Skip to main content
sharethis
เสวนาพูดคุยถึงเรื่องกระแสการอ่านในปี 2015 ของเมืองไทยและทั่วโลก การกลับมาและคงอยู่ที่ชัดเจนของหนังสือเล่ม จากที่เคยถูกมองว่าจะถูกกลืนหายไปท่ามกลางการเติบโตของอุปกรณ์การอ่านดิจิตอล
 
 
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา ณ อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 มีการเสวนา “ส่องเทรนด์โลกหนังสือ 2015” พูดคุยเพื่อเจาะลึกโดยมีวิทยากร นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รอง ผอ.ฝ่ายข่าวไทยพีบีเอสและเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา นายศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน นายโตมร ศุขปรีชา อดีตบรรณาธิการนิตยสารจีเอ็มโดยมี ทราย เจริญปุระ มาเป็นผู้ดำเนินรายการ
 
เนื้อหาการเสวนาพูดคุยถึงเรื่องกระแสการอ่านในปี 2015 ของเมืองไทยและทั่วโลก เนื่องจากขณะนี้มีการวิจัยจากต่างประเทศหลายสำนักอ้างอิงถึงการกลับมาและคงอยู่ที่ชัดเจนของหนังสือเล่ม จากที่เคยถูกมองว่าจะถูกกลืนหายไปท่ามกลางการเติบโตของอุปกรณ์การอ่านดิจิตอล รวมทั้งแนวหนังสือที่มาแรงของไทยและโลก และวิธีการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ
 
ภาพรวมของวงการหนังสือในเมืองไทย สื่อดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาท ส่งผลต่อการเติบโตของวงการหนังสือในเมืองไทยและระดับโลกอย่างไร
 
นายวันชัย กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้การดูกับการอ่านใกล้กันมาก จนกระทั่งการปฏิวัติทางเทคโนโลยีในเรื่องอินเตอร์เน็ตก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ เราดูมากขึ้นแต่อ่านน้อยลง โดยเฉพาะแท็บเล็ต โน้ตบุค ยิ่งทำให้เราดูมากขึ้น จนกระทั่งอ่านกับดูใกล้กันขึ้นมา ยกตัวอย่างแม็กกาซีนสร้างออกมาเพื่อการดูมากกว่าการอ่าน ทุกวันนี้เราดูหนังสือพิมพ์ ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ นิยามคำว่าการอ่านคือ อ่านไป คิดไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะสังคมทุกวันนี้เป็น Speed of time นี่คือเหตุผลว่าทำไมมันเป็นชัยชนะของเทคโนโลยี ทำไมวันนี้หนังสือพิมพ์ถึงล้มหายตายจากไป หนังสือพิมพ์ก็ต้องมาอยู่รอดโดยการดูผ่านสื่อออนไลน์ ถามว่าทุกวันนี้มีใครอ่านหนังสือพิมพ์ผ่านกระดาษบ้าง รวมถึงคนรุ่นใหม่ด้วย เมื่อ 2-3 ปีก่อน เคยมีการสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ปรากฏว่า 80% ของนักศึกษา อ่านจากอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของเทคโนโลยี นั่นหมายความว่าวิธีการเขียนของหนังสือพิมพ์ในเว็บไซต์ก็เปลี่ยนไปในเว็บไซต์จะกระชับ สั้น เพราะว่าการดูในแท็บเล็ตก็คือดูผ่านๆ แทบจะเรียกว่าเราดูหัวข้อข่าว ทุกวันนี้เราบริโภคข่าวจากเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ ถามว่าทุกวันนี้เรารู้ข่าวจากไหนมีสักกี่เปอร์เซ็นที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ ทุกวันนี้คนบริโภคข่าวผ่านเฟซบุ๊ก ยิ่งเป็นอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตโน๊ตบุ๊ค มันทำให้การอ่านกับการดูรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ที่อเมริกา ปัญหาใหญ่ของคนทำทีวีคือไม่มีใครซื้อทีวีแล้ว ปริมาณของการซื้อทีวีลดลงอย่างรวดเร็ว ทิศทางใหญ่ของโลกก็คือการดูการอ่านมันผ่านอุปกรณ์เดียวก็คือแท็บเล็ตพฤติกรรมคนเวลาดูอะไรผ่านเร็วๆก็จะดูผ่านแท็บเล็ต แต่สุดท้ายกระดาษมันจะมีเสน่ห์ของมัน คนที่ต้องการอ่านอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ก็ยังอ่านได้จากกระดาษ หนังสือเล่มยังคงเรียกร้อง แต่หนังสือบางประเภทยังไงก็กู่ไม่กลับอย่างเช่นไกด์บุ๊ก ถึงจุดหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งจะรู้สึกว่าหนังสือน่าจะยังใช้ได้อยู่
 
นายโตมร พูดต่อประเด็นนี้ว่า การอ่านของไทยเป็นวิธีการอ่านแบบที่จะใช้คำว่าดูก็ได้ หรือบริโภคโดยผ่านการเล่า ก็คือเล่าให้ฟัง ผ่านการแสดง ผ่านลำตัด เราถ่ายทอดความจริงผ่านปากต่อปาก เป็นการเล่าให้ฟังหรือการแสดง เพราะฉะนั้นคนไทยเวลาที่บริโภคสื่อ จะคุ้นเคยกับการที่ตนเองนั่งเฉยๆและมีคนมาป้อนข้อมูลให้ แต่วิธีการอ่านหนังสือแบบโลกตะวันตก จะต้องเปิดหนังสือมาอ่านและทำความเข้าใจ มันฝังอยู่ในโครงสร้างของภาษาด้วย ภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงาม ไพเราะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอ่านวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน ฯ เวลาเราอ่านออกเสียงมามันจะเพราะ มีคำที่ไพเราะ มันมาจากวิธีการถ่ายทอดความรู้ ความงาม ความจริง โดยผ่านการเล่า แต่ว่าของฝรั่ง แค่คำหนึ่งมันก็จะมีความคิด คือจะมีวิธีคิดที่ต่างกัน ด้วยตัวภาษาจะทำให้เราเห็นโลกไม่เหมือนกัน และส่งผลกระทบมาถึงวัฒนธรรมการอ่านด้วย ในสังคมที่วัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็ง สังคมก็ให้คุณค่ากับคนผลิต อย่างงานมหกรรมหนังสือ เราอาจจะตื่นเต้นว่ามันหลายร้อยล้าน แต่จริงๆแล้วถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆถือว่าน้อยมาก
 
นายสิริพงษ์ กล่าวเสริมในเรื่องของงานสัปดาห์หนังสือล่าสุดถึงแนวโน้มของยอดขายที่ลดลงว่า คนเยอะขึ้นจริง แต่ยอดขายลดลงทุกสำนักพิมพ์ ตลาดหนังสือไม่ค่อยดี ยอดขายลดลง 20-30เปอร์เซ็นซึ่งน่าตกใจที่ลดมากขนาดนี้ ย้อนหลังไปเมื่อ4-5 ปีก็จะนิ่งๆหรือเพิ่มขึ้นมานิดหน่อยก็ไม่คิดว่ามันจะตกถึงขนาด 20% อาจเป็นเพราะในเรื่องของเศรษฐกิจ คนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย เท่าที่สังเกต คนที่เป็นนักอ่านก็เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อไปเยอะอย่างเห็นได้ชัด คือซื้อเฉพาะเล่มที่จะอ่าน จบแล้วค่อยไปซื้อใหม่ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะซื้อทีละหลายเล่มเก็บไว้ 
 
แนวหนังสือแบบไหนที่กำลังฮิตในตอนนี้
 
นายวันชัย กล่าวว่า ตนว่าหนังสือแนวความเชื่อ ศาสนา กำลังมาแรงมาก หรือหนังสือ How To แนวนี้อมตะนิรันดร์กาล เดี๋ยวนี้คนไทยอยากรวยเร็ว ไม่อยากเป็นลูกจ้าง หุ้นมาก่อนเลย ร้านซีเอ็ด หนังสือ 20 อันดับขายดี 5 เล่มก็คือหุ้น มันก็ชัดเจนและสะท้อนกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่จบมาแล้วอยากรวย ความเสี่ยงสูง แต่ขอให้รู้เทคนิค หนังสือหุ้นก็จะเป็นหนังสือ KnowHow ที่ประสบความสำเร็จมาก แน่นอนว่าตอนนี้หนังสือความเชื่อ หนังสือ Know How หรือ How To ขายดีแน่นอน แต่ที่น่าจับตาคือ หนังสือนิยาย วรรณกรรมต่างๆของไทยในช่วงปีที่ผ่านมาขายไม่ดี ยอดขายตกอย่างมีนัยยะสำคัญ จนบางสำนักพิมพ์ต้องปิดตัวไป แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมดีๆก็อีกเรื่องหนึ่งถ้าถามถึงหนังสือขายดีที่สุดในโลกคือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงค์ที่เป็นอมตะนิรันดร์กาลคือแฮรี่พอร์ตเตอร์ยอดขายประมาณเกือบสองร้อยล้านเล่ม ส่วนตัวคิดว่านิยาย วรรณกรรมต่างๆที่พูดมามันมีสูตรสำเร็จบางอย่าง แต่นักเขียนบ้านเรานั้นไปไม่ถึง นักเขียนของฝรั่งที่ประสบความสำเร็จระดับถล่มทลายส่วนใหญ่จะใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ผสมกับจินตนาการ เมื่อมองกลับมายังเมืองไทยตนยังไม่ค่อยเห็น และยังไม่ค่อยเห็นอะไรที่จะทำให้วรรณกรรมไทยกลับฟื้นขึ้นมาได้ เพราะดูแล้ววรรณกรรมของเมืองนอกคนเขียนเขาทำงานหนักมาก เขาไม่ได้จิบกาแฟและเขียนบนโต๊ะ แต่อีกอย่างหนึ่งที่มาแรงคือนิยายจีนกำลังภายในที่เขียนโดยคนไทย อันนี้น่าสนใจ มียอดขายสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
นายวันชัย กล่าวต่อว่า วรรณกรรมส่วนใหญ่ของคนยุโรปมันสะท้อนปัญหาของคนในเวลานั้น นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมวรรณกรรมของยุโรปถึงอยู่กับคนยุโรปได้ตลอดเวลา เพราะว่ามันอยู่กับตัวเอง พอย้อนกลับมาของเมืองไทย มันมีไม่กี่วรรณกรรมที่มันสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆในสังคมไทย
 
นายโตมร กล่าวว่า หากมองในโลกของหนังสือที่ขายไม่ดี มันมีกระแสอะไรที่น่าสนใจบ้าง จริงๆนักเขียนรุ่นตนที่อายุสี่สิบกว่าๆ หลังจากรุ่นอายุสี่สิบแทบจะไม่มีนักเขียนที่มาเป็นคลื่น ตอนยุคตนมีผุดมากันเต็ม มาเป็นแผง หลากหลายเต็มไปหมด และหลังจากนั้นมันก็หยุด คนรุ่นถัดจากนั้นไม่เขียนหนังสือกันแล้วหรือยังไง แทบจะไม่มีคลื่นแบบนี้เลย ถ้ามีก็คงจะเป็นนิ้วกลมที่โผล่มา แต่ตนเห็นกระแสอีกอย่างหนึ่งที่คนอาจไม่ค่อยพูดถึงคือ ตนคิดว่านักเขียนที่อายุยี่สิบแปดขึ้นไป ตอนนี้น่าสนใจมาก รุ่นสี่สิบทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเขียนงานที่เป็น นอน-ฟิคชั่น แทบจะไม่มีใครเขียนนิยาย เรื่องสั้นเลย แต่เมื่อพอมาถึงรุ่นสามสิบ ตนพบว่า มีนักเขียนที่ลุกขึ้นมาทำงานฟิคชั่น ในกระแสโลกหรือสังคมไทยที่มันถีบฟิคชั่นไป ในสังคมการอ่านของไทยไม่สนใจฟิคชั่นเลย ปรากฏว่าตนเห็นนักเขียนในรุ่นนี้หลายคนมากที่หันมาหาฟิคชั่นและมีอีกกลุ่มหนึ่งในวัยสามสิบที่น่าสนใจคือแนวนักเขียนแซลมอน อะบุ๊ค เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักเขียนกำลังมาแรง มีวิธีเขียนไม่เหมือนกับคนยุคสี่สิบ คนยุคสามสิบจะมีการใช้ภาษาบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง รู้สึกว่าเป็นการใช้ภาษาที่น่าสนใจดี ตนมองว่าตอนนี้วงการหนังสือรุ่นใหม่มีอนาคต อาจจะยังไม่เป็นหนังสือBest Seller แต่ในอนาคตตนคิดว่ากลุ่มนี้จะโตขึ้น ค่อยๆขยายวงกว้างขึ้น และกลุ่มที่เขียนฟิคชั่น เรื่องสั้น นิยาย ทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพึ่งตลาด เพราะเดี๋ยวนี้มันมีสิ่งที่เอื้ออำนวยให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้เผยแพร่ กระจายผลงานตัวเองได้ผ่านออนไลน์ ตนคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
 
นายสิริพงษ์กล่าวว่า สำนักพิมพ์ในเมืองไทย หนังสือเล่ม หนังสือที่พิมพ์ออกมาใหม่แต่เนื้อหาเป็นเรื่องเก่า โดยเฉพาะงานแปลต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ วรรณกรรมคลาสสิคที่เริ่มทยอยพิมพ์ออกมามันเริ่มหมดลิขสิทธิ์ และก็มีหลายเล่มที่ทยอยพิมพ์ออกมา จะสังเกตได้ว่าหนังสือไทยเริ่มเกิดสำนักพิมพ์ที่จับงานหมดลิขสิทธิ์ขึ้นมาตีพิมพ์ใหม่ค่อนข้างเยอะ บางเล่มเป็นกระแสด้วย และตีพิมพ์ตรงช่วงจังหวะพอดีไม่ว่าจะด้วยเรื่องหมดลิขสิทธิ์หรือสถานการณ์อะไรก็แล้วแต่
 
พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือในการอ่านดีไหม
 
นายสิริพงษ์ กล่าวว่า ถ้าของเมืองไทยที่เห็นก็คือแท็บเล็ตสมาร์ทโฟน เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นเครื่องอ่านแบบอีบุ๊กบ้านเรามันไม่เติบโต เริ่มแรกที่เขาเริ่มทำอีบุ๊กขึ้นมา ในเมืองไทยก็เหมือนต่างประเทศ เปิดปุ๊บก็ได้รับความนิยม แต่ช่วงหลังๆมันก็คงยังดีอยู่ อีบุ๊กจะมีกลุ่มคนอ่านพิเศษชัดเจนอยู่กลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในรุ่นวัยเริ่มต้นทำงาน หนังสือที่ขายดีในรูปแบบอีบุ๊กก็คือหนังสือแนวรักๆ โรมานซ์ ไปดูเบสเซลเลอร์ตลอดทุกปีในบ้านเราเป็นหนังสือพวกนี้ทั้งนั้น สิ่งใหม่อย่างหนึ่งก็คือ อีบุ๊กจะมีนักเขียนเกิดใหม่ นักเขียนเหล่านี้จะไม่มีงานที่พิมพ์เป็นกระดาษ พอเขียนจบก็จะส่งขายผ่านอีบุ๊กไปเลย ในเมืองไทยมีแบบนี้อยู่เยอะพอสมควร และก็เป็นเทรนด์เดียวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เกิดในอเมซอน นักเขียนที่เกิดขึ้นมาและก็มีผลงาน ส่วนหนึ่งก็เขียนบล็อก เขียนเพื่อจะขายแต่ผลิตเป็นอีบุ๊กโครงสร้งของอเมซอนจะมีเพิ่มเติมก็คือ เป็นอีบุ๊กแล้วน่าจะเป็นกระดาษ สามารถสั่งซื้อได้ ของบ้านเรายังไปไม่ถึงตรงจุดนั้น 
 
ตนคิดว่าคนรุ่นใหม่ๆ คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้สึกแปลกกับการอ่านผ่านแท็บเล็ตหรืออะไรก็ตาม แต่ว่ามันมีข้อจำกัดคือมันอ่านนานๆไม่ได้ หากอ่านหนังสือที่มันซีเรียส มานั่งอ่านบนอุปกรณ์แบบแท็บเล็ตก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นแนวหนังสือที่จะอ่านได้คือบันเทิงเริงรมณ์เป็นหลัก หรือไม่ก็หนังสือที่อ่านได้ง่ายๆ ในระดับโลกอีบุ๊กมันเติบโตไปเรื่อยๆ ในอเมริกาตลาดอีบุ๊กสูงที่สุดในโลก กว่า 20 % เป็นอีบุ๊ก ที่เหลือเป็นกระดาษ ปีที่ผ่านมาอีบุ๊กไม่เติบโตแต่เริ่มนิ่ง ขณะที่หนังสือพิมพ์กระดาษก็ยังคงนิ่ง แต่ว่าแนวโน้มในระยะยาว อีบุ๊กยังคงจะเติบโตไปอีก ประมาณสัก 6-7 ปีข้างหน้า ทั่วโลกอีบุ๊กจะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณสัก 29% คือเวลาเรามองเห็นตลาดที่มันนิ่งในอเมริกาเพราะตลาดมันเริ่มอิ่มตัวก็จะค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ แต่มันมีตลาดประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย เม็กซิโก อีบุ๊กจะเติบโตเพราะว่าการเข้าถึงหนังสือกระดาษของเขามีโอกาสน้อย พอเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ก็สามารถอ่านอีบุ๊กผ่านจอราคาถูกๆได้ ด้วยราคาที่ถูกกว่าหนังสือเล่มสำหรับคนเหล่านั้น การอ่านมันก็เลยขยายตัวไปโดยปริยาย ตนเคยเห็นข้อมูลของยูเนสโกที่ไปสำรวจบางประเทศแถบเอเชียพบว่า เขาใช้สมาร์ทโฟนเข้าถึงหนังสือและอ่านให้ลูกฟัง เพราะฉะนั้นมันถึงได้เติบโต
 
นายสิริพงษ์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ผ่านมาสำนักพิมพ์ก็ใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะ ในด้านมาเก็ตติ้ง การรับฟีดแบ็ค คือมันมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นคนที่ตั้งใจจะใช้มันอย่างจริงจัง ที่เห็นส่วนมากคือจะใช้สร้างตลาด แฟนคลับ แต่ยังไม่เห็นการใช้สำรวจตลาดในเมืองไทยอย่างจริงจัง อย่างที่ปรากฏการณ์ใหม่ๆของบางสำนักพิมพ์ทดลองทำก็คือ หากตอนนี้จะพิมพ์เรื่องนี้ มีใครสนใจก็ให้มาจองไว้ก่อน เพื่อดูปริมาณว่าควรจะพิมพ์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันก็ช่วยได้เยอะ แต่ที่น่าจะพัฒนาไปกว่านี้ก็คือการสื่อสารที่จริงจังระหว่างสำนักพิมพ์กับคนอ่าน เพื่อให้คนเขียนจะได้นำคอนเทนตรงนี้ไปผลิตหนังสือให้ตรงความต้องการกับคนอ่าน
 
นายโตมร กล่าวว่า คนที่อยู่รอบตัวมีคินเดิลกันหมด แทบทุกคนก็ใช้คินเดิลอ่านหนังสือกันหมด หนังสือส่วนใหญ่ที่ซื้อกันก็เป็นหนังสือที่หายากในเมืองไทย เพราะฉะนั้นจึงซื้อผ่านทางอเมซอน แต่ว่ามีอีกเทรนด์หนึ่งก็คือ บางคนใช้วิธีซื้อหนังสือเสียงของฝรั่ง ซึ่งมันน่าสนใจมากตรงที่ว่าเขาไปจับเอาดาราดังๆมาอ่าน เวลาที่ดาราอ่านเรื่องต่างๆ แล้วมันก็มีการตีความ ซาบซึ้ง เข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น แต่ถ้าฟังไปด้วยเวลาที่ขับรถ หรือเวลาที่เดินออกกำลังกาย หากเป็นหนังสือที่เป็นฟิคชั่นจะไม่ดี ถ้าใจเราไม่อยู่กับหนังสือ พลาดไปตอนหนึ่งก็ต้องย้อนกลับไปใหม่ แต่ถ้าเป็นนอน-ฟิคชั่นก็จะดีหน่อย พลาดอะไรบางอย่างไปมันก็พอจะรู้เรื่องได้บ้างแต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดเหมือนกันคือ คินเดิลไม่สามารถกรีดหน้าแบบหนังสือเล่มได้
 
นายวันชัย กล่าวว่า ถ้าใช้โซเชียลมีเดียอย่างฉลาดก็แทบจะไม่ต้องซื้อสื่อเลย มีนักเขียนจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศมีแฟนเพจ ก็อาศัยการขายในออนไลน์ เพราะเขามีแฟนเพจของเขา ถ้าฉลาดในการใช้โซเชียลมีเดีย จะรู้ว่ามันถูก และคุ้มค่าในระยะสั้น ตรงส่วนนี้มีประโยชน์ อีกอย่างหนึ่งคือตนคิดว่าคินเดิลเกิดในเมืองไทยยาก เพราะว่าคนไทยไม่ใช่คนอ่านหนังสือ มันประสบความสำเร็จในแท็บเล็ต แต่ว่ามันใช้ดู ถ้าอ่านจริงๆ ตนคิดว่ามันอาจจะเกิดได้จำนวนหนึ่ง ไม่ได้ถล่มทลาย ในอนาคตมีกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องของประเภทหนังสือ ทุกวันนี้สังคมไทยมันก้าวสู่สังคมคนสูงอายุ ประชากรไทยส่วนใหญ่มีลูกกันครอบครัวละคน ข้อดีของคนสูงอายุคือมีเวลาว่าง ใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยเป็น ที่สำคัญมีเงินมาก คิดว่าคนเหล่านี้มีการซื้อ เพราะมีเวลาในการอ่าน ที่สำคัญคือเขาเริ่มนิ่ง เขาอยากจะรู้อะไร คนเหล่านี้ส่วนใหญ่สนใจอดีต งานประวัติศาสตร์ งานวรรณกรรมดีๆ อ่านได้ตลอด ตนคิดว่ามีกลุ่มคนที่ซื้องานพวกนี้เยอะมาก ในแง่ของหนังสือตนก็มองว่านี่เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถขายได้เรื่อยๆ มันน่าจะดีกว่าหนังสือหุ้น ที่โผล่มามาและหายไปเลย 
 
ทิศทางของหนังสือในปีนี้จะเป็นอย่างไร นักเขียนจะยังคงอยู่ได้ไหมกับการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท
 
นายโตมร กล่าวว่า เราก็อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ หากพูดถึงโซเชียลมีเดียก็จะนึกถึงเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ แต่ว่าจริงๆแล้วมันก็เป็นการใช้โซเชียลมีเดียอีกแบบหนึ่ง ที่น่าจะเกิดประโยชน์กับแวดวงการอ่านได้ ด้วยโซเชียลมีเดีย ในอนาคตจะเหมือนกับว่าเราอยู่ในไบเบิล ก็คือพูดภาษาเดียวกันมากขึ้น ในการพูดภาษาเดียวกัน หนังสือในแบบที่มันพยายามสร้างความเข้าใจคือ เขียนให้มันง่าย ทำให้คนเข้าใจ สิ่งที่เป็นนอน-ฟิคชั่น มันก็พยายามที่จะบอกเราถึงสาระทั้งหลาย มันน่าจะเป็นสื่อกลาง และหลังจากนั้นจะเกิดปฏิสัมพันธ์อะไรต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าน่าจะเป็นเทรนด์ที่สำคัญ
 
นายวันชัย กล่าวปิดท้ายว่า อย่างที่บอกไปว่าฝีมือการเขียนนิยายวรรณกรรมบ้านเรามันยังไม่พัฒนา ตนยังเชื่อว่าสูตรสำเร็จของการเขียนวรรณกรรม มันต้องมีความรู้บวกจินตนาการ ถ้าเราสามารถที่จะพัฒนาความรู้กับจินตนาการมันจะดีขึ้นมากกว่านี้ สุดท้ายอยากจะบอกว่า หนังสือมันก็สะท้อนคุณภาพของคนในสังคม
 
"ถ้าผมเป็นฝรั่งมาเมืองไทย แล้วเห็นชั้นวางหนังสือในร้าน มีแต่หนังสือหุ้นเต็มไปหมด ผมคงคิดว่าเมืองไทยนี่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงและไม่แน่นอนสูงจริงๆ"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net