รายงานชุดพิเศษ กงล้อการไม่ต้องรับผิด: บทเรียนจากฟิลิปปินส์ ตอน 2

เมืองกีดาปาวัน ประเทศฟิลิปปินส์ - มาลู มานาร์ เป็นผู้สื่อข่าววิทยุ เธอจำเป็นต้องสวมผ้าคลุมหัวและเปลี่ยนวิธีการแต่งกายเพื่อหลบเลี่ยงกลุ่มติดอาวุธที่คอยติดตามเธอไปทั่วเมืองโคตาบาโตซิตี้ในช่วงปี 2547

ในปีนั้นเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง การรายงานข่าวของเธอก็ทำให้นักการเมืองรู้สึกโกรธเคืองและไม่พอใจ มีคนโทรมาขู่ฆ่าเธอ แล้วต่อมาก็มีกลุ่มติดอาวุธที่นั่งมาในรถตู้คอยติดตามตัวเธอ

"ฉันรู้ว่าพวกเขาตามตัวฉันเพราะพวกเขารู้ว่าฉันอยู่ที่ไหน เมื่อฉันไปที่โบสถ์ฉันก็เห็นพวกเขาอยู่ที่นั่น แล้วฉันก็เห็นคนกลุ่มเดียวกันที่สำนักงาน" มานาร์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ในตอนนี้เธอเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวและข่าวรายวัน ของสถานีวิทยุ DXND-NDBC

มาลู มานาร์ 

มานาร์พยายามหลอกล่อกลุ่มคนที่จ้องคุกคามเธอและอาจจะต้องการสังหารเธอ "ฉันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการแต่งกาย ยกเว้นแว่นตา เพราะฉันมองไม่เห็นถ้าไม่ใส่แว่นตา ฉันเริ่มสวมฮิญาบ สวมชุดตัวยาวๆ นอกจากนี้ฉันยังเปลี่ยนแปลงวิธีการแต่งกายให้ลูกของฉันทั้ง 2 คนด้วย"

เมื่อทางสำนักงานของมานาร์ในเมืองโคโตบาโตซิตี้รู้ว่าเธอมีโอกาสถูกสังหารจึงได้ส่งตัวเธอไปที่สถานีในเมืองกีดาปาวันในจังหวัดนอร์ธโคโตบาโต ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากที่เดิม 120 กม. และห่างไกลจากอันตราย

10 ปีให้หลัง ก็ยังคงมีลักษณะการข่มขู่และการใช้ความรุนแรงแบบเดิมอยู่

นักข่าวจำนวนมากโดยเฉพาะตามจังหวัดต่างๆ ของฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญกับการคุกคามแบบเดียวกับที่ทำให้ครอบครัวของมานาร์ต้องย้ายที่อยู่ในปี 2547 การใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวยังไม่หมดไป และผู้บงการก็ยังคงหลบหนีลอยนวลไปได้ เรื่องนี้เป็นการเน้นย้ำบรรยากาศของ "การไม่ต้องรับผิด" (impunity) ที่ทำให้คนผู้มีอิทธิพลและคนร่ำรวยมีอิทธิพลมากขึ้นจากการใช้วิธีการนอกเหนือกฎหมายเพื่อกลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์และปราบปรามนักข่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตกเป็นเป้าการคุกคามกลับมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการโต้ตอบการคุกคามและความพยายามลอบสังหาร โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าวในจังหวัดมากินดาเนาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 58 คน ในจำนวนนั้นมีคนทำงานสื่อ 32 คน

ก่อนหน้านี้เมื่อประสบเหตุคุกคาม ผู้สื่อข่าวจะหายไปหลบซ่อนตัวจนกว่าเหตุการณ์จะเย็นลง หรือใช้วิธีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองเพื่อซ่อนตัวเช่นเดียวกับวิธีการของมานาร์ที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธหลงทิศจากการตามล่าเธอ  จนถึงทุกวันนี้ความปลอดภัยอาจจะหมายถึงการพกอาวุธปืนก็ได้

อคีเลส โซนีโอ หนึ่งในนักข่าวที่สามารถหลบหนีจากการสังหารหมู่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

อคีเลส โซนีโอ เป็นนักข่าวที่มีปืนพกซึ่งได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมที่คร่าชีวิตเพื่อนร่วมงานเขาไปในปี 2552 โซนีโอบอกว่า "ในประเทศนี้ เมื่อคุณถูกข่มขู่คุกคามเอาชีวิตแล้ว นึกไว้ได้เลยว่าคุณจะอยู่ภายใต้การคุกคามไปตลอดชีวิต"

"อย่าได้ประมาท นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมต้องระวังหลังอยู่ตลอดเวลา" โซนีโอกล่าว เขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ของสื่อเดลี่อินไควเรอร์ในฟิลิปปินส์ เขาเคยถูกข่มขู่เอาชีวิตเพราะเปิดโปงเรื่องการทำเหมืองแร่และตัดไม้ซุงอย่างผิดกฎหมายในจังหวัดทางภาคใต้

"ความรู้สึกปลอดภัยไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรู้สึกพึงพอใจกับมัน คุณต้องมีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา คุณต้องคอยติดเรื่องมาตรการความปลอดภัยอยู่เสมอ" โจเซฟ จูเบลัก จากสื่อมินดาเนาบุลเล็ตตินอธิบายในเรื่องนี้

ทั้งโซนีโอและจูเบลักสามารถหลบหนีจากการสังหารหมู่เมื่อ 5 ปีที่แล้วได้ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในขบวนรถหาเสียงของเอสมาเอล มานกูดาดาตู รองนายกเทศมนตรีเมืองบูลวนที่กำลังเดินทางไปลงทะเบียนเป็นผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมากินดาเนา ในตอนนั้นนักข่าวทั้ง 2 คนแยกตัวออกมาจากขบวนรถและคิดว่าจะติดตามขบวนต่อทีหลังแต่จากสัญชาติญาณก็ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจไม่ตามต่อทำให้พวกเขารอดชีวิตมาได้

ครอบครัวของเหยื่อนการสังหารหมู่ที่มากินดาเนา สวดมนตร์ให้กับผู้เสียชีวิต

การอบรมด้านความปลอดภัย

การอบรมด้านความปลอดภัยในหมู่นักข่าวที่ถูกส่งให้ไปทำงานที่ประเทศที่มีสงคราม เช่น อิรักหรือซีเรีย ถือเป็นขั้นตอนการดำเนินงานพื้นฐานในหมู่นักข่าวที่ทำงานให้กับเครือข่ายหรือองค์กรข่าวนานาชาติ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีอยู่ทั่วไปในประเทศอย่างฟิลิปปินส์แม้ว่าคนทำงานสื่อจะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการทำข่าวเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธสายคอมมิวนิสต์และกลุ่มกบฏชาวมุสลิม

การสังหารหมู่ในมากินดาเนาถือเป็นการ "เปิดตา" ให้กับคนทำงานสื่อทั้งหลายไม่เพียงแค่นักข่าวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ที่ทำงานนั่งโต๊ะทั้งหลายด้วย เรื่องความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่คนคำนึงถึงและให้ความสำคัญในระดับต้นๆ หลังจากที่เคยเป็นเรื่องแบบคิดเองเออเองอยู่เสมอ

จากที่มีการข่มขู่คุกคามนักข่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในฟิลิปปินส์ บริษัทสื่อบางแห่งเริ่มเล็งเห็นความจำเป็นของการกำหนดทิศทางด้านสวัสดิภาพและการฝึกฝนด้านความปลอดภัยให้กับนักข่าวในจังหวัดต่างๆ ของฟิลิปปินส์ รวมถึงความปลอดภัยในการส่งตัวนักข่าวไปปฏิบัติงานภาคพิเศษในพื้นที่ขัดแย้ง

จูเบลัก นักข่าวที่เขียนข่าวให้กับสื่อใหญ่ระดับชาติอย่าง  มะนิลา บุลเล็ตติน  กล่าวว่าทุกครั้งที่เขาต้องไปยังพื้นที่ๆ มีความขัดแย้ง เขาต้องศึกษาสภาพความเป็นจริงก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินงานต่อหรือไม่ นอกจากนี้เขายังต้องสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ จากคนในท้องถิ่นและจากเจ้าหน้าที่การทหารด้วย

"แน่นอนว่าผมต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับความปลอดภัยส่วนบุคคลเพราะสำหรับพวกเราที่เป็นนักข่าวแล้ว เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงด้วยตัวเอง คุณไม่สามารถฝากเรื่องสวัสดิภาพไว้กับคนอื่นได้ ตัวคุณจะต้องดูแลความปลอดภัยให้ชีวิตตัวเอง" จูเบลักกล่าว เขาเคยผ่านการฝึกฝนด้านความปลอดภัยมาแล้ว

จอห์น อันซัน ผู้ที่เขียนข่าวให้กับฟิลิปปินส์สตาร์ก็เคยเข้าร่วมการฝึกฝนบางประเภทมาก่อน เขาบอกว่ามีบางช่วงเวลาที่ตำรวจและทหารจะเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยรวมถึงเทคนิคการรักษาชีวิตในพื้นที่ขัดแย้ง พวกเขายังสอนเรื่องการรักษาอาการบาดเจ็บของเพื่อนร่วมงานรวมถึงการรักษาความปลอดภัยและรักษาสภาพร่างกายแบบฉุกเฉินในขณะที่ต้องอยู่ระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล

"พวกเราหลายคนมีชุดป้องกัน...เช่นเสื้อกันกระสุนเคฟลาร์และหมวกนิรภัย" อันซันอธิบาย "พวกเรายังขออนุญาตจากกองทัพอยู่เสมอ ถ้าพวกเขาบอกว่า 'ไม่ควรไปที่นั่นก่อนที่เราจะเก็บกู้ทุ่นระเบิดบนถนน หรือจนกว่าพวกเราจะทำให้แน่ใจว่าไม่มีกลุ่มกบฏอยู่' พวกเราก็ต้องรอ กองทัพมีการฝึกฝนให้นักข่าวรอจนกว่าพวกเขาจะเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัย พวกเขาจะไม่ให้คุณไปในพื้นที่ขัดแย้งที่กำลังมีการสู้รบกันอยู่"

อันซันชี้ว่าการประเมินสถานการณ์ก็มีความสำคัญเช่นกัน "พวกเราต้องรู้ว่าเวลาไหนควรหนีหรือควรจะหนีไปที่ใดเวลาที่ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบหรือในสถานการณ์ที่มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในแบบอื่นๆ" เมื่อถามว่าพวกเขาได้รับการเสนอแนะแนวทางใดๆ จากกองบรรณาธิการ เขาบอกว่ากองบรรณาธิการจะให้คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายต่อคณะทำงานที่เข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง

"บางครั้งพวกเขาจะถึงขั้นไม่สนับสนุนให้คุณไปและบอกให้คุณหาข้อมูลจากแหล่งข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือเอา แต่คุณจะรู้สึกว่ามีความตื่นตัวเหมือนอะดรินาลีนสูบฉีดอยู่ตลอดเวลาและรู้สึกท้าทายอยากจะเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง"

เขาเตือนว่า "ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรอบคอบ คุณจะต้องตัดสินใจอย่างชาญฉลาดอยู่เสมอไม่ว่าคุณจะต้องเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งหรือไม่ ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรไล่ตามทำข่าว เมื่อไหร่ที่ควรจะหยุดไล่ตาม และเมื่อไหร่ที่ควรจะออกไป นั่นคือเรื่องความรอบคอบ การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด และคุณจะต้องพิจารณาด้วยตนเองเป็นอย่างดี"

วิคเตอร์ เรดมอนด์ บาตาริโอ ผู้ประสานงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบันความปลอดภัยสื่อนานาชาติซึ่งเป็นองค์กรจากประเทศอังกฤษกล่าวถึงการฝึกฝนนักข่าวให้ทำงานในสภาพการณ์ขัดแย้ง โดยองค์กรของพวกเขามีการฝึกจำลองสถานการณ์สมมติที่อาจจะเกิดขึ้นหลายแบบ (scenario-making) และฝึกปฏิบัติการในแบบที่นำมาใช้ได้จริงคือการเตรียมตัวนักข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉินและในสถานการณ์ที่ตกอยู่ระหว่างการสู้รบ การจัดการกับฝูงชนหรือสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขา การตรวจจับและหลีกเลี่ยงการถูกสอดแนม วิธีปฏิบัติตัวขณะอยู่ที่ด่านตรวจ และความตื่นตัวต่อสถานการณ์เสี่ยงโดยทั่วไป

แต่ก่อนที่จะออกเดินทางไปในสถานที่ๆ มีความขัดแย้ง วิคเตอร์ยังกำชับให้นักข่าวหรือคนทำงานสื่ออื่นๆ ควรเตรียมตัวให้มากที่สุดด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่หรือบริเวณที่ต้องไป และหาข้อมูลของคนที่พวกเขาอาจจะต้องพบเจอหรือต้องสัมภาษณ์

"ดูให้ออกว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เคยมีประวัติศาสตร์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ สภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับด้านการเมืองและด้านสังคมเป็นอย่างไร" บาตาริโอกล่าว ตัวบาตาริโอเองเคยเป็นอดีตนักข่าวและยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์เพื่อนักข่าวชุมชนและการพัฒนาด้วย

บาตาริโอกล่าวเสริมอีกว่าให้หาข้อมูลที่ใช้ได้จริงเกี่ยวกับพื้นที่ให้มากที่สุด รวมถึงเรื่องสภาพภูมิอากาศและระยะเวลาที่นักข่าวน่าจะต้องใช้ไปกับการทำข่าวด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ว่าจะเอาสัมภาระอะไรไป รวมถึงอาหาร น้ำ เครื่องมือสื่อสาร และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล

นักข่าวหรือคาวบอย?

การไม่ต้องรับผิด (impunity) จากกรณีสังหารคนทำงานสื่อทำให้นักข่าวต้องระวังเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น แต่มันก็ยังเป็นการส่งเสริมทางเลือกให้มีการพกอาวุธปืนมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะในเขตชนบทซึ่งมีหลักนิติธรรม (rule of law) อ่อนแอและมีผู้นำกองกำลังที่มีกองกำลังส่วนตัวสั่งการสังหารได้

แม้ว่าเรื่องนักข่าวพกอาวุธปืนจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มจะเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทำงานข่าวในทุกวันนี้จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามภายในชุมชนสื่อด้วยกันเอง

มันเป็นเรื่องยากที่จะถกเถียงเรื่องปืนกับคนที่เคยเฉียดตายแต่รอดมาได้และกับคนที่รู้สึกว่ามีเพียงปืนเท่านั้นที่จะให้ความปลอดภัยแก่เขาได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่คิดว่าการพกปืนจะเป็นทางแก้ที่ดี

โฟรยลัน กัลลาร์โด ช่างภาพข่าวจากมินดานิวส์ที่มีฐานอยู่ที่เมืองดาเนาเป็นผู้ที่มีความเห็นต่อต้านการให้นักข่าวพกอาวุธปืน "ผมไม่พกปืนและไม่มีปืนในครอบครอง" เขาบอกอีกว่า "ผมเชื่อว่านักข่าวที่พกปืนก็เป็นเพียงแค่คนขี้ขลาด หรือไม่ก็แสดงออกตามความฝันในวัยเด็กที่อยากจะเป็นคาวบอย"

"ผมแค่ไม่เข้าใจว่าคนๆ หนึ่งจะทำงานได้อย่างไรโดยที่มีอาวุธปืนเหน็บอยู่ที่เอวหรือซ่อนเอาไว้ในกระเป๋า" กัลลาร์โดกล่าว

กัลลาร์โดโต้แย้งการพกอาวุธปืนอีกว่า "ผมสงสัยว่าคนที่คุณอยากสัมภาษณ์เขาจะเชื่อใจคุณไหมถ้าพวกเขาเห็นคุณพกปืน เท่านั้นยังไม่พอมีนักข่าวจำนวนมากที่พกปืนแต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จนต้องเสียชีวิต กลุ่มติดอาวุธยังสามารถสังหารพวกเขาได้แม้ว่าพวกเขาจะพกปืนก็ตาม"

บาตาริโอเห็นด้วยว่าการพกอาวุธปืนไม่ใช่สิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ "ผมไม่เชื่อว่ามันจะช่วยปกป้องอะไรได้เลย อย่างดีที่สุดมันก็ทำให้หลอกตัวเองได้ว่ามีความปลอดภัย ผมรู้ว่ามีนักข่าวจำนวนหนึ่งที่ถูกสังหารแม้ว่าจะพกอาวุธปืนหรือมีบอดี้การ์ดพกอาวุธคอยติดตาม"

โรวีนา ปาราน ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (NUJP)

โรวีนา ปาราน ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (NUJP) เห็นด้วยว่านักข่าวไม่ใช่คนที่ควรพกพาอาวุธปืน และการพกพาอาวุธปืนอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บแทนที่จะเป็นการป้องกันตัว "คุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ (ด้านการใช้อาวุธปืน) คุณไม่ได้ถูกฝึกฝนให้ยิงปืน"

"ผมเป็นคนที่ไม่สนับสนุนให้นักข่าวพกปืนอยู่เสมอมา" บาตาริโอกล่าวยืนยัน "อย่างไรก็ตามผมจะไม่ห้ามนักข่าวถ้าหากพวกเขาจะติดอาวุธให้ตัวเอง หรือคิดว่าการติดอาวุธจะทำให้ตัวเองหลีกเลี่ยงจากการถูกโจมตีได้โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาถูกข่มขู่เอาชีวิต" เขาอธิบาย

ชิโน แกสตัน นักข่าววิทยุกล่าวให้สัมภาษณ์ในกรุงมะนิลาว่าการพกปืนไม่ใช่เรื่องในเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพ "มันเป็นทางเลือกส่วนบุคคล ผมเลือกที่จะพกปืนในเมโทรมะนิลาได้ถ้าหากผมต้องการ เช่นเดียวกับที่นักข่าวในต่างจังหวัดสามารถพกปืนได้ ... ถ้าพวกเขาตกอยู่ภายใต้การคุกคาม"

แกสตันบอกอีกว่า "มันเป็นทางเลือกที่ควรจะให้นักข่าวแต่ละคนเป็นผู้ตัดสินใจเองและไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะบังคับหรือตั้งกฎว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกหลักจรรยาบรรณหรือไม่"

มีกฎหมายใหม่ถูกประกาศใช้ในปี 2557 อนุญาตให้นักข่าวพกพาอาวุธปืนที่จดทะเบียนออกไปภายนอกบ้านได้ กฎหมายดังกล่าวคือ 'กฎหมายแห่งสาธารณรัฐ 10591' (Republic Act 10591) ซึ่งระบุให้นักบวช ทนายความ พยาบาล แพทย์ นักบัญชี วิศวกร เป็น "กลุ่มคนที่เฉียดอันตรายเนื่องจากลักษณะของวิชาชีพ"

ในกฎหมายเดิมก่อนหน้านี้บุคคลที่อยู่ในภาคส่วนวิชาชีพดังกล่าวจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้เช่นเดียวกับพลเรือนคนอื่นว่าพวกเขา "ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจริง" ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้พกปืนได้

แต่กฎหมายใหม่ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำให้ปืนเข้าถึงง่ายขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่สนับสนุนกฎหมายนี้ก็โต้แย้งว่ามันจะทำให้พลเรือนสามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคามได้

แกสตัน จากสื่อจีเอ็มเอเน็ตเวิร์กผู้ที่ทำข่าวในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นประจำกล่าวว่า ในเมืองหลวงกับในชนบทให้ความสำคัญเรื่องการพกอาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวต่างกัน

แกสตันบอกว่ามีนักข่าวในย่านใจกลางกรุงมะนิลาพกพาอาวุธปืนน้อยกว่านักข่าวในต่างจังหวัดเพราะว่าพวกเขาไม่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบเดียวกับนักข่าวที่อยู่ในพื้นที่เขตภาคใต้ เขาบอกอีกว่านักข่าวในเมืองหลวงได้รับข้อความในเชิงข่มขู่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ไม่ค่อยถูกขู่ฆ่า

"(คนที่ถูกจ้างมาข่มขู่) จะทำรุนแรงถึงขนาดทำลายข้าวของในบ้านของคุณเพื่อทำให้คุณกลัว แต่ก็มีการขู่ฆ่าน้อยมากเพื่อเทียบกับคนที่อยู่ในภาคใต้" แกสตันอธิบาย เขาบอกอีกว่าการบังคับใช้กฎหมายในกรุงมะนิลาทำให้นักข่าวปลอดภัยขึ้นพอสมควร

สำหรับปารานแล้วมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอาวุธปืน คนที่เติบโตมาในต่างจังหวัดจะเห็นอาวุธปืนตั้งแต่เด็ก ทำให้เป็นเรื่องค่อนข้างง่ายที่นักข่าวจะติดอาวุธให้ตัวเอง

"ถ้าหากคุณไปในที่อย่างมินดาเนา มันเป็นเรื่องปกติมาก ธรรมดามาก สำหรับนักข่าวในท้องถิ่นที่จะพกปืนเมื่อเขารู้สึกถูกคุกคาม"

ไม่ว่าจะมีปืนหรือไม่ก็ตามสำหรับบาตาริโอแล้วการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดของนักข่าวคือการรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบ

"ผมเน้นย้ำอยู่เสมอว่าการป้องกันที่ดีที่สุดไม่ว่ากับนักข่าวคนใดก็ตามคือการรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดของวิชาชีพ" บาตาริโออธิบาย "แน่นอน มันไม่ได้รับประกันการป้องกันได้เต็มร้อยแต่มันก็จะช่วยลดโอกาสที่นักข่าวจะตกเป็นเป้าหมายการคุกคามหรือการใช้ความรุนแรง" บาตาริโอกล่าวเสริม

รายชื่อของผู้เสียชีวิตถูกจารึกไว้ที่อนุสรณ์แห่งการสังหารหมู่ที่มากินดาเนา

วงจรแห่งการไม่ต้องรับผิด

การสังหารอย่างเลือดเย็นในจังหวัดมากินดาเนาซึ่งทำให้ชีวิตของคนทำงานสื่อผู้บริสุทธิ์หลายชีวิตต้องถูกพรากไปถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ว่าเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยสำหรับนักข่าว ในการจัดอันดับประเทศที่มีการไม่ต้องรับผิดในปี 2557 ซึ่งจัดโดยองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ฟิลิปปินส์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากอิรักและโซมาเลีย

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นองค์กรด้านสื่อจากนิวยอร์กระบุว่าตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2556 มีนักข่าวมากกว่า 50 ที่คนถูกสังหารแล้วคดียังไม่คลี่คลาย

ศูนย์เพื่อเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อในฟิลิปปินส์รายงานว่ามีนักข่าวมากกว่า 200 คนถูกฆาตกรรมทั่วฟิลิปปินส์นับตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นช่วงที่ฟิลิปปินส์ฟื้นฟูเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว และมีเพียงแค่ 14 คดีเท่านั้นที่มีการตัดสินลงโทษ พวกเขาระบุอีกว่ามีเพียงคนติดอาวุธเท่านั้นที่ถูกพิพากษาลงโทษและไม่มีผู้บงการเบื้องหลังคนใดเลยที่ถูกพิพากษา

การก่ออาชญากรรมโดยไม่ได้รับการลงโทษส่งผลต่อการละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมายของนักข่าว

โซนิโอ กล่าวว่าผู้บงการไม่กลัวที่จะสังหารนักข่าวเพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาจะหลบหนีจากความผิดได้ ในทางตรงกันข้าม หลังจากการสังหารหมู่ที่มากินดาเนาทำให้นักข่าวบางคนในพื้นที่ไม่กล้าทำประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาน่าจะทำ

ชาร์ลี ซาเซดา จากองค์กรเครือข่ายงานข่าวด้านความขัดแย้งและสันติภาพอธิบายว่า "เมื่อนักข่าวคนอื่นถูกสังหารเพราะพวกเขาเปิดโปงประเด็นการคอร์รัปชั่น นักข่าวอื่นๆ จะเริ่มคิดทบทวนเกี่ยวกับการรายงานประเด็นเหล่านี้"

ในขณะที่การไม่ต้องรับผิดทำให้เกิดความกลัวในจิตใจของนักข่าว มันก็ยิ่งทำให้ผู้บงการมีความอุกอาจมากขึ้น

"เมื่อการกระทำผิดไม่ถูกลงโทษมันก็หมายความว่าคนที่กระทำผิดจะไม่รู้สึกสำนึกถ้าหากต้องกระทำผิดซ้ำ" บาตาริโอกล่าว

ประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน เคยให้คำมั่นไว้ว่าคนที่สังหารผู้สื่อข่าวจะถูกสั่งดำเนินคดีและถูกส่งเข้าคุก แต่ตัวเขาเองก็ยอมรับในการตอบข้อซักถามของนักข่าวเมื่อช่วงต้นปีนี้ว่า "ระบบยุติธรรมในปัจจุบันของพวกเราไม่มีมาตรฐานที่ดีในเรื่องความรวดเร็ว"

สำหรับปารานผู้เป็นประธาน NUJP เรื่องการไม่ต้องรับผิดที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ มีสาเหตุที่ซับซ้อน "อำนาจ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอำนาจ" ปารานกล่าวต่อกลุ่มนักข่าว "การไม่ต้องรับผิดจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากสถาบันต่างๆ ทำหน้าที่ ถ้าหากว่าคนที่อยู่ในอำนาจไม่ยอมปล่อยคนที่ก่ออาชญากรรมไว้"

"ถ้าหากคุณมีรัฐบาลที่สามารถปกป้องประชาชนของพวกเขาได้ คุณก็จะสามารถไปหาตำรวจเพื่อแจ้ง (เรื่องการคุกคาม) นั่นคือหน้าที่อันดับต้นๆ ที่รัฐบาลมีต่อประชาชน" ปารานชี้ให้เห็นในจุดนี้ "แต่เพราะว่าสิ่งที่พูดมามันทำไม่ได้ในที่นี้ คุณจึงต้องพึ่งพาตนเอง พึ่งพาเพื่อนร่วมงานคุณเพื่อช่วยปกป้องคุณ"

ปารานกล่าวว่านักข่าวในต่างจังหวัดมีโอกาสถูกโจมตีมากกว่าเพราะหลักนิติธรรมในเขตต่างจังหวัดอ่อนแอกว่าในเมืองหลวงคือกรุงมะนิลา ปารานกล่าวอีกว่า "ใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจเปรียบได้กับพระราชา"

แต่เธอก็อธิบายว่าไม่เพียงแค่สื่อเท่านั้นที่ถูกโจมตี นักกิจกรรมและกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเช่นทนายความหรือแม้แต่นักบวชที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อที่มากขึ้นก็ถูกดจมตีเช่นกัน "สิ่งดีๆ สิ่งหนึ่งที่มาจากโครงการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากการสังหารนักข่าวคือ มีความสนใจต่อกรณีสังหารที่เกิดขึ้นในภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้นด้วย"

บทเรียนสำหรับพม่า

นักข่าวในพม่าต้องเผชิญกับการคุกคามในอีกรูปแบบหนึ่งเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ ผู้ที่เขียนข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือกองทัพจะถูกสั่งจำคุกหรือถูกสั่งปรับ

ในเดือนตุลาคมมีนักข่าว 3 คนและผู้จัดพิมพ์ 2 คน ของ ไบมอนเตเนย์ (Bi Mon Te Nay) ถูกศาลย่างกุ้งสั่งจำคุก 2 ปีในข้อหาทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อเดือนที่แล้วรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารสั่งฟ้องคณะทำงาน 11 คนของสื่อ ทันดอว์สินท์ (Thandawsint) ด้วยกฎหมายใหม่เกี่ยวกับสื่อที่ผ่านการพิจารณาเมื่อเดือน เม.ย. ที่ระบุให้สั่งปรับผู้กระทำความผิดได้

ขณะเดียวกัน นักข่าว 4 คนและผู้บริหารของวารสาร ยูนิตี้ (Unity) ซึ่งเป็นสื่ออิสระถูกสั่งจำคุก 7 ปีหลังลดโทษแล้วจากข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ (Official Secrets Act. )

ในเดือนตุลาคมกองทัพพม่ารายงานว่านักข่าวอิสระ อ่อง จ่อ นาย  (Aung Kyaw Naing) ถูกสังหาร "ในขณะพยายามหลบหนี" จากการจับกุมของกองทัพ นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่ากรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ากองทัพมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยนักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีการสังหารอ่อง จ่อ นาย

กองทัพพม่าปกครองประเทศด้วยความโหดเหี้ยมมากว่า 5 ทศวรรษแล้วจนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554 แต่กระบวนการปฏิรูปการเมืองรวมถึงการลดความเข้มงวดต่อสื่อดูเหมือนจะถูกหยุดชะงักลง

เครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ 'ซีป้า' อธิบายว่าการสังหารนักข่าวอิสระถือเป็น "การทดสอบสามัญสำนึกความรับผิดชอบของกองทัพที่เป็นผู้กระทำเรื่องเหล่านี้ และเป็นการทดสอบความแน่วแน่ของรัฐบาลในการคุ้มครองผู้สื่อข่าว"

"เหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าตื่นตระหนกซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานในปีนี้ ... ชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพสื่อในประเทศมีอายุสั้น และจากที่ก่อนหน้านี้มีการกล่าวชมรัฐบาลอย่างมากในเรื่องการลดความเข้มงวดต่อสื่อก็ถือว่าด่วนชมเร็วเกินไป" สมาคมซีปาผู้ติดตามเรื่องสื่อที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพกล่าวในแถลงการณ์

การจับกุมตัวและสังหารอ่องจ่อนาย ผู้ที่รายงานข่าวความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ในพม่าทำให้เกิดความเป็นห่วงในด้านความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวที่เข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง

"มีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยต่อนักข่าวพม่าโดยเฉพาะที่รายงานข่าวความขัดแย้ง" เนียนลินน์ (Nyan Lynn) บรรณาธิการของนิตยสารมาวคุน (Maw Kun) กล่าว "พวกเขาไม่ได้อยู่ภายใต้ภัยคุกคามมากเท่าที่นักข่าวฟิลิปปินส์เผชิญ แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย"

โกสานยูจ่อ (Ko San Yu Kyaw) บรรณาธิการจากวารสารมอร์เดนวีคลีย์เจอนัลกล่าวเพิ่มเติมว่า "พวกเราไม่รู้ว่าจะปกป้องตัวเองอย่างไร พวกเราจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนเคล็ดลับด้านความปลอดภัยในการรายงานข่าวในชีวิตประจำวันของพวกเรา ในพม่าหลังจากเกิดสิ่งที่เรียกกันว่าการปฎิรูป พวกเราก็รู้สึกว่ามีความไม่ปลอดภัยมากขึ้นในขณะที่พวกเรามีประเด็นให้ต้องทำข่าวมากขึ้นและต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น"

เมย์ติงยานเฮียน (May Thingyan Hein) ผู้บริหารสูงสุดของสำนักข่าวมยิต มาคา (Myit Makha) มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับคุณภาพการรายงานข่าวโดยรวมในประเทศพม่า "แม้ว่าพวกเราจะคิดว่าพวกเรารายงานข่าวอย่างมีจรรยาบรรณแล้วจะปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น"

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า "เมื่อพวกเราพยายามหาข่าวจากฝั่งรัฐบาลแล้วพบว่ามันเป็นเรื่องยากพวกเราจึงพยายามหาข้อมูลด้วยวิธีการใดก็ตามที่พวกเราจะทำได้ แต่ก็มีกฎหมายบางฉบับที่อาจจะทำให้เรามีปัญหาได้เช่นกฎหมายการดำเนินธุรกรรมอิเล็กโทรนิก กฎหมายความลับทางราชการก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อผู้สื่อข่าวเช่นกัน"

 

*หมายเหตุ

บทความนี้ถูกผลิตขึ้นสำหรับ  Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) fellowship programปี 2014 เอียน คายน์ อู เป็นนักข่าวชาวพม่า ทำงานให้ Voice of America (VOA)  ภาคภาษาพม่า,และเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนในปี 2014 หัวข้อของปีนี้คือ การสนับสนุนความเข้าใจระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการไม่ต้องรับผิดในการฆาตกรรมนักข่าวในฟิลิปปินส์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท