พล.อ.ประยุทธ์ หวัง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ ป้องกันการป่วนด้วยโซเชียลมีเดีย

นายกรัฐมนตรีระบุมีกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ไม่ได้มีไว้ล้วงตับ ความเป็นส่วนตัวก็ยังมี แต่ จนท.จะทำงานได้เร็วขึ้น ป้องกันการใช้โซเชียลมีเดียป่วน ด้าน รมว.ไอซีที ยืนยันจะเดินหน้าออกกฎหมายนี้ เพราะทุกประเทศห่วงภัยไซเบอร์ ตัวร่าง กม. ยังแก้ไขได้เพราะอยู่ชั้นกฤษฎีกา-สนช.

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

28 ม.ค. 2558 - สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุม ครม. ถึงความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ที่ต้องรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา  โดยกฎหมายฉบับนี้จะนำมาใช้ เมื่อมีกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน หรือบุคคลทั่วไป แต่จะเข้าไปตรวจสอบบุคคล ที่เจ้าหน้าที่มีข้อมูลว่ากระทำผิดกฎหมาย การออกกฎหมายนี้จะช่วยให้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ และทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันในสังคมออนไลน์ มีการปลุกระดม สร้างความวุ่นวายมาโดยตลอด

"การมีกฎหมายไว้ ไม่ได้เพื่อต้องการไปล้วงตับ รู้ความลับใคร ความเป็นส่วนตัวยังมี  แต่จะเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ทำงานเร็วขึ้น ไม่ต้องรอหมายจับเหมือนในอดีต  และกฎหมายฉบับนี้มีไว้ เพื่อป้องกันการใช้โซเชียลมีเดีย มาปลุกปั่นสร้างความวุ่นวาย เพราะเหตุการลักษณะนี้ยังมีอยู่ในประเทศไทย จึงต้องปรับให้ทันสมัย ในการเอาผิดกับการกระทำที่หมิ่นสถาบัน หรือการหมิ่นศาสนา"

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวว่า "ถ้ามีเรื่องเขาถึงทำ ถ้าไม่มีเรื่อง เขาไม่ได้ไปควานเธอ ไม่ได้ไปตรวจโทรศัพท์เธอ ชั้นจะไปตรวจเธอทำไม ชั้นไม่อยากตรวจ ชั้นไม่อยากรู้ เรื่องส่วนตัวชั้นไม่เกี่ยว เธอจะไปพูดอะไรกับใครชั้นไม่เกี่ยวหรอก"

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานความเห็นของ นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยยืนยันว่าจะเดินหน้าออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะมีความจำเป็น ทุกประเทศห่วงภัยทางไซเบอร์กันหมดและมีกฎหมายนี้หมดแล้วจริงๆ เนื้อหาสาระไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล โดยเนื้อหาใน มาตรา 35(3) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทุกช่องทางจริง แต่จะระบุไว้ด้วยว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ทำอะไรได้บ้าง ขั้นตอนเข้าตรวจสอบทำอย่างไร และมาตรา 36 กำหนดบทลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่เอาข้อมูลที่ได้มาไปเปิดเผย ติดคุก 3 ปีและมีโทษปรับ ทุกอย่างยังแก้ไขได้ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สนช.

ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ข้อกังวลที่ว่าอาจจะละเมิดสิทธิประชาชนได้นั้นกฎหมายดิจิตอล 8 ฉบับ มี 3 ฉบับที่ประชาชนห่วงคือ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ทั้งหมดอยู่ในชั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขอยืนยันกับประชาชนว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ จะตรวจพิจารณาโดยคำนึงถึงข้อทักท้วง หากอะไรเป็นการใช้อำนาจที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะหามาตรการต่างๆ มากำกับดูแลให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท