Skip to main content
sharethis

‘ม.ร.ว.ปรีดิยาธร’ แจง รบ.จะเดินหน้าปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจโต ขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ IMF หนุนปรับโครงสร้างน้ำมัน-ภาษี รมว.พาณิชย์เตรียมเชิญผู้ผลิตหารือลดราคาสินค้า คลังพร้อมล้างหนี้ ขสมก. ลุ้นลงทุนภาครัฐกระตุ้นอสังหาฯ โต 5% อัดฉีดงบ 4 หมื่นล้าน จ้างเกษตรกร-คนยากจน ซ่อมถนนทั่วประเทศ

28 ม.ค.2558 คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้เชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องเริ่มปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม มีการลงทุนที่คล้ายกับประเทศไทย แต่ค่าแรงและต้นทุนของไทยนั้นสูงกว่า ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถแซงหน้าได้ และเห็นว่าต้องขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศและเปิดอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก ลดการนำเข้าวัตถุดิบ อาทิ ยางพารา ที่ต้องส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรดังกล่าวในอุตสาหกรรมภายในประเทศให้ได้ถึงร้อยละ 50 และเตรียมดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ ที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนมาก

โดยมีตัวแทนกรรมาธิการฯ กล่าวสนับสนุนการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปรแตซ  แต่เนื่องจากการทำเหมืองแร่ใต้ดิน อาจครอบคลุมและกระทบกับที่ดินทำกินของเกษตรกรที่อาจทำให้ดินทรุด จึงเสนอว่าควรมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรด้วย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานประเภทใหม่ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ปรับโครงสร้างภาษี การปรับปรุงข้าวและสวนยาง  ยอมรับว่ารัฐบาลไม่สามารถผลักดันราคายางได้ถึงกิโลกรัมละ 80 บาทตามที่ชาวสวนยางเรียกร้องได้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงส่งผลต่อราคายาง โดยเฉพาะยางสังเคราะห์ แต่ในส่วนของยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถผลักดันได้ถึงกิโลกรัมละ 63 บาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต คือ นโยบาย ดิจิทัล อีโคโนมี่ (Digital Economy) ซึ่งเกี่ยวกับการนำดิจิตอลเข้าไปเสริมศักยภาพการทำงานของทุกกระทรวง ตลอดจนต้องนำไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลจะขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน จัดทำกฎระเบียบ รวมถึงมาตรฐานความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับประชาชนและทุกหน่วยงานอย่างทั่วถึง

ไอเอ็มเอฟหนุนปรับโครงสร้างน้ำมัน-ภาษี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เปิดเผยภายหลังหารือนายหลุยส์ อี บริวเออร์ ผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า ผู้แทนกองทุนไอเอ็มเอฟ สนับสนุนแนวคิดของรัฐบาลไทยในการดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีหลายประเภท เช่น ภาษีการรับมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจาณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาลยังเตรียมปรับโครงสร้างภาษี มูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังชี้แจงรายได้ภาษีของรัฐบาลต้องดูแลให้สอดคล้องกับรายจ่าย เพื่อการลงทุนหลายโครงการ ยอมรับว่ารายได้ยังไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มรายได้ภาษี เพราะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลปี 2557 มีเพียงร้อยละ 17.5 ของงบประมาณทั้งหมด นับว่าน้อยเกินไป เมื่อปี 2558 จึงได้ขยับขึ้นมาถึงร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมด และอาจเพิ่มเป็นร้อยละ 25- 30 ในอนาคต จึงต้องปรับโครงสร้างภาษีหลายประเภท และยังแนะนำให้ไทยเร่งการลงทุนโดยเฉพาะงบลงทุนในช่วง 3 เดือนแรก โดยรัฐบาลกำลังเร่งรัดในขณะนี้

ส่วนกรณีธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการอัดฉีดเงินสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) วงเงิน 60,000 ล้านยูโรต่อเดือนนั้น เพื่อดูแลปัญหาเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการรับมือเงินทุนไหลเข้า ทำให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากจนเกินไปและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวน แต่ระยะยาว ธปท.ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาอย่างแน่นอน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเงินทุนไหลเข้าไทยช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาคการส่งออก เพราะเงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้น แต่การส่งออกฟื้นตัวช้า เพราะประเทศคู่ค้ากำลังซื้อลดลงมาก ทั้ง สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกไปจีนชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน จึงต้องยอมรับสภาพจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่กระทรวงพาณิชย์กำลังหาทางช่วยเหลือเพิ่มทั้งการเปิดตลาดใหม่ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้

รมว.พาณิชย์เตรียมเชิญผู้ผลิตหารือลดราคาสินค้าสัปดาห์หน้า

วันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามการทำงานของกระทรวงพาณิชย์กับผู้บริหารระดับสูง ว่า ได้เร่งรัดการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ทั้งการดูแลค่าครองชีพราคาสินค้า และผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 4 โดยในส่วนของการดูแลค่าครองชีพได้เห็นชอบแผนการดำเนินงาน 6 โครงการตั้งแต่สัปดาห์หน้า ได้แก่

1.จัดงานธงฟ้าเคลื่อนที่หรือจำหน่ายสินค้าราคาถูกกว่าปกติตามชุมชน สถานที่ราชการ สำนักงานเอกชน และตลาดสด รวม 2,000 ครั้งในปี 2558

2. นำสินค้าธงฟ้าไปจำหน่ายในตลาดชุมนุมที่กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก

3. จัดมหกรรมจำหน่ายสินค้าตามเทศกาล โดยสัปดาห์หน้าจะหารือเอกชนเพื่อจัดทำแคมเปญแบคทูสคูล เป็นต้น

4.จัดทำโครงการร่วมมือผลิตสินค้าราคาประหยัด เพื่อลดภาระค่าครองชีพ หรือโลว์คอสต์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ (Lowcost Department Store) ซึ่งกำลังเจรจากับบริษัทดำเนินธุรกิจด้านค้าปลีก 1 รายในการจัดทำโครงการฯ โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดในการเป็นต้นแบบผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัดที่ลดในเรื่องค่าใช้จ่ายหีบห่อและการตกแต่งร้าน เพื่อให้ราคาสินค้าถูกลงกว่าปกติ กำหนดเปิดสาขาแรกย่านราชประสงค์เดือนพฤษภาคม 2558 ก่อนเพิ่มสาขาเป็น 14 แห่งภายในปีนี้ และวางแผนเปิด 142 สาขาภายใน 5 ปี โดยจะหารือกับบริษัทฯ เพื่อหาข้อสรุปวันที่ 3 กุมภาพันธ์

5. จัดมหกรรมธงฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และ

6. ต่อยอดหนูณิชย์พาชิม โดยรณรงค์ให้ร้านอาหารปรุงสำเร็จจัดทำเมนูตามฤดูกาล เช่น ไข่ไก่ถูกก็เน้นเมนูจากไข่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าได้สั่งการให้เชิญผู้ผลิตสินค้าและค้าปลีกในสินค้าอุปโภคบริโภคที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลกว่า 200 รายการมาหารือ เพื่อหาแนวทางร่วมมือในการดูแลค่าครองชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงและเร่งรัดให้ทุกภาคดำเนินการ และได้สั่งการให้เร่งรัดทำแผนและปฎิบัติเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งการดูแลค่าครองชีพมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะมีบทบาทมากสุดจะเน้นการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ให้มากสุด ดังนั้น การทำสินค้าโลว์คอสขณะนี้มีเอกชนให้ความสนใจโครงการนี้แล้ว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า จะเพิ่มการทำประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ เช่น โครงการลายแทงของถูก เป็นการเปิดเว็บไซต์หรือสื่อสารผ่านมือถือ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีอาหารและสินค้าราคาถูกที่ใดบ้าง โครงการ 1569 โมบาย หรือหน่วยร้องเรียนผ่านทีม 1569 เพิ่มจำนวนอาสาพาณิชย์ที่มีอยู่แล้ว 500 ราย เพื่อรณรงค์โครงการฉลาดซื้อประหยัดใช้ ส่วนการส่งออกเร่งรัดการผลักดันส่งออกตามแผนที่กำหนดไว้ และเย็นวันนี้ (28 ม.ค.) การประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าเมียมมาร์ โดยไทยเสนอ 9 แนวทางในการผลักดันการค้า 2 ฝ่ายอีกเท่าตัวในปี 2559 อาทิ ส่งเสริมการค้าชายแดน ส่งเสริมลงทุนพัฒนาโลจิสติกส์ ทำศูนย์ค้าส่งค้าปลีก จับมือพัฒนาเมืองคู่แฝด และอุปสรรคกฎระเบียบ เป็นต้น

คลังพร้อมล้างหนี้ ขสมก.

รมว.คลังพร้อมล้างหนี้สะสม ขสมก. ตั้งเงื่อนไขให้เอกชนเข้ามาเดินรถแทนทั้งหมด ยืนยันไม่กระทบพนักงาน ระบุเตรียมใช้มาตรการภาษีช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

วันเดียวกัน สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “Australian PPP Experience” ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และมูลนิธิสถาาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ โย สมมาย กล่าวย้ำว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานในกิจการของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพื่อทำให้การทำงานของภาครัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เอกชนเข้ามาสัมปทานเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แทนทั้งหมด เนื่องจากการบริหารงานของ ขสมก.ที่ผ่านมาประสบปัญหาภาวะขาดทุนต่อเนื่องสูงถึง 90,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต้องใหัเอกชนเป็นผู้บริหารงานแทน หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ทางกระทรวงการคลังจะรับภาระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดมาดูแล โดยยืนยันจะไม่กระทบต่อสถานะของเจ้าหน้าที่และพนักงานอย่างแน่นอน สำหรับแนวทางการจัดการต้องใช้เวลาศึกษาแต่ละขั้นตอน โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา

ส่วนกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงต่าง ๆ หามาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย ในส่วนของกระทรวงการคลังศึกษาแนวทางออกมาตรการช่วยเหลือคนยากจนผ่านมาตรการภาษี ยืนยันไม่ใช้นโยบายประชานิยมอย่างแน่นอน คาดสรุปได้ใน 3 สัปดาห์หน้าก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา และเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาออกเป็นแพ็คเก็จช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยร่วมกันกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์

ลุ้นลงทุนภาครัฐกระตุ้นอสังหาฯ โตร้อยละ 5

วันเดียวกัน วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายภาครัฐกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศปี 2558” ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์รวมภาคก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 6.8 ของจีดีพี และยังมีผลเกี่ยวเนื่องไปธุรกิจอื่นด้วยรวมแล้วอยู่ที่ร้อยละ 25 ของจีดีพี ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญ หากรัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องมีการกระตุ้นการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมาจึงมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนและการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์จะไม่สดใสมากนัก โดยมีการเติบโตที่ติดลบหากเทียบกับปีก่อนหน้าจากปัญหาทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้มีโครงการเปิดใหม่ลดลงและยอดขายลดลง รวมทั้งบางโครงการมีการคืนเงินจองเงินดาวน์ แต่ในปีนี้มองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีการใช้เม็ดเงินขนาดใหญ่น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น รวมทั้งสถาบันการเงินน่าจะแข่งขันกันให้สินเชื่อบ้าน เพราะมีความเสี่ยงต่ำ จึงน่าจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้เติบโตประมาณร้อยละ 5 แม้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

“หนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของจีดีพี ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์รายละเอียดว่าเป็นหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมากน้อยเพียงใด หากเป็นหนี้ที่อยู่อาศัยไม่น่าเป็นห่วงมากนัก โดยมองว่าทิศทางอสังหาริมทรัพย์ปีนี้น่าจะดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างน้อยร้อยละ 4 และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น” วิสุทธิ์ กล่าว

อัดฉีด งบ 4 หมื่นล้านบาท จ้างเกษตรกร-คนยากจน ซ่อมถนนทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยด้วยว่า จากหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา สรุปมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มผู้ยากจน  โดยจะให้กระทรวงคมนาคมจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาและบูรณะซ่อมแซมถนนทั่วประเทศในวงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนมีนาคม 2558 เพราะในช่วงดังกล่าว เข้าสู่ฤดูแล้งของประเทศไทยพอดี จึงเป็นจังหวะที่ดีที่รัฐบาลจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกระลอกหนึ่ง

“ในแต่ละปีกระทรวงคมนาคามีงบประมาณในการพัฒนาและซ่อมแซมถนนทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่กระทรวงการคลังขอให้กระทรวงคมนาคมบวกเพิ่มจากงบประมาณปีปัจจุบันเข้าไปอีก 40,000 ล้านบาท โดยงบประมาณก้อนนี้กระทรวงการคลัง จะกู้เงินจากตลาดเงินแต่จะเป็นวิธีการไหนและรูปแบบใด ยังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)” สมหมาย กล่าว

สมหมาย กล่าวว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรง จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและเกษตรกรที่อยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้เช่นการปลูกข้าว เป็นต้น ทำให้เกิดการว่างงานในชนบท ซึ่งจะเป็นปัญหาของสังคมตามมาในอนาคต ดังนั้น การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแบบทันทีจะก่อให้เกิดการจ้างงานในชนบทมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรที่วางเว้นจากการเพาะปลูกพืชเกษตรเพราะเป็นช่วงหน้าร้อน

“ผมมีความหวังว่าเมื่อรัฐบาลทุ่มเงิน40,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว บริษัทผู้รับเหมาในต่างจังหวัดที่ชนะงานประมูลก็จะไปว่าจ้างเกษตรกรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพในหน้าแล้งมาทำงานเพราะโครงการต่างๆเหล่านี้ จะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านบาทที่อยู่ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม แต่จะเป็นโครงการขนาดเล็กๆ กระจายไปในชนบททุกแห่งทั่วประเทศ” สมหมาย กล่าว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย และ มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net