ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมไม่ใช่ชาร์ลี...

ถอดคำบรรยายฉบับเต็ม งานเสวนาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส ชัยวัฒน์ เผยผมไม่สามารถเป็นชาร์ลีได้เพราะ…

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ห้อง ร.102  ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส” โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย จิติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนา ราว 150 คน

ประชาไทถอดความคำบรรยายฉบับเต็มของวิทยากรแต่ละคน รวมทั้งช่วงตอบคำถาม แบ่งเป็น 4 ตอน โดยในตอนนี้เป็นคำบรรยายของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : ผมไม่ใช่ชาร์ลี

การเมืองเรื่องอารมณ์

งานวิชาการทั่วไปหมดความสามารถที่จะอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองโลกหรือการเมืองภายในประเทศได้ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับ emotions หรืออารมณ์ ดังนั้นงานศึกษาระยะหลังๆ จำนวนหนึ่งจึงสนใจสิ่งที่เรียกว่า ภูมิรัฐศาสตร์ของอารมณ์ แล้วอธิบายว่าการเมืองของโลกเป็นการปะทะกันระหว่างอารมณ์ 3 แบบ อารมณ์ซึ่งคลุมโลกฝรั่งอยู่คือความกลัว อารมณ์ที่คลุมโลกตะวันออกอยู่คือ ความหวัง อารมณ์ที่คลุมโลกมุสลิมอยู่คือ การถูกเบียดขับ

ถ้าอารมณ์พวกนี้มันคลุมโลกอยู่ practice หรือกิจการ หรือการกระทำบางอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้มันลงไปในแรงอารมณ์พวกนี้ที่ปะทะกันอยู่ ดังนั้น ถ้าถามใหม่ว่าพอเกิดเหตุอย่างนี้ คนจำนวนหนึ่งรู้สึกอย่างไร คนมุสลิมรู้สึกอย่างไร เวลามีหนังสือมาลบหลู่ศาสดาของเขา เผาคัมภีร์อัลกุรอ่านของเขา มันคงอธิบายได้โดยพิจารณาจากความเป็นมุสลิมกับสิ่งเหล่านั้น แต่ผมไม่มีเวลาจะพูดเรื่องพวกนั้น

ผมขอเล่าตัวอย่างของผมเอง ผมต้องไปพูดให้สถาบันเอเชียของธรรมศาสร์ ผมก็หาตัวอย่าง ขณะนั้นผมก็หาภาพจากอินเตอร์เน็ต มันมีตอนหนึ่งที่ศาสดามูฮัมหมัดแก้ปัญหาระหว่างเผ่าในการสร้างกาบะฮ์ครั้งหนึ่ง เพราะของเก่าถูกน้ำท่วมต้องสร้างใหม่ แล้วต้องนำหินดำของสำคัญในศาสนาอิสลมไปประดิษฐานไว้ที่เดิม เผ่านั้นก็ทะเลาะกัน ศาสดาถูกเลือกโดยคนที่ทะเลาะกันให้เป็นผู้ตัดสิน ท่านศาสดาก็นำหินดำมาไว้ที่เสื้อคลุมของตนแล้วให้ทุกคนยกพร้อมกัน สำหรับผมนี่เป็นตัวอย่างของวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งซึ่ง creative ผมก็พยายามจะหารูปนี้ แต่ไปเจอรูปวิหารกาบะฮ์แล้วบนวิหารมีภาพหญิงกับชายร่วมเพศกัน พอผมเห็น ผมช็อคนิดหน่อย พอช็อคเสร็จก็รู้สึกโกรธ พอเบาลงเล็กน้อยก็พยายามคิดว่าความโกรธเป็นอย่างไร อารมณ์โกรธนี่น่าสนใจ ในวัฒนธรรมที่ต่างกัน พวกเอสกิโมคนโกรธถือว่าเป็นคนไม่มีเกียรติ แต่ถ้าอยู่ในโรมัน งานของเซเนก้าบอกว่าการเป็นสุภาพบุรุษหรือการเป็นผู้ชาย ถ้าทำบางอย่างแล้วไม่โกรธถือว่าคุณแย่มาก ดังนั้น ฐานะของความโกรธในที่ต่างๆ นั้นไม่เหมือนกัน ในโลกอิสลามไม่ได้ให้ค่ากับความโกรธมากนัก เพราะในพระคัมภีร์กุรอ่านบอกว่าระหว่างโกรธกับไม่โกรธ ระหว่างโกรธกับยกโทษนั้น ยกโทษดีกว่า แต่เข้าใจได้ว่าทำไมถึงโกรธ ผมกำลังคิดว่าถ้าผมโกรธ ซึ่ง อ.เกษียรก็จะไปเขียนในมติชนซึ่งยังไม่ออกว่านานๆ ผมจะโกรธสักที จริงๆ ผมก็โกรธเยอะเหมือนกันแหละแต่คนอื่นไม่รู้เท่านั้นเอง (ผู้ฟังหัวเราะ) สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าเราโกรธ ความรู้สึกเรานำไปสู่อะไร แล้วเราอยากจะโต้ตอบในลักษณะไหน และคำถามต่อไปก็คือ อย่างนั้นต้องดูว่า resource ที่มีกับการโต้ตอบสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร

ถามว่า โลกนี้เป็นยังไง เมื่อกี๊เราบอกว่าพอเข้าใจได้กับความโกรธที่มีอยู่ในมุมต่างๆ ของโลก ผมกำลังบอกว่า ผมไม่เห็นมันเป็นประเด็น freedom of expression หรือเสรีภาพในการแสดงออกเท่าไร ผมคิดว่าเสรีภาพในการแสดงออกมันวางอยู่บนความขัดแย้งอีกชุดหนึ่งในโลกนี้ซึ่งยุ่งกว่า และความขัดแย้งชุดนี้นักมานุษยวิทยาบางพวกทำการศึกษาไว้ งานของชเวเดอร์ ศึกษาเปรียบเทียบสังคมอเมริกันกับสังคมอินเดีย มาสู่ข้อสรุปว่าแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เขาใช้คำว่า โลกนี้ปะทะกันอยู่ระหว่างจริยศาสตร์ 3 ชนิด ชนิดที่หนึ่งคือ จริยศาสร์แห่ง autonomy หรือ อัตตาณัติ จริยศาสตร์ที่บอกว่าตัวเราคือผู้กำหนดว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ จะเป็นอย่างไร จริยศาสตร์แบบที่สองเขาใช้คำว่าเป็น จริยศาสตร์ of divinity จริยศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ และอีกอย่างหนึ่งคือ จริยศาสตร์ของ community ถ้าไปดูงานวิชาการเขาจะจัดเป็น 3 กลุ่ม แต่เวลาผมอธิบายแบ่งเป็นสองเท่านั้นคือ autonomy กับ divinity community แปลว่าอะไร เวลาบอกว่าเป็น autonomy หมายถึงเราคิดถึงตัวเราว่าเรามีสิทธิอะไรในสิ่งที่เราเป็นและเราอยู่และจะใช้ยังไง ถ้าคิดอย่างนี้ สมมติอย่างง่ายคือ ร่างกายของมนุษย์เรามีสิทธิจะทำอะไรก็ได้ เพราะมันเป็นของเรา นี่คิดในกรอบของ autonomy ซึ่งมันไม่เหมือนเลยกับการคิดถึงร่างกายในโลกของจริยศาสตร์แบบความศักดิ์สิทธิ์ เพราะในโลกนั้นเขาถือว่าร่างกายเป็นพาหะของวิญญาณ ดังนั้นวิธีที่เรารักษาหรือจัดการกับร่างกายก็ต้องทำด้วยความเคารพกับสิ่งที่เราเป็น ผมคิดว่าโลกเวลานี้มันปะทะกันอยู่ในสองส่วนนี้ freedom of expression มันอยู่บนฐานของ conflict ประเภทอย่างนี้ด้วย

ผมทำการทดลองในชั้นเรียนที่ผมสอน ผมเขียนคำว่า I am ให้นักศึกษากรอก ถ้าทำการทดลองแบบนี้ในมหาวิทยาลัยมันจะน่าสนใจ เพราะได้คำตอบแตกต่างจากการให้กรอบแบบนี้ในวัด ในสุเหร่า หรือในชนบท ถ้าให้กรอก I am ในชิคาโก้มันก็แตกต่างจาก I am ในแบกแดดและในอีกบางที่ คำตอบคืออย่างนี้ เวลากรอกคำว่า I am ในชิกาโก แบงค็อก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่อื่นๆ คำตอบมันจะได้เป็น I am happy, I am sad, I am curious นึกออกไหม แต่ถ้ากรอกอีกที่จะเป็น I am a father, I am a carpenter, I am a mother, I am a son ไม่เหมือนกันเลย อย่างนี้ถ้าเข้าใจถูกมันก็คือ ความต่างกันของ ethics สองชนิดซึ่งปะทะกันอยู่ และผมคิดว่าเราตอบได้ว่า I am อะไร แน่นอน ผมอาจจะบอกว่า I am a lecturer, I am a  slave of the department but I am also happy to be a slave (ผู้ฟังหัวเราะ) มันมีคนที่ตอบของแบบนี้ไม่เหมือนกัน มันก็เลยปะทะกัน

ตัวอย่างที่ผมยกในบทความคือ ภาพเขียน allegory  ของเบอร์จิ้น ภาพเขียนพระแม่มาเรีย พูดอีกทางหนึ่งคือ ในโลกของความศักดิ์สิทธิ์ body มันศักดิ์สิทธิ์ด้วย ไม่ใช่ของที่คุณจะไปทำอะไรชุ่ยๆ ได้ มันจะมีสติ๊กเกอร์ซึ่งบอกว่า ร่างกายของคุณอาจเป็นวัดวาวิหาร แต่ของฉันเป็นสวนสนุก ถ้าโลกอยู่ระหว่างคนซึ่งมอง body และรวมถึง space อื่นๆ ต่างกันอย่างนี้มันก็จะปทะกันในสิ่งที่คุณเห็น พอสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันศักดิ์สิทธิ์ถูกรบกวนโดยอีกส่วนหนึ่ง ความโกรธก็ปรากฏอย่างที่เห็น

เมื่อ ‘คำ’ ไม่ได้เพียงแค่บรรยาย ‘โลก’ หากแต่สร้างโลกด้วย

คำพูดกับโลกก็น่าสนใจ พอมีความแพร่หลายของการประกาศว่า ฉันเป็นชาร์ลี ฉัน identify ตัวฉัน ฉันสนับสนุน คำถามที่น่าสนใจ มีการโควทอันหนึ่งที่คนชอบโควทบอกว่าเป็นประโยคที่วอลแตร์พูดคือ I disapprove on what you say ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านพูด but I will defend to the death the right you say แต่ข้าพเจ้ายอมสละชีวิตเพื่อพิพทักษ์สิทธิของท่านเพื่อที่จะพูดสิ่งนั้น ประโยคนี้ถูกอ้างอิงเยอะมาก ข้อสังเกตคือ อันนี้ไม่ใช่ของวอลแตร์แต่เป็นของคนซึ่งเขียนประวัติของวอร์แตรล์ ชื่อ Evelyn Beatrice Hall แต่ไม่เป็นไรผมคิดว่าวอลแตร์ก็คิดอย่างนี้ แต่ปัญหาของวอลแตร์คืออะไร มีปัญหาอย่างน้อย 3-4 อย่าง

อย่างที่หนึ่ง อย่างง่ายที่สุดที่เราถามกับตัวเองได้ก็คือ จริงหรือ ที่เราจะสละชีวิตของตัวเองได้เพื่อ defend สิทธิของคนอื่นที่จะพูด ทุกอย่าง (เน้นเสียง) สำหรับผม ผมตอบว่าไม่จริง เพราะมีหลายอย่างที่ผมไม่เห็นด้วยกับสิทธิของอีกคนหนึ่งที่จะพูดบางอย่าง เช่น ถ้ามีผู้ชายสักคนมาบอกว่าผมขอพิทักษ์สิทธิของผมที่จะมีความสุขทางเพศกับเด็ก หรือมีคนบอกว่าผมสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการพิทักษ์สิ่งเหล่านี้และผมจะไม่ยอมสละชีวิตไป defend สิ่งเหล่านี้ นี่แปลว่า statement แบบนี้มีลิมิตในทางประจักษ์ ที่สำคัญกว่าคือปัญหาในทางทฤษฎี คนที่พูดเช่นนี้ไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง words กับ worlds ใครก็ตามที่เรียนหนังสือมาถึงวันนี้ต้องเห็นความสำคัญแล้วว่า โลกมันสัมพันธ์กับคำที่เราใช้ขนาดไหน และคำที่เราใช้มันไม่แค่อย่างที่หลายคนชอบพูด มันไม่ใช่แค่บรรยายโลกแต่มันสร้างโลกด้วยใช่ไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทุกคำที่เราใช้ก็มีผลสร้างโลกบางชนิดที่เราไม่พึงปรารถนาไง เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่สิทธิที่จะพูด สิทธิที่จะพูดเหล่านั้นมีผลต่อการ legitimize สร้างความชอบธรรมให้กับ practice บางอย่าง rules บางอย่าง activities บางอย่าง ด้วยเหตุนี้คุณต้องถามตัวเองว่า ถ้ามีคนลุกขึ้นมาพูดว่าสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว คุณจะสละชีวิตพิทักษ์มันไหม ผมไม่! เพราะผมเห็นว่าการพูดแบบนี้ ที่สุดแล้วมันนำไปสู่ practice ด้วย และประวัติศาสตร์ก็บอกเราเยอะแยะไปหมด ในทางทฤษฎีคุณจะทำแบบนี้ได้ จะสนับสนุน statement แบบนี้ได้ โลกกับคำ ต้องแยกออกจากัน แต่ผมว่าไม่

ความหมายของ One

เรื่องสุดท้าย คือ บทความที่ผมเขียนตีพิมพ์ในหลายที่และมีคำถามจากหลายทวีป อันหนึ่งที่น่าสนใจคือคนบราซิลคนหนึ่งเขียนจดหมายมาถามว่า ไม่เข้าใจคำพูดของยูในตอนท้าย คำพูดในตอนท้ายนั้นผมพูดว่าหลักศาสนาอิสลามสอนยังไง หลักศาสนาอิสลามมีหลายประการ แต่มีข้อหนึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่าน สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ บอกว่าถ้าใครฆ่าชีวิตของมนุษย์เพียงชีวิตเดียว ก็เท่ากับฆ่ามนุษยชาติทั้งมวล ข้อความต่อไปก็คือถ้าใครช่วยชีวิตมนุษย์สักคนหนึ่งก็เท่ากับช่วยชีวิตมนุษยชาติทั้งมวล ตรงกลางมีข้อความบอกว่ายกเว้นคนนั้นทำการฆาตกรกรรมหรือทำให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไปในโลก คำถามที่คนบราซิลถามก็คือ ไม่เข้าใจคำตอบนี้ในศาสนาอิสลามว่าทำไมชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง เท่ากับ the whole ผมตอบเขาไปยาวนะว่าทำไม คอนเซ็ปท์เรื่องความยุติธรรมที่เราเข้าใจว่า หนึ่งเท่ากับหนึ่ง หรือ an eye for an eye ถ้าคิดจากมุมศาสนาอิสลาม ไม่ได้คิดแบบนั้นเลย เพราะแอนด์อายฟอร์แอนด์อายคิดบนฐานของการเท่ากัน แต่ในศาสนาอิสลามชีวิตมนุษย์หนึ่งคนเท่ากับทั้งหมด หมายความว่าเราเท่ากันแต่มูลค่าที่ให้กับชีวิตนั้นมหาศาล การทำลายชีวิตหนึ่งก็คือการทำลายมนุษยชาติทั้งมวลในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่ไปฆ่าคนที่ปารีส ไม่เห็นด้วยกับไนเจอร์ ไม่เห็นด้วยกับคนที่เผาโบสถ์วิหารทั้งหมดทั้งปวง เหตุผลสำคัญก็คือว่ามันไม่สามารถ support ได้ด้วยหลักการทางศาสนา มันคงมีคนบอกว่า ถ้าเขาทำเราเราต้องทำเขากลับ แต่ผมเห็นว่าอิสลามสอนมากกว่านั้น และผมคิดว่าเราสามารถนำคำสอนของอิสลามในลักษณะนี้มานั่งถกเถียงกันได้ แต่นั่นเป็นข้อถกเถียงในทางเทวศาสตร์

ข้อถกเถียงในทางสังคมศาสตร์คืออะไร ผมคิดว่าสามสี่คนที่เข้ามาทำแบบนั้นอ่านอีกอย่างหนึ่งได้ว่า นี่เป็น sign ของความหมดหวัง ความไร้อำนาจ ความไม่เข้าใจว่าเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรมวันนี้ทำงานอย่างไร นิตยสาร หนัง popular culture ของพวกนี้อยู่ในเศรษฐศาสตร์วัฒนธรรม อยู่ในโลกซึ่ง globalize แล้ว มันทำงานอีกแบบหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ก่อนหน้าที่จะมีเหตุชาร์ลี เอ็บโด ขายได้ 6,000 เล่ม คนเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส 9  ปี บอกไม่รู้จัก ต่อให้คนฝรั่งเศสรู้จักก็อาจไม่ได้เห็นดีเห็นงามหรือไม่ได้อ่านเท่าไร แต่ตอนนี้ขายได้ 5,000,000 เล่ม มันคืออะไร นำมาสู่ความโกรธของผู้คนมากขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง สำหรับคนมุสลิมก็คงต้องทำความเข้าใจกับความโกรธของตัวเองว่าจะจัดการมันอย่างไรในโลกแบบนี้

ปัญหาของเส้นแบ่งพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะ

ปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เกี่ยวพันกับ public space เยอะ ศาสนาควรเป็นเรื่อง private หรือไม่ อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดคือ ในโลกซึ่ง cultural interactions เป็นอย่างนี้ คำถามซึ่งเรียกว่า public private คืออะไร หมายความว่า ผมป็นมุสลิม ผมละหมาด ผมทำนู่นทำนี่ในโลกของผม สิ่งที่ผมทำทั้งโลกพันล้านคน อันนี้จะเรียกว่าเป็น public หรือเรียนกว่าเป็น private และสิ่งที่นิตยสารอย่างชาร์ลี เอ็บโด ทำจะเรียกว่าเป็น private หรือว่าเป็น public  พูดอีกทางหนึ่งสิ่งที่ชาร์ลี เอ็บโด ทำต่างหากคือการกระทำในโลก public ที่เข้าในในโลก private ของโลกมุสลิม นี่ก็อีกเช่นกัน ไม่สามารถจะคิดจากจำนวนมาก ผมบอกว่าคนพันล้านคนใช้ชีวิตใน private sphere แต่นิตยสารอย่างชาร์ลี เอ็บโด กระโดดเข้าไปใน private sphere ของเขาเพราะการทำงานใน public คำถามตอนนี้ผมเลยไม่สามารถจะยืนแล้วบอกว่า ฉันคือชาร์ลี ได้ เพราะว่าผมมีเหตุผลต่อไปด้วยว่าโลกปัจจุบันสิ่งที่ต้องการ ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้ตำรวจมาตรวจตราอะไรแบบนั้น แต่ผมก็อยากเห็นโลกซึ่งคนมันมีมารยาทหน่อย ผมไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก เอาแค่มีมารยาท และผมคิดว่าโลกสมัยใหม่ทำให้มารยาทของคนหายไป พอมารยาทหายไปเราเลยไม่รู้จักเคารพคนอื่น ไม่ต้องเป็น language ของสิทธิก็ได้ แต่เป็น language ของศักดิ์ศรีของเขาในการเป็นคนอีกคนหนึ่ง แต่ปัญหาเวลานี้เราไปเข้าใจว่า ความหยาบคาย เป็น resistance แต่ทุกครั้งที่เรา resist อย่างหยาบคาย เกิดอะไรขึ้นกับ resistance ของเรา ทุกครั้งที่เราต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้องด้วยวิธีการหยาบคาย เกิดผลอะไรกับกระบวนการต่อต้านของเราเอง ผมมีคำตอบอยู่ในใจ แต่อยากให้ท่านคิดเอง ผมไม่รู้ว่าคำตอบจะพาท่านไปไหน แต่ผมรู้ว่าผมจะไปไหน ผมต้องไปสอบวิทยานิพนธ์ (ผู้ฟังหัวเราะ)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท