เสรีภาพและความอดกลั้น ‘กรณีธุดงค์ธรรมกาย’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การจัดงาน"ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 4 ธรรมยาตรา เพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลก" ระหว่าง 2-31 มกราคม 2558 ของวัดพระธรรมกาย โดยมีการเดินขบวนธุดงค์ของพระสงฆ์จำนวน 1,130 รูป สิ้นสุดไปแล้ว และก็เป็นเช่นเดียวกับปีก่อนๆ คือมีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อต่างๆ และคำอธิบายจากพระวัดพระธรรมกาย

เหตุผลของศาสนาในการรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ

กับปัญหาเดิมๆ ในปีนี้พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ อธิบายทาง เฟซบุ๊ก DMC.tv - Dhamma Media Channelมีเนื้อหาบางส่วนว่า

"วัดพระธรรมกาย จัดเดินธรรมยาตราธุดงค์ธรรมชัย ทำให้รถติด ความจริงคืออะไรที่เขาวิจารณ์กันว่า ทำให้รถติด เราต้องลองมาดูว่า การทำอะไรก็มีผลกระทบทั้งนั้น จัดคอนเสิร์ตรถก็ติด แข่งกีฬาที่สนามศุภชลาสัยรถก็ติด จะมีอะไรก็มีผลกระทบทั้งนั้น แต่ว่าพระธุดงค์เดินไปนี้ เป็นแถวพระเรียงเดี่ยวไป มีรถนำขบวนที่อาจเสียพื้นที่ถนนไปสักหนึ่งเลน รถก็ติดขึ้นมาบ้าง และแต่ละจุดพระเดินผ่านก็ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ผลกระทบก็มีบ้าง"

"แต่ถ้าเทียบกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการปลุกศีลธรรมให้เกิดกับคนนับล้าน ผลมันยิ่งกว่าคุ้มอีก ดังนั้น เราอย่าเสียเวลามานั่งจับผิดค่อนขอดกันเลย แต่ลุกขึ้นมาช่วยกัน อาศัยจังหวะนี้เถิด ปลุกกระแสศีลธรรมครั้งใหญ่ให้กลับคืนมาสู่สังคมไทย"

"ถ้าชาวพุทธเรารวมใจกันเป็นหนึ่ง และสื่อทุกสื่อช่วยกันโหมกระแสนี้ขึ้นมา ประโยชน์จะยิ่งเกิดมาคุ้มค่า คนที่มาถึงมาต้อนรับคณะพระธุดงค์โดยตรงเป็นล้านคน ถ้าภาพนี้ได้ออกทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อต่างๆ ก็จะไปถึงคนทั้งประเทศ ประโยชน์จะเกิดขึ้นมาอย่างมหาศาล"

สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า (1) ในเมื่อการจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่นจัดคอนเสิร์ตเป็นต้นที่ส่งผลกระทบให้รถติดบ้าง ก็ยังมีเสรีภาพทำได้ วัดพระธรรมกายก็ควรมีเสรีภาพจะทำได้เช่นกัน และ (2) วัดพระธรรมกายกระทำกิจกรรมดังกล่าว บนพื้นฐานความเชื่อ“ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการปลุกศีลธรรมให้เกิดกับคนนับล้าน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พุทธศาสนา “เชิงรุก” ของวัดพระธรรมกาย

 

เมื่อเสรีภาพ 2 ประเภทปะทะกัน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวัดพระธรรมกายมีเสรีภาพจะใช้พื้นที่สาธารณะ เช่นถนนสาธารณะในการจัดกิจกรรมเดินธุดงค์เช่นเดียวกับการเดินพาเหรดกีฬาสีและอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจราจรบ้าง แต่คำถามคือ ทำไมจึงไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีอื่นๆ ทำไมเจาะจงวิจารณ์เฉพาะวัดพระธรรมกาย

ประเด็นแรกที่เราต้องยอมรับคือ การปรากฏตัวของขบวนพระธุดงค์ต่างจากการปรากฏตัวของขบวนพาเหรดกีฬาสี เนื่องจากการปรากฏตัวของขบวนพระธุดงค์เป็นรูปแบบของการขยายพื้นที่ทางศาสนาไปสู่พื้นที่สาธารณะ คำถามต่อวัดพระธรรมกายจึงไม่ใช่เรื่องประเด็นรถติดอย่างเดียว แต่มันมีประเด็นของความเชื่อทางศาสนาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กล่าวโดยย่อคือ ในเมื่อวัดพระธรรมกายรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะด้วยความเชื่อทางศาสนาชุดหนึ่งที่ว่า“ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการปลุกศีลธรรมให้เกิดกับคนนับล้าน” ย่อมมีคำถามจากความเชื่อทางศาสนาอีกชุดอื่นๆ มาโต้แย้ง เช่นว่าจะเกิดประโยชน์เช่นนั้นจริงหรือไม่ รวมทั้งมีชุดความเชื่ออื่นๆเกี่ยวกับประเพณีการเดินธุดงค์ว่า การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของการเดินธุดงค์เช่นนั้นเหมาะสมหรือไม่ คำถามเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นธรรมดาหรือเป็นไปได้เสมอที่จะเกิดขึ้นกับกิจกรรมทำนองนี้

ประเด็นต่อมาคือ ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น การรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะของศาสนาควรจะมี “ขอบเขต” แค่ไหน เช่นการมีสัญลักษณ์และพิธีกรรมทางศาสนาในสถานที่ราชการ การสวดมนต์ การสอนศาสนาในโรงเรียน (ซึ่งธรรมกายก็รุกเข้าไปหมดทั้งเรื่องการจัดหลักสูตรพุทธศาสนาแบบธรรมกายในโรงเรียน การตอบปัญหาธรรมะ โครงการปฏิบัติธรรมของนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ ข้าราชการ ฯลฯ โดยใช้กลไกอำนาจทางคณะสงฆ์และระบบราชการทำให้กิจกรรมเหล่านั้นทำได้สำเร็จ)

แน่นอนว่า ศาสนามี “เสรีภาพเชิงบวก” (positive liberty) ที่จะกระทำกิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าดีตามความเชื่อทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะกระทบกับคนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งคิดในกรอบ “เสรีภาพเชิงลบ” (negative liberty) ซึ่งเป็นเสรีภาพที่เกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อการกระทำใดๆ ของมนุษย์ไม่ถูกขัดขวางจากผู้อื่น ในแง่นี้การรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่สาธารณะโดยเจตนาดีของศาสนา อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถูกบังคับยัดเยียดให้เรียน ให้ทำกิจกรรมทางศาสนา หรือกระทั่งทำให้เกิดความรู้สึกว่า กิจกรรมทางศาสนาที่ควรจะมีที่ทางเฉพาะของตัวเอง ทำไมจึงออกมาในพื้นที่สาธารณะกีดขวางการสัญจรไปมาของผู้คน เป็นต้น

 

ใครควรจะเป็นฝ่ายอดกลั้น

การทำกิจกรรมใดๆ ในนามศาสนา ย่อมเป็นการกระทำบนฐานความเชื่อที่ว่าเป็นบุญกุศล ไม่มีทางเป็นอื่นได้นอกจากเป็น “ความดี” เท่านั้น และความดีมันย่อมมีประโยชน์แก่บุคคลหรือสังคม ฉะนั้นหากจะส่งผลกระทบบ้าง “ถ้าเทียบกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับการปลุกศีลธรรมให้เกิดกับคนนับล้าน ผลมันยิ่งกว่าคุ้มอีก”

แต่ในสังคม “พหุวัฒนธรรม” ความดีย่อมมีหลายมิติ ทั้งความดีในความหมายของศาสนาต่างๆ ความดีในความหมายของศีลธรรมสากลที่เน้นสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์

การอ้างความดีของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเพื่อรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะมากเกินไป หรือไม่มีขอบเขต-เส้นแบ่งที่ชัดเจน ย่อมเกิดคำถามตามมาว่า ศาสนากำลังเรียกร้อง “ความอดกลั้น” (tolerance) จากความเชื่ออื่นๆ มากเกินไปหรือไม่? หรือการรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะมากเกินไปของศาสนาเป็นการขาดความอดกลั้นของศาสนาเองต่อความเชื่อหรือคุณค่าอื่นๆหรือไม่?

เพราะ “ความอดกลั้น” ไม่ได้หมายเฉพาะ “ขันติธรรม” ตามคำสอนทางศาสนาที่ถือว่า “เมื่อฉันทำสิ่งที่ฉันเชื่อว่าเป็นบุญกุศล เป็นความดี ฉันย่อมอดทนอดกลั้นได้กับคำวิจารณ์ ตำหนิ หรือด่าจากคนอื่นๆ”  เท่านั้น แต่“tolerance” ยังกินความถึงการเคารพคนอื่นๆ การฟังเหตุผลและเสียงความเดือดร้อนของคนอื่นๆ กระทั่งการยอมเจ็บปวดหรือเสียสละบางอย่างได้ด้วย

 

นี่เป็นคำถามต่อศาสนาโดยรวม แม้จะยกกรณีธุดงค์วัดพระธรรมกายมาอภิปรายก็ตาม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท