Skip to main content
sharethis
ตัวแทนองค์กรสื่อหารือ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่ปิดโอกาสทำข่าวเชิงลึก และอาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
 
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่าตัวแทนองค์กรสื่อ อาทิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติไซเบอร์ โดยนายจักรกฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติไซเบอร์ทั้ง 10 ฉบับ มีความเป็นห่วงใน 8 ฉบับ ในประเด็นที่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เดิมเคยยกเว้นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลในสื่อมวลชนไว้ แต่ฉบับใหม่ได้ตัดข้อความนั้นออกไป ทำให้การทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกปิดโอกาสในการทำข่าวประเภทนี้ได้
 
ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ กล่าวแสดงความเป็นห่วงเรื่องอำนาจหน้าที่ของร่าง พ.ร.บ.แต่ละฉบับที่เขียนไว้ใกล้เคียงกัน ในการเข้าไปตรวจค้น เข้าถึง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเอกชน โดยไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทอรนิกส์ ที่ให้ กปช.มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ทั้งโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาลและในกรณีที่ทำผิดกฎหมายอาญาอื่นๆ และเจ้าหน้าที่มีสิทธิแฮกข้อมูล ดักจับข้อมูล ยึดคอมพิวเตอร์ ยึดโทรศัพท์และยึดอุปกรณ์ โดยไม่ต้องขอหมายศาล แต่ได้เบาะแสว่าจะทำความผิด หรือตรวจพบว่ามีการไลน์คุยกัน เพื่อนัดกันทำผิดกฎหมาย สามารถยึดโทรศัพท์มาตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งถือเป็นการให้อำนาจเกินขอบเขตของร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์
 
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่มีการฝึกอบรมด้านการบังคับใช้กฎหมาย จึงเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต และอาจกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนที่ทำธุรกรรมต่างๆ รวมทั้งในกรณีที่เกิดปัญหา เอกชนไม่สามารถเอาผิดกับ กปช.ได้เลย จึงเกรงว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ อาจสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล ทำให้เอกชนไม่กล้ามาลงทุน เพราะกลัวจะถูกอำนาจรัฐเข้าแทรกแซงอำนาจเอกชน ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้รัฐบาลทบทวนร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ นี้ให้ดีก่อน
 
ด้านนายวิษณุ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติไซเบอร์ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา 1-2 เดือนในการแก้ไขปรับปรุง โดยรัฐบาลยินดีรับฟังการท้วงติงและข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net