Skip to main content
sharethis

วันที่ 27 มกราคมของทุกปี เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกจะรำลึกถึงผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมถึงชาวยิว 6 ล้านคน และชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ในปีนี้ สหประชาชาติจัดงานรำลึกภายใต้หัวข้อ “นำชีวิตสู่ความทรงจำ” สำหรับประเทศไทยมีการจัดงานรำลึกใหญ่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 26-29 ม.ค. โดยความร่วมมือจากสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ภายในงานมีนิทรรศการ Courage to Remember และนิทรรศการ The Forced Transfer: The Second Evacuation of People during Khmer Rouge Regime จัดที่ห้อง 212 อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดปาฐกถาโดยเอกอัคราชทูตจากสาธารณรัฐเช็ค, อังกฤษ, อิสลาเอล, ตัวแทนนายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็น และตัวแทนจากสถาบบัน Simon Wiesenthal Center สหรัฐอมเริกา รวมถึง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เพื่อร่วมรำลึกและสร้างความตระหนักกับผู้คนถึงความจำเป็นที่จะหวนคิดถึงและกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นทุกปี เป้าหมายก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจและป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมต่อมวลมนุษยชาติเช่นนี้มีโอกาสหวนกลับมาอีกครั้ง หลายคนหยิบยกประเด็นความรับผิดชอบของผู้คนจำนวนมากที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง ไม่ใช่ผู้กระทำ แต่นิ่งเฉยต่อความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น จนกระทั่งเหตุการณ์เลวร้ายบานปลาย

นอกจากนี้ยังมีวงเสวนาเรื่อง Holocaust Message to ASEAN โดยมีวิทยากรจากประเทศกัมพูชา Chy Terith, Executive Officer, The Sleuk Rith Institute, ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ, Rabbi Abraham Cooper รองคณบดีสถาบัน Simon Wiesenthal Center และสมเถา สุจริตกุล วาทยกรและนักเขียน

สมเถากล่าวว่า หลายปีก่อนเขาได้เขียนเพลงโอเปราเกี่ยวกับค่ายกักกันเอาท์วิช โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เมื่อกลับมาเมืองไทยก็พบว่าคนไทยไม่ตระหนักถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าวเท่าใดนัก ยังปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนถึงการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ของนาซีอย่างไม่เข้าใจ และที่น่าตกใจคือคนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจไม่เพียงเฉพาะเรื่องนี้ แต่ทุกเรื่องในประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นเลยก็ว่าได้ มันจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเล่าซ้ำอีกเพื่อให้เยาวชนได้รับรู้

วิทยากรจากกัมพูชา เล่าถึงสภาพของสังคมกัมพูชาซึ่งก็มีบาดแผลฉกรรจ์ทางประวัติศาสตร์เช่นกัน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงเขมรแดง ซึ่งได้ฆ่าชาวเขมรด้วยกันไปนับล้านคน แต่แม้แต่ผู้คนในกัมพูชาเองก็ไม่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ลึกซึ้งนัก เขายกตัวอย่างตัวเองว่า เขาเกิดในปี 1981 หลังจากเขมรแดงล่มสลายราว 2 ปีเท่านั้น เมื่อเข้าโรงเรียนเขาไม่ได้รับการสอนถึงประวัติศาสตร์เรื่องนี้เลย เยาวชนในกัมพูชาไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์เรื่องนี้จนกระทั่งปี 2008 หลังศูนย์ข้อมูลด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำงานในกัมพูชาผลักดันให้รัฐบาลกัมพูชาบรรจุเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนี้ในแบบเรียนได้สำเร็จ จากนั้นในปี 2009 องค์กรของเขาจึงเริ่มอบรมครู ให้ข้อมูล ให้การศึกษาครูในเรื่องเหล่านี้ เพื่อจะได้เข้าใจและนำไปสอนนักเรียนต่อได้ รวมถึงความพยายายมในการทำ document center เพื่อให้การศึกษากับคนทั่วไป

“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เหยื่อผู้รอดชีวิตบางคน ถูกลูกถามว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่นั้นจริงรึเปล่า” Terith กล่าว

สุริชัย ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับสถาบันการศึกษาเสริมว่า บาดแผลทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นเกิดขึ้นได้โดย hate speech เป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ปัจจุบันสถานการณ์ของ hate speech ยิ่งน่ากังวล ในงานวิจัยบางชิ้นพบว่า hate speech ในโลกอินเตอร์เน็ตของไทยนั้นเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ช่วงปี 2007 เราจึงต้องเรียนรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และต้องหาวิธีสื่อสาร หานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาตระหนัก เพื่อที่จะไม่ต้องพูดถึงโศกนาฏกรรมนี้ซ้ำอีกในชื่อที่ต่างกันออกไป

รองคณบดีสถาบัน Simon Wiesenthal Center กล่าวว่า สิ่งที่ผู้รอดชีวิตต้องการคือความเห็นใจ การรรับฟัง ที่สำคัญคือการไม่ถูกลืม ดังนั้นเราจึงยังต้องพูดถึงอดีตเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ มีเด็กๆ เคยถามว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกไหม แม้หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นไปได้ยาก แต่ลองนึกดูว่าหลายสิบปีก่อนเราไม่เคยคิดถึงอินเตอร์เน็ต แต่วันนี้มันก็เกิดขึ้น ดังนั้น โศกนาฏกรรมแบบนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้อีกแน่นอน หากมี ความเกลียด+เทคโนโลยี+วิกฤต

จากนั้นไฮไลท์อีกส่วนหนึ่งของงานคือ การฉายภาพยนตร์สั้น ‘The Power of Good’ ภาพยนตร์สารคดีประวัติศาสตร์จากสาธารณรัฐเช็ค ที่ได้รับรางวัลเอ็มมี่ กำกับการแสดงโดย Matej Minac เป็นเรื่องราวของนักธุรกิจหนุ่มชาวอังกฤษที่สามารถช่วยชีวิตเด็กชาวยิว 699 คนออกจากประเทศเช็คโกสโลวาเกียก่อนที่จะถูกยึดครองโดยเยอรมนีและชาวยิวก็ถูกส่งไปยังค่ายกักกันของนาซีแทบทั้งหมดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

สารคดีเรื่องนี้ยาวประมาณ 1 ชั่วโมง เต็มไปด้วยภาพประวัติศาสตร์อันหาดูได้ยาก วิธีการเล่าเรื่องของนักธุรกิจหนุ่ม “วินตัน” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นคุณปู่วัยเฉียด 90 ปีก็น่าสนใจยิ่ง เป็นการกล่าวถึงบางด้านของเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่สามารถสร้างรอยยิ้มแก่ผู้ชมได้ เนื้อเรื่องเองก็มีสีสันชวนติดตามเพราะการช่วยเหลือดังกล่าวถูกปิดลับมากว่า 50 ปี จนกระทั่งสมุดบันทึกของคุณปู่ถูกค้นพบโดยภรรยาคุณปู่นั่นเองเรื่องจึงแดงขึ้น เด็กๆ ที่เคยได้รับการช่วยเหลือต่างก็กระจัดกระจายและเติบโตจนมีลูกมีหลานมากมาย หลายคนมีผมสีขาวสีเดียวกับคุณปู่วินตันแล้ว ภาพความปลื้มปิติที่ปริศนาใหญ่ในชีวิตหลายคนถูกคลี่คลายเมื่อพวกเขาได้พบปู่วินตันน่าจะสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมได้อย่างยิ่ง เมื่อประกอบกับบุคลิกวิธีคิดกวนๆ ของคุณปู่ก็ทำให้ “ความดี” เป็นสิ่งปกติสามัญอันเกิดได้กับทุกคนในทุกเวลาแม้แต่ช่วงวิกฤตและเต็มไปด้วยอุปสรรคอันตราย

หนังเรื่องนี้จะฉายอีกครั้งในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ เวลา 17.30 น. ที่ชั้น 7 อาคารวิทยาทรัพยากร (หอสมุดกลาง) จุฬาฯ พร้อมการสนทนาโดย ดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา จากภาควิชาประวัติศาสตร์ และ ภานุ อารี ผู้สร้างภาพยนตรีสารคดีอิสระ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net