สหรัฐอเมริกากับไทยและชาตินิยมแบบสลิ่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

กรณีที่สั่นสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในยุคหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคมปี 2014 อีกระลอกหนึ่งได้แก่การที่รัฐบาลอเมริกันได้ส่งตัวแทนคือผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศหรือนายแดเนียล รัสเซลมาเยือนไทยและได้พบกับตัวละครทางการเมืองสำคัญๆ ไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย รวมไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรีคือยิ่งลักษณ์และอภิสิทธิ์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติทางการเมืองไทย อย่างไรก็ตามการบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีเนื้อหาที่ทำให้รัฐบาลทหารของไทยแสดงความผิดหวังเพราะสหรัฐฯ ไม่ได้ประกาศสนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”  ถึงแม้นายดาเนียลไม่ได้แสดงท่าทีในการตำหนิไทยอย่างรุนแรงนัก แต่จากการกระพืออารมณ์โดยใช้คำทำนองเดียวกับข่าวบันเทิงของสื่อไทยและทฤษฏีสมคบคิดของรัฐบาลคือเห็นว่าสหรัฐฯ เสแสร้งมาสังเกตการณ์เพื่อสร้างความกดดันให้กับรัฐบาลไทย ย่อมทำให้รัฐบาลไทยมองว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในอย่างให้อภัยไม่ได้ (มองกลับกัน ถ้าสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทยก็คงถือว่าไม่แทรกแซง ทั้งที่พฤติกรรมก็เป็นแบบเดียวกัน) โดยเฉพาะประเด็นที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบย้อนหลังเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่ากระบวนการยุติธรรม[i]

การตอบโต้ทางการทูตของไทยต่อสหรัฐฯ อย่างเข้มข้นหลายอย่างน่าจะช่วยปลุกกระแสชาตินิยมอันจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลที่ผลงานดูไม่สวยงามนักเพราะสามารถตอบรับกับรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีหัวชาตินิยมแบบสุดขั้ว (ภาษาอังกฤษคือ Ultranationalist ซึ่งผู้เขียนจะขอใช้คำแสลงเรียกว่าพวกชาตินิยมแบบสลิ่ม ดังต่อไปนี้) จำนวนมากซึ่งรุกโชนอีกครั้งภายหลังจากที่เคยสำแดงเดชจากกรณีที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้อนุญาตให้พวกล้มเจ้าลี้ภัยอย่างเช่นนายตั้ง อาชีวะ  ความคิดของพวกเขาน่าจะถูกแสดงออกมาสอดคล้องกับประโยคที่คุณดอน ปรมัตถ์วินัยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงบางส่วนที่น่าสนใจต่อไปนี้

 

       "....But Thailand is not a newly born nation. We have our own ways of solving problems and are taking serious steps to bring back democracy."

        "..... แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเพิ่งเกิดใหม่ เรามีวิธีการของเราเองในการแก้ไขปัญหาและกำลังมุ่งหน้าอย่างจริงจังในการนำประชาธิปไตยกลับมา"

คำแถลงเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนคิดว่าไม่ได้ช่วยให้มุมมองของสหรัฐฯหรือตะวันตกที่มีต่อเราเปลี่ยนแปลงไปในด้านดีหรือเกิดความรู้สึกเชื่อถือเท่าไรนักเพราะหากดูประวัติศาสตร์ให้ดีจะพบว่าประเทศเผด็จการ มักจะอ้างเช่นนี้กับสหรัฐฯและตะวันตกเช่นบอกว่าพวกตนมีการปกครองที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมหรือปูมหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของตัวเอง (บางประเทศอาจจะคงการปกครองเช่นนี้ไว้ตลอดไปหรือบางประเทศอาจจะมีโรดแมพเหมือนไทยเช่นอียิปต์ซึ่งปัจจุบันได้ประธานาธิบดีที่มาจากกองทัพผ่านการเลือกตั้งที่ไม่เสรี)  จึงก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกว่าประเทศโลกที่ 3 ซึ่งเป็นเผด็จการนั้นก็มักจะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานเสียด้วยเช่นอิรักก็คงถูกซัดดัม ฮุสเซนเคยนำมาอ้างอยู่เสมอว่าเป็นแหล่งอารยธรรมโลกคือไทกริส ยูเฟรติสที่ความเป็นมาหลายพันปี เช่นเดียวกับลุ่มแม่น้ำฮวงโหอันแสนน่าภาคภูมิใจของจีนซึ่งปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีแหล่งกำเนิดจากยุโรป หรือพอๆ กับลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ซึ่งปัจจุบันมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมหรือแบบเดียวกับประเทศในแอฟริกาเช่นซูดาน หรือ เอธิโอเปียซึ่งเป็นรัฐล้มเหลวและเป็นเผด็จการ ทั้งนี้ไม่นับประเทศในอุษาคเนย์อย่างเช่นพม่า กัมพูชา เวียดนาม ลาวซึ่งดัชนีของความเป็นประชาธิปไตยอยู่ต่ำเรี่ยตารางก็คงจะใช้ประโยคของคุณดอนเช่นเดียวกับไทยเพื่อตอกหน้าสหรัฐฯ

ตามความเป็นจริงแล้ว คำว่า "ประเทศ" หรือการเป็นรัฐชาติ (Nation-state) ของประเทศเหล่านี้จะเพิ่งเกิดเพียงไม่ถึงศตวรรษ ถ้าหากเทียบกับสหรัฐฯ ก็ถือได้ว่าประเทศโลกที่ 3 เหล่านี้ล้วนแต่ยังอ่อนเยาว์กว่ามากมายนักและซ้ำร้ายกระแสโลกาภิวัฒน์ซึ่งทำให้ระบอบการเมืองของโลกนั้นมีพัฒนาการและความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมทำให้แนวคิดที่ว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ของประเทศเผด็จการเหล่านั้นดูอ่อนพลังลง ในกรณีของไทยนั้น แม้จะไม่เก่าแก่เท่าประเทศทั้งหลายที่กล่าวมา แต่คนไทยมักถูกสอนว่ารัฐชาติของไทยนั้นมีอยู่อย่างยาวนานนับตั้งแต่การอพยพของคนไทมาจากเทือกเขาอัลไตจนถึงอาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์โดยไม่เสียตกเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของต่างชาติ  ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้พวกเสรีนิยมหรือพวกความคิดเชิงวิพากษ์สงสัยว่าแล้วการโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพม่าถึง 2 ครั้งโดยเฉพาะครั้งที่ 2 ที่ทำให้อาณาจักรถึงกับราบเป็นหน้ากลองกันเล่า ด้วยตามทฤษฎีของนักประวัติศาสตร์หัววิพากษ์นั้น รัฐชาติของไทยเริ่มมีจุดวิวัฒนาการมาเพียงแค่สมัยรัชกาลที่ 5  คือเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนจะมาเป็นชาติอย่างเต็มที่หรือการเกิดความรู้สึกพลเมืองที่มีสิทธิและเสรีภาพเท่ากันหรือในระนาบเดียวกันก็ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24  มิถุนายน ปี 2475  โดยคณะราษฎร ดังนั้นคำพูดของคุณดอนจึงเป็นเพียงการนำกรอบของการเมืองในยุคปัจจุบันมาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ไทย ๆ  แบบจอมปลอม

แม้ว่าทฤษฎีเชิงวิพากษ์เช่นนี้ดูมีพลังและเป็นที่ยึดถือจากคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย แต่ผู้เขียนคิดว่าข้อมูลหรือข้อโต้แย้งเช่นนี้ก็คงไม่ได้ทำให้กระบวนทัศน์หลักเกี่ยวกับความเป็นไทยที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มยึดถือสะเทือนเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ว่าด้วยความยิ่งใหญ่ของคนไทยมาเกือบพันปีไม่ได้ล้มเหลวอย่างที่พวกหัวเสรีนิยมโจมตี เพราะเป็นเจตนาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่กุมอำนาจรัฐตั้งใจจะให้เป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของรัฐมากกว่าจะปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความคิดอิสระเป็นของตัวเองโดยเฉพาะผ่านแบบเรียนในโรงเรียน ซึ่งคนไทยทุกคนต้องได้ผ่านเข้ามาในสมองถึงแม้ว่าในระดับมหาวิทยาลัย พวกเขาจะเรียนในคณะอื่นที่ไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เมื่อพวกเขาเหินห่างจากห้องเรียนก็ต้องซึมซับแหล่งอื่นที่เป็นตัวป้อนความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่อาจทรงอิทธิพลกว่าแบบเรียนเสียด้วยซ้ำเช่นภาพยนตร์  ละครโทรทัศน์ หนังสืออ่านประโลมโลก การสนทนาทางเว็บต่างๆ  ฯลฯ ก็ย่อมเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนซึ่งส่วนใหญ่มักถูกรัฐครอบงำหรือถูกผลิตจากคนที่ใช้มักใช้ความรู้ที่ถูกครอบงำจากรัฐมาอธิบาย จึงทำให้คนไทยจำนวนมากมีความเชื่อโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมผสมชาตินิยมทั้งสิ้น ตอกย้ำด้วยจิตวิทยาของคนทั่วไปที่ว่าต้องการมีคุณค่าและศักดิ์ศรีหรือความศักดิ์สิทธิ์ของตนและกลุ่มตนแล้ว (ตัวอย่างอื่นได้แก่ท้องถิ่นซึ่งพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของตนออกมาอย่างไม่คิดชีวิต)

2.แนวคิดที่บอกว่าประเทศไทยไม่มีตัวตนก่อนรัชกาลที่ 5 เป็นแนวคิดที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มมองว่าเป็นฝรั่งเช่นเดียวกับคำว่าประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน แนวคิดเช่นนี้แม้ดูสมเหตุสมผลแต่อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่าผู้พูดดูหัวรุนแรง อันเป็นผลให้พวกชาตินิยมแบบสลิ่มปฏิเสธและพยายามหาทฤษฎีเข้ามาตอบโต้ พวกเขาอาจเห็นว่า "ความเป็นไทย" นั้นได้ก้าวอยู่บนการสืบต่อกันอย่างไม่เป็นระเบียบของอาณาจักรเหล่านี้และพวกเขาก็ได้สร้างมันขึ้นมาใหม่โดยผ่านลัทธิราชาชาตินิยมเช่นคนไทยในยุคปัจจุบันรู้สึกว่าคนเหนือ คนใต้ คนอีสานเป็นพวกเดียวกับกรุงศรีอยุธยาเพราะพระนเรศวรเป็นกษัตริย์ไทยที่เก่งกล้าสามารถรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ซึ่งก็เป็น "คนไทย" เหมือนกันแต่แตกพลัดกระจัดกระจายระหว่างทางที่อพยพจากเทือกเขาอัลไตให้สวามิภักดิ์กับอยุธยาได้ (ถึงแม้จะบอกไม่ได้ว่าเมืองใดบ้างแต่ก็คงเยอะพอดู หากใช้จินตนาการเข้าช่วย) ถึงแม้กรุงศรีอยุธยาอาจจะไม่มีเชียงใหม่ดังเช่นในภาพยนตร์พระนเรศวรตอนหนึ่งที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งดูไร้ความเก่งกาจแต่อาจหาญมาต่อสู้กับกรุงศรีอยุธยา (ตัวผู้แสดงคือ ชลิต เฟื่องอารมณ์ซึ่งดูคล้ายกับอาจารย์ยิ่งศักดิ์มากกว่ากษัตริย์)  อันทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็เหมือนกับลูกน้องกระจอกที่หลงผิดไปอยู่กับฝ่ายพม่า สักวันเชียงใหม่ต้องซบอกอยุธยาอยู่วันยังค่ำจนมาสำเร็จอย่างจริงจังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

3.ด้วยกระแสการศึกษาแบบราชาชาตินิยมทำให้พวกชาตินิยมแบบสลิ่มรู้สึกต่อต้านคณะราษฎรผู้สถาปนาความเป็นชาติและหันมาให้ความสำคัญต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ก่อน ปี 2475 ไม่ว่าจะอยู่ในอาณาจักรใดซึ่งมักถูกนำเสนอในด้านบวกผสมกับความยิ่งใหญ่ แม้ว่ามีการนำเสนอถึงความชั่วร้ายหรือความอ่อนแอของกษัตริย์และอาณาจักรในยุคนั้นโดยเฉพาะสมัยอยุธยา แต่ถ้ามีการหักลบกับกษัตริย์ที่ทรงเก่งกาจหลายพระองค์เช่น สมเด็จพระนเรศวร พระเอกาทศรถ  พระนารายณ์  ฯลฯ คนไทยที่ยึดถือลัทธิชาตินิยมแบบสลิ่มย่อมรับไม่ได้ที่จะมาหักล้าง "ประเทศไทย" ให้เหลืออยู่เพียงยุคหลังคณะราษฎรคือเพียง 80 กว่าปี อันมีอายุน้อยยิ่งกว่าประเทศ "ฝรั่ง" โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มมองว่ามีวัฒนธรรมแบบประชานิยม (pop culture) แม้ได้รับความนิยมทั่วโลกแต่ก็หยาบกระด้าง สหรัฐฯ ยังเป็นเจ้าแห่งลัทธิบริโภคนิยม และอาชญากรรม  เยาวชนมั่วเรื่องทางเพศ  เป็นประเทศหน้าไหว้หลังหลอก มีสำนักข่าวกรองที่โยงใยไปทั่วโลกอย่างเช่น ซีไอเอเพื่อตอบสนองความเป็นจักรวรรดินิยมมือเปื้อนเลือด [ii] มีอีกจำนวนไม่น้อยที่นอกจากจะยกย่องชาติไทยแล้วยังยกย่องมหาอำนาจที่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ ไม่ว่าจีนหรือรัสเซียซึ่งน่าเป็นมิตรที่ดีสำหรับไทยเพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ  บางพวกขุดเอากระแสนิยม (หรือคลั่ง) จีนจากพวกฝ่ายซ้ายเก่าเมื่อหลายทศวรรษก่อนมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ นั้นเริ่มหมดความหมายไปจากเวทีโลกแล้วเช่นเดียวกับทักษิณและเครือข่ายซึ่งบางสื่อของกลุ่มพันธมิตรกล่าวหาว่าเป็นลิ่วล้อหรือหุ่นเชิดของสหรัฐฯ 

ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งในการสร้างอัตลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของไทยซึ่งเริ่มต้นจากการพยายามสร้างภาพในอดีตอันแสนยิ่งใหญ่ เช่นการที่รัชกาลที่ 4 ทรงใช้ศิลาจารึกหมายเลข 1 ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงในการบอกกับชาติตะวันตกว่ากรุงสยามนั้นมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยคือเมื่อหลายร้อยปีก่อน (แน่นอนว่าเมื่อมีผู้เสนอว่ารัชกาลที่ 4 ทรงปลอมศิลาจารึกย่อมถูกโจมตีจากพวกอนุรักษ์นิยมหรือในปัจจุบันยังอาจโดนดำเนินคดีอาญามาตรา 112 อีกด้วย)  และในภายหลังชนชั้นนำพยายามปฏิเสธฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งเคยยิ่งใหญ่กว่าตนเช่นสังคมอเมริกันให้แย่หรือโสมมเพียงใด[iii] สังคมแบบเผด็จการจารีตนิยมของไทยก็ยิ่งสามารถสร้างภาพฝันๆ ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันของตนให้สวยงามได้เท่านั้นและยิ่งผูกเข้ากับสถาบันกษัตริย์ด้วยแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วสหรัฐฯ มีส่วนในการสร้างอัตลักษณ์แบบไทยๆ ไม่น้อยดังเช่นในช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ให้การช่วยเหลือในการเผยแพร่ค่านิยมแบบไทยๆ เช่น สถาบันกษัตริย์เพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ดังงานวิชาการของณัฐพล ใจจริงได้ระบุไว้หรือแม้แต่แนวคิด วิถีชีวิตหรืออะไรอีกสารพัดที่เราคิดว่าเป็นไทย ถ้าสืบร่องรอยไปแล้วอาจจะได้รับอิทธิพลจากสังคมอเมริกันมาอย่างน่าขนลุก

นอกจากนี้พวกหัวเสรีนิยมอาจยกประเด็นด้านรัฐศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาของนิยามว่า "รัฐ" หรือ "อธิปไตย" ในเชิงรัฐศาสตร์เช่นเราจะสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากได้อย่างไรว่าไทยมีอธิปไตยหรือมีอิสระอย่างเต็มที่ในนโยบายภายในประเทศหรือต่างประเทศ เช่นการมาเยือนของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นจะถือว่าเป็นการร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นฉันท์มิตร (ตามโฆษณาชวนเชื่อของละครเรื่องคู่กรรม) ได้หรือไม่ เพราะนอกจากเราต้องเป็นศัตรูกับฝ่ายพันธมิตรแล้ว ญี่ปุ่นยังสามารถยึดสถานที่ราชการของไทยไปใช้เป็นกองบัญชาการของตนตามใจชอบและยังสามารถพิมพ์ธนบัตรมาใช้เองได้โดยไม่ต้องขอทางฝ่ายไทย  หรือในช่วงสงครามเวียดนามที่ไทยเองแม้จะซบอกสหรัฐฯ ด้วยความสมัครใจเพราะได้งบประมาณช่วยเหลือมากมายตั้งแต่สมัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ก็ต้องยอมรับว่านโยบายการต่างประเทศของไทยนั้นไม่สามารถถูกกำหนดให้เป็นอย่างอื่นได้ หรืออย่างกรณีที่สหรัฐฯ ใช้เราเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศถึง 13 แห่งในส่งเครื่องบินไปโจมตีเวียดนามเหนือ มีการขึ้นลงของเครื่องบินและการขนส่งอาวุธที่ไม่ต้องขออนุญาตหรือแจ้งทางฝ่ายไทยเสียก่อน หรือกรณีของคนไทยที่มีเรื่องพลั้งมือไปฆ่าทหารอเมริกันและถูกจับขึ้นศาลทหารของสหรัฐฯ โดยไม่อิงกับกระบวนการยุติธรรมของไทย  หรือแม้แต่ปัจจุบันที่กองทัพไทยซึ่งภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่ยุคของพระนเรศวรหรือก่อนหน้านั้นต้องดิ้นพล่านเหมือนกับแมวอยู่บนหลังคาสังกะสีร้อนๆ  (cat on a hot tin roof) เมื่อสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเลิกซ้อมรบคอบราโกลด์หรือจะตัดความช่วยเหลือทางการทหาร  นอกจากนี้รัฐบาลไทยไม่ว่าชุดไหนต้องแสดงความวิตกเมื่อถูกตัดสิทธิทางการค้าจากสหรัฐฯ ไม่ว่าเพราะการละเมิดลิขสิทธิ์หรือการถูกลดอันดับขั้นในเรื่องการค้ามนุษย์  

เราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็น "การแทรกแซง" นโยบายในทุกด้านของไทยมานานอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ให้ไทยผูกความภักดีต่อสหรัฐฯนับตั้งแต่สงครามเย็นจนมาถึงยุคแห่งการโอบล้อมจีนของสหรัฐฯ ไม่ใช่เพิ่งเกิดมาเมื่อวันสองวันนี้เอง

แต่ด้วยจินตนาการผสมกับการเลือกเชื่อในประวัติศาสตร์บางส่วน รวมไปถึงความไม่รู้ในหลักรัฐศาสตร์ พวกชาตินิยมแบบสลิ่มก็ย่อมปฏิเสธข้อมูลข้างบน เพราะพวกเขาเลือกจะเชื่อว่าการตกเป็นเมืองขึ้นนั้นมีลักษณะแบบเดียวกับญี่ปุ่นบุกยึดนานกิงของจีนจนเลือดไหลนอง หรือนาซีบุกยึดกรุงปารีสเป็นเวลาหลายปีที่ถึงขั้นบังคับให้มีภาษาเยอรมันอยู่เหนือภาษาฝรั่งเศสในป้ายต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไทยไม่เคยพบอย่างชัดเจนนักนอกจากกรณีของญี่ปุ่นซึ่งผู้เขียนคิดว่าคนไทยหัวชาตินิยมแบบสลิ่มจำนวนมากคงจะรู้จักและซาบซึ้งผ่านละครคู่กรรมซึ่งสร้างภาพของทหารญี่ปุ่นให้ดูสวยงามยิ่ง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีคนไทยเท่าไรที่เชิดชูวีรกรรมของทหาร ตำรวจ ยุวชนทหารในการต่อสู้กับญี่ปุ่นเท่ากับชาวหมู่บ้านบางระจันที่รบกับพม่าเมื่อ 2 ร้อยปีก่อน จะมีคนไทยจำนวนเท่าไรที่รู้ว่าทหารญี่ปุ่นเคยทำทารุณกรรมกับคนไทยเช่นเกิดกรณีเคยไปตบหน้าพระภิกษุไทยที่จังหวัดราชบุรี จนทำให้คนไทยปะทะกับญี่ปุ่นจนเกือบจะขยายวงไปไกล (ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริได้เล่าไว้ แต่ผู้เขียนเคยอ่านเจอก่อนหน้านี้ในหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ซึ่งเขียนโดยประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร)  เหตุการณ์เหล่านี้วงการประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ได้ปกปิดแต่ไม่ได้ถูกนำเสนอได้เท่ากับการที่ โกโบริหรือ "พ่อมะลิ" ของ อังศุมาลินปฏิบัติต่อคนไทยอย่างให้เกียรติเยี่ยงมิตร 

สำหรับกรณีสหรัฐฯ และไทยในช่วงสงครามเวียดนามนั้น ในการสร้างภาพยนตร์หรือละครเพื่อสะท้อนนั้นดูเหมือนจะไม่ชัดเจนนักอาจเพราะความเกรงใจต่อสหรัฐฯ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ (ดังนั้นพม่าจึงเป็นตัวล่อเป้าที่ดีที่สุด) จึงไม่กล้ามีใครกล้าทำภาพยนตร์เพื่อสะท้อนไปในเชิงการเมืองหรือต่อต้านอเมริกันอย่างชัดเจนเพื่อให้ถูกทางการเซ็นเซอร์เท่าไรนัก นอกจากสารคดีในช่องโทรทัศน์บางช่อง ผู้เขียนจำได้คลับคล้ายว่าเคยเห็นแต่ฉากในผับแถวจังหวัดอุดรธานีที่ทหารอเมริกันขี้เมาไปอาละวาดเลยปะทะกับคนไทยเลือดรักชาติ  ตัวอย่างมุมมองของพวกชาตินิยมแบบสลิ่มต่อสหรัฐฯ ที่ชัดเจนท่านหนึ่งคือคุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี บุตรีของจอมพลถนอม กิติขจรซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงสงครามเวียดนาม เธอได้ออกมาแถลงในนามของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาเป็นทำนองว่าไทยนั้นเป็นเอกราชมายาวนานและมีเกียรติ ทั้งที่ในยุคของบิดาเธอนั้น ไทยได้ถูกสหรัฐฯ เข้าครอบงำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมหาศาลประการใด (ทั้งที่ไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นเธอน่าจะอายุได้  20 กว่าปีซึ่งควรจะรู้ความเกี่ยวกับโลกภายนอกได้ดีระดับหนึ่งแล้ว) แน่นอนว่าคำพูดของเธอในฐานะเป็นพวกไฮโซชอบออกงานสังคมพร้อมสามีซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ย่อมถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ในนิตยสารสำหรับผู้หญิงซึ่งกลุ่มลูกค้าสำคัญมักเป็นพวกชาตินิยมแบบสลิ่มเช่นกลุ่มกปปส.[iv]

นอกจากนี้หากเราพิจารณาถึงคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่คุณดอนได้กล่าวถึงนั้น คำว่าประชาธิปไตยของไทยนับตั้งแต่หลังปี 2475 เป็นต้นมานั้นหากเปรียบได้กับคนก็เหมือนกับคนที่ย้ำคิดย้ำทำ เดินกลับไปกลับมาโดยปัจจัยสำคัญนั้นก็คือกองทัพที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยอยู่ตลอดมา ดังเช่นรัฐบาลที่คุณดอนรับใช้อยู่นั้น ย่อมทำให้ไทยนั้นเป็นเพียง born yesterday หรือเด็กเมื่อวานซืนเท่านั้นเองหากเปรียบเทียบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก  ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยของชาติดังกล่าวจะมีปัญหาอยู่มากดังข่าวที่เรารับรู้โดยทั่วไปในสื่อแต่ก็ต้องยอมรับว่าสถาบันต่างๆ ของชาติเหล่านั้นมีพัฒนาการที่มั่นคงและยึดโยงอยู่กับประชาชนไม่มากก็น้อย ส่วนการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญเป็นว่าเล่นและร่างขึ้นมาใหม่ตามใจฉันภายใต้การเสแสร้งว่าเปิดให้มีการระดมความคิด รวมไปถึงการปิดกั้นการเสนอความคิดเห็นอย่างเสรีของประชาชนโดยข้ออ้างถึงความผิดปกติหรืออะไรก็ตามแต่ ก็เป็นข้ออ้างที่ประเทศเผด็จการมักจะอ้างกันอยู่เนืองๆ จากประโยคที่ว่า "เรามีวิธีการของเราเองในการแก้ไขปัญหา" สุดท้ายคำพูดของคุณดอนจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นเพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าพวกเทคโนแครตทั้งหลายในรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งสมองถูกแช่แข็งไว้ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะสามารถเข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริงอะไรได้

แต่ประโยคข้างบนสามารถถูกปฏิเสธได้จากพวกชาตินิยมแบบสลิ่มเพราะรัฐแบบอนุรักษ์นิยมของไทยได้ปลูกฝังมานานว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งประดิษฐ์ของตะวันตกที่ไม่มีวันเข้ากับสังคมไทยหรือค่านิยมแบบไทยๆ ได้เป็นอันขาด  โดยที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร อย่างเช่นกลุ่มกปปส.คิดว่าประชาธิปไตยแบบฝรั่งคือเลือกตั้งซึ่งไม่ได้เรื่อง ดังนั้นจึงต้องแก้แบบไทยๆ คือการไปปิดคูหาเลือกตั้งเพื่อเรียกร้องให้ทหารมายึดอำนาจเพื่อไล่ทักษิณและเครือข่ายออกไป แต่เมื่อพวกเขาถูกซุ่มโจมตี บาดเจ็บบ้าง เสียชีวิตบ้างจึงเรียกร้องหาสิทธิในการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นวาทกรรมของประชาธิปไตยแบบตะวันตก  แต่การที่พวกเขามักอ้างว่าเสื้อแดงในปี 2553 ไม่ควรได้รับสิทธิเช่นนั้นเหมือนพวกตนเพราะคนเหล่านั้นเป็นพวกล้มเจ้า เผาบ้านเผาเมืองก็สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่เข้าใจประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ส่วนพวกทหารก็คิดเพียงอย่างเดียวว่าประชาธิปไตยคือการออกมาประท้วงเพื่อก่อความไม่สงบและเป็นกลยุทธ์ของเครือข่ายทักษิณในการล้มรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

ดังนั้นกลายเป็นเป็นเรื่องตลกร้ายว่าเมื่อสื่อของพวกสลิ่มถูกทหารคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกเช่นเดียวกับกลุ่มเสื้อแดง ดูเหมือนพวกเขาจะออกมาต่อต้านแบบพองามก่อนจะเงียบหายไปไม่เหมือนกับตอนที่ละครเรื่อง "เหนือเมฆ 2" ต้องพ้นจากผังรายการโทรทัศน์ไปในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์  เพราะนอกจากแรงกดดันจากองทัพแล้ว พวกเขานั้นคงน้ำท่วมปากเพราะคงรู้ตัวดีว่าเคยสนับสนุนกองทัพแต่ก็ออกมาร้องแรกแหกกระเชอเรื่องเสรีภาพ ดังนั้นการสนับสนุนการประท้วงของนักศึกษาที่เกาะฮ่องกงหรือการยกย่องเสรีภาพในการแสดงออกของนิตยสารชาร์ลี เอบโดของพวกที่เคยร่วมชุมนุมกับกปปส.จึงดูสับสนเหมือนคำพูดของ  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ว่าเขามีหัวใจประชาธิปไตยที่ต้องควบคุมอำนาจ (จำกัดประชาธิปไตย) เพื่อรักษาประชาธิปไตยไว้

สังคมไทยในอุดมคติของพวกชาตินิยมแบบสลิ่มก็คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือ Democracy in Thai characteristics  ซึ่งไม่มีวันเหมือนต่างชาติเช่น Democracy in American characteristics เป็นอันขาดและอาจจะไม่ตัวตนอยู่จริงนอกจากฟาสซิสต์แบบจำแลง

พวกชาตินิยมแบบสลิ่มจึงปฏิเสธการกดดันจากนานาชาติหรือการจัดอันดับขององค์กรอิสระเกี่ยวการเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก (แน่นอนว่าในปี 2015 ไทยได้รับการเปลี่ยนประเภทจากประเทศอิสระบางส่วนเป็นประเทศไม่อิสระไปเสียแล้ว) ในเชิงทฤษฎีสมคบคิดว่าเป็นการหวังผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการร่วมกับกลุ่มอำนาจเดิมคือทักษิณในการกดดันให้รัฐบาลที่เต็มไปด้วยคนดีของคสช.หมดอำนาจไปในที่สุด  พวกชาตินิยมแบบสลิ่มจึงมีแนวโน้มที่จะตอบรับวาทกรรมแบบเพ้อฝันสุดขั้วอย่างเช่นการปิดประเทศหรือการตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและตะวันตกได้อย่างไม่ละอายใจแม้จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดในโลกยุคที่พวกตนยังคงเสพความเป็นตะวันตกเช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูด สินค้ามี แบรนด์จากยุโรป  การสื่อสารกันผ่านฮอตเมลและเฟซบุ๊ค หรือยังนิยมส่งลูกส่งหลานไปเรียนยังสหรัฐฯ หรืออังกฤษมากกว่าส่งไปที่จีนหรืออินเดีย

 



[i] ผู้เขียนจำได้ว่าในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น หนังสือพิมพ์บางกอกโพสโจมตีว่าการดำเนินคดีของอภิสิทธิ์และสุเทพในกรณีปราบปรามคนเสื้อแดงด้วยความรุนแรงในปี 2553 นั้นมีแรงจูง ใจทางการเมืองแอบแฝง  แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถซื้อหนังสือพิมพ์สำนักนี้อ่านได้ทุกวัน (เพราะอ่านไม่ทัน) จึงไม่แน่ใจว่าบางกอกโพสจะกล่าวถึงกรณีเล่นงานยิ่งลักษณ์เรื่องจำนำข้าวว่าเกิดจากแรงจูงใจอะไรกันแน่ แต่เท่าที่ได้อ่านมาดูเหมือนหนังสือพิมพ์จะไม่ยอมวิจารณ์การกระทำของรัฐบาลทหารเหมือนกับของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่าไรนัก

 

[ii] เป็นเรื่องน่าสนใจว่าความเกลียดชังหรือความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ นั้นแต่ก่อนเคยถูกผูกขาดโดยฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบตลาดเสรี แต่ในกว่าทศวรรษที่ผ่านมาพวกเขาได้รับการสมทบจากพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งเจ้าหรือชาตินิยมแบบสลิ่มที่ชื่นชอบระบบตลาดเสรีและส่งลูกหลานไปเรียนอเมริกาเข้าทำนองว่าเป็น unlikely alliance หรือพันธมิตรที่ดูเป็นไปไม่ได้ (ดังนั้นกลุ่มซ้ายเก่าจำนวนมากจึงไปอยู่กับกปปส.เป็นจำนวนมาก) นอกจากนี้ตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ซึ่งไม่ได้เป็นฝ่ายซ้ายแต่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมหัวก้าวหน้า อิงกับศาสนาและ ต่อต้านระบบทุนนิยมได้อ้างแนวคิดจากพวกฝ่ายซ้ายเช่นพวกอนาธิปไตยเพื่อวิจารณ์ประชาธิปไตยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเลือกตั้งอันจะเป็นการโจมตีทักษิณและเครือข่ายไปด้วย  แม้ว่าสุลักษณ์จะถูกโจมตีจากทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่เมื่อสุลักษณ์โจมตีทักษิณเป็นพิเศษ เขาก็จะได้รับการตอบรับจากพวกเสื้อเหลืองเป็นอย่างดีแม้ว่าพวกเสื้อเหลืองจะไม่ถึงขึ้นปฏิเสธระบบตลาดเสรีหรือว่าเป็นพวกเคร่งศาสนาก็ตาม

 

[iii] สังคมไทยมีการมองสหรัฐฯ ในด้านดีและมีการรับเอาวัฒนธรรมแบบอเมริกันมาอย่างแพร่หลายยิ่งกว่าประเทศเจ้าประจำอย่างเช่นอังกฤษหรือฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษที่ 50 จนไปถึงปลายทศวรรษที่ 60  อันเป็นช่วงที่สังคมอเมริกันดู “เรียบร้อย” คือประณีตในเรื่อง ชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องแต่งกาย มีการแบ่งบทบาทระหว่างผู้ชายผู้หญิงอย่างเคร่งครัดเช่นผู้ชายไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือนคอยเลี้ยงลูกหรือเรื่องทางเพศที่หนุ่มสาวต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ  อันเป็นสังคมที่อิงอยู่กับค่านิยมวิกตอเรียนของอังกฤษอย่างมากจนสหรัฐฯ ในบางมุมของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเหมือนกับเป็นยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20   จนถึงในปลายทศวรรษที่ 60  ที่หนุ่มสาวยุคเบบี้บูมเริ่มขบถทางบ้านและหันไปสร้างวัฒนธรรมแบบกระแสรองอย่างเช่นฮิปปีซึ่งสอดคล้องกับการปฏิวัติทางเพศ ปรากฏการณ์นี้น่าจะทำให้สังคมไทยเริ่มหมดรักสังคมอเมริกันซึ่งมีการเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะความหวาดระแวงว่ากระแสขบถของพวกเบบีบูมได้ทำให้เยาวชนไทยกระด้างกระเดื่องซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยคนหนุ่มสาวดังเช่น 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519  คนไทยเริ่มมองคนอเมริกันว่า “ถ่อย ชอบพูดหยาบคาย บ้าเซ็กซ์ ไร้ศีลธรรม”  ซึ่งจะกลายเป็นภาพที่ติดตาคนไทยโดยเฉพาะพวกชาตินิยมแบบสลิ่มจนถึงปัจจุบันโดยได้รับการเสริมแรงจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้คนไทยรู้สึกต่อต้านตะวันตก ต่อต้านอเมริกันนอกจากความรังเกียจต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และในปัจจุบันยังคบค้าสมาคมกับทักษิณ “ผู้โกงชาติและล้มเจ้า” อีกด้วย

 

[iv] เป็นเรื่องตลกอย่างไรก็ไม่ทราบว่าผู้เขียนเองได้เรียนประวัติศาสตร์ไทยหรือตะวันตกผ่านนิตยสารสตรีแบบไฮโซไม่ว่า “แพรว” หรือ “ดิฉัน” ตั้งแต่ยังเด็กเพราะคุณแม่รับนิตยสารเหล่านี้เป็นประจำและเท่าที่จำได้ว่าประวัติศาสตร์ในนิตยสารเหล่านั้นซึ่งขาดการอ้างอิงแบบวิชาการและยังเน้นจุดยืนและมุมมองจากพวกเจ้าและพวกนิยมเจ้า  ที่ไม่น่าให้อภัยคือยังผสมระหว่างความเป็นจริงเข้ากับนิยายแบบพาฝันจนคนอ่านแยกไม่ออกระหว่างข้อมูลทางประวัติศาสตร์กับสิ่งที่จินตนาการขึ้น  แต่ที่สารในนิตยสารเหล่านั้นทรงพลังเพราะคนเสพเป็นชนชั้นสูงและกลาง เช่นเดียวกับรูปลักษณะของนิตยสารที่พิมพ์ 4 สีอย่างดี มีดาราชื่อดังถ่ายแบบ และนักเขียนก็มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากสังคม ในกว่าทศวรรษที่ผ่านมาจากการสังเกตของผู้เขียน บทความเกี่ยวกับสถานการณ์โลกที่นิตยสารเหล่านี้มีไว้ 2-3 หน้าเพื่อทำให้ดูมีสาระนอกเหนือจากการนำเสนอเรื่องส่วนตัวของไฮโซ ดารา หรือประวัติศาสตร์ชนิด “บ้านยังดีเมืองยังงาม” จะวิจารณ์พร้อมเสียดสีรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้จอร์จ ดับเบิลยู บุชในช่วงทำสงครามที่อิรักและอัฟกานิสถานเพื่อเป็นการเสริมแรงในการโจมตีทักษิณไปในตัว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท