Skip to main content
sharethis

 “PNYS ไม่ได้หายไปไหน แต่ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พวกเราตัดสินใจงดจัดงานพบปะ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า PNYS ถูกมองในแง่ไม่ดีมาตลอด”

ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาของสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ ดูเหมือนว่า กลุ่ม PNYS ได้หายไปจากแวดวงนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ ทั้งที่เคยมีบทบาทโดดเด่นมาตลอด จนถูกเฝ้าจับตามองจากฝ่ายความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง

กลุ่ม PNYS หรือกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไปเรียนหนังสืออยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งประกอบด้วย ปัตตานี (P) นราธิวาส (N) ยะลา (Y) สงขลาและสตูล (S) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความรักสามัคคี ปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นมุสลิม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และรวมตัวกันทำประโยชน์เพื่อสังคม เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในหลายๆ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา มีการรวมตัวครั้งใหญ่ของสมาชิกกลุ่ม PNYS ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งและบุคคลทั่วไปกว่า 1,200 คน ในงานระดมทุนสานฝันปันรอยยิ้มสู่เด็กกำพร้า PNYS ครั้งที่ 2 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี จัดโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อเด็กกำพร้า PNYS เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่เป็นลูกๆของสมาชิก PNYS

“แรกๆ เราจะจัดงานพบปะกันปกติทั่วไปเท่านั้น แต่เมื่อได้มาพูดคุยกันทำให้ทราบว่า มีสมาชิก PNYS หลายคนเสียชีวิตไปแล้ว ทิ้งลูกไว้ให้เป็นเด็กกำพร้า จึงเสนอกันว่าจะตั้งกองทุนช่วยเหลือพวกเขา ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุน เพราะการช่วยเหลือเด็กกำพร้าถือเป็นซุนนะห์ของท่านนบี” นายอุสมาน อาแว ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อเด็กกำพร้า PNYS ระบุ

การจัดงานระดมทุนครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ที่ร้านอาหารฮาซานะฮ์ จ.ยะลา เป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ซึ่งครั้งนั้นสามารถระดมเงินได้ประมาณ 120,000 บาท สามารถนำไปจัดสรรเป็นทุนการศึกษาแจกเด็กกำพร้าได้ 40 กว่าทุน ทุนละ 2,500 บาท

ปีนี้ตั้งเป้าไว้ 300,000 บาท ส่วนปีหน้าจะทำกระปุกออมสินขายให้ผู้เข้าร่วมงาน 500 ใบ กำหนดไว้คร่าวๆ ใบละไม่ต่ำกว่า 300 บาท

ปัจจุบันมีคณะกรรมการบริหารกองทุนใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 5 คน รวม 15 คน ประธานกองทุนคือให้ประธานกรรมการประจำจังหวัดที่เป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นประธานกองทุนสลับกัน ส่วนจังหวัดสตูลและสงขลายังไม่มีกรรมการให้กรรมการจาก 3 จังหวัดคอยประสานงานแทน

 

10 ปีที่ผ่านมา PNYS ไม่ได้หายไปไหน

นายอุสมาน ระบุว่า ที่ผ่านมา PNYS ไม่ได้หายไปไหน ก่อนปี 2547 พวกเขาจัดงานพบปะมาตลอด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พวกเขาตัดสินใจงดจัดงานพบปะ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า PNYS ถูกมองในแง่ไม่ดีมาตลอด เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกทุกคน ซึ่งหลายคนไม่กล้าแสดงตนว่าเป็นสมาชิก PNYS

“แต่ก็ใช่ว่าพวกเราไม่ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมอะไรเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะทหารเองก็ได้เชิญพวกเราไปร่วมจัดกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จัดที่สงขลาและปัตตานี เหมือนต้องการดูว่าพวกเราจัดกิจกรรมกันอย่างไร ซึ่งก็จัดกิจกรรมเหมือนกลุ่มอื่นๆ”

“แต่การที่พวกเราไม่ได้ขับเคลื่อนอะไรอย่างเข้มข้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะสมาชิกในกลุ่มของเราเมื่อเรียนจบออกมาแล้วก็ประกอบอาชีพหลากหลายมาก เช่น ครู ตำรวจ ทหาร นักการเมือง อุซตาซ ครูตาดีกา เป็นต้น ซึ่งยากมากที่จะมาทำงานสังคมไปในทางเดียวกันได้”

ส่วนความเชื่อมโยงกับกลุ่ม PNYS ที่กำลังศึกษาอยู่ในกรุงเทพในปัจจุบันนั้น นายอุสมาน บอกว่า ไม่ได้เชื่อมโยงกันทางโครงสร้าง แต่ก็มีความสัมพันธ์และประสานงานกันอยู่ เช่น เมื่อปีที่แล้วนักศึกษากลุ่ม PNYS ลงมาทำค่ายในพื้นที่ สมาชิก PNYS ก็รวบรวมเงินมากกว่า 40,000 บาทบริจาคสนับสนุน

เขาทิ้งท้ายว่า การที่กลุ่ม PNYS ถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง อาจเป็นเพราะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าความจริงจะสามารถแก้ปัญหาได้

“แต่วันนี้หลายอย่างเราไม่สามารถพูดออกมาได้ และตราบใดที่ยังไม่สามารถพูดความจริงก็จะแก้ปัญหาได้ลำบาก ยิ่งคนที่จะมาแก้ปัญหาเป็นคนนอกพื้นที่ซึ่งไม่เข้าใจบริบทต่างๆ ของพื้นที่ด้วยแล้ว การแก้ปัญหายิ่งลำบากเข้าไปอีก”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net