หญิงชู้ สัญลักษณ์ขบถ แห่งสังคมชายเป็นใหญ่ Unfaithful (2002)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 ซึ่งมีการปฏิวัติทางเพศ (sexual revolution) โดยยึดโยงกรอบคิดทางคริสต์ศาสนาเป็นศูนย์กลาง ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ สำนึกความเป็นครอบครัวลักษณะ Monogamy หรือผัวเดียวเมียเดียว จึงเริ่มชัดแจ้งแจ่มกระจ่างขึ้นทั่วโลก โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงที่มีชีวิตแต่งงานอันน่าพึงใจ และปกติสุขนั้น  น้อยคนนักที่จะตัดสินใจ  ‘คบชู้’ แต่หากเธอก้าวข้ามเส้นศีลธรรมด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น (การปฏิวัติทางเพศโดยคริสต์ศาสนา ยังจำกัดกรอบความเข้าใจเรื่องทางเพศให้อยู่เพียง heterosexual อีกด้วย )  โดยมากแล้วก็ไม่ใช่แค่ความฉาบฉวยที่หวังเพียงความตื่นเต้น ทว่ามักมีทั้งความรักความผูกพันทางจิตใจให้แก่ชายอื่นโดยสมบูรณ์ 

ในทางจิตวิทยา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หญิงและชาย ‘นอกใจ’  คือ  ‘การถูกทอดทิ้งให้ว้าเหว่เดียวดาย‘   เหตุเพราะไม่มีอะไรจะมาสั่นคลอนจิตใจได้เท่ากับ การที่ใครคนหนึ่งรู้สึกเหมือนโดนทิ้งอย่างไม่ไยดี หรือแม้คู่ของเราจะอยู่ใกล้ แต่กลับไม่ได้รับความเข้าอกเข้าใจ ไม่แม้แต่จะเกิดความอบอุ่นปลอดภัย ดังคำกล่าวของ อับราฮัม มาสโลว์ ปรมาจารย์ทางจิตวิทยา “การได้รับความรัก และการยอมรับ ยังความรู้สึกให้ตนเองมีค่า มิเช่นนั้นจะเกิดความคับข้องใจ และอ้างว้าง เกิดปัญหาในการปรับตัว ผิดปกติทางพฤติกรรม หรือเจ็บป่วยทางใจและกาย”

ความปรารถนาซึ่งรสสังวาสแปลกใหม่  เรียกร้องความตื่นเต้นเร้าใจให้แก่ชีวิตเรียบง่าย อาจเป็นหนทางแห่งการคบชู้ปัจจัยถัดมา ซึ่งอีกข้อหนึ่งที่มักพบในโลกภาพยนตร์คือ  ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันในแทบทุกเรื่องของสามีภรรยา  ยิ่งทะเลาะโต้เถียงก็เสมือนยิ่งก่อกำแพงอคติแห่งความเกลียดชัง ที่นับวันมีแต่จะสร้างระยะห่าง และเดินไปตามเส้นทางของตัวเองในท้ายที่สุด

ผลงานภาพยนตร์ฝีมือ Adrian Lyne ก็เช่นกัน ทั้งผลงานก่อนหน้าอย่าง Lolita (1997) หรือ Indecent Proposal (1993) ช่วยยืนยัน ‘ทัศนคติ’ ที่มีผู้หญิงของตัวผู้กำกับได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลย หากจะคุณแม่ผู้ถึงพร้อมทุกอย่าง เลือกที่จะเพิ่มรสชาติชีวิตรัก ด้วยการนอกใจสามี เพราะสภาวการณ์ไม่ปกตินี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้อย่างปกติในหนังของ Lyne

เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง Unfaithful ที่เล่าผ่านครอบครัวมีฐานะ อาศัยในบ้านหลังใหญ่ริมทะเลสาบ คอนเนอร์ ซัมเนอร์ (ไดแอน เลน) แม่เฉียบสวย และ เอ็ดเวิร์ด (ริชาร์ด เกียร์) พ่อรวยนิสัยดี ทั้งคู่ใช้ชีวิตอย่างราบรื่นมีความสุข กับลูกชายสุดน่ารัก 1 คน และหมา 1 ตัว ดูช่างเป็นครอบครัวตามสำนึกของอเมริกันชน แต่แล้ววันหนึ่ง คุณแม่คอนเนอร์ มีอันต้องพานพบกับหนุ่มหล่อล่ำอายุน้อยคารมดีอย่าง พอล (โอลิเวียร์ มาร์ติเนซ) ด้วยรสรักเริงสวาท และกล้ามหน้าท้องสุดจะดึงดูด แสนจะต้องตาตรึงใจคุณแม่วัยสาวให้หลงเสน่ห์อย่างโงหัวไม่ขึ้น ไม่นานความลับก็เปิดเผย เอ็ดเวิร์ดรู้เข้าจึงตั้งใจไกล่เกลี่ยกับชู้รักด้วยท่าทีสุภาพบุรุษปัญญาชน แต่มาดกวนประสาทตรงไปตรงมาของชู้หนุ่ม ทำให้คุณพ่อใจดียั้งมือไม้ไม่อยู่ ทุ่มลูกแก้วซึ่งเขาซื้อให้เมีย (แต่เมียเอามาให้ชู้) ใส่กบาลพอลคารมดีจนถึงแก่กรรม

เอเดรียน ไลยน์ ผู้กำกับ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ แต่ Unfaithful ก็เป็นหนังพิมพ์นิยมอีกเรื่องหนึ่งที่เลือกถ่ายทอดและนำเสนอผู้หญิง ให้เสมือนตัวอันตราย ไว้ใจไม่ได้ เปรียบดังงูพิษ แต่มีอำนาจตัดสินใจกระทำการบางอย่าง หรือพูดในอีกแง่คือ อย่าปล่อยให้ผู้หญิงมีอำนาจตัดสินใจ เพราะมันจะนำมาซึ่งความพินาศหายนะ ทัศนคติเช่นนี้ ไม่ต่างจากกรอบคิดลักษณะชายเป็นใหญ่ หรือปิตาธิปไตย ซึ่งยังสะท้อนผ่านรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ของภาพยนตร์ เช่นตัวละครหญิงไม่ได้เป็นฝ่ายทำการทำงานหนักหนา ฝ่ายชายเท่านั้นคือหัวหน้าครอบครัว ผู้ชายคือผู้ให้ (หรือคือช้างเท้าหน้า คือเสาหลัก อะไรก็ตามแต่) กรอบคิดเช่นนี้ มักต้องการให้ผู้หญิงรักสวยรักงามไปวัน ๆ อย่างความตอนหนึ่งในนิยายเรื่อง ปีศาจ บทประพันธ์โดย เสนีย์ เสาวพงศ์  ซึ่งกล่าวถึงค่านิยมของผู้หญิงในยุคเปลี่ยนผ่านไว้ว่า

‘กิ่งเทียนไม่ได้ไว้เล็บยาวเหมือนอย่างสาว ๆ สมัยนี้ไว้กัน เพราะมันไม่สะดวกต่อการช่วยแม่นวดแป้งและทำงานอื่น ๆ คนที่ไว้เล็บยาวคงจะแสดงว่าเขาไม่ต้องทำงานอะไร’

ค่านิยมของผู้หญิงในยุคนั้น คือการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ไม่ใช่การเรียนในมหาวิทยาลัย และแน่นอนว่าไม่ใช่การหางานทำนอกบ้าน ซึ่งกรอบคิดนี้ คือการมองผู้หญิงเป็น กาฝาก ต้องการที่พึ่งพิงเพื่อดำรงอยู่ไปวัน ๆ สังคมปิตาธิปไตยจึงปรารถนาให้ผู้่หญิงรักสวยรักงาม นอกจากเพื่อตอกย้ำการเป็นวัตถุทางเพศแล้ว ยังเพื่อให้มิต้องไปเรียน หรือทำงานเลี้ยงชีพใด ๆ เพราะเมื่อผู้หญิงทำงาน พวกหล่อนจะสามารถอยู่ได้ด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาฝ่ายชายอีกต่อไป การเรียนมหาวิทยาลัยของผู้หญิงในยุคหนึ่ง คือสัญลักษณ์ขบถต่อสังคมอนุรักษ์นิยม เป็นท่าทีของสังคมหัวก้าวหน้า เช่นเดียวกันกับตัวละครหญิงในหนัง

อย่างในประโยคสารภาพบาป หลังคอนเนอร์รู้แล้วว่า ฆาตกรฆ่าชายชู้คือ เอ็ดเวิร์ด สามีตน เอ็ดเวิร์ดครวญคร่ำร่ำไห้ ‘ผมให้ครอบครัวทุกอย่าง ผมให้คุณทุกอย่าง แต่คุณกลับทำอย่างนี้’ วาทะเด็ดสุดแสนจะเรียกร้องความสงสารเห็นใจจากคนดูและสังคมนี้ หากพิจารณาแล้วจะสังเกตว่า เมื่อหนังนำเสนอเพศหญิงเป็นฝ่ายรอรับ หรือแบมือขอแล้ว ผู้กำกับจึงสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการทุกอย่างให้แก่ฝ่ายชาย (ในที่นี้มิได้บอกว่า ฝ่ายชายดีหรือไม่ดีอย่างไร จากหนังเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เอ็ดเวิร์ดนี่แหละ คือผู้ชายในอุดมคติ แต่เรากำลังพูดถึงวิธีการมองผู้หญิง หลังคนดูเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับประสงค์ของผู้กำกับคือ โธ่เอ๊ย นังสำส่อน ถ้าหล่อนหัดหักห้ามสันดานราคะไว้บ้าง ผัวแสนดีของเธอคงไม่ต้องทำอะไรโง่ ๆ แบบนี้หรอก)

แม้ในหนังเรื่องนี้ฝ่ายชายจะดูเป็นผู้ถูกกระทำย่ำยี แต่การวางพล็อตเรื่องให้ผู้ชายเป็นใหญ่ เป็นวัฒนธรรมของหนังฮอลีวู้ด (และแน่นอน สื่อกระแสหลักทั้งหมด) เราล้วนมีแต่ผู้กำกับเพศผู้ ดำรงตำแหน่งนักทำหนังขึ้นหิ้ง ซึ่งกรอบคิดลักษณะว่า เพศชายเป็นศูนย์กลางจักรวาลนี้แพร่หลายมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในภาพยนตร์ประโลมโลก อย่าง The Sound of Music ข้ามโลกเรื่อยมาจน สุภาษิตสอนหญิง (ซึ่งมี ผู้ชาย เป็นคนสอน)

งานประพันธ์ผู้หญิง อันเกิดจากผู้ชายนี้ โดยส่วนใหญ่ย่อมคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จนเกิดเป็นในหมู่เพศหญิงเองยอมรับไปโดยปริยายในฐานะ ความจริงชุดใหม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม งานประพันธ์ในอดีต (ที่วงการศึกษายังใช้อยู่ในปัจจุบัน) เหล่านี้มักสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงเป็นเพศที่โง่เขลา และเดียงสาเกินกว่าจะก้าวสู่โลกกว้าง เธอควรต้องได้รับการสั่งสอนจากคนที่ฉลาดกว่า (ซึ่งหมายถึง ผู้ชาย นั่นเอง) บอกว่าเธอต้องทำอะไรบ้าง (การมองผู้ชายเป็นเพศที่ฉลาดกว่า ย่อมหมายถึง ผู้หญิงคือเพศที่โง่กว่า ไม่ต่างจากมุมมองที่ผู้กำกับมีต่อ คอนเนอร์ที่ป้ำเป๋อเสนอตัวไปให้ชายชู้เขี้ยวรากดิน)

กรอบคิดลักษณะนี้มีอำนาจและขยายวงกว้างในสังคม ผู้หญิงจึงยอมรับไปโดยปริยายว่า เพศตนเป็นเพศแห่งคนที่อ่อนต่อโลก ต้องการการเอาใจใส่ดูแล (ไม่ปฏิเสธว่า เคมีในร่างกาย หรือเรื่องทางกายภาพชายหญิง และฮอร์โมนเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง Gender ชายหญิงเช่นกัน) วิธีคิดลักษณะนี้ส่งผลเรื่อยมาจนปัจจุบัน ที่แม้ว่าค่านิยม ‘การรักษาสงวนตัว’ จะเปลี่ยนไป แต่การนำเสนอเพศหญิง ผ่านการนำของเพศชาย หรือสายตาแบบผู้ชาย (male gaze) ยังคงเป็นเรื่องเดิม (อาทิ การออกแบบชุดชั้นใน วงการแฟชั่นยังคงขับเน้น ความใหญ่โตของหน้าอก ไม่ว่าจะผู้หญิงคนนั้นจะหน้าอกเล็กเพียงใด ก็สามารถบดบังด้วยนวัตกรรมยกทรงรุ่นใหม่ได้ โดยไม่ไยดี และเปิดโอกาสให้ ผู้หญิงหน้าอกเล็ก สามารถ ‘สวยแบบมีหน้าอกเล็ก’ ได้เลย)

ในสังคมปิตาธิปไตย ซึ่งถูกครอบงำด้วยกรอบคิดลักษณะนี้ จึงมอง ‘หญิง’ ในฐานะองค์ประกอบของเมืองเท่านั้น ไม่สามารถบริหารจัดการเมืองได้ (เช่น ไม่สามารถเป็นนักรบได้ อย่างในการ์ตูนมู่หลาน หรือหนังอย่าง      สุริโยทัย อีกทั้งไม่ควรเป็นศาล หรือตำรวจ และแน่นอนกรอบคิดเช่นนี้ ย่อมแฝงด้วยอคติว่า ผู้หญิงไม่ควรเป็นนายกหรือผู้นำ) ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงวานศาสนาและสื่อสารมวลชน แทบไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงมีอำนาจ อำนาจเดียวที่เพศสตรีมีคือ อำนาจแห่งการฉ้อฉล กลลวง เช่น อีฟที่หลอกให้อดัมกินแอปเปิ้ล ผลไม้ต้องห้าม หรือแม่มดในเรื่องสโนไวท์ ดังคำกล่าวประเภท มารยาหญิงร้อยเล่มเกวียน อำนาจของการเป็นชู้ คือหนึ่งในลักษณะอำนาจฝ่ายต่ำที่ผู้หญิง (ถูกทำให้) ได้รับ

เมื่อกรอบการคิดลักษณะดังกล่าวขยายตัวไปในระดับสากล จึงสร้างมาตรฐาน ‘ผิด-ถูก’ ในสังคมวงกว้าง อันเป็นผลให้เพศหญิงมักเสียเปรียบในการต่อรองแทบทุกกรณี เช่นเดียวกับความคิดเรื่องเชื้อชาติ คนดำ คนขาว ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 และถูกนำไปปลุกเร้าในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี

ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอีกเรื่องคือ การ ‘เสร็จ’ ของผู้หญิง ศตวรรษ 19 วงการแพทย์ค้นพบว่า การถึงจุดสุดยอดของฝ่ายหญิงไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ ผู้หญิงจึงถูกจัดระเบียบว่า เป็นพวกไม่มีความต้องการทางเพศตามหลักการแพทย์ ผู้หญิงที่มีความกระสันจึงไม่ต่างจากคนป่วย จนมีศัพท์บัญญัติโรคที่ผู้หญิงอยากมีเซ็กส์ว่า Nymphomania

ด้วยกรอบคิดเช่นนี้ การลักลอบมีการชู้ จึงเสมือนอนัตริยกรรมของศาสนาปิตาธิปไตย เป็นการละเมิดและท้าทายอาญาสิทธิของระบบชายเป็นใหญ่ แต่หนังก็ยังคงเส้นคงวาที่จะเลือกนำเสนอว่า ผู้ดำรงตำแหน่งศาลไคฟงในคดีชู้รักหักสวาทควรจะเป็นเรื่องของเพศชาย สุดท้ายพระเอก คุณพ่อเอ็ดเวิร์ดเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะมอบตัวหรือใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ คำขอของศรีภรรเมียหาได้มีส่วนในการตัดสินใจแต่อย่างใด

หรือแม้แต่สาเหตุของการคบชู้ แม้ฝ่ายหญิงจะเล่นด้วย แต่หนังก็เล่า flash back ว่าหากคอนเนอร์ตัดสินใจเรียกแทกซี่กลับบ้าน ก็คงไม่ถูกโลมเล้าจากหนุ่มงาม และแม้ว่าเธอจะเดินขึ้นไปล้างแผลยังห้องพอล แต่ถ้าพอลไม่โอ้โลมหวานหว่านเสน่ห์ เธอคงไม่หลงเริงสวาทอยู่หลายมื้อกลางวัน (ดังนั้น ผู้มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของคอนเนอร์คือ พอล ชายชู้ ต่างหาก ไม่ใช่ตัวคอนเนอร์ คอนเนอร์ถูกนำเสนอในฐานะวัตถุเพื่อรองรับอารมณ์ทางเพศของชายชู้เพียงเท่านั้น) และคงไม่ปฏิเสธว่า นอกจากคอนเนอร์แล้ว ตัวละครเพศหญิงอื่น ๆ ในหนังล้วน ‘เข้าตาซ้าย ทะลุตาขวา’ ไม่สามารถจดจำรายละเอียดใด ๆ ได้แม้แต่น้อย แต่อย่างไรก็ตามผู้หญิงอย่างคอนเนอร์ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการวางพล็อตเรื่องแนว ชู้รักหักสวาท ที่มักจำกัดการมีชู้ให้เป็นเรื่องของฝ่ายชาย

แต่พล็อตเรื่องแนวชู้ในหนังเรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงความ cliche ในพล็อตหนังชู้ทั่ว ๆ ไปได้ เช่น นัยยะของตัวละครลูก ที่โดยส่วนใหญ่ ลูกในหนังประเภทนี้ ถูกทำให้เป็นเครื่องรั้งเหนี่ยวจิตใจ เป็นยาต่ออายุความสัมพันธ์ หรือเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่เรียกร้องให้ตัวละครไม่ว่าฝ่ายใดปฏิบัติต่อพระองค์อย่างนบนอบ ดังนั้นตัวละครเด็ก จึงมักถูกเสนอผ่านภาพของ เด็กน้อย บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา น่ารัก ไม่มีจุดยืน

การนำเสนอภาพของสิ่งหนึ่งสิ่งใดซ้ำ ๆ ผ่านสื่อครั้งแล้วครั้งเล่า ถือเป็นการ discrimination อย่างร้ายกาจและแยบยล ด้วยมองว่า เด็กนั้นไม่อาจแสดงความเห็น หรือมีจุดยืนใด ๆ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เด็กจึงเป็นเพียงผ้าขาวสะอาดพับไว้ในถุงทองอันอบอวลด้วยกลิ่นหอมของน้ำยาปรับผ้านุ่ม เด็กเปรียบเป็นตัวแทนของอำนาจเหนือระบบ แต่ไม่ได้เป็นอธิปไตยของครอบครัวตัวละคร (หมายความว่า ไม่ถึงกับเป็นประมุขผู้ชี้นำ แต่เป็นเพียงประมุขไร้น้ำยา มีไว้เพียงกราบไหว้บูชาเท่านั้น) ดังจะเห็นได้จากฉากที่ เอ็ดเวิร์ดถามเมียรักว่า แล้วจะเอาอย่างไรกับชาลี (ลูกชาย) คอนเนอร์ตอบว่า เราจะบอกชาลีว่าพวกเราไปผจญภัย ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ แต่แน่นอนว่าชาลี ผู้เป็นดั่งไข่ในหินย่อมเชื่ออย่างสนิทใจ อย่างน้อยก็จนกว่าเขาจะตระหนักรู้ในสักวันหนึ่ง

ในทางสังคม Unfaithful จึงสะท้อนให้เห็นถึง ‘กลไก’ การจัดการของระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ที่พึงปฏิบัติต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของฝ่ายหญิง ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ยอมรับกันได้ในฐานะการกระทำแบบลูกผู้ชาย เช่นการแก้แค้น ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความรุนแรงเลือดอาบ และผิดกฎหมาย แต่ด้วยวิธีคิดนี้ หนังจึงถ่ายทอดการกระทำดังกล่าวในนามของ ‘ความประพฤติชอบแล้ว’ ของตัวพระเอก (เฉกเช่น การแก้แค้นล้างผลาญในหนังจีนกำลังภายใน) โดยไม่เยื่อไยต่อระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่า ประเทศตำรวจโลกเลยแม้แต่น้อย

มุมมองการคิดเช่นนี้เป็นกรอบคิดเดียวกับ ‘ระบบคนดี’ ดังที่เห็นกันในปัจจุบัน เช่น ไม่เป็นไรหรอก โกงนิดโกงหน่อยเอง เขาเป็นคนดี ,โห เป็นถึงรัฐมนตรี ยังต่อแถวเข้าคิวเลย ช่างเป็นคนดีเสียนี่กระไร (ด้วยผู้พูดคงหารู้ไม่ว่า การต่อแถวเข้าคิวเป็นเรื่องปกติตามสามัญสำนึกของคนทั่วโลก) ลักษณะอำนาจนิยมนี้ สร้างสังคมแห่งการเลือกปฏิบัติ และสังคมชนชั้นสองมาตรฐานอันหยาบกระด้าง

และเพื่อที่จะเข้าใจ รวมทั้งเห็นถึงวิธีการมองของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ต่อการกระทำบางอย่างของเพศหญิง Unfaithful จึงควรเป็นหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่ทรงค่าแก่การพูดถึง เพราะนอกจากประเด็นทางทัศนคติที่หนังนำเสนอ (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) แล้ว บทบาท และท่วงท่าการแสดงของทั้งริชาร์ด เกียร์ และไดแอน เลน ก็ส่งให้หนังเรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงถัดต่อมาอีกหลายปี หนำซ้ำชื่อไดแอน เลนยังปรากฏในลิสต์เข้าชิงออสการ์สาขาแสดงนำหญิงปี 2003 อีกด้วย

 

อ้างอิง

- http/www.sc.mahidol.ac.th/scbi/MUBIO_Webboard.php?TopicID=763&Action=ViewTopic&Lang=Eng

  ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2557

- http://www.healthgrades.com/conditions/nymphomania

  ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท