Skip to main content
sharethis

Islam is Simple ทำความเข้าใจ 4 คุณลักษณะพิเศษของอิสลาม ชี้ศตวรรษที่ 21 เป็นโอกาสของมุสลิมแต่มุสลิมเองต้องรู้จักสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยากเห็นมุสลิมทำให้อิสลามเป็นศาสนาของทุกคน ย้ำโลกอิสลามจะฟื้นอีกครั้งได้ด้วยการอ่าน พร้อมกับต้องสร้างพลังเยาวชนด้วยอีหม่าน


Islam is Simple
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดกิจกรรมเปิดโลกวิชาการ อิสลาม ง๊าย...ง่าย.. ณ ลานแสงจันทร์ หน้าอาคารเรียนตึก 19 โดยช่วงแรกเป็น Talk Show โดยอาจารย์มันศูร อับดุลลอฮฺ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวข้อ Islam is Simple

อาจารย์มันศูร อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกพยายามทำให้ผู้คนเห็นว่าอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่ยากหรือเป็นศาสนาที่นิยมความรุนแรง ในขณะที่ความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกสังคม และความรุนแรงที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดด้วยน้ำมือของมุสลิม

“ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกทั้งสองครั้ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียแดงกว่าร้อยล้านคน การฆ่าชาวแอฟริกากว่าร้อยล้านคน การฆ่าชาวอะบอรจินกว่ายี่สิบล้านคน การระเบิดนิวเคลียร์ใส่เมืองฮิโรชิม่า และนางาซากิ และอื่นๆ ล้วนแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของมุสลิม” มันศูรกล่าว

มันศูร กล่าวต่อไปว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล เมื่อผู้คนใช้ปัญญาใคร่ครวญก็จะพบว่าอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่ง่ายนิดเดียว นอกจากนั้นยังสบาย สะอาด สนุก และสันติอีกด้วย แต่หากโลกนี้จะแบ่งให้ศาสนาเป็นแค่การประกอบศาสนากิจ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องศาสนา หากเป็นเช่นนั้นแล้วอิสลามย่อมไม่ใช่แค่ศาสนาแต่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต

ทำความเข้าใจ 4 คุณลักษณะพิเศษ
มันศูร อธิบายถึงคุณลักษณะพิเศษของอิสลามว่า มีอยู่ 4 ประการ คือ 1.ร็อบบานียะฮฺ หมายถึงมีที่มาและผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้า โดยที่มุสลิมไม่เชื่อว่ามนุษย์จะเกิดขึ้นมาเองได้ เพราะแม้แต่ไม้จิ้มฟันที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเรายังเชื่อเลยว่าจะต้องมีผู้สร้าง แล้วจักรวาลอันสลับซับซ้อนจะเกิดมาเองได้อย่างไร

2.อาละมียะฮฺ หมายถึง มีลักษณะอันเป็นสากล กล่าวคือในอิสลามทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมด ในอิสลามจะไม่มีนักบวช ดังนั้นมุสลิมจะเป็นทั้งคนธรรมดาและนักบวชภายในตัวเหมือนๆ กันหมด

3.ชามิล กามิช หมายถึง ครอบคลุมและสมบูรณ์ กล่าวคือ ไม่มีเรื่องใดที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยในอิสลาม ดังที่คนส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมศาสนาที่บอกว่าตัวเองคือศาสนาแห่งสันติถึงได้บัญญัติเรื่องเกี่ยวกับการทำสงคราม เหตุผลก็คือโลกนี้หนีไม่พ้นความขัดแย้งและความรุนแรง อิสลามเลยสอนว่ามารยาทในการทำสงครามเป็นอย่างไร แต่สงครามนั้นเป็นทางเลือกสุดท้ายในอิสลาม

“เมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์ในสมัยของท่านศาสดามูฮัมหมัดที่มีการบกันมากกว่าสิบปี แต่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายไม่เกินหลักพัน ซึ่งทั้งหมดเป็นนักรบ ไม่ใช่เด็กและสตรีเหมือนในปัจจุบัน”
และ 4.อัลอัดลุนมุฏลัก หมายถึง มีความยุติธรรมอย่างที่สุด

ศตวรรษที่ 21 เป็นโอกาสของมุสลิม
จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ เรื่องหน้ารู้ในศตวรรษที่ 21 โดย นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยอาจารย์อุสมาน ราษฎร์นิยม อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี

นพ.แวมาฮาดี กล่าวว่า ก่อนจะคุยเรื่องศตวรรษที่ 21 ลองย้อนไปดูศตวรรษที่ 19-20 จะพบว่าก่อนหน้านั้นเรา (อิสลาม) เปรียบเสมือนครูของโลก พอมาถึงศตวรรษที่ 19 เราก็ยังคงสถานะนั้นอยู่ แต่พื้นที่เริ่มน้อยลง และในศตวรรษที่ 20 กลายเป็นว่าเราไม่มีอะไรที่จะนำเสนอต่อโลก

นพ.แวมาฮาดี กล่าวต่อไปว่า ในศตวรรษที่ 20 ถือเป็นศตวรรษที่มีการทำลายโลกอย่างมหาศาล เช่น โลกปลูกฝั่งแนวคิดการคุมกำเนิด ทำให้โลกสูญเสียโครงสร้างทางประชากร หรือการลำดับความสำคัญในทางวิชาการที่ผิด กล่าวคือ โลกละทิ้งความรู้ที่จะทำให้รู้จักพระเจ้าและความรู้ที่เกี่ยวกับศาสนาของพระเจ้า แต่โลกให้สำคัญกับความรู้ที่เกี่ยวกับมัคลูคของพระเจ้า(สิ่งที่พระเจ้าสร้าง)มากกว่า เป็นต้น

มุสลิมต้องสร้างนวัตกรรมใหม่
นพ.แวมาฮาดี กล่าวอีกว่า ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นโอกาสของมุสลิม เพราะในศตวรรษที่ 20 โลกรู้แล้วว่าการตามตะวันตกในศตวรรษที่ผ่านมานั้นมีปัญหา แต่ก่อนอื่นมุสลิมจะต้องนำเสนอให้ชาวโลกเห็นก่อนว่า เรามีดีอะไรบ้าง ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่อยากเห็นหรือความหวังต่อคนรุ่นใหม่คือ

1.อยากเห็นคนเป็นแม่ให้เร็วและมากขึ้น กล่าวคือ ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานช้ามาก ด้วยโครงสร้างทางสังคมที่ตามตะวันตก ซึ่งกว่าจะแต่งงานได้ต้องรอให้เรียนจบก่อน ทำให้เลยวัยเจริญพันธุ์ไปเกือบสิบปี นอกจากนั้นอยากเห็นการฟื้นฟูสถาบันครัว
2.อยากเห็นนวัตกรรมใหม่ กล่าวคือ ในศตวรรษที่ 21 ที่มีการแข่งขันสูงแต่มีทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้นมุสลิมจะต้องเป็นนวัตกรที่ผลิตนวัตกรรมใหม่ให้ได้ ซึ่งจะต้องผลิตนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ เพราะหากไม่มีนวัตกรรมจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟื่อย

อยากเห็นมุสลิมทำให้อิสลามเป็นของทุกคน
3.อยากเห็นมุสลิมทำให้อิสลามเป็นศาสนาของทุกคน เช่น มุสลิมจะต้องให้คำตอบต่อชาวโลกในสิ่งที่พวกเขาผิดหวังต่อโลกตะวันตก เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มุสลิมจะต้องบอกโลกว่าอิสลามมีทางออกอย่างไร เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มีบัญญัติไว้แล้วในอิสลาม

“ทุกวันนี้คนอาหรับมารักษาตัวในประเทศไทยปีละมากกว่าสามแสนคน แต่มุสลิมเป็นได้แค่ล่ามแปลภาษา ทั้งที่ควรจะเป็นหมอหรือพยาบาลด้วย”

4. มุสลิมจะต้องมีบุคลากรที่สามารถนำมนุษย์ไปสู่อัลกุรอาน เพราะคำตอบของทุกอย่างมีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน มุสลิมต้องมีนักเผยแพร่ศาสนาให้มากขึ้น เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 ต้องการที่จะเข้าใจอิสลามมากขึ้น

“เราต้องเรียงลำดับความสำคัญของการเรียนให้ถูกต้อง คือ เรียนให้รู้จักพระเจ้าและศาสนาของพระเจ้าก่อน แล้วค่อยเรียนให้รู้จักในสิ่งที่พระเจ้าสร้าง แล้วโลกจะไม่ผิดหวังเหมือนในศตวรรษที่ผ่านมา” นพ.แวมาฮาดี ย้ำเป็นการทิ้งท้าย

โลกอิสลามฟื้นอีกครั้งด้วยการอ่าน
ด้านดร.สุกรี กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้โลกอิสลามฟื้นขึ้นมาอีกครั้งนั้นก็คืออิกรออฺ (การอ่าน) นอกจากนั้นเราจะต้องมีแผนแม่บทแห่งอุมมะฮฺ(ประชาชาติ) ในการฟื้นฟูอิสลาม เพราะการฟื้นจะต้องเป็นวาระของประชาชาติ เราควรกลับไปดูบทเรียนในอดีต และวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาให้เราขึ้นไปเป็นครูของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง

ดร.สุกรี ยังได้ยกตัวอย่างปัญหาของประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนาที่ไม่สมดุลเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ต้องนำเข้านักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ เพราะมุ่งแต่ผลิตนักวิทยาศาสตร์จนทำให้ขาดแคลนนักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์

“งานวิจัยของชาวตะวันตกระบุว่า การตั้งเมืองมาดีนะฮฺซึ่งเป็นรัฐอิสลามแห่งแรกดีกว่าโมเดลการตั้งเมืองของเพลโตนักปรัชญาชาวกรีกโบราณ เพราะสิ่งที่ทำให้เมืองมาดีนะฮฺเจริญก็คืออัลกุรอาน” ดร.สุกรี กล่าว

ดร.สุกรี กล่าวถึงประเทศจอร์แดนว่า เป็นประเทศที่มีประชากรอ่านออกเขียนได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองทำให้จอร์แดนขับเคลื่อนอะไรไม่ค่อยได้ ส่วนที่ประเทศปาเลสไตน์มีปัญหาการถูกยึดครองดินแดน แต่กลับพบว่ามีผู้จบปริญญาเอกมากที่สุดในโลก

สร้างพลังเยาวชนด้วยอีหม่าน
ส่วนในการบรรยายศาสนา เรื่อง The Power of Youth โดยอาจารย์บับลี อัดดุรเราะห์มาน นักวิชาการศาสนาอิสลาม กล่าวว่า เยาวชนจะมีพลังไม่ได้หากปราศจากอีหม่าน(ความศรัทธา) อย่างกรณีที่โลกอาหรับสู้กับชาวยิวไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเพราะกำลังพลหรือมีอาวุธด้อยกว่า แต่เป็นเพราะอีมานของชาวอาหรับไม่เข้มแข็งพอ

“คนจำนวนมากตั้งคำถามว่า ทำไมมุสลิมถึงชอบมีเรื่องกับคนต่างศาสนิกไปทั่ว ความจริงอาจต้องถามกลับไปว่า ทำไมคนอื่นถึงชอบมาหาเรื่องมุสลิม แล้วมีที่ไหนบ้างที่มุสลิมเป็นผู้เริ่มก่อความขัดแย้งก่อน”บับลีกล่าว

บับลีกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เยาวชนจะต้องคิดก็คือ ในสังคมที่เต็มไปด้วยอบายมุข ผู้ชายไม่ให้เกียรติผู้หญิง ผู้หญิงไม่ให้เกียรติผู้ชาย เยาวชนจะขับเคลื่อนงานศาสนาในสังคมเหล่านี้อย่างไร? ก่อนอื่น เยาวชนจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม และขอย้ำว่าไม่มีพลังใดๆ ที่จะช่วยเยาวชนได้นอกจากการมีอีหม่าน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net