Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เกริ่นนำ

“ความบริสุทธิ์” เป็นสำนึกแห่งตัวตน นั่นคือ ความบริสุทธิ์เป็นสำนึกที่แบ่งแยกเราออกจากคนอื่น (Other) ยกตัวอย่าง เช่น  สำนึกแบบนาซีที่เชื่อว่า พวกตนเป็นเผ่าพันธุ์อารยันเลือดบริสุทธิ์ ซึ่งความคลั่งชาติดังกล่าวได้นำเยอรมันไปสู่การตัดสินใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างโหดเหี้ยม ไร้ปราณี และลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด  ภายใต้คำขวัญอันเกรียงไกรของมหาจักรวรรดิไรซ์ที่สะท้อนให้เห็นสำนึกความบริสุทธิ์ว่า “เผ่าพันธุ์เดียว จักรวรรดิเดียว และผู้นำเดียว” (Ein Volk, ein Reich, ein Führer) จากทัศนคติแบบนี้จะเห็นว่า “คนอื่นไม่ใช่คน” และกฎทางศีลธรรมย่อมบังคับใช้กับคนด้วยกันเท่านั้น สิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นคน (Other) กฎทางศีลธรรมย่อมไม่คุ้มครอง ดังนั้น ฆ่ายิวได้ไม่บาปเพราะยิวเป็นอื่น, ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้ไม่บาปเพราะคอมมิวนิสต์เป็นอื่น และฆ่าใครก็ตามที่เห็นต่างได้ไม่บาปเพราะคนเหล่านั้นเป็นอื่น และเหตุผลหลักในการทำลาย “สิ่งอื่น,คนอื่น” นั่นคือ เพียงดำรงรักษาและยืนยันความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์เท่านั้น

สำนึกเกี่ยวกับความบริสุทธิ์เห็นได้ชัดในเรื่องเพศ ซึ่งเป็นภาคแสดงของสำนึกทางศาสนาที่ฝังลึกอยู่ในสังคม เช่น ในหนังสือ  The Art of Love in the Colonies[1][2]  ซึ่งอธิบายถึงกิจกรรมทางเพศของบรรดาทหารในอาณานิคมฝรั่งเศส ผู้เขียนทึกทักเอาเองจากสำนึกความบริสุทธิ์ในฐานะเจ้าอาณานิคมว่า คนพื้นเมืองได้ทำให้ศีลธรรมของคนฝรั่งเศสเสื่อมทรามลง ทหารหลายคนต้องกลายเป็นพวกรักร่วมเพศ ชาวพื้นเมืองเป็นพวกรักร่วมเพศ และขายบริการทางเพศ ซึ่งเป็นการมองผ่านโลกทัศน์แบบวิกตอเรียนว่า “รักร่วมเพศ” ยังเป็นความชั่วร้ายตามความในพระคัมภีร์ นั่นคือ การมองว่า “คนอื่น” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทาส/เชลย” ทำให้เผ่าพันธุ์ของตนแปดเปื้อน ไม่สะอาดจากพระคริสตธรรม ที่ตลกกว่านั้น ในศตวรรษที่ 21 เมื่อ ภูมิปัญญาตะวันออกกลายเป็นสิ่งที่จะถูกสถาปนาให้บริสุทธิ์ พฤติกรรมรักร่วมเพศกลับถูกกล่าวหาว่า ได้รับอิทธิพลมาจากบรรดาเจ้าอาณานิคมเหล่านั้น และทำให้ศีลธรรมของคนพื้นเมืองเสื่อมทรามลง ทั้งที่ ในศตวรรษที่ 19 บรรดาเจ้าอาณานิคมยังรังเกียจพฤติกรรมรักร่วมเพศของคนพื้นเมืองอยู่แท้ๆ  และในเมื่อใครๆต่างอ้างว่าตนเองบริสุทธิ์ผุดผ่อง คำถามที่ตามมา ก็คือ “ความบริสุทธิ์อยู่ตรงไหน?”

การศึกษาในระยะหลังพบว่า “ความบริสุทธิ์” ในฐานะสิ่งที่ถูกใช้ ถูกอ้างถึง อาจไม่มีอยู่จริง กล่าวคือ น่าเชื่อว่าความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้น เพื่อจุดประสงค์ในการแบ่งแยกและสร้างอำนาจกดบังคับอาศัยศาสนาและรัฐร่วมมือกันสร้างวาทกรรม ดังนั้น คำสอนอันบริสุทธิ์ย่อมถูกอ้างเพื่อกวาดล้างคำสอนนอกรีตให้หมดไป และสถาบันที่จะอำนวยการกวาดล้างคำสอนนอกรีตเหล่านั้น ต้องเป็น “รัฐ” ซึ่งในที่นี้ จะยกระดับตัวเองขึ้นเป็น “ธรรมรัฐ” ปัญหาคือ “ธรรมรัฐ” ในฐานะผู้สถาปนาวาทกรรมและใช้อำนาจ ไม่ได้สนใจว่า คำสอนที่ เป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิม (Original ) จะมีอยู่จริงหรือไม่? อย่างไร? แต่ “ธรรมรัฐ” ได้สร้างคำว่า “บริสุทธิ์” เพื่อประดิษฐานและเบียดแทรกเจตนารมณ์ดั้งเดิมของคำสอนเหล่านั้น  จนที่สุด ผลแห่งการตั้งอยู่ของ “ความบริสุทธิ์” ได้สะสมลึกลงไปในระดับสำนึกของประชากร และมันย่อมนำไปสู่ การกล่าวโทษ “สิ่งอื่น,คนอื่น” ในฐานะปัจจัยที่ทำให้ตนเองแปดเปื้อน เมื่อเป็นแบบนี้สิ่งที่จะตามมาคือ ฉันทามติในการลงโทษคนที่มีมลทิน นั่นคือกลไกการล่าแม่มดแบบยุคกลาง ซึ่งผู้ได้ประโยชน์คือธรรมรัฐ และถ้ากระบวนการกวาดล้าง “สิ่งอื่น,คนอื่น” ทำให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นจริง เหตุใดการกวาดล้างในรอบหลายร้อยปีมานี้ จึงไม่เกื้อหนุนให้โลกสงบร่มเย็นขึ้นไม่ว่าในทางใด มากไปกว่านั้น เหตุใดการกวาดล้าง “สิ่งอื่น,คนอื่น” ในนามความบริสุทธิ์ ที่กระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสียชีวิตผู้คนไปมากมาย กลับไม่ฟอกประเทศให้บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นเสียที หรือคำสอนบริสุทธิ์ไม่มีจริง ธรรมรัฐเป็นมายาคติ หรือทุกอย่างเป็นแค่ข้ออ้างเพื่อใช้ในการฆ่าคน เพื่อลุถึงอำนาจรัฐโดยอาศัยละครฉากหน้าคือ ศาสนาและศีลธรรม


[1] คำสอนบริสุทธิ์ / คำสอนดั้งเดิม / คำสอนที่ผ่านการตีความ

ถือกันเอาเองว่า “คำสอนดั้งเดิม” เป็น “คำสอนบริสุทธิ์” แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า “บันทึก/เอกสาร/จารึก ดังกล่าว เป็นของดั้งเดิม?” จะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้บันทึกได้บันทึก “คำ” (The word) ศาสดาโดยไม่ตีความใดๆ เพราะลำพังความเป็นเอกสารที่เก่าที่สุด เพียงพอต่อการสรุปว่า  “นี่คือคำสอนดั้งเดิมซึ่งบริสุทธิ์จริงแท้แน่นอนได้หรือไม่?” หรือเราจะกล่าวได้เพียงว่า “นี่คือคำสอนดั้งเดิม” แต่กระนั้น การพูดว่าดั้งเดิมก็ยังมีปัญหาในตัวมันเอง นั่นคือ “นี่คือคำสอนดั้งเดิมจากพระศาสดา?” หรือ “นี่คือการตีความที่เก่าแก่ชุดหนึ่งของสำนักคิดนี้” ซึ่งในศตวรรษที่ 21 การตีความ (interpretation) เป็นศาสตร์ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีสำนักคิดมากมายที่มีวิธีวิทยาในการตีความแตกต่างกัน เป็นต้น สำนักคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาปฏิฐานนิยมย่อมตีความคำสอนในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือจะเป็นสำนักคิดที่มีพัฒนาการไปไกลกว่านั้น โดยใช้วิธีการตีความแบบที่เรียกว่า “การอ่านคือการเขียนมันขึ้นมาใหม่” (Writerly Text) อย่างไรก็ตาม ในสายตาธรรมรัฐ คำสอนจะถูกตีความอย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่การตีความนั้นก่อให้เกิดอำนาจกดบังคับ ซึ่งทำให้เกิดกระแสความคิดของประชุมชน เป็นต้น ในพุทธศาสนานั้น มีธรรมเนียมว่า “ลูกผู้ชายต้องบวช” ซึ่งคำว่า “ต้อง” (must) แปลว่า ธรรมเนียมนี้บังคับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศาสนาเลยหรือไม่ หรือ “การบวช” กลายเป็นเพียง พิธีกรรมแห่งการเปลี่ยน (Rite of Passage) ที่จะช่วยชำระผู้บวชจากมลทินในชีวิตเก่า และกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยชีวิตใหม่ด้วยกรอบคิดแบบคติชน เป็นไปได้หรือไม่ว่า การบวชเป็นแค่กระบวนการฟอกตัวเองให้บริสุทธิ์จากความผิด เหล่านี้เป็นที่น่าสงสัยว่า ไม่ใช่คำสอนดั้งเดิม แต่กลับถูกอนุญาตให้กระทำได้ ทั้งที่ อาจขัดหรือแย้งกับจุดประสงค์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือคำสอนดั้งเดิมด้วยซ้ำ (นั่นคือ ยอมให้โกนหัว ใส่ผ้าเหลือง เข้าสังฆกรรม ลงปาติโมกข์) กลายเป็นว่า คำสอนที่ว่ากันว่าบริสุทธิ์ก็ผ่านการตีความเสมอ แล้ว และบางครั้งก็ตีความแบบไร้เหตุผลเสียด้วย สรุปแล้ว “อะไรคือความบริสุทธิ์?”  หากเรากล่าวว่า เราจะปกป้องความบริสุทธิ์ของคำสอน นั่นหมายถึง เราห้ามตีความหรือไม่?  แล้วไอ้ที่ตีเลยเถิดไปแล้วต้องยกเลิกหรือไม่?


[2] การตีความของอำนาจเพื่อกีดกัน “สิ่งอื่น, คนอื่น”

ถ้าไม่มีการ “ตี”(Cut)  ความ อำนาจรัฐก็จะไม่สามารถกดบังคับได้อีกต่อไป เหมือนคำกล่าวของ Foucault ที่ว่า “ความรู้มิได้ถูกสร้างมาเพื่อความเข้าใจ แต่มันถูกสร้างมาเพื่อแบ่งแยกชนชั้นต่างหาก”  เพราะโดยพื้นฐานที่สุด การตีความจะทำให้เกิด “ผู้รู้” ซึ่งความจริง ก็ไม่ใช่ ผู้รู้ในความหมายว่า รู้แจ้งเห็นจริง (แต่มักจะสมอ้างกันว่า รู้แจ้งเห็นจริง) และธรรมชาติของการตีความย่อมหลากหลายในตัวมันเอง (Differance)  ดังนั้น ย่อมมีผู้ตีความมากกว่าหนึ่งคน แต่จะมีเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะได้ครอบครอง “อำนาจ/วาทกรรม” ในสงครามแห่งการช่วงชิงความหมายของการตีความ เป็นต้น ชนชั้นสูงเป็นผู้ผูกขาด “อำนาจ/วาทกรรม” ในการบวชภิกษุณีเถรวาทประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะ “ห้ามบวชภิกษุณี”แล้ว ยังทำราวกับว่า การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพศสภาพ เป็นสิ่งที่ควรต่อการละเมิดให้สาสมกับความบังอาจทำพระศาสนาให้แปดเปื้อนมัวหมอง ใครที่กล่าวดูหมิ่นในลักษณะที่ทำให้สตรีเหล่านั้นกลายเป็นที่เกลียดชังกลับเป็นสิ่งที่ทำได้?ในที่นี้จะเห็นว่า เพื่อที่จะรักษาความบริสุทธิ์ของศาสนา มีการดูหมิ่นและทำให้ “สิ่งอื่น,คนอื่น” เป็นที่เกลียดชังด้วย ดังนั้น จะถือได้หรือไม่ว่า การดูหมิ่นหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นองค์ประกอบของการชำระให้บริสุทธิ์?


[3] หน้าที่ของนักบวชผู้สอนคำสอนบริสุทธิ์

กฎหมายวางรากฐานบนคำสอนที่สถาปนาไว้ว่า “บริสุทธิ์” คือ ข้อบังคับของธรรมรัฐที่โน้มน้าวและชวนเชื่อให้เห็นภาพยูโทเปีย (Utopia) ซึ่งเป็นสภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความสุข ความปรองดองสมานฉันท์ ความสมัครสมานสามัคคี ความมีระเบียบวินัย และค่านิยมที่ดีงามอื่นๆ แต่ในความเป็นจริง เพื่อจะ “ฟอกรัฐให้บริสุทธิ์” ก็ต้อง “จัดการ” บรรดาประชากรที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายให้สิ้นซากเสียก่อน ซึ่งการจัดการที่ใช้ในการฟอกรัฐให้พ้นจากมลทินบาปแบบยุคกลาง คือ การล่าแม่มด  นั่นหมายความไปในทำนองเดียวกันกับ จักรวรรดิไรซ์ หรือไม่ว่า เพื่อจะนำรัฐไปสู่ธรรมรัฐอันบริสุทธิ์ จำเป็นจะต้องกำจัดสิ่งสกปรกที่เป็นอุปสรรคของยูโทเปียเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การจับกุมคุมขัง การทำให้หวาดกลัว การข่มขู่ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ดังนั้น ธรรมรัฐในอุดมคติซึ่งเป็นภาพ(ลวง)อนาคตที่มีแต่ความปรองดองสมานฉันท์ภายใต้คำสอนบริสุทธิ์ มีองค์ประกอบในระยะเริ่มแรก คือ การกำจัด ทำลายล้าง ใช่หรือไม่? ซึ่งการกำจัด ทำลายล้าง เบียดเบียน/ทำลายความเป็นมนุษย์ ควรถือว่าเป็นหนึ่งในคำสอนบริสุทธิ์หรือไม่? ในเมื่อไม่มีความกล้าหาญจากบรรดาผู้นำทางศาสนา นักบวช ที่จะชี้นำสังคมว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือลิดรอนเสรีภาพเป็นเรื่องขัดกับหลักคำสอนบริสุทธิ์อย่างร้ายแรง (ในกรณีที่ระบุว่า คำสอนบริสุทธิ์เคารพคุณค่าของมนุษยชนและปฏิเสธความรุนแรงทุกกรณี) เพราะในบางครั้งก็เป็นบรรดานักบวชเสียเองที่ชี้นำสังคม ในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเกลียดชัง หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เป็นต้น การยุยงส่งเสริมให้กำจัดคนชั่ว หรือลงทัณฑ์ทางสังคมต่อคนที่นักบวชได้กล่าวหาว่า ชั่วร้าย นี่อาจเป็นหน้าที่ของนักบวชในศาสนา ซึ่งหลายคนเคยตีความไว้ผิดๆ ว่า นักบวชเป็นผู้แก้ไขเยียวยาความทุกข์ในสังคม ด้วยการให้โอกาส ให้อภัย และเชื่อมประสานผู้คนด้วยการฝึกฝนตนเองให้รู้จักเผยแผ่จิตเมตตา? ดังนั้น อาศัยอำนาจของธรรมรัฐ นักบวชเป็นอาชีพหนึ่ง (ที่ไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และได้รับการลดหย่อนต่างๆมากมายแล้วแต่นโยบายของรัฐ) คือ พนักงานกล่อมเกลาทางจิตวิญญาณให้ศาสนิกเชื่องต่ออำนาจกดบังคับ และถ้าจำเป็น นักบวชเหล่านี้พร้อมจะชี้นำ ยุยง ส่งเสริม ให้ศาสนิกละเมิดสิทธิมนุษยชนทันที


[4] คำสอนบริสุทธิ์ในฐานะ “แค่เครื่องมือที่ถูกใช้”

สำหรับธรรมรัฐที่ต้องการครองอำนาจและกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่องต่ออำนาจกดบังคับ คำสอนบริสุทธิ์เป็นได้แค่เครื่องมือ ที่ไม่ต่างจากการใช้ฝิ่นเพื่อมอมเมาคนจีนให้เกียจคร้านและขี้โรค ดังนั้น การอ้างถึงคำสอนบริสุทธิ์ ย่อมถูกผลิตซ้ำโดยธรรมรัฐ เพื่อดำรงความเป็นรัฐที่เปี่ยมธรรมะ รัฐที่บริสุทธิ์ รัฐที่ยืนอยู่บนความสำเร็จในการกำจัดสิ่งที่ถือว่าเป็นมลทินสำหรับรัฐ เมื่อคำสอนของธรรมรัฐที่ชนชั้นปกครองช่วยกันแปะป้ายว่า “บริสุทธิ์”  เป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ใช้อ้างความชอบธรรมในการกำจัดสิ่งที่เรียกว่าความชั่วร้าย โดยที่สำนึกของธรรมรัฐมิได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ซึ่งการตีความคำสอนบริสุทธิ์จำต้องผูกขาดกับเรื่องชนชั้นอีกด้วย กล่าวคือ คำสอนบริสุทธิ์ต้องให้ความชอบธรรมในเรื่องชนชั้น การมีอยู่ของชนชั้น การแบ่งแยกฐานะของศาสนิก และตราบเท่าที่ไม่เป็นอันตรายต่อรัฐ ใครๆก็สามารถอ้าง “คำสอนบริสุทธิ์ก็ได้” เพราะไม่ต่างจากการช่วยรัฐส่งเสริมการใช้ฝิ่น เพื่อให้ประชาชนเชื่องและเฉื่อยชา จะได้เป็นประชาชนที่ปกครองง่าย เต็มไปด้วยความหวาดกลัวที่จะผิดจารีต เชื่อถือในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล ผูกขาดการตีความที่ไม่ขัดแย้งกับธรรมรัฐ ที่สำคัญเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และพร้อมจะแสดงกิริยากักขฬะ หยาบคาย จาบจ้วง หรือแสดงออกถึงความไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์ราวกับเป็นผู้ป่วยจิตเภท หรือโรคบุคลิกภาพแปรปรวน ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะ คำสอนบริสุทธิ์ เป็นแค่เครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อรับรองการมีอยู่ของธรรมรัฐเท่านั้น มันมิได้ถูกใช้เพื่อดับทุกข์อยู่ก่อนแล้ว


[5] ไม่จำเป็นต้องมีคำสอนที่บริสุทธิ์ แต่จำเป็นต้องมีคำสอนแห่งความเป็นคน

ในเมื่อธรรมรัฐกับคำสอนที่อ้างว่าบริสุทธิ์สมสู่เอื้อประโยชน์กัน จนไม่อาจแยกออกจากกันได้ ทั้งๆที่คำสอนบริสุทธิ์ก็ประดิษฐานอยู่อย่างมั่นคง แต่ไม่มีวี่แววว่าความเป็นคนจะได้รับการเคารพ ทั้งๆที่ชนชั้นปกครองต่างอ้างว่า ยึดถือคำสอนบริสุทธิ์เป็นสรณะ หรือเป็นถึงรัตนะด้วยซ้ำไป แต่ทว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนกลับไม่ได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกับคำว่า “คนเท่ากัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ” ซ้ำร้าย จำนวนศาสนิกที่ราวกับเป็นผู้ป่วยจิตเภท หรือโรคบุคลิกภาพแปรปรวนก็มีจำนวนมากขึ้น และเที่ยวรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนาไปทั่ว บ้างก็ทะเลาะกันเอง บ้างก็ทะเลาะกับคนต่างสำนัก บ้างคุมอารมณ์ได้บ้าง บ้างคุมไม่ได้เลย ไหนจะ บรรดามิจฉาชีพในคราบนักพิทักษ์คำสอนบริสุทธิ์ที่หากินกับการเปิดโปงความไม่บริสุทธิ์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นราวกับเป็นอาชีพใหม่ที่ได้ผลกำไรงาม ดังนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า เราจำเป็นต้องมีคำสอนที่บริสุทธิ์ไว้ให้คนเหล่านั้นอ้างเพื่อเอาไว้หลอกลวงผู้อื่นงั้นหรือ? หรือเราจำเป็นต้องมีคำสอนที่บริสุทธิ์ไว้ให้ธรรมรัฐอ้างความชอบธรรมในการล่าแม่มดงั้นหรือ? หรือเราควรที่จะตื่นจากมายาคติว่าของความบริสุทธิ์ แล้วหันกลับมาทบทวนพื้นฐานของความเป็นคน ในคำถามว่า อะไรเป็นข้อตกลงของคนเท่ากันจะอยู่ร่วมกันในสังคม?

เพราะถ้าเราไม่สนใจความบริสุทธิ์ของคำสอน แล้วหันไปใส่ใจคำสอนอะไรก็ตามที่ส่งเสริมคุณค่าความเป็นคน เราเองก็จะสามารถป้องกันพวกมิจฉาชีพให้หมดข้ออ้างในการหากินไปโดยอัตโนมัติ และในเมื่อคำสอนบริสุทธิ์ขายไม่ได้ ในเมื่อคำสอนบริสุทธิ์นำไปเป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ความเท่าเทียมจะค่อยๆเกิดขึ้นในสำนึกของผู้คนในสังคม เพราะไม่มีความจำเป็นต้องแบ่งเรา แบ่งเขา เช่น เอาเวลาทุ่มเถียงช่วงชิงความบริสุทธิ์แห่งคำสอน มาหารือและเคลื่อนไหวเพื่อให้คนทุกคนกลับคืนสู่ความเป็นคน  ไม่ได้เป็นแค่ “สิ่งอื่น,คนอื่น” หรือคนไร้เสียง (Sub altern) อีกต่อไป และเพศวิถี เพศสภาพ ก็ควรได้รับการยอมรับตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือก่อความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ว่าคำสอนนั้นจะบริสุทธิ์ ดั้งเดิม หรือผ่านการตีความ หากเป็นไปเพื่อสนับสนุนคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและจริงใจแล้ว คำสอนนั้นก็เป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่ง เพื่อเป็นความร่วมมือกับบรรดาเสรีชนในอันที่จะเยียวยาบาดแผลที่ศาสนาบริสุทธิ์ คำสอนบริสุทธิ์ ธรรมรัฐ และบรรดาคนดี คนบริสุทธิ์สร้างไว้ให้แก่ประชาชน

 

สรุป

มิจฉาชีพต่างอ้างว่าตัวรู้คำสอนบริสุทธิ์เพื่อหลอกเอาทรัพย์จากผู้ที่หลงเชื่อด้วยกันทั้งนั้น พวกเขาเหล่านั้นย่อมสถาปนาความเป็นคนดีของตนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเพื่อความร่ำรวยมั่งคั่งในอนาคต เขาหากินกับความเชื่องมงายของผู้คนบนพื้นฐานของการเหยียดหยามคนอื่น และมุ่งกำจัดคู่แข่งในวงการเดียวกันด้วยเรื่องความไม่บริสุทธิ์ พวกเขาสาละวนกับการทำมาหากินในลักษณะนี้ เป็นต้น วัตถุ รูปเคารพ พิธีกรรม งานรื่นเริง จนเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งๆที่มันขัดแย้งกับหลักธรรมที่พวกเขามักอ้างถึง พวกเขาทำเหมือนจะช่วยเหลือสังคม แต่แท้ที่จริงเป็นการสร้างฐานที่มั่นแห่งความมั่งคั่งให้ตนเองในอนาคต พวกเขาต้องการคำสรรเสริญ เยินยอ การได้ยืนอยู่บนเวที การได้พูดถึงสิ่งที่เชื่อว่าเป็นธรรมะบริสุทธิ์ครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาไม่เคยมีแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ อาชญากรรม อย่างยั่งยืนแต่อย่างใด สิ่งเหล่านั้นถูกโยนให้ธรรมรัฐ ในฐานะลูกศิษย์ ซึ่งต่อมาพบว่า เป็นการหลอกใช้กันเอง ภายใต้หน้ากากแห่งมารยาทของการอวยกันเอง มันเป็นวงจรที่มีแต่ตัวเองและความมั่งคั่งของตัวเอง โดยที่คนจน คนชายขอบกลายเป็นคนนอกเสมอ ในบางประเทศที่เต็มไปด้วยผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน แต่ในความเป็นจริงผู้คนกลับยากจนข้นแค้น และไม่เคยหยั่งรู้ว่าวันใดจะมีสิทธิเสรีภาพ ในบางประเทศที่เทิดทูนคำสอนบริสุทธิ์ และธรรมรัฐ แต่กลับไม่มีรัฐธรรมนูญ และคำสอนที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในบางประเทศที่มีผู้ป่วยด้วยอาการทางจิตมากมาย แต่กลับปฏิเสธที่จะรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์และกระบวนการบำบัดทางจิตวิทยา

นี่แหละคือผลของการรักษาความบริสุทธิ์ ซึ่งบรรดาผู้รู้ที่มีมากมายเต็มบ้านเต็มเมือง ร่วมกันกับบรรดาศาสนิกชนคนดี นักบวชผู้ฟอกตัวและฟอกเงิน ซึ่งคิดเอาเองว่า ตัวเป็นประชากรส่วนใหญ่ (คนดีย่อมเชื่อว่าตนมีสิทธิ์มากกว่าคนชั่ว) ช่วยกันยืน ช่วยกันยันภาวะข้างต้นนี้เอาไว้ จึงทำให้บางประเทศที่รักษาจารีตลักษณะนี้ ก้าวขึ้นสู่ประเทศที่มีโสเภณี การคอรัปชั่น การค้ามนุษย์ ติดอันดับโลกอย่างมั่นใจ อาจเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นศูนย์กลางแห่งความบริสุทธิ์ของศีลธรรม เป็นบ้านเมืองคนดี พร้อมกันกับการเป็นศูนย์กลางของธุรกิจค้าบริการทางเพศขนาดใหญ่ของโลก “ก็เป็นได้”

 

 

เชิงอรรถ

[1] เกี่ยวกับสำนึกความบริสุทธิ์ของเจ้าอาณานิคมกับกิจกรรมทางเพศในประเทศอาณานิคมสามารถเข้าถึงเนื้อหา (ภาษาอังกฤษ) บางส่วนได้จาก Jeffrey Merrick, Michael Sibalis (2001). Homosexuality in French History and Culture. Harrington Park Press . p 201-216 http://books.google.co.th/books/about/Homosexuality_in_French_History_and_Cult.html?id=txKhrGe-mRQC&redir_esc=y
[2] ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในหนังสือ เพศ: จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ อ้างถึงเอกสารทำนองเดียวกันระหว่างหน้า 76-79 (Robert Aldrich, “Homosexuality in the French Colonies,” Journal of Homosexaulity, Vol. 41, No.3-4 (January, 2002).p.203-206

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net