สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ม.ค. 2558

ช่วง 3 เดือนแรงงานถูกหลอกเกือบ 200 คน สูญเงินกว่า 9 ล้าน
 
(22 ม.ค.) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) เปิดเผยว่า จากสถิติการรับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานกรณีถูกสาย/นายหน้า หรือบริษัทจัดหางานหลอกลวงไปทำงาน ในช่วงเดือนตุลาคม -ธันวาคม 2557 กกจ.ได้รับเรื่องร้องทุกข์ทั้งสิ้น 190 คน มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 9,660,000 บาท โดยมีสาเหตุ 1.จ่ายค่าบริการแล้ว แต่ไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงาน 2.จัดส่งไปต่างประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าประเทศปลายทางได้ 3.ถูกส่งไปทำงานแบบลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย และ 4.ส่งไปแล้วแต่ไม่มีงานทำ รวมทั้งถูกลอยแพในต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อ ลดภาวะเสี่ยงต่อการไปทำงานผิดกฎหมาย และทำงานในตำแหน่งที่ทางการมาเลเซียไม่อนุญาต ทั้งโดยตั้งใจหรือถูกล่อลวงชักชวนโดยสาย/นายหน้าเถื่อน หรือโดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้ติดต่อสอบถามที่กรมการจัดหางาน (กกจ.) 
       
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีแรงงานหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานประเทศมาเลเซียในตำแหน่งพนักงานนวด ถูกจับกุมเนื่องจากมีพฤติการณ์ลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ขอเตือนแรงงานไทยที่อยากจะไปทำงานในประเทศมาเลเซีย คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ศึกษาเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานอย่างละเอียด โดยสัญญานั้นจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานไทยหรือสถานทูต/สถานกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ และควรเดินทางไปทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยติดต่อกับ กกจ.หรือหากติดต่อกับนายจ้างโดยตรงก็ขอให้แจ้งการเดินทางต่อ กกจ.เนื่องจากการลักลอบทำงาน หรือทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศมาเลเซีย ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งปัจจุบันทางการมาเลเซียยังคงจับกุมแรงงานต่างชาติที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กกจ.โทร.02-245-6708-9 หรือ สายด่วนกกจ. โทร.1694
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22-1-2558)
 
คนงานไทยเคว้งสิงคโปร์-สมาคมถูกไล่ แฉสำนัก แรงงาน เลิกจ่าย ค่าเช่าที่ รอถกทูต
 
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สมาคมมีความจำเป็นต้องขอเลื่อนการเรียนการสอนคอร์สภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ สำหรับแรงงานไทยและแม่บ้านไทยออกไปก่อน เนื่องจากสมาคม ได้รับแจ้งจากสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ (สนร.) ว่าให้สมาคมย้ายของออกจากห้องที่เป็นสำนักงานในปัจจุบัน ภายในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เพราะค่าเช่าห้องสูงขึ้น ทำให้ สนร.ต้องยกเลิกการเช่าห้องและกำลังหาห้องใหม่ ดังนั้นขอให้นักเรียนทุกคนรอฟังข่าวจากสมาคม หรืออาจารย์ที่สอนว่าคอร์สต่างๆ จะเริ่มได้เมื่อไหร่ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนเข้ามาแสดงความเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาให้กำลังใจสมาคม และไม่เห็นด้วยกับการย้ายที่ตั้งสมาคม พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของ สนร.ที่ผ่านมา ว่าเป็นการรังแกแรงงานไทยในสิงคโปร์หรือไม่ เนื่องจากสมาคมเป็นที่รวมกันของแรงงานที่มีจิตอาสา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊กยังเชิญชวนสมาชิกสมาคมให้มาพบปะกันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ สนร.จะยกเลิกการเช่าและให้สมาคมย้ายออก ในวันที่ 25 ม.ค. เวลา 17.00 น. ภายในเลขที่ 5001 ห้อง 03-28 ชั้น 3 อาคารโกลเด้นมายล์ คอมเพล็กซ์ ถนนบีช สิงคโปร์ 199588
 
รายงานข่าวจากสมาคมเพื่อนแรงงานไทย ในประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยว่า สมาคมอยู่ภายใต้สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ (สนร.) สังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่ง สนร.ได้นำจดหมายแจ้งให้สมาคมย้ายออกมาติดไว้ที่หน้าออฟฟิศเมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุให้สมาคมขนย้ายทรัพย์สินออกจากออฟฟิศภายในวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่สมาคมขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 25 ม.ค.นี้ ซึ่ง สนร.ก็ยินดี ทั้งนี้เหตุผลในการย้ายทรัพย์สินออก เนื่องจาก สนร.แจ้งว่าค่าเช่าห้องของสมาคมที่ สนร.เป็นผู้จ่ายให้แพงขึ้น สนร.ไม่มีกำลังจ่ายให้ได้
 
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ที่ผ่านมาค่าเช่าออฟฟิศของสมาคม อยู่ที่เดือนละ 1,500 เหรียญสิงคโปร์ และเจ้าของอาคารโกลเด้น มายล์ คอมเพล็กซ์ ขอขึ้นค่าเช่าเป็น 1,800 เหรียญสิงคโปร์ ซึ่งสมาคมก็ยินดีจะจ่ายส่วนต่าง 300 เหรียญสิงคโปร์นี้ แต่ สนร.ไม่ยอมและแจ้งว่าจะหาสถานที่เช่าให้ใหม่ แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่ โดยสมาคมมีกิจกรรมสอนภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ให้แรงงานไทยทุกวันอาทิตย์ ทำให้หลังวันที่ 25 ม.ค.เป็นต้นไป สมาคมจะไม่มีสถานที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์อีก
 
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ปัจจุบัน สนร.พยายามกดดันให้สมาคมจดทะเบียนให้ถูกกฎหมายของสิงคโปร์ ทั้งที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะคนที่มาทำงานกับสมาคมนั้น เป็นแรงงานที่มีจิตอาสามาด้วยใจ ไม่ได้มีเงินเดือนประจำกับสมาคม อีกทั้งการก่อตั้งสมาคมให้ถูกกฎหมายต้องมีคนที่มีสัญชาติสิงคโปร์ ต้องมีเจ้าหน้าที่บัญชี และมีคนทำรายงานประจำปี ซึ่งรายละเอียดมากมายเต็มไปหมด แต่ที่ผ่านมากิจกรรมของสมาคมก็ดำเนินไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ทางการสิงคโปร์ก็ส่งคนมาตรวจสอบ มีการสัมภาษณ์คนของสมาคม โดยทางการยังยอมรับและชมเชยในสิ่งที่สมาคมทำอีกด้วย 
 
"สมาคมต้องรอเจรจากับเอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์คนใหม่ ที่จะมารับตำแหน่งช่วงสิ้นเดือนม.ค.นี้ ว่าจะหาทางช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง แต่สมาคมยืนยันว่าพี่น้องแรงงานไทยเกือบ 4 หมื่นคนในสิงคโปร์จะไม่ชุมนุมประท้วง เพราะเป็นไปไม่ได้เลย กฎหมายสิงคโปร์ไม่เอื้อให้พลเมืองชั้นสองชุมนุมอยู่แล้ว ส่วนกิจกรรมของสมาคมที่มีสมาชิกกว่า 300 คนมาลงทะเบียนเรียนภาษา ตัดผม ร้อยพวงมาลัย แกะสลักผลไม้ ก็ต้องงดจัดชั่วคราวไปก่อน" รายงานข่าวระบุ
 
สำหรับความเป็นมาของสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ได้เริ่มต้นในปี พ.ศ.2545 สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช (มสธ.) เปิดการเรียนการสอนทางไกลในประเทศสิงคโปร์ โดยมีสำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการจัดการเรียนการสอนทางไกลให้กับมสธ. จึงเกิดรวมกลุ่มของนักศึกษา ต่อมาพัฒนาเป็นกลุ่มอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานแรงงาน เช่น กิจกรรมวันแรงงาน กิจกรรมวันสงกรานต์ และกิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา
 
จากนั้นประมาณปี 2547 ผศ.ดร.พัฒนา กิติอาษา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2556 เคยมาศึกษาวิจัยชีวิตและชุมชนคนงานไทยในสิงคโปร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมอาสาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้แรงงานไทยและแม่บ้านไทยที่สนใจ ที่สมาคม โดยเริ่มเปิดคอร์สภาษาอังกฤษเบื้องต้น จากนั้นแรงงานไทยบางส่วนก็อาสาเข้ามาช่วยงานสมาคม จนถึงปัจจุบันกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สมาคมทำหน้าที่เหมือนเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมสำหรับแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม สมาคมพยายามหารายได้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าอินเตอร์เน็ตด้วยวิธีจัดกิจกรรมสอยดาวใน วันแรงงาน ซึ่งได้รับบริจาคสิ่งของจากทางวัดไทย อีกทั้งมีการจัดประกวดลูกทุ่งเสียงทอง โดยมีร้านอาหารร้านค้าในอาคารโกล เด้นมายล์ให้การสนับสนุนอีกด้วย
 
รายงานข่าวระบุว่า วัตถุประสงค์ของสมาคม ประกอบด้วย 1.เพื่อจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยใน สิงคโปร์ 2.เพื่อส่งเสริมความสามัคคีในหมู่แรงงานไทยและชุมชน คนไทยในสิงคโปร์ 3.เพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมืออันดีกับหน่วยงานราชการไทยในสิงคโปร์และหน่วย งานราชการและเอกชนของสิงคโปร์ 
 
(ข่าวสด, 22-1-2558)
 
สหภาพฯ หารือผู้ว่า กทม. แนวทางโอนย้าย ขสมก.-สิทธิประโยชน์
 
นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพยื่นหนังสือขอทราบแนวทาง การโอน ขสมก. เข้าสังกัดกทม. ตามนโยบายของรัฐบาล โดยขอทราบรายละเอียดแนวทางแผนงานการโอน ขสมก. ไปสังกัดกทม. เกี่ยวกับ 1. การโอน ขสมก. จะคงสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา พนักงานไม่เห็นด้วยหากยุบเลิก ขสมก. และไปตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา
 
2. หากโอนไปแล้ว สิทธิผลประโยชน์ของพนักงานจะทำอย่างไร สถานภาพของพนักงานเป็นข้าราชการประจำกทม. หรือเป็นลูกจ้างกทม. หรือเป็นลูกจ้างองค์กรกทม. 3. พนักงานได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานหรือไม่ กฏหมายใด หากไม่มีจะได้รับการคุ้มครองจากกฏหมายใด 4. กทม. มีมาตรการรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน และการฌาปนกิจสงเคราะห์พนักงาน ขสมก. อย่างไร
 
และ 5. มาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานใช้อะไรเป็นตัวกำหนด อิงกฏหมายใด และหากจะโอน ขสมก. ไปสังกัดกทม. จะต้องไปเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิมที่ขึ้นกับกรุงเทพมหานครหรือกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และพนักงาน ขสมก. พร้อมที่จะไปในสถานภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้
 
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครยังไม่ทราบแนวทางชัดเจนและยังไม่มีอะไรเป็นทางการ เนื่องจากการถ่ายโอนดังกล่าวรัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ยืนยันว่าการบริหารบุคลากรของกรุงเทพมหานครทั้งในส่วนของข้าราชการ ลูกจ้าง และอาสาสมัครของกรุงเทพมหานคร ในยุคของตนได้ดูแลบุคลากรอย่างดี ทั้งในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และค่าตอบแทนพิเศษ ซึ่งหากมีการโอนขสมก. เข้าสังกัดกทม.จริง กทม. ก็พร้อมที่จะดูแลบุคลากรทุกคนอย่างเต็มที่
 
(ryt9.com, 23-1-2558)
 
บุกจับบริษัททัวร์ลำปาง เปิดนำเที่ยวบังหน้าตุ๋นคนงานไป ตปท.
 
(23 ม.ค. 58) นายปรีชา อินทรชาธร ผู้อำนวยการกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน พร้อมด้วยนางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางานจังหวัดลำปาง และเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจที่บริษัท พงษ์ศักดิ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททัวร์ ตั้งอยู่เลขที่ 719 ม.15 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมืองลำปาง
       
หลังทางจัดหางานจังหวัดลำปางได้รับการร้องเรียนจากคนหางานว่าถูกบริษัทดังกล่าวหลอกให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี, ญี่ปุ่น ซึ่งได้ชำระเงินไปบางส่วน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เดินทางไป จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบทางโซเชียลมีเดียต่างๆ จนพบว่าบริษัทดังกล่าวได้ประกาศรับสมัครงานจริง จึงได้ประสานไปยังกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน เข้าตรวจสอบ
       
โดยเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวกรรมการของบริษัทได้จำนวนสองคน คือ นายพงษ์ศักดิ์ ต๊ะกูล และนายประสิทธิ์ ปัทมะ ส่วนอีกหนึ่งคนคือ นายพายุ สว่างใจธรรม ไม่อยู่ในบริษัท ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ออกหมายจับต่อไป
       
นายปรีชาระบุว่า บริษัทดังกล่าวใช้วิธีทำทัวร์บังหน้า แต่ลักลอบนำคนงานไปทำงานยังต่างประเทศในลักษณะนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และที่ผ่านมาได้มีคนหางานถูกหลอก และสูญเงินให้บริษัทดังกล่าวไปแล้วกว่า 20 คน ซึ่งแต่ละคนก็เสียเงินค่านายหน้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปคนละ 70,000-80,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายแล้วกว่าล้านบาท เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาจัดส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต
       
นายปรีชายอมรับว่า ในระยะนี้คนลำปางนิยมไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ คาดว่าอาจจะเป็นเพราะเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงการเกษตรไม่ค่อยดี จึงทำให้คนหันไปนิยมทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าการไปทำงานในต่างประเทศจะสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ดีที่สุด ปัญหาเรื่องการถูกหลอกจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
       
ซึ่งบางส่วนชาวบ้านทราบว่าอาจจะถูกหลอกแต่ก็ยอมเสี่ยงโดยไม่ฟังคำเตือนของทางราชการ อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการถูกหลอกอีก ขอให้ตรวจสอบตำแหน่งหรือรายละเอียดอื่นๆ รวมถึงบริษัท หรือนายหน้าให้ดีว่าได้รับอนุญาตให้จัดหาคนงานไปทำงานในต่างประเทศหรือไม่ก่อนตัดสินใจ หรือแม้แต่การเรียกเก็บค่านายหน้าจำนวนมาก เนื่องจากอาจจะสูญเงินฟรีได้ โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง 0-5426-5051-2 ทุกวัน เวลาราชการ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-1-2558)
 
ยอดโรงงานใหม่ปี 2557กระฉูดเงินทุนแตะ 602,236 ล้านบาท
 
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถิติการประกอบกิจการโรงงานที่ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.-31 ธ.ค. 2557 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 ทั้งเปิดโรงงานใหม่และขยายกิจการ รวมทั้งสิ้น 3,815 ราย มูลค่าเงินทุน 456,963 ล้านบาท มีการจ้างคนงาน 149,883 คน แบ่งเป็น การประกอบกิจการใหม่ 3,245 ราย และขยายโรงงาน 570 ราย
 
นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจข้อมูลของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในปี 2557 ได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 5,619 ราย คิดเป็นเงินทุน 602,236 ล้านบาท จ้างคนงาน 204,394 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 ได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 5,472 ราย คิดเป็นเงินทุน 517,271 ล้านบาท จ้างคนงาน 178,105 คน ตัวเลขจึงดีขึ้นทุกตัวคิดเป็นเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรมประเมินว่า ตัวเลขการตั้งและขยายโรงงานของภาคเอกชนในปี 2558 มีแนวโน้ม ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมาตามแผนการลงทุนของหน่วยงานรัฐ
 
“จะเห็นได้ว่าโรงงานเปิดทำการผลิตในปัจจุบัน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนสูง และมีการจ้างคนงานเป็นจำนวนมาก สามารถช่วยขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดี และมั่นใจว่าภายใน 1-2 เดือน จะมีโรงงานเปิดสายการผลิตใหม่และขยายกิจการโดยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทุกจังหวัด อีกจำนวน 2,154 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุน 242,603 ล้านบาท และจะมีการจ้างงานใหม่อีก 59,793 คน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการสร้างและขยายกิจการในประเทศไทย”
 
ดังนั้นจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2558 มีแนวโน้มสดใส มีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา” นายจักรมณฑ์ กล่าว
 
สำหรับจังหวัดที่มีโรงงานเปิดใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) จ.ปทุมธานี 309 โรงงาน 2) จ.สมุทรปราการ 287 โรงงาน 3) กรุงเทพฯ 222 โรงงาน 4) จ.ชลบุรี 190 โรงงาน และ 5) จ.สมุทรสาคร 167 โรงงาน ส่วนประเภทกิจการที่เปิดโรงงาน
 
มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1) อุตสาหกรรมอาหาร 281 โรงงาน 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 255 โรงงาน 3) กลุ่มผลิตยานพาหนะ 251 โรงงาน 4) กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช 248 โรงงาน และ 5) กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 242 โรงงาน
 
นายจักรมณฑ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการประกอบกิจการและขยายกิจการ เพราะภาคการผลิต (Real Sector)
 
มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง มีเงินหมุนในระบบ ทั้งการลงทุน การจ้างงาน และใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อสร้างมูลค่า โดยเฉพาะการออกใบอนุญาต รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำข้อมูลการแจ้งเริ่มประกอบการ และขยายโรงงานจริงว่า หลังได้รับใบอนุญาตจากกระทรวง ไปแล้วมีคงเหลือที่ยังไม่ประกอบกิจการจำนวนกี่ราย เพื่อช่วยประสานอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน และพบว่าโรงงานที่เปิดดำเนินกิจการในตอนนี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมและการเตรียมตัวที่ดี
 
ส่วนที่ยังไม่เปิดดำเนินกิจการ ส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการหาแรงงาน แหล่งเงินทุน หรือการก่อสร้างที่อาจล่าช้า และปัจจัยอื่นๆ หากผู้ประกอบการรายใดมีอุปสรรคที่ภาครัฐจะสามารถช่วยได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือดังกล่าว
 
(แนวหน้า, 24-1-2558)
 
เล็งจ้างงานหน้าแล้ง-แจกเงินหมู่บ้าน รัฐทุ่มงบแสนล้านจัดขบวนการแก้จน
 
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือรากหญ้าว่า ขณะนี้คลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงต้นเดือน ก.พ.58 สำหรับนโยบายรัฐบาลที่กำลังผลักดันนั้น จะเป็นการมองไปในหมู่บ้านชนบท เป็นการช่วยให้เกิดการจ้างงานในช่วงหน้าแล้ง กระตุ้นให้คนมีงานทำ ซึ่งยืนยันว่าจะไม่ใช่โครงการประชานิยม เช่นเดียวกับการจัดตั้งกองทุนพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีเป้าหมายจะให้เงินกับหมู่บ้านนำไปใช้ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะใช้เงินจากส่วนไหน จำนวนเท่าไร 
 
แต่คงจะไม่ให้แบบกองทุนหมู่บ้านที่ให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพราะมากเกินไป รัฐบาลคงไม่ไหว แต่เป็นการให้เงินแบบมีเงื่อนไข นำไปใช้ในโครงการที่มีประโยชน์ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในเดือน ก.พ.เช่นกัน
 
“การทำนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมาๆ ทำให้เกิดภาระต่องบประมาณสูงมาก ทั้งในเรื่องจำนำข้าว รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี สร้างหนี้สูงถึง 700,000-800,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลนี้มีแนวคิดที่จะเสนอให้มีการตั้งงบประมาณกลางปีละ 100,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปีงบ 2559 เป็นต้นไป เพื่อให้รัฐบาลนำเงินในส่วนนี้มาใช้จ่ายในการดูแลประชาชนที่มีฐานะยากจน ยากไร้ เนื่องมาจากเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง และธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งกลุ่มผู้ยากจนที่ได้รับความช่วยเหลือนั้นจะเป็นเกษตรกรหรือไม่เป็นเกษตรกร”
 
ทั้งนี้ นายสมหมายกล่าวว่า การเสนอตั้งงบประมาณ 100,000 ล้านบาท จะเป็นคนละส่วนกับงบกลางฉุกเฉินที่จะนำมาใช้เกี่ยวกับภัยพิบัติ เป็นงบกลางเพื่อมาดูคนยากจน ยากไร้ เพื่อให้รู้ว่าใช้เงินจากไหน อะไรบ้าง และเพื่อไม่ให้เกิดการบานปลายจนเป็นหนี้สะสม และหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากการกู้ ก็จะกู้จากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หรือจากหน่วยงานอื่นก็ต้องตั้งงบคืนเต็มจำนวนในปีงบประมาณถัดไป
 
(ไทยรัฐ, 24-1-2558)
 
จับตาขบวนการงาบหัวคิวแรงงาน นักการเมือง-จนท.มีเอี่ยวส่งเชือดพ่วงยึดทรัพย์
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำไปรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในที่ประชุม ผู้แทน ป.ป.ช.ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการกลางในการกลั่นกรองบริษัทจัดหางานที่ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศที่มีอยู่เดิมกว่า 200 บริษัท และที่มาจดทะเบียนเปิดใหม่เพื่ออุดช่องโหว่การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกินความเป็นจริง แต่ชี้แจงในที่ประชุมว่าปัจจุบันกระทรวงแรงงานมีคณะกรรมการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ดังนั้น ที่ประชุมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการกลางฯ ขึ้นมา แต่ขอให้กระทรวงแรงงานกำชับต่อคณะกรรมการตรวจสอบให้ดำเนินการดูแลเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายให้เข้มข้นมากขึ้น และกรณีรัฐมนตรีมีหุ้นหรือเกี่ยวข้องกับบริษัทจัดหางานก็ห้ามไม่ให้เข้าไปวินิจฉัยการอุทธรณ์ของบริษัทจัดหางานหรือไม่ให้พิจารณาจัดส่งแรงงาน รวมทั้งหากมีแรงงานร้องเรียนและตรวจสอบพบว่าบริษัทจัดหางาน เจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินจริงจะต้องตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยนอกจากใช้ระเบียบข้าราชการแล้วก็ให้เอาผิดตามกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่มีโทษยึดทรัพย์ด้วย
       
“ที่ประชุมได้ขอให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งแรงงานให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อไม่ให้มีช่องโหว่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความจริง ได้ชี้แจงไปว่าปัจจุบันกฎหมายของกระทรวงแรงงานได้ระบุไว้อย่างรัดกุมพอสมควร และขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างศึกษาว่ากฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องข้อใดบ้างที่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม หากต้องแก้ไขก็จะดำเนินการ แต่คงแก้ไขในลักษณะยืดหยุ่นเนื่องจากการจัดส่งแรงงานมีกรอบระยะเวลาจัดส่ง หากเขียนกฎหมายตายตัวเกินไปจะเป็นอุปสรรคในการจัดส่งแรงงานไทย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
       
ด้านพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากรายงานของ ป.ป.ช.พบว่า ต้นตอการทุจริตเริ่มที่ฝ่ายการเมืองเห็นช่องทางการทุจริตจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจึงไปตั้งบริษัทจัดหางาน และเมื่อตรวจสอบพบเข้าก็ไม่ให้เข้า การทุจริตมีกระบวนการ 3 ระดับ คือ ฝ่ายการเมืองให้ผู้แทนมาตั้งบริษัทจัดหางาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติร่วมมือกัน จึงต้องหาทางปิดช่องทางการทุจริตทั้ง 3 ระดับนี้ เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มโทษโดยยึดทรัพย์บริษัทจัดหางานและผู้ที่กระทำผิด และจะต้องสร้างจิตสำนึกด้านจริยธรรมให้แก่ข้าราชการ นอกจากนี้จะต้องแบ่งเกรดบริษัทจัดหางานเพื่อดูว่ามีพฤติกรรมเป็นอย่างไรและเชื่อมโยงกับใครบ้าง ซึ่งขณะนี้ตนได้รับรายชื่อบริษัทจัดหางานทั้งหมดมาแล้วและจะดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้จะต้องทบทวนกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตก็ต้องแก้ไข
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-1-2558)
 
ที่ประชุม คนร. เห็นชอบให้ขึ้นเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ 35 แห่งให้ได้รับเงินเดือน 9,040 บาท
 
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจจำนวน35 แห่งที่ขึ้นทะเบียนบัญชีแรงงานไว้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่มีรายได้ขึ้นต่ำเพียงเดือนละ5,780 บาทให้ได้รับเงินเดือน 9,040บาท ให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่300 บาทต่อวันจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับลูกจ้างขณะที่พนักงานที่มีแรงงานค่าจ้างขั้นสูงหากจะขยายเพดานค่าจ้างขึ้นไปอีกจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และครม.เห็นชอบเป็นรายกรณีไป
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนฟื้นฟูของการรถไฟแห่งประเทศไทยการบินไทย และขสมก.โดยในส่วนของขสมก.ที่ประชุมได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานของขสมก.เดิมที่เป็นผู้กำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะให้ยกหน้าที่ดังกล่าวให้กรมการขนส่งทางบกทำหน้าที่แทนส่วนขสมก.ให้เป็นเพียงผู้ประกอบการเท่านั้นโดยเรื่องดังกล่าวจะเสนอครม.เห็นชอบต่อไป
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 26-1-2558)
 
รัฐบาลอัดฉีด งบ 4 หมื่นล้านบาท จ้างเกษตรกร-คนยากจน ซ่อมถนนทั่วประเทศ
 
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา สรุปมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มผู้ยากจน โดยจะให้กระทรวงคมนาคมจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาและบูรณะซ่อมแซมถนนทั่วประเทศในวงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนมีนาคม 2558 เพราะในช่วงดังกล่าว เข้าสู่ฤดูแล้งของประเทศไทยพอดี จึงเป็นจังหวะที่ดีที่รัฐบาลจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกระลอกหนึ่ง
 
"ในแต่ละปีกระทรวงคมนาคามีงบประมาณในการพัฒนาและซ่อมแซมถนนทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่กระทรวงการคลังขอให้กระทรวงคมนาคมบวกเพิ่มจากงบประมาณปีปัจจุบันเข้าไปอีก 40,000 ล้านบาท โดยงบประมาณก้อนนี้กระทรวงการคลัง จะกู้เงินจากตลาดเงินแต่จะเป็นวิธีการไหนและรูปแบบใด ยังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)" นายสมหมายกล่าว
 
นายสมหมาย กล่าวว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรง จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและเกษตรกรที่อยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้เช่นการปลูกข้าว เป็นต้น ทำให้เกิดการว่างงานในชนบท ซึ่งจะเป็นปัญหาของสังคมตามมาในอนาคต ดังนั้น การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแบบทันทีจะก่อให้เกิดการจ้างงานในชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่วางเว้นจากการเพาะปลูกพืชเกษตรเพราะเป็นช่วงหน้าร้อน
 
"ผมมีความหวังว่าเมื่อรัฐบาลทุ่มเงิน 40,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว บริษัทผู้รับเหมาในต่างจังหวัดที่ชนะงานประมูลก็จะไปว่าจ้างเกษตรกรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพในหน้าแล้งมาทำงานเพราะโครงการต่างๆเหล่านี้ จะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านบาทที่อยู่ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม แต่จะเป็นโครงการขนาดเล็ก ๆ กระจายไปในชนบททุกแห่งทั่วประเทศ" นายสมหมายกล่าว
 
(มติชนออนไลน์, 26-1-2558)
 
ช็อก! ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ตัดสิทธิผู้ประกันตนลาออก คสรท.เตรียมยื่นค้าน
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม คสรท.จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และจากนั้นเวลา 11.00 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม(ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ตามขั้นตอนตามวาระแรกไปแล้ว และรอการพิจารณาในวาระที่สองในเดือนกุมภาพันธ์
 
เนื่องจากพบว่าร่างดังกล่าวมีการตัดสิทธิผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงานจากเดิมที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงินช่วยเหลือขณะว่างงานจำนวนร้อยละ30ของค่าจ้างไม่เกิน3เดือนโดยที่ไม่มีการสอบถามผู้ประกันตนและส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกันตนอย่างมาก เนื่องจากแรงงานบางรายลาออกด้วยเหตุผลที่ต้องมาดูแลอาการป่วยของคนในครอบครัว การตัดสิทธิออกไปก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมแรงงานมากยิ่งขึ้น
 
ประธานคสรท.กล่าวอีกว่า ตนทราบข้อมูลมาว่า การตัดสิทธิดังกล่าวออก เพราะสปส.เคยระบุว่ามีผู้ประกันตนบางคนลาออกเนื่องจากหวังเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน แต่จากความเป็นจริงที่คสรท.พบคือไม่มีใครอยากลาออกจากงาน ซึ่งการลาออกจะทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัวและพบว่าบางส่วนถูกนายจ้างบีบให้ออกจากงาน
 
"สปส.อย่ามโนไปเองว่าแรงงานลาออกเพราะหวังเงินกรณีว่างงานเงินที่ถูกตัดออกไปนี้เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนยากคนจนเวลาคนงานลำบากเงินส่วนนี้ช่วยชีวิตไว้ได้หากสปส.จะประหยัดเงินก็อย่ามาตัดสิทธิกันแบบนี้ไปตัดโครงการอื่นๆ ที่ฟุ่มเฟือยและไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนจะดีกว่า ทั้งการประชาสัมพนธ์ การไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินกองทุนไปได้มากกว่าการมาตัดสิทธิกรณีว่างงาน"
 
น.ส.วิไลวรรณ ยังกล่าวว่า อยากให้ทบทวนเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ โดยให้สิทธิผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานและลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนแต่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปีและมีอายุต่ำกว่า 55 ปี สามารถขอรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีบำเหน็จชราภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเกณฑ์อายุ 55 ปี เพราะผู้ประกันตนหลายคนที่ลาออกจากงานมีความเดือดร้อน ที่ผ่านมามีกรณีแรงงานเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปีและไม่ได้แจ้งระบุทายาทผู้รับเงินต่อสปส.ไว้จึงทำให้เงินตกเป็นของกองทุน
 
นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติก็ควรได้รับเงินบำเหน็จเมื่อครบกำหนดทำงานในไทยและเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยไม่ต้องรออายุครบเกณฑ์นอกจากนี้อยากให้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรจากเดิมตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ6ปีเป็นถึงอายุ 15 ปี แทนการให้เงินค่าคลอดบุตรเพิ่มเป็น 3 คน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 คน
 
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ตนมองว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการเปิดให้ผู้ประกันตนเข้าไปมีส่วนร่วม เห็นได้จากอำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ หรือการออกระเบียบ ยังคงเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐและการเมือง ซึ่งหากการยื่นหนังสือขอให้ทบทวนไม่เป็นผลก็อาจจะต้องมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน  
 
(มติชนออนไลน์, 26-1-2558)
 
พนักงานห้างโลตัส สาขานครนายก กว่า 50 คน ชุมนุมถือป้ายประท้วง หัวหน้างาน เหตุไม่ให้ลาจนแท้งลูก
 
วันที่ 26 มกราคม 2558   พนักงานห้างโลตัส สาขานครนายก กว่า 50 คน ชุมนุมถือป้ายประท้วง บริเวณลานจอดรถ โดยอ้างว่าเพื่อแสดงความไม่พอใจหัวหน้างาน ที่ปฎิเสธไม่ให้พนักงานคนหนึ่งไปพบแพทย์ หลังมีอาการตกเลือดเมื่อช่วงเช้าวานนี้ จนต้องอดทนรอจนเลิกงาน เพื่อนพนักงานจึงได้พาไปพบแพทย์ ก่อนที่แพทย์จะ ระบุว่า แท้งลูก ทั้งที่ตั้งครรภ์ได้เพียง 2 เดือน
 
หลังชุมนุมไม่นานฝ่ายบริหารของห้าง ได้เรียกพนักงานทั้งหมดไปพูดคุย โดยไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าบันทึกภาพ ทราบชื่อหัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง คือนางสาวพิมพา มาสุก ผู้จัดการสาขา และ นางสาวกัญชพรพิมพิ์อักษร เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล เบื้องต้นจะดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล และเตรียมดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงอีกครั้ง
 
(MONO 29, 26-1-2558)
 
เทสโก้โลตัสชี้แจงกรณีห้ามพนักงานตกเลือดพบแพทย์
 
พนักงานห้างเทสโก้โลตัส สาขานครนายก ยอมกลับเข้าทำงานตามปกติแล้ว หลังประท้วงกรณีหัวหน้างานปฎิเสธการขอไปพบแพทย์ของพนักงาน จนพนักงานแท้งลูก ล่าสุด บริษัท เอก-ชัย ดีลทริบิวชั่น ซิสเทม ผู้ดำเนินธุรกิจการปลีกและค่าส่งภายใต้ชื่อ "เทสโก้โลตัส" ออกแถลงการณ์เรื่องนี้
 
โดยระบุว่าบริษัทฯเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยัน ที่ผ่านมา มีนโยบายใส่ใจดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานมาโดยตลอด ส่วนกรณีพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับผู้จัดการสาขาและพนักงาน พบว่า ได้ปรับตารางการทำงานของพนักงานคนดังกล่าว โดยไม่ให้ทำงานหนัก ที่อาจจะกระทบการตั้งครรภ์ ทั้งนี้บริษัทฯจะตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรม
 
สำหรับเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นหลังจากพนักงานห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขานครนายก กว่า 50 คน ประท้วงหัวหน้างาน ที่ไม่ให้พนักงานหญิงคนหนึ่งไปพบแพทย์ ทั้งที่มีอาการตกเลือด จนเพื่อนพนักงานต้องตัดสินใจนำตัวพาไปพบแพทย์ ก่อนที่แพทย์จะระบุว่า ได้แท้งลูก หลังตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน
 
ส่วนการออกมาชุมนุมประท้วงของพนักงาน เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา บริษัทอ้างว่า เกิดจากการสื่อสารผิดพลาด แต่หลังพูดคุยกันแล้ว พนักงานยอมกลับเข้าทำงานตามปกติแล้ว
 
(TPBS, 26-1-2558)
 
สปส.พร้อมแก้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม คืนสิทธิผู้ประกันตนสมัครใจลาออก
 
วันที่ 27 มกราคม นายโกวิท สัจจวิเศษ โฆษกสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม(ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระแรกและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ร่างพ.ร.บ. มีการตัดสิทธิผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงานจากเดิมที่ได้รับเงินช่วยเหลือร้อยละ 30 ของเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน ทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน ว่า เหตุที่สปส.ตัดออกเนื่องจากเห็นว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่ให้เงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน หากแรงงานสมัครใจลาออกเอง มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ให้สิทธินี้ แต่มีกมธ.วิสามัญบางรายขอสงวนคำแปรญัตติไว้เพื่ออภิปรายในวาระที่สอง โดยขอให้คงสิทธิกรณีว่างงานไว้เช่นเดิมและร่างพ.ร.บ.จะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ของสนช.ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
 
นายโกวิท กล่าวอีกว่า หากสนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมในวาระที่ 2 และเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกมธ.วิสามัญที่ให้คงสิทธิกรณีว่างงานไว้เช่นเดิม ทางสปส.ก็จะไม่คัดค้าน หากร่างพ.ร.บ.ผ่านในวาระที่ 2 และ 3 โดยยังคงเนื้อหาตัดสิทธิกรณีว่างงาน สปส.ก็จะเร่งเสนอต่อสนช.ขอแก้ไขกฎหมาย 2-3 มาตรา เพื่อคงสิทธิกรณีว่างงานไว้เช่นเดิม เนื่องจากมีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิว่างงานออก เพราะการลาออกจากงานของแรงงานมีหลายเหตุผล เช่น ถูกบีบให้ลาออก ลาออกเพื่อดูแลญาติพี่น้องที่ป่วย เป็นต้น
 
ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะกมธ.วิสามัญยกร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิว่างงานดังกล่าวออกจากร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เนื่องจากการตัดสิทธิดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ประกันตน โดยได้อธิบายให้กมธ.วิสามัญทุกคนเข้าใจ ส่วนมากเห็นด้วยว่าไม่ควรจะตัดออกและควรใช้ข้อกำหนดเดิม แต่สนช. รับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้วจึงให้ตนสงวนคำแปรญัตติเสียงส่วนน้อยไว้เพื่ออภิปรายในสภาเมื่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ 14 ภาคีเครือข่ายผู้ประกันตน จะประชุมกันเพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนต่อไป
 
(มติชนออนไลน์, 27-1-2558)
 
จ่อชง ครม.ขอเพิ่มกรอบอัตรา พนง.ราชการ เพิ่ม 1.9 หมื่นอัตรา
 
(27 ม.ค.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทำหน้าที่แทน อ.ก.พ. กระทรวง เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานนั้น ได้เห็นชอบอนมุมัติกรอบพนักงานราชการ สังกัด สอศ. เพิ่มเติม จำนวน 19,686 อัตรา โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1. ขอเพิ่มกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ปีงบประมาณ 2556 - 2559 จำนวน 7,455 อัตรา แบ่งเป็น ทำหน้าที่สอน 5,677 อัตราและสายสนับสนุน 1,778 อัตรา และ 2. ขอกำหนดกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ปีงบประมาณ 2560 - 2564 จำนวน 12,231 อัตรา แบ่งเป็น ทำหน้าที่สอน 9,250 อัตรา และสนับสนุน 2,981 อัตรา สำหรับวิทยาลัยในสังกัด สอศ. ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม กรอบอัตราดังกล่าวใช้วิธีการคำนวณโดยยึดตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดว่า อัตราความต้องการที่แท้จริงของ สอศ. อยู่ที่ 19.686 อัตรา แบ่งเป็น ผู้ทำหน้าที่สอน 14,927 อัตรา และผู้ทำหน้าที่สนับสนุน 4,759 อัตรา
       
“ก่อนหน้าในปีงบประมาณ 2555 คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เคยอนุมัติกรอบพนักงานราชการให้ สอศ. จำนวน 5,366 อัตรา แต่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่สนับสนุนในตำแหน่งบริหารทั่วไปและตำแหน่งบริการ แต่ที่ผ่านมาอาชีวะประสบปัญหาขาดแคลนครูเรื้อรังมานานถึง 21 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในวิทยาลัยที่จัดตั้งใหม่ 132 แห่ง ซึ่งเป็นวิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมาวิทยาลัยส่วนใหญ่แก้ปัญหาด้วยการเจียดงบอุดหนุนรายหัวไปใช้ในการจ้างครูสอน จำนวน 18,165 อัตรา แบ่งเป็น ทำหน้าที่สอน 7,713 อัตรา และสนับสนุน 10,452 อัตรา ทั้งนี้ ระยะเร่งด่วนเมื่อได้รับจัดสรรอัตราเพิ่มเติม มาก่อน สอศ. จะนำอัตรากำลังดังกล่าวไปจัดสรรให้วิทยาลัยที่มีปัญหาขาดแคลนครูวิกฤต คือ ขาดครูมากกว่าร้อยละ 70 ก่อน” นายชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า จากนี้ สอศ. จะแจ้งไปยัง คพร. เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งหากได้รับกรอบอัตรากำลังตามที่เสนอ จำต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละ 1,413,468,000 ล้านบาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-1-2558)
 
'ประจิน' ยันใน 2 ปียังไม่โละพนักงานบินไทย ปัดทิ้งหุ้นนกแอร์
 
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 58 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง กรณีที่ในแผนฟื้นฟูการบินไทย จะต้องมีการปรับลด พนักงานลง 5,000 คน จากที่มีอยู่ 25,000 คน เหลือ 18,000 คน ว่า ในเรื่องนี้มีอยู่ในแผนแต่ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการปลดบุคลากร แต่เป็นการปรับลด ซึ่งจำนวนอาจจะไม่ถึง 5,000 คน และไม่ได้ทำภายใน 2 ปี อย่างที่เป็นข่าว โดยระยะเวลาการปรับลด อาจจะมากกว่า 2 ปี ซึ่งอาจจะเป็นแผนปรับลดระยะยาว 8-10 ปี และเหลือบุคลากรอยู่ที่ 20,000 ต้นๆ มากกว่า
 
อย่างไรก็ตาม วิธีการและแนวทางการปรับลดบุคลากรนั้น จะเป็นการสมัครใจ เพราะการบินไทย มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เหมือนที่อื่น ที่จะลด หรือ ปลดบุคลากรได้เลยทันที ส่วนแนวทางการขายทรัพย์สิน ที่ไม่เกิดประโยชน์และเป็นภารกิจหลักของการบินไทย (Non-Core) เช่น กิจการโรงแรม ,กิจการการขนส่งน้ำมันนั้น ในเรื่องนี้ได้ให้การบินไทย จัดทำรายละเอียดว่า มีส่วนงานไหนบ้าง ที่ต้องจำหน่ายออกไป เพราะการขายสินทรัพย์ของการบินไทย ก็มีหลายส่วน ทั้งเรื่องของเครื่องบินที่จะปลดระวาง และจะต้องขายออกไปกว่า 22 ลำ ซึ่งในส่วนของการขายเครื่องบินนั้น จะสามารถเริ่มดำเนินการได้เลยใน 1 ปี หลังจากที่มีการอนุมัติ
 
ส่วนเรื่องการขายที่ดิน และอาคารสำนักงานนั้น ได้ให้การบินไทยไปจัดทำรายละเอียด เพื่อเตรียมเสนอ คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ต่อไปทั้งนี้ การจัดทำรายละเอียดทั้งการปรับลดบุคลากร และการขายทรัพย์สินที่ไม่เป็นภารกิจหลัก การบินไทยจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือน
 
"ตอนนี้ยังหาข้อสรุปชัดเจน ไม่ได้ว่าธุรกิจไหนไม่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น โรงแรมถ้าบอกว่า ไม่เกี่ยวกับการบินก็ไม่ใช่ เพราะหากเกิดปัญหาต้องนำผู้โดยสารไปพัก ก็ต้องนำไปพักที่โรงแรม หรือธุรกิจท่อน้ำมัน เครื่องบินของการบินไทย ก็ต้องเติมน้ำมัน แต่หากเป็นท่อน้ำมัน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ก็อาจจะพิจารณาว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการบินได้ โดยรายละเอียดต่างๆ ทางการบินไทยจะต้องไป สรุปมาให้ชัดเจน"
 
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ในแผนฟื้นฟูการบินไทย ได้มีการระบุให้การบินไทยขายหุ้นจำนวน 39 % ที่ถือหุ้นในสายการบินนกแอร์ทิ้งทั้งหมดนั้น ในเรื่องนี้ยืนยันว่า ไม่มีแต่อย่างใด แต่การบินไทยจะเป็นพันธมิตรทางการบินกับสายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยสมายล์ โดยเส้นทางไหน ที่บินทับซ้อน และถ้าการบินไทยบินแล้วขาดทุน ก็ต้องหยุดบินทันที
 
ด้านนายดำรง ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.การบินไทย) ยืนยันว่า การบินไทยไม่สามารถปลดพนักงานได้ เพราะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนข้อเสนอที่จะปรับลดพนักงานลง 5,000 คนนั้น จากการหารือกับฝ่ายบริหารการบินไทยพบว่า เป็นแผนดำเนินการ 5 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เกิดจากพนักงานที่เกษียณประมาณ 500 คนต่อปี และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออรี่รีไทร์) ประมาณ 500 คนต่อปี รวมทั้ง 2 ส่วนภายใน 5 ปี จะมีพนักงานลดลงตามแผนที่กำหนดไว้ได้ ส่วนที่จะปรับลดได้ น่าจะเป็นพนักงานที่ว่าจ้างจากภายนอก (เอาท์ซอส) โดยเฉพะกลุ่มที่ประจำสำนักงานใหญ่ บริษัทการบินไทย คาดว่า มีไม่น้อยกว่า 1,000 คน
 
นายดำรง กล่าวต่อ ปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดจากการปรับขยายโครงสร้างของฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีฝ่ายปฏิบัติ จึงมีการว่าจ้างพนักงานเอาท์ซอสเข้ามาเสริมการทำงาน จึงมีข้อสังเกตว่า ในส่วนของพนักงานประจำได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ หากมีการปรับลดในส่วนนี้ จะช่วยลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้ส่วนหนึ่ง
 
(ไทยรัฐ, 27-1-2558)
 
โรครุมเร้าแรงงานไทยในต่างแดนเพียบ กังวลหนี้-ค่าใช้จ่าย จัดทีมแพทย์ดูแล
 
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศสิงคโปร์ บรูไน และ มาเลเซีย มีคนไทยเดินทางไปทำงานสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก แต่มักประสบปัญหาด้านการสื่อสาร ทำให้เมื่อเวลาเจ็บป่วยจึงขาดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ บางรายอาจต้องกลับประเทศก่อนกำหนด กรมฯจึงจัดโครงการดูแลสุขภาพแรงงานไทยในประเทศอาเซียนขึ้น เพื่อให้คนไทยในต่างแดนได้รับบริการด้านสุขภาพ สร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเอง และการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น พร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลการป่วยของแรงงานไทย ศึกษารูปแบบการดำเนินงานด้านการรักษาพยาบาล เพื่อเป็นแนวทางการดูแลสุขภาพแรงงานไทยให้เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ และเป็นต้นแบบการจัดบริการแก่แรงงานไทยในประเทศอาเซียนอื่นๆ
       
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2557 กรมฯได้จัดทีมแพทย์ไปดูแลแรงงานไทยใน 3 ประเทศดังกล่าว รวม 9 ครั้ง ทีมแพทย์ประกอบด้วย จิตแพทย์ 1 คน พยาบาล 4 คน พยาบาลอาชีวเวชศาสตร์ 1 คน ผู้ประสานงาน 2 คน รวมทั้งสิ้น 11 คน จากโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โดยให้การตรวจรักษา คัดกรองสุขภาพ จ่ายยา ตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ ได้แก่ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเองและการเจ็บป่วยเบื้องต้น การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต การประเมินและให้คำแนะนำด้านอาชีวอนามัย การสำรวจสุขภาพด้านอาชีวอนามัย และความพึงพอใจต่อบริการ ซึ่งมีผู้เข้ารับบริการ จำนวน 1,258 ราย
       
“การเจ็บป่วยที่พบมาก 5 อันดับแรก คือ อาการกล้ามเนื้อและกระดูก จำนวน 361 ราย โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 200 ราย โรคผิวหนัง จำนวน 120 ราย โรคระบบทางเดินหายใจ จำนวน 120 ราย และโรคระบบทางเดินอาหาร จำนวน 72 ราย นอกจากนี้ จากการตรวจประเมินสภาพจิตของผู้รับบริการ พบว่ามีปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ความกังวลจากเรื่องหนี้สินและภาระค่าใช้จ่าย พฤติกรรมการดื่มสุรา การสูบบุรี่ และภาวะซึมเศร้า ซึ่งทีมแพทย์ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวและว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดี จากกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ได้ต้นแบบการจัดหน่วยบริการดูแลสุขภาพแรงงานไทยในประเทศอาเซียนอื่นๆ
       
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ในปี 2558 กรมฯได้ประสานไปยังสถานทูตไทยในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวมทั้งหารือแนวทางการดูแลสุขภาพแรงงานไทยและได้วางแนวทางการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรมอาสาสมัครแรงงาน เรื่องการดูแลสุขภาพกายและจิตของตนเองในญี่ปุ่น การอบรมล่ามของบริษัท เรื่องการดูแลสุขภาพตนเองด้านอาชีวเวชศาสตร์ ในไต้หวันและการจัดกิจกรรมบริการตรวจแรงงานไทยด้านกายและจิต การอบรมอาสาสมัครแรงงานและพระภิกษุ เรื่อง การดูแลสุขภาพและการใช้ยาสามัญประจำบ้าน ในเกาหลีใต้ ต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-1-2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท