Skip to main content
sharethis
กลุ่มแรงงานเบรก สนช.ดัน พ.ร.บ.แรงงานฉบับ ขรก. - “พีระศักดิ์” เชิญตัวแทนคุย กมธ.2 ก.พ.
 
(29 ม.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.53 น. น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือถึงนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เพื่อขอคัดค้านกฎหมายประกันสังคมที่ตัดสิทธิ กรณีว่างงานผู้ใช้แรงงานลาออกจากงาน 30 เปอร์เซ็นต์และจำกัดสิทธิ เมื่อการสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างของแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทยให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ รวมถึงขอให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ… ฉบับกระทรวงแรงงาน เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
       
โดย น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายประกันสังคมได้ตัดสิทธิประโยชน์ว่างงานที่ผู้ประกันตนสมัครใจลาออกจากงานอันมีเหตุจำเป็น เช่น ผู้ใช้แรงงานที่มีโรคประจำตัวบ่อยและคนในครอบครัวเจ็บป่วย หรือไม่มีคนดูแล มีเหตุให้จำเป็นต้องลาออกจากงาน มีสิทธิได้รับเงิน 30 เปอร์เซ็นต์ 90 วัน จึงขอให้ สนช.ได้คงสิทธิการสมัครใจลาออกจากงานไว้เหมือนเดิม และขอคัดค้าน สนช.ที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ…
       
ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการแรงงาน ยื่นหนังสือถึงนายพีระศักดิ์ด้วย เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ… ฉบับกระทรวงแรงงานด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีความเร่งรีบในการเสนอร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ โดยไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยเป็นอย่างมาก และยังไม่มีการนำสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ…. ฉบับบูรณาการแรงงานมาร่วมพิจารณา เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเนื้อหาสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน จึงขอให้ชะลอการนำ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ…. ฉบับกระทรวงแรงงานเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
       
ขณะที่นายพีระศักดิ์กล่าวว่า สนช.เห็นอกเห็นใจและจะนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวส่งให้ กมธ.ที่เกี่ยวข้องพิจารณา ทั้งนี้ ตนทราบว่ากฎหมายประกันสังคม ยังพิจารณาอยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ... ซึ่งในวันที่ 2 ก.พ.จะขอเชิญตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจำนวน 5 คนเข้าให้ข้อเสนอต่อ กมธ.เพื่อประกอบการพิจารณา 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-1-2558)
 
บุกช่วย 4 คนไทยถูกหลอกเป็นแรงงานบนเรือประมงเวียดนาม
 
ทัพเรือภาคที่ 1 ช่วย 4 คนไทยบน เรือประมงเวียดนาม หลังถูกหลอกไปค้าแรงงานเป็นลูกเรือประมง พร้อมรวบ 17 ลูกเรือชาวเวียดนาม และเรือประมง 3 ลำ  หลังทาสีเปลี่ยนเป็นชื่อเรือพร้อมชักธงไทย รุกน่านน้ำไทยเข้าจับ ปลิงทะเลในน่านน้ำไทย  เชื่อกินแล้วคึกปึ๋งปั๋ง
 
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (31 ม.ค.58 ) พล.ร.ท.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขตทัพเรือภาคที่ 1 ได้สังการให้ น.อ.สำเริง จันทร์โส รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1 นำเรือหลวงสุโขทัย และเรือตรวจการณ์ ต.99 ออกตรวจจับเรือประมงสัญชาติเวียดนาม หลังรับแจ้งว่ามีการลับลอบเข้ามาทำประมงในทะเลอ่าวไทย บริเวณเกาะจวง ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
 
ทั้งนี้ ได้ตรวจพบกลุ่มเรือประมงสัญชาติเวียดนาม เปลี่ยนชื่อเป็น ฉลามทองนาวา 10  ฉลามทองนาวา 1 และ ศักดานคร 1 ชักธงชาติไทย บนยอดเก๋งเรือ จำนวน 3 ลำ กำลังทอดสมอทำประมงอยู่ในพิกัดแบริ่ง 130 ระยะ 30 ไมล์ จากเกาะจวง จึงส่งเรือยางตีวงล้อมปิดล้อมจับกุมได้ทั้งหมด ประกอบด้วยเรือKG.91870.TS เปลี่ยนชื่อเป็น ฉลามทองนาวา 10  หมายเลข CM 99124 TS เปลี่ยนชื่อเป็นฉลามทองนาวา 1 และอีกลำไม่มีเลขเรือ เปลี่ยนชื่อเป็น ศักดานคร 1  และจากการตรวจค้น พบแรงงาน ชาวไทย จำนวน 4 คน หลังถูกหลอกไปทำงานบนเรือประมงเวียดนาม ได้แก่ นายนิมิต เขาวงษ์ อายุ 21 ปี(สวมเสื้อสีน้ำตาล)  นาย ขบวน เขาวงษ์  อายุ 52 ปี (สวมเสื้อเชิ้ต สีน้ำตาลอ่อน) ซึ่งเป็นพ่อลูกกัน บ้านเลขที่ 140 ม.12 ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี นายนิพน พันธุอินทร์ อายุ 55 ปี(สวมเสื้อแขนสั้นสีเหลือง) และ นายกลับ ศรีเตาปูน อายุ 59 ปี (เสื้อเชิ้ตลายสีฟ้า สวมแว่วตา) ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ใน อ..เมือง จ.ระยอง ยังพบปลิงทะเลจำนวมาก ถูกแช่เกลือในถังน้ำ 200 ลิตร จำนวนหลายถัง รวมทั้งปลาหมึกจำนวนหนึ่ง จึงตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน
 
เบื้องต้นได้ควบคุมเรือ พร้อมไต้ก๋ง และลูกเรือชาวเวียดนาม รวม 17 คน และชาวไทยที่ถูกหลอกจำนวน 4 คน เข้าเทียบท่าเรือกลางอ่าว กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรสัตหีบ ให้ดำเนินคดีในข้อหาทำการประมงรุกล้ำน่านน้ำไทยในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หนีเข้าราชอาณาจักไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และผิดตามพ.ร.บ.สิทธิทำการประมง และส่ง ชาวไทยที่ถูกหลอกจำนวน 4 คนให้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.)  และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์. (ปคม) ไปคัดแยกและช่วยเหลือต่อไป
 
น.อ.สำเริง จันทร์โส กล่าวว่าที่ผ่านมา มีเรือประมงสัญชาติเวียดนามลักลอบเข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทย และถูกจับกุมแล้วกว่า 80  ลำ ซึ่งครั้งนี้เราได้พบแรงงานชาวไทยจำนวน 4 คน ที่ถูกนายหน้าชาวไทยในพื้นที่จังหวัดระยองหลอกไปทำงานบนเรือประมงเวียดนาม โดยบอกจะให้วันละ 1,000 บาท 5 วันเรือจะเข้ามาที่ท่าเรือ 1 ครั้ง แต่พอลูกเรือขึ้นไปทำงาน เงินจะได้แค่ครั้งแรก คือ 5 พันบาท แรกก่อนที่เรือจะออกไปทำการประมงโดยไม่มีกำหนดกลับ และไม่ได้เงินส่วนที่เหลือ ซึ่งทั้ง 4 คน ที่หลอก ทำงานบนเรือมานานถึง 17 วัน ยังไม่ได้เข้าฝั่ง โดยจะลอยลำอยู่กลางทะเล และมีเรือเสบียงที่ของคนไทยไปส่งข้าวส่งน้ำให้ และนำของทะเลเข้ามาฝั่ง จนเจ้าเรือหลวงของกองทัพเรือที่ทำการลาดตระเวนไปเจอและสามารถช่วยเหลือกลับมาได้ สำหรับปลิงทะเล ที่จับได้จะส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน   มีบางส่วนนำมาขายในไทย เพราะมีราคาที่สูง และเป็นที่นิยมของนักเปิบพิสดาร   เพราะมีความเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ รักษาโรคหลายชนิด เสริมสมรรถภาพทางเพศชั้นเลิศ  
 
นายกลับ ศรีเตาปูน อายุ 59 ปี  คนไทยที่ถูกหลอกไปทำงาน กล่าวว่า ตนและอีก3 คนชาวไทย เป็นคนงานก่อสร้าง แถวหาดแม่รำพึง  จ.ระยอง ก่อนจะมีหน้านายชาวไทยมาชวนให้ไปทำงานบนเรือประมง ซึ่งตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นเรือประมงเวียดนามเนื่องจากมีการดัดแปลงเป็นชื่อเป็นประมงไทย โดยบอกว่าจะให้ค่าจ้าง วัน 1,000 บาท โดยจะทำการประมง 5 วัน แล้วจะนำเรือเข้าฝั่ง ซึ่งตอนแรกได้เงินสดมาคนละ  5 พันบาท ก่อนจะลงเรือ แต่หลังจากออกเรือประมงไป พบว่าเรือประมงไม่ท่าที่จะเข้าฝั่งเลย ซึ่งพวกตนก็ไม่กล้าต่อว่าหรือทักทวงเนื่องจากกลัวตนเองจะเกิดอันตราย  จนมาถึงวันที่ 17 ที่อยู่บนเรือประมงเวียดนาม ก่อนที่เรือรบของกองทัพเรือจะเข้ามาจับกุมและช่วยเหลือได้กล่าว
 
(ข่าวสด, 31-1-2558)
 
ผลการศึกษาเรื่อง "ข้อเท็จจริง10ปีระบบข้าราชการไทย" ระบุกำลังคนเพิ่ม 50% ด้านประสิทธิภาพและความโปร่งใสกลับลดลง
 
สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดผลการศึกษาเรื่อง"ข้อเท็จจริง10ปีระบบข้าราชการไทย" ระบุกำลังคนเพิ่ม50% ขณะที่ฐานเงินเดือนสูสีกับภาคเอกชน ส่งผลให้งบด้านบุคลากรขยายตัว 3 เท่า แต่ผลการจัดอันดับด้านประสิทธิภาพและความโปร่งใสกลับลดลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีรายละเอียดดังนี้]
 
การอนุมัติขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเฉลี่ย 6.5% ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นาน มีการปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นคนละอย่างน้อย 4% และขยายเพดานเงินเดือนอีก 10% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดูสมเหตุสมผล เพื่อให้เงินเดือนของข้าราชการสะท้อนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนมาตั้งแต่ปี 2554 และครั้งนี้จะเป็นการปรับครั้งที่ 6 ในรอบ 10 ปี
 
หากย้อนกลับไปดู 10 ปี ที่ผ่านมา จะพบว่าจำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมากคือลูกจ้างรัฐ และพนักงานรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 เท่า บางกระทรวงมีลูกจ้างและพนักงานมากกว่าข้าราชการประจำ ฐานเงินเดือนก็ไม่ต่ำอีกต่อไป จากที่ข้าราชการเคยได้รับเงินเดือนแรกเข้าเพียง 2 ใน 3 ของพนักงานเอกชนที่ระดับการศึกษาเท่ากัน แต่ปัจจุบันข้าราชการได้เงินเดือนแรกเข้าสูงกว่าพนักงานเอกชนโดยเฉลี่ยราว 10% เพราะนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีให้ได้ 15,000 บาทต่อเดือน
 
งบบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากเมื่อสิบปีก่อน ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล งบบุคลากรภาครัฐเมื่อเทียบกับจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%)
 
งบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากอาจจะไม่ได้ส่งผลให้ผลงานของภาครัฐใน 10 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นเท่าที่ควร เพราะทั้งประสิทธิภาพและความโปร่งใสของภาครัฐแย่ลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากผลการวิจัยของธนาคารโลกพบว่า ความมีประสิทธิผลของรัฐบาลไทยอยู่อันดับ 74 จาก 196 ประเทศ ตกลงจากอันดับ 65 เมื่อสิบปีก่อน
 
ปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐก็แย่ลงเช่นกัน จากผลวิจัยของธนาคารโลกเช่นเดียวกัน พบว่าไทยตกจากอันดับ 91 เมื่อสิบปีก่อน มาเป็นอันดับ 98 จาก 196 ประเทศ
 
ด้าน World Economic Forum สำรวจและจัดอันดับเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศ อันดับใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย (94) และมาลาวี (92)
 
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวเสริมว่า “ทั้งหมดนี้ยิ่งเป็นการเน้นว่า การปฏิรูประบบราชการต้องเป็นวาระที่ควรทำเป็นอันดับแรก และต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะการปฏิรูปด้านอื่นๆ จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยกลไกของรัฐแทบทั้งนั้น ยิ่งตอนนี้ก็จะเป็นโอกาสที่ดี เพราะจะมีข้าราชการราว 40% จะเกษียณอายุในอีก 15 ปีข้างหน้า”
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 31-1-2558)
 
สอท.ห่วงแรงงานขาดเกิน 5 แสนคนหลังลงทุนพุ่ง
 
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านแรงงาน เปิดเผยว่า จากยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2557 ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 7 แสนล้านบาท ทำให้คาดว่าจะเกิดการจ้างงานเพิ่มกว่า 1 แสนคน ซึ่ง ส.อ.ท. มีความกังวลถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะรุนแรงมากขึ้น และเมื่อรวมกับตัวเลขการขาดแคลนแรงงานที่มีอยู่ ทำให้รัฐบาลจะต้องหาแรงงานมาเพิ่มให้กับภาคการผลิตไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน โดย ส.อ.ท. ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่ การผ่อนคลายนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยขยายรวมไปถึงประเทศที่อยู่ไกลขึ้น เช่น บังกลาเทศ เวียดนาม อินโดนีเซีย  การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ ฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำเครื่องจักรมาใช้ในกระบวนการเกษตรมากขึ้นแทนแรงงานคนที่ปัจจุบันมีการใช้แรงงานสูงถึงร้อยละ 39 ของแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้มีแรงงานจำนวนมากเข้าสู่ภาคการผลิตได้ และจะทำให้เศรษฐกิจรวมทั้งประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก
 
นอกจากนี้เห็นว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ควรวางยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปด้านแรงงานด้วย เพราะเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากไทยยังอยู่ในระดับต่ำอันดับที่ 57 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์
 
(ไอเอ็นเอ็น, 1-2-2558)
 
กนอ.สั่งโรงงานยางหยุดผลิตชั่วคราวจากเหตุไฟไหม้ ขณะผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
 
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้ บริษัท แอลแอลไอที ประเทศไทย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตยางรถยนต์ (Radial Tyre) จำนวนพื้นที่โรงงาน 333 ไร่ เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท จำนวนคนงาน 619 คน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง บริเวณคลังเก็บผลิตภัณฑ์ (ยางรถยนต์) และลุกลามไปยังอาคารเก็บผลิตภัณฑ์ข้างเคียง รวมทั้งหมด 6 อาคาร ไม่กระทบต่ออาคารการผลิต และไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
 
ล่าสุด กนอ. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 39 ให้บริษัทหยุดประกอบกิจการโรงงานชั่วคราวแล้ว พร้อมดำเนินการปิดกั้นรางระบายน้ำบริเวณโดยรอบบริษัทที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้น้ำจากการดับเพลิงไหลออกสู่ภายนอกได้ และจะนำไปบำบัดตามกระบวนการมาตรฐานอย่างถูกวิธีต่อไป
 
ขณะที่ผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ สถานีเหมราชฯ พบว่าค่าเฝ้าระวังหลัก ฝุ่น, SO2, NO2 สูงขึ้นแต่ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน โดย กนอ. ได้จัดส่งรถ Mobile Unit สำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากนิคมฯ มาบตาพุด จังหวัดระยอง ไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานดังกล่าว
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 2-2-2558)
 
รวบแก๊งตุ๋นหลอกคนสุโขทัยไปทำงานลาว
 
(2 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังรักษาความสงบ จทบ.พิษณุโลก และตำรวจ สภ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ได้จับกุมนายสนั่น ยะด้วง อายุ 55 ปี, นางชโลทร ต๊ะบรรจง อายุ 48 ปี ชาว อ.เมืองลำปาง, นายพลอย ปุ๊ดหน่อย อายุ 52 ปี และนางผัด สามเมือง อายุ 52 ปี ชาว อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ซึ่งร่วมกันหลอกลวงชาวบ้านให้ไปทำงานที่ สปป.ลาว
       
โดยการจับกุมมีขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ได้รับร้องเรียนว่า ที่บ้านเลขที่ 184/1 หมู่ 9 ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย มีการเปิดรับสมัครคนไปทำงานที่ สปป.ลาว เสียค่าใช้จ่ายคนละ 15,000 บาท มีผู้ไปสมัครแล้ว 46 คน แต่รอมานานถึงครึ่งปีก็ยังไม่ได้ไปทำงาน กลัวโดนหลอกลวง จึงร้องเรียนให้ทหารช่วยเหลือ
       
จากการตรวจสอบสถานที่รับสมัครงานในบ้านดังกล่าว พบเอกสารรับสมัครจำนวนมาก จึงยึดไว้เป็นของกลาง พร้อมใบเสร็จรับเงิน บัตรเอทีเอ็ม 3 ใบ โทรศัพท์มือถือ 5 เครื่อง และเงินสด 500,000 บาท ส่งดำเนินคดีร่วมกันจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง และร่วมกันทำการรับสมัครเพื่อพาลูกจ้างในประเทศไทยด้วยตนเอง เพื่อไปทำงานต่างประเทศ 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-2-2558)
 
ร้อง สปช.ชงเสนอ ครม.แก้ปัญหาระบบสวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัยกว่า 1 แสนคนที่ไร้สวัสดิการ 
       
(3 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.45 น. นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ พร้อมคณะ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการแรงงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหาระบบสวัสดิการของพนักงานมาวิทยาลัย
       
นายวีรชัยกล่าวว่า บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในปัจจุบันที่ไม่ใช่ข้าราชการมีจำนวน 106,366 คนซึ่งถูก พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดว่าไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ทำให้เสียสิทธิในการปกป้องสถานะภาพตนเองหลายอย่าง แตกต่างจากพนักงานระบบรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระบบแรงงานสัมพันธ์ เนื่องจากทำสัญญาจ้างระยะสั้น เมื่อตรวจสอบการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสในสถาบันอุดมศึกษา จึงทำได้ยาก เพราะจะถูกให้ออกจากงานได้ทุกเมื่อ ฟ้องศาลแรงงานก็ไม่ได้
       
นายวีรชัยกล่าวว่า มติ ครม.ปี 2542 ให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ แต่เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมของกระทรวงแรงงานแทนที่จะสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพให้ดีเหมือนราชการเดิม ทำให้สิทธิรักษาพยาบาลที่ได้รับแย่กว่าระบบราชการเดิม และแย่กว่าระบบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ
       
นอกจากนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยเริ่มไหลออกจากระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเรียนเก่ง อาจารย์แพทย์ศัลยกรรมบางท่าน มีประสบการณ์สูงก็ลาออกไปอยู่เอกชน ดังนั้น ขอเสนอให้กรรมาธิการฯ เสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยผลักดันให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลอุดมศึกษา (เหมือนราชการเดิม) ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริหารจัดการโดย สป.สช. ระบบจ่ายตรง สวัสดิการคลุมบิดามารดาและบุตร
       
ด้าน พล.ท.เดชากล่าวว่า จะรับข้อมูลไปพิจารณาในรายละเอียด โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไปอาจจะต้องเชิญตัวแทนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความรอบด้านมากยิ่งขึ้นด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-2-2558)
 
มติ ครม. ไฟเขียวขึ้นเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ
 
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป 
 
โดยกำหนดให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างในระดับต่ำสุด จากเดิมที่ 5,780 บาท มาเป็น 9,040 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างในระดับสูงสุด จากเดิมที่ 113,520 บาท มาเป็น 142,830 บาท
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ยังเห็นชอบให้การพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจแบบก้าวกระโดดนั้น จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากมติของซุปเปอร์บอร์ด และนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ด้วย
 
(มติชน, 3-2-2558)
 
ปรับโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอใหม่ เน้นให้ทุนเรียนต่อสายอาชีพ
 
3 ก.พ.2558 ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนภายหลังหารือร่วมกับนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัดศธ.) ผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ รุ่นที่ 4 (One District One Scholarship ) ว่า ทุนโอดอสรุ่น 4 ไม่สามารถคัดเลือกเด็กมารับทุนให้ครบทุกอำเภอได้ ส่งผลให้เหลืองบประมาณร่วม 1,200 ล้านบาท ศธ.จึงเตรียมปรับเปลี่ยนทุน จากเดิมที่เป็นการให้ทุนนักเรียนสายสามัญเรียนต่อระดับปริญญาตรี ทั้งในและต่างประเทศ มาเป็นการให้ทุนเรียนต่อสายอาชีพ เพื่อชักจูงให้เด็กมาเรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น
 
โดยจะมีการให้ทุนใน 2 ลักษณะ คือ ให้ทุนนักเรียนที่ จบ ม.3 เพื่อเรียนต่อสายอาชีพในระดับต่างๆ รวมถึงระดับปริญาตรี ในมหาวิทยาลัยราชมงคล เพื่อสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติการป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยจับมือกับกลุ่มอุตสาหกรรม ให้ทุนแก่เด็กกลุ่มนี้เรียนฟรี ฝึกงาน ทั้งในและต่างประเทศ และมีการรับประกันการมีงานทำเรียนจบแล้วรับเข้าทำงานทันที
 
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวต่อว่า ทุนอีกลักษณะจะเป็นการให้ทุนอาจารย์เรียนต่อ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์สายปฏิบัติการ แก้ปัญหาขาดแคลนครูสายปฏิบัติการ รวมถึงให้ทุนผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วเรียนต่อเพื่อเป็นช่างเทคนิค ทั้งนี้ จะมีการแจกทุนทั้งหมด 5 รุ่น รวม 2,000 ทุน แบ่ง 3 ระยะคือ ระยะสั้น 6 เดือนถึง 2 ปี ระยะกลาง 3-4 ปี และระยะยาว 7-9 ปี ใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2558-2562 และเปลี่ยนชื่อจากโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน มาเป็น โครงการช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ ทั้งนี้ จะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า ก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ และจะต้องนำเข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วย โดยจะพยายามนำเข้า ครม.ให้ทันเดือนมีนาคม นี้
 
(แนวหน้า, 3-2-2558)
 
แมนพาวเวอร์หวั่นเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ส่งออกติดลบ ฉุดความต้องการแรงงาน ระบุปริญญาตรีส่อว่างงาน 50%
 
นางสาวสุทธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยปีนี้ คาดว่าจีดีพีจะเติบโตจากปีที่แล้วประมาณ 1.5% แต่การส่งออกอาจหดตัวกว่า 2% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น และจีน ที่ค่อนข้างชะลอตัว ไม่เติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
 
ขณะที่อัตราการบริโภคภายในประเทศ จะขยายตัวต่ำกว่า 1% ซึ่งจะส่งผลกระทบในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยค่อนข้างมาก โดยผู้คนจะยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และเลือกซื้อเฉพาะสินค้าอุปโภค- บริโภคที่จำเป็น และที่สำคัญภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้ จะส่งผลกระทบไปถึงภาคอุตสาหกรรม การไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดการจำกัดการจ้างงาน อย่างน้อยจนถึงสิ้นสุดไตรมาส 2 ก่อนจะกลับเริ่มจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกครั้งภายในช่วงไตรมาส 3
 
ทั้งนี้คาดว่าความต้องการจ้างแรงงานงานใหม่ในปัจจุบัน แบ่งเป็นแรงงานระดับการศึกษาปริญญาตรีประมาณ 150,000 คน หรือเท่ากับ 50% ของจำนวนผู้ที่จะจบการศึกษาทั้งสิ้น 300,000 คน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้มีจำนวนผู้ว่างงานสะสมในกลุ่มนี้ กว่า 400,000 คน
 
สำหรับรายได้ของแรงงานระดับปริญญาตรีของผู้จบการศึกษาใหม่ พบว่าสายอาชีพเกี่ยวกับไอทีและวิศวกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด
 
ส่วนแรงงานในระดับอาชีวศึกษา มีอัตราการจบการศึกษา ประมาณ 300,000 คน และมีความต้องการแรงงานจากภาคเอกชนกว่า 60% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากผู้ที่จบการศึกษาในระดับนี้ เข้าสู่ตลาดแรงงานแค่ 30% เท่านั้น โดยที่เหลือ 70% ตัดสินใจศึกษาต่อ
 
ทั้งนี้แรงงานระดับอาชีวศึกษาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า และงานด้านการท่องเที่ยวการโรงแรม
 
“อาชีพล่าม การท่องเที่ยว และโรงแรม ตลอดจนอาชีพที่ต้องใช้ทักษะทางด้านภาษา ถือเป็นอาชีพที่ยังขาดแคลนมาโดยตลอด และยังเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะภาษาสำคัญกับการเพิ่มโอกาสในการทำงานเมื่อเปิดเออีซี”
 
ส่วนแรงงานในระดับมัธยมปลาย มีจำนวนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพียง 5% เท่านั้น เพราะผู้ที่อยู่ในกลุ่มระดับการศึกษาหลังนี้ ยังมีอายุน้อย และขาดทักษะการทำงานที่องค์กรต้องการ
 
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะส่งผลให้ทิศทางของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป โดยเห็นได้จากปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลายอย่าง อาทิ เกิดการวิจัยและพัฒนาสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่รับเออีซี เกิดการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งทำให้อุปสงค์แรงงานในประเทศนั้นเพิ่มขึ้น
 
นอกจากนี้ สิ่งที่จะได้เห็นจากการปรับเปลี่ยนในตลาดแรงงาน คือ แรงงานจะเริ่มมีทักษะความสามารถต่างๆ สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงเกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมที่แรงงานจะต้องปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงานนานาชาติ ซึ่งทำงานร่วมกันภายในองค์กร ทั้งนี้ โดยแรงงานที่มีทักษะทางภาษาจะได้เปรียบในการได้รับคัดเลือกเข้าทำงานมากกว่าแรงงานทั่วไป
 
นางสาวสุทธิดา กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับผลกระทบของตลาดแรงงาน จากการเปิดเออีซีก็คือ คือ การรวมตัวกันที่ทำให้ตลาดและผู้บริโภคขยายตัว และมีความหลากหลายมากขึ้น จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในลักษณะบูมเมอแรง หรือการย้ายฐานกลับเข้าไปทำงานในประเทศของแรงงานชาตินั้น
 
สำหรับประเทศไทยคาดว่า อาจจะได้เห็นตัวอย่างภาวะตลาดแรงงานบูมเมอแรง อย่างชัดเจนภายในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นกับแรงงานกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ที่เข้ามาทำงานในไทย แล้วกลับไปทำงานในตลาดแรงงานของกลุ่มซีแอลเอ็มวีแทน เนื่องจากตลาดแรงงานในประเทศดังกล่าวเริ่มพัฒนามากขึ้น และมีความต้องการการจ้างงาน รวมถึงให้ค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มพัฒนาในเชิงบวกมากขึ้น
 
นายไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เวียดนาม และตะวันออกกลาง แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการเตรียมความพร้อมเพิ่มศักยภาพในตลาดแรงงานเมื่อเปิดเออีซี คือ การเตรียมความพร้อมด้านความรู้และทักษะอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านภาษา และการยกระดับการศึกษาต่างๆให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ
 
ทั้งนี้ ในมุมมองของนักลงทุนโดยทั่วไป มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตได้มากถึง 3-4% โดยส่วนหนึ่งมองว่ายังมีปัจจัยหนุนจากแผนการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศของภาครัฐ และเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติยังมีมุมมองที่ดีในการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และยังไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ตลาดแรงงานไทยจะต้องเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ เพื่อจูงใจให้เกิดความต้องการจ้างงาน และเกิดการลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น
 
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการยังค่อนข้างอ่อนไหวมาก เนื่องจากบางตำแหน่งงานในกลุ่มนี้ ไม่กำหนดเรื่องวุฒิการศึกษาในการสมัครงาน จึงอาจเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองอย่างมาก เพราะอาจเกิดการเข้ามาแย่งตำแหน่งจากแรงงานในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีทักษะด้านภาษาที่แข็งแกร่งกว่าแรงงานไทย และจะมีโอกาสได้รับการจ้างงานมากกว่าเช่นกัน เนื่องจากแรงงานไทยจำนวนมากยังขาดแคลนทักษะด้านภาษา
 
อย่างไรก็ดี มองว่าภาพรวมของการขาดแคลนแรงงานในปีนี้จะมีทิศทางดีขึ้น หลังจากปี 2557 เริ่มมีแนวโน้มปรับดีขึ้นเหลือประมาณ 1 แสนราย จากเดิมในปี 2556 อยู่ที่ 3 แสนราย โดยในปัจจุบันไทยมีตลาดแรงงานกว่า 39 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนรองจากอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 4-2-2558)
 
โรงงานผลิตยางรถยนต์ จ.ชลบุรี ยอมจ่ายค่าจ้างคนงานช่วงปิดงาน 30 วัน ยกเว้นวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์
       
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตยางรถยนต์ บริษัท หลิงหลง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทลูกของ บริษัท แอล แอล ไอ ที (ประเทศไทย) จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมสั่งให้โรงงานดังกล่าวหยุดประกอบกิจการชั่วคราว เป็นเวลา 30 วัน เพื่อปรับปรุงแก้ไขอาคาร ซึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ได้ลงพื้นที่ไปหารือกับนายจ้างในการดูแลพนักงานจำนวน 1,378 คน ในช่วงที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว โดยนายจ้างแจ้งว่าในช่วงวันที่ 1 - 4 กุมพาพันธ์ จะจ่ายค่าจ้างให้ปกติ รวมทั้งค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ส่วนช่วงที่หยุดประกอบกิจการนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน เฉพาะวันจันทร์ - วันศุกร์ ส่วนวันเสาร์ - อาทิตย์ ถือเป็นวันหยุดจะไม่มีการจ่ายค่าจ้าง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ ยังไม่พบว่านายจ้างกระทำความผิดและก่อนหน้านี้ได้มีการซ้อมหนีไฟไปแล้ว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-2-2558)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net