ชาวบ้านไทยพลัดถิ่นลุ้นศาลปกครองรับฟ้องหรือไม่ กรณีมหาดไทยปฏิเสธรับรองสัญชาติไทย

เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา คนไทยพลัดถิ่นจากอำเภอแม่สอดและแม่ระมาด จังหวัดตาก พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองต่อศาลปกครองกลาง หลังคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นปฏิเสธรับรองการมีสัญชาติไทยให้กับกลุ่มคนเหล่านี้

นายสุรพงษ์กล่าวว่า มีผู้เดินทางมาฟ้องจำนวน 351 คน แต่ยังมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากกว่านี้ที่ไม่ได้มา ขณะนี้ศาลรับเรื่องไว้แล้ว แต่ต้องทำการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมให้ศาลอย่างครบถ้วนอีกรอบหนึ่ง ซึ่งหวังว่าทางศาลน่าจะรับฟ้องเพราะเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายปกติ ทางจดหมายที่แจ้งชาวบ้านมาบอกให้สิทธิ์แจ้งภายใน 90 วัน ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดการขึ้นศาลในครั้งต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน

กรณีดังกล่าวเกิดจากกรมการปกครองได้มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ไม่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นโดยอ้างว่าไม่มีคุณสมบัติเนื่องจากไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรในอดีตที่ทำให้พวกเขาอยู่ในเงื่อนไขต้องได้รับสัญชาติไทย นายสุรพงษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า ในสมัยก่อนดินแดนที่คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้อยู่เป็นดินแดนของไทย มีวัฒนธรรมไทย พูดภาไทย จากนั้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์รัฐไทยได้เสียดินแดนตรงนั้นไป ทำให้ผู้คนเหล่านั้นอยู่ในการปกครองดูแลของประเทศอื่น อาจจะ 20-50 ปี แล้วเขาก็ย้ายกลับมาเพราะญาติพี่น้องอยู่ฝั่งไทย พอกลับมารัฐไม่ยอมรับการมีสัญชาติไทย เขาขอคืนสัญชาติไทยที่แม่สอด คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเขาบอกว่า ไม่มีหลักฐานว่าเกิดการเสียดินแดนไปเมื่อไร อย่างไร จึงตัดสิทธิ์ชาวบ้าน ชาวบ้านที่ไปฟ้องศาลบอกว่ามีหลักฐานการเสียดินแดนจริง และเรียกร้องว่าเขาเป็นคนไทย สมัยก่อนดินแดนที่เขาอยู่ฝั่งพม่าแถวเมียวดี ห้วยซ่าน เป็นดินแดนไทย ฝั่งแม่น้ำเมยทั้งสองฝั่งเป็นดินแดนของไทยหมด เพิ่งมีการเอาแม่น้ำเมยมาแบ่งเมื่อปีพ.ศ. 2411  ทำให้ดินแดนที่เขาเคยอยู่กลายเป็นดินแดนพม่าไป เขาย้ายกลับมาเข้าตามเงื่อนไขทุกอย่าง มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ งานวิชาการ งานวิจัย มายืนยันว่าดินแดนที่เขาอยู่เคยเป็นดินแดนของไทย ไม่ใช่ดินแดนพม่าตั้งแต่แรกและมีการถูกแบ่งไปในช่วงหลัง

สุรพงษ์ กล่าวถึงผลกระทบต่อคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทยว่า คนกลุ่มนี้คือคนที่ไม่สามารถมีสัญชาติไทยได้โดยวิธีการอื่น หากคนกลุ่มนี้สามารถมีวิธีการมีสัญชาติไทยโดยวิธีอื่น เช่น เขาเกิดในประเทศไทยมานานแล้ว ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 23 ตาม พ.ร.บ สัญชาติ เขาก็ไปช่องทางนั้นซึ่งง่ายกว่า แต่คนกลุ่มนี้ไม่เข้าเงื่อนไขการได้สัญชาติไทยโดยวิธีการอื่น จึงมาเข้าเงื่อนไขสัญชาติไทยตามการคืนสัญชาติโดยระบบการรับรองของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นทางเดียว เขาก็เลยมายื่นเรื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่รับเรื่อง คนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้ เช่น การรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เบี้ยผู้สูงอายุก็ให้เฉพาะคนมีสัญชาติไทย การเดินทางคนไทยสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้โดยเสรี ทำใบขับขี่ได้ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นก็ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้และไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ ทำงานถูกต้องทางกฎหมายไม่ได้เพราะเขาให้ทำงานได้เฉพาะคนไทย

“พูดง่ายๆว่าถูกตัดสิทธิ์เกือบทุกเรื่อง มีสิทธิ์บางอย่างที่ไม่ถูกตัด เช่น การศึกษา รัฐบอกว่าคุณสามารถเรียนได้ แต่เมื่อเขาไม่มีสัญชาติไทย พ่อแม่ไม่สามารถประกอบอาชีพที่ได้รับเงินเดือนสูงๆ ได้ ก็ต้องไปประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้น้อย ส่งเสียลูกเรียนก็ไม่พอ ยิ่งหากเรียนในระดับที่สูงขึ้น เงินกู้ยืม เงิน กยศ. หากไม่มีสัญชาติไทยก็ไม่สามารถกู้ยืมได้ ถึงแม้ว่าให้เขาเรียน แต่องค์ประกอบที่ส่งเสริมให้เขาเรียนมันน้อยกว่าคนอื่น ก็อาจจะทำให้เขาไม่ได้เรียนเพราะว่าไม่มีเงิน” ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว

ส่วนขั้นตอนทางด้านกฎหมายต่อไปนั้น สุรพงษ์อธิบายว่า หลังจากยื่นฟ้องแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจข้อมูลเอกสารว่าครบถ้วนหรือไม่ จากนั้นศาลคงพิจารณาดูว่าเรื่องนี้อยู่ในอำนาจศาลปกครองหรือไม่เพื่อออกคำสั่งว่ารับฟ้องไหม หากรับฟ้องก็จะส่งเรื่องไปให้ทางผู้ถูกฟ้อง เพื่อให้โอกาสชี้แจง หลังจากผู้ถูกฟ้องชี้แจงกลับมาศาลก็จะส่งมาให้ทางผู้ฟ้องทราบและให้มีการตอบกลับข้อมูล ส่งเรื่องกันแบบนี้ 2-3 ครั้ง จนศาลสั่งสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงพร้อมกับให้มารับฟังการพิจารณาครั้งแรกซึ่งจะมีศาลตุลาการอีกท่าหนึ่งมาให้ความเห็น เมื่อฟังความเห็นของข้อแถลงจากทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมรับฟังความเห็นของศาลตุลาการดังกล่าว ต่อจากนั้นจึงเป็นการรับฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด

เขาเชื่อว่าศาลปกครองจะให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เมื่อปี 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ พวกเขาได้ไปเรียกร้องกฎหมายให้คืนสัญชาติไทย มีการเดินขบวน นอนหน้ารัฐสภากันหลายวันระหว่างพิจารณากฎหมายนี้ และในการชี้แจงกฎหมายนี้รัฐก็บอกว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มที่รัฐเคยออกบัตรผู้มีสัญชาติไทยไว้ให้ประมาณ 18,000 คน หลังกฎหมายออกมากรมการปกครองก็มีหนังสือเวียนไปให้อำเภอทั้งหลายที่มีคนเหล่านี้อยู่ว่าไม่ให้รับรอง ทั้งที่ชาวบ้านทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง ทางอำเภอรับเรื่องและตรวจสอบแล้วเมื่อเห็นชอบก็ผ่านเรื่องให้จังหวัด จังหวัดก็ตรวจสอบแล้วเห็นชอบ แต่เสียดายที่คณะกรรมการส่วนกลางคิดอีกแบบหนึ่ง

“เชื่อว่าศาลปกครองจะเห็นข้อมูลเหล่านี้ แล้วจะให้ความเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคณะกรรมการฯ เองถ้ารู้ว่าข้อมูลตนเองผิดพลาดและได้อ่านคำฟ้องซึ่งมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการรองรับอย่างชัดเจน คณะกรรมการฯ จะยกเลิกมติเก่าที่ไม่รับรองชาวบ้าน พร้อมกับพิจารณาใหม่เพื่อรับรองชาวบ้าน อาจจะเห็นทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านกลุ่มนี้ซึ่งเป็นคนไทยพลัดถิ่น จะมีการสั่งการให้สัญชาติไทยตามอำนาจหน้าที่ตัวเองก็ได้ หรือ สนช. สปช. เห็นประเด็นเรื่องเหล่านี้และหยิบยกขึ้นมาเพื่อพิจารณาและหาหนทางในการช่วยเหลือชาวบ้านก็เป็นเรื่องดี” สุรพงษ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท