการตรวจพบความเหมือนกันระหว่างภาพวัตถุง่ายๆ เช่น ดอกไม้, ผ้าห่ม หรือ ตะเกียง อยู่แล้ว ส่วนใบหน้าของบุคคลซึ่งมักจะมีส่วนประกอบไม่ต่างกันอย่าง หู ตา จมูก ปาก ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน ทำให้เทคโนโลยีนี้มีมานานแล้วแม้กระทั่งในกล้องหรือคอมพิวเตอร์ราคาถูก

แต่การระบุตัวตนก็ยากขึ้นกว่าการตรวจความเหมือน เนื่องจากใบหน้าบุคคลไม่เหมือนกับรอยนิ้วมือตรงที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งริ้วรอย การเปลี่ยนอารมณ์บนใบหน้า การแสดงให้เห็นฟัน หรือแม้กระทั่งทำใบหน้าอารมณ์เดิมก็มีความแตกต่างกันได้ในแต่ละรูป ทำให้การระบุตัวตนจากใบหน้าเป็นความสามารถของมนุษย์ที่คอมพิวเตอร์ลอกเลียนได้ยากมาก

ในการนี้นักวิจัยใช้ระบบการเรียนรู้เชิงลึก โดยการสร้างข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ทดสอบเปรียบเทียบใบหน้าจำนวนมากจากฐานข้อมูลใบหน้า 13,000 รูป ที่มีหน้าตาของดารา 5,749 คน ซึ่งสำหรับคอมพิวเตอร์แล้วรูปใบหน้าเป็นแค่พิกเซลที่มีความเข้มข้นของแสงสีต่างกันเรียงตัวกันเป็นจำนวนมาก ระบบการเรียนรู้เชิงลึกของคอมพิวเตอร์จะจดจำส่วนต่างๆ ของบุคคลและเก็บค่าสถิติในแบบข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อเปรียบเทียบและแยกแยะความเหมือนกับความต่าง ยิ่งคอมพิวเตอร์ทดสอบการคาดเดาใบหน้าผู้คนมากเท่าใด ก็ยิ่งสามารถทำให้แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเคยนำเสนอความคืบหน้าของระบบดีปเฟซ ซึ่งหลังจากทดสอบเปรียบเทียบรูปใบหน้าระหว่างฝีมือมนุษย์และฝีมือของคอมพิวเตอร์พบว่ามนุษย์เปรียบเทียบใบหน้าได้ถูกร้อยละ 98 ส่วนดีปเฟซทำได้ร้อยละ 97.35 ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่าด้านอื่นๆ ร้อยละ 27 นอกจากการเรียนรู้เชิงลึกในคอมพิวเตอร์แล้วพวกเขายังอาศัยการเขียนโปรแกรมที่ทำให้คอมพิวเตอร์ตีความรูปแบบสามมิติได้ เช่น ถ้าเห็นรูปหน้าด้านข้างของบุคคล ระบบจะตีความรูปโดยประมวลว่าใบหน้าที่เหลือจะออกมาเป็นอย่างไร

ยานีฟ เทียกมัน หัวหน้าวิศวกรของโครงการดีปเฟซกล่าวว่าคอมพิวเตอร์ที่มีแกนประมวลผล 1 แกนใช้เวลาประมวลผลระบุตัวตนใบหน้าด้วยเวลาเพียง 1 วินาที และข้อมูลใบหน้าของผู้คนจำนวน 1 พันล้านคนเมื่อถอดเป็นภาษาการเขียนโปรแกรมแล้วสามารถบรรจุไว้ในทัมบ์ไดร์ฟหรือตัวเก็บข้อมูลแบบพกพาตัวเดียวได้

แต่โครงการนี้ก็สร้างความกังวลให้กับเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นในข่าวของสำนักข่าวฮัฟฟิงตันโพสต์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทางการอาจฉวยโอกาสใช้เทคโนโลยีนี้สืบค้นรูปภาพของประชาชนโดยที่ไม่เปิดเผยให้รับรู้ได้ ซึ่งทางเฟซบุ๊กปฏิเสธในเรื่องนี้ว่าพวกเขาจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทางการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลขอข้อมูลเท่านั้น

อิริค เลิร์นมิลเลอร์ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแมซซาชูเซตส์กล่าวว่าผู้คนอาจจะกลัวมากเกินไป เพราะการที่จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้จะต้องได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนจากตัวบุคคลนั้นๆ เหตุที่ผู้คนกลัวในเรื่องนี้น่าจะมาจากการขาดความโปร่งใสในการขอการยอมรับให้ใช้ข้อมูลส่วนตัวของเฟซบุ๊กเองด้วย

ในอีกแง่หนึ่งก็มีผู้ประเมินว่าตัวตนใบหน้าของผู้ใช้อาจจะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำหรับนักโฆษณา โดยเมนเนเก้ ศาตราจารย์ด้านการจัดการระบบข้อมูลจากมหาวิทยาลัยรัฐไอโอวากล่าวว่า ข้อมูลใบหน้าผู้ใช้จะทำให้ผู้โฆษณาเสนอสินค้าหรือบริการตามลักษณะนิสัยการเลือกซื้อและตามข้อมูลประชากรของตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวคือความคิดที่ว่าอาจจะมีคนบนท้องถนนจำพวกเขาได้เพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงระบบจดจำใบหน้าได้

อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กระบุว่าพวกเขาจะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กับเว็บไซต์อื่นๆ เป็นอันขาด โดยก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับบริษัท เฟซเชียลเน็ตเวิร์ก ในสหรัฐฯ ที่ใช้ระบบการจดจำใบหน้าของตัวเองสร้างโปรแกรมแอปพลิเคชันที่ชื่อ 'เนมแท็ก' ทำให้มีการระบุตัวตนใบหน้าคนผ่านสมาร์ทโฟนหรือกูเกิลกลาสได้ แต่ทางเฟซบุ๊กก็ส่งจดหมายเรียกร้องให้บริษัทเฟชเชียลเน็ตเวิร์กหยุดหาประโยชน์จากข้อมูลผู้ใช้งานของพวกเขา

เลิร์นมิลเลอร์ยังกลัวว่ารัฐบาลอาจจะนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าไปใช้ในทางที่ผิด โดยในฐานะที่เขาเป็นผู้สนับสนุนเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ซึ่งเป็นผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมประชาชนของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้เลิร์นมิลเลอร์บอกว่าผู้ใช้เองควรต้องระมัดระวัง โดยเลิร์นมิลเลอร์เองยังเป็นผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการวิจัยปฏิบัติการข่าวกรองระดับสูงของสหรัฐฯ (Intelligence Advanced Research Projects Activity) ในการพัฒนาโครงการระบุตัวตนจากหน้าตาที่ชื่อโครงการ 'เจนัส' (Janus) ทำให้น่าพิจารณาคำเตือนของเขาอย่างจริงจัง

 

เรียบเรียงจาก

Facebook will soon be able to ID you in any photo, Science Magazine, 05-02-2015
http://news.sciencemag.org/social-sciences/2015/02/facebook-will-soon-be-able-id-you-any-photo

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net