Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองสูงสุดเชียงใหม่ตัดสินคดีแม่เมาะ สั่ง กฟผ. อพยพชาวบ้าน รื้อสนามกอล์ฟ และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ด้านชาวบ้านพอใจคำตัดสินเพราะศาลยันว่า กฟผ. ผิดจริง

ภาพจาก : GREENPEACE

10 ก.พ. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศาลปกครองเชียงใหม่ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 16-31/2553 หมายเลขแดงที่ อ. 749-764/2557 ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวก 318 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวกรวม 11 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 สำนวน ฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ละเลยไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตรหลายประการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ก่อให้เกิดมลพิษและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายต่อชีวิต สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กรมควบคุมมลพิษ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ) ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการควบคุมมลพิษรวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้ ถูกฟ้องคดีที่ 7 ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 11 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ยุติหรือระงับการก่อเหตุรำคาญ

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 52 ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และเพิกถอนสนามกอล์ฟของโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกไป เป็นให้ผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 7 (กฟผ.) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1.ให้ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้

2. ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพ ราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความ ประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร

3. ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

4.ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุก ๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland

5. ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่ โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ได้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมหรือ สผ.แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามมาตรการข้อนี้ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ สิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดำเนินการตามคำพิพากษา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น.

ด้านคดีให้ กฟผ.จ่ายเงินชดเชยชาวบ้านที่ตรวจพบสารพิษตกค้างในร่างกายจำนวน 131 คน ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งวันที่ 25 ก.พ.นี้

ในส่วนของ ธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีให้จัดทำมาตรการป้องกันและ แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าต้องลงทุนมากน้อยเพียงใด โดยที่ผ่านมา กฟผ.ดำเนินโครงการต่าง ๆ ในการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า มะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ซึ่งร่วมกับพวกที่เป็นชาวบ้านแม่เมาะ ยื่นฟ้องคดีนี้ กล่าวว่า เบื้องต้นพอใจในระดับหนึ่งที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาดังกล่าวออกมา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า กฟผ.มีความบกพร่องในส่วนของการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net