บทสัมภาษณ์ แซมมวล ฮันติงตัน เกี่ยวกับการปะทะทางอารยธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แซมมวล พี ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังเกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน ปี 1927  ศึกษาจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเยล ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชิคาโกและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1951  เขาเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และยังเป็นผู้อำนวยการสถาบัน จอห์น เอ็ม โอลิน แห่งการศึกษากลยุทธ์ รวมไปถึงประธานของวิทยาลัยภูมิภาคและนานาชาติศึกษาแห่งศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ หนังสือเล่มดังที่สุดของเขา "การประทะทางอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่" (The Clash of Civilizations and the remaking of the New World Order) ถูกตีพิมพ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1996 และได้รับการแปลถึง 22 ภาษา อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเป็นหนังสือนั้น ฮันติงตันได้เขียนบทความในหัวข้อนี้ก่อนในปี 1993  เพียง 2 ปีหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายและเป็นการโต้ตอบกับหนังสือ "จุดสุดท้ายของประวัติศาสตร์และมนุษย์คนสุดท้าย (End of History and the Last Man) ของฟรานซิส ฟูกูยามาซึ่งมองโลกหลังยุคสงครามเย็นในด้านดีนั้นคือโลกคือชัยชนะของประชาธิปไตยแบบเสรีประชาธิปไตย ฮันติงตันถึงแก่กรรมเมื่อปี 2008 สิริอายุรวม 81  ปี

แนวคิดโดยย่อของเขาคือภายหลังสงครามเย็นแล้ว สิ่งที่คงเหลืออยู่ของความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมสำคัญ ๆของโลกโดยเฉพาะอารยธรรมแบบชาวคริสต์ (ตะวันตกที่คิดว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย)กับชาวมุสลิม (ซึ่งตะวันตกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย) และเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ก็ได้ทำให้แนวคิดของเขาโด่งดัง แต่เขาก็ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจากนักวิชาการต่างๆ เช่นเอ็ดเวิร์ด ซาอิดว่าเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับตะวันออกหรือเป็นการแสดงอคติจากคนผิวขาวที่นับถือศาสนาคริสต์มากเกินไป อย่างไรก็ตามอีกกว่า 10 ปีต่อมา  กระแสการต่อต้านอิสลามได้เกิดขึ้นอย่างมหาศาลอีกระลอกหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมดังเช่นอังกฤษ เยอรมัน  ฝรั่งเศส เบลเยียมเช่นเดียวกับกระแสการต้านการก่อการร้าย อันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากยุคของอดีตประธานาธิบดีของจอร์จ ดับเบิลยู บุช  เหตุการณ์ที่โดดเด่นที่สุดได้แก่การที่ชาวมุสลิมหัวรุนแรงได้บุกเข้าไปสังหารบรรดานักเขียนการ์ตูน ของนิตยสารชาร์ลี เอบโดที่กรุงปารีส ฝรั่งเศสเมื่อวันที่  7 มกราคมที่ผ่านมา (มีคนเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ 9/11 ของฝรั่งเศส) เหตุการณ์เช่นนี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยที่เป็นพวกหัวเสรีนิยมหรือพวกไม่มีศาสนากับชาวประเทศโลกที่ 3 ที่ถือว่าตนเป็นมุสลิมจำนวนอีกไม่น้อยเหมือนกันไม่ว่าอาศัยอยู่ในยุโรปหรือต่างประเทศ ดังเช่นคนที่ทำงานในนิตยสารชาร์ลี เอบโดยุคหลังการก่อการร้ายยังคงตีพิมพ์การ์ตูนเป็นรูปศาสดาโมฮัมหมัดที่ยกป้ายประกาศตนว่า “ฉันคือชาร์ลี” เพื่อเป็นการท้าทายหรือยืนหยัดอยู่กับอุดมการณ์เสรีนิยมผ่านการล้อเลียนของพวกเขา (หรือจะมองว่าเพื่อกำไรหรือเพื่ออยากดังก็ตามแต่)  และชาวไนเจอร์ (ซึ่งอยู่ในแอฟริกา) ได้ประท้วงโดยก่อการจลาจลและเผาโบสถ์ของชาวแคทอลิก ด้วยอิทธิพลของสื่อตะวันตกแม้ว่าชาวมุสลิมในยุโรปซึ่งโดยมากเป็นผู้อพยพจากประเทศโลกที่ 3  จะไม่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อกรณีของชาร์ลีนัก แต่ก็เกิดกระแสการเหมารวมจากคนที่มีอคติต่อศาสนาอิสลามอยู่แล้ว ยิ่งมีการเอาไปผสมกับความวุ่นวายในตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เกิดจากผู้ก่อการร้ายอย่างเช่นไอเอสและโบโก ฮารามด้วยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มไอเอสนั้นกลายเป็นกลุ่มที่อันตรายสำหรับชาวโลกเพราะสามารถชักจูงหรือล่อลวงให้คนหนุ่มสาวจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมในการก่อการร้ายในประเทศของตนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารอันทันสมัย

บทสัมภาษณ์ของแซมมัล ฮันติงตันนี้แม้ว่าจะผ่านไปเกือบทศวรรษแต่ผู้แปลเห็นว่ายังคงทันสมัยและน่าจะทำให้คนอ่านได้เห็นว่าด้วยกระแสการต่อต้านมุสลิมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายนี้น่าจะบั่นทอนแนวคิดเสรีนิยมและกระตุ้นให้แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่อิงกับศาสนาของคนตะวันออกเกิดขึ้นเพียงใดและมีรูปแบบอย่างไร  อันนำไปสู่ภาพของนโยบายต่างประเทศและการทหารของทั้งสหรัฐฯและยุโรปต่อประเทศโลกที่ 3 ในยุคหลังชาร์ลี เอบโดไม่ว่ากี่ปีหรือในว่าในทศวรรษหน้าว่าจะเหมือนหรือแตกต่างจากลัทธิบุชหรือนโยบายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชมากน้อยเพียงใด

บทความนี้แปลและตัดเอาบางส่วนที่ไม่น่าสนใจออกไปมาจาก บทความ Five Years After 9/11, The Clash of Civilizations Revisited หรือ "5 ปีภายหลัง 9/11 :การปะทะทางอารยธรรมได้รับการเยี่ยมเยียนอีกครั้ง"  เมื่อวันศุกร์ ที่ 18 สิงหาคม ปี 2006

ฮันติงตันในวัย 79 ปีได้ให้สัมภาษณ์ขณะนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ลในสวนหลังบ้านพักตากอากาศของเขา

ผู้สัมภาษณ์คือ มาร์ก โอ คีฟเฟอร์ รองผู้อำนวยการและบรรณาธิการ แห่ง Pew Forum on Religion & Public Life

๐๐๐๐

คีฟเฟอร์

คุณได้รับการยอมรับในหลายทศวรรษว่าเป็นหนึ่งในนักรัฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศนี้ภายหลังสงครามเย็น คุณเริ่มเน้นไปที่ศาสนามากขึ้น อะไรทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ครับ ?

ฮันติงตัน

ศาสนาเป็นแง่มุมหนึ่งของความสนใจอันยิ่งยวดที่ผมเริ่มมีมากขึ้นในช่วงสงครามเย็นในการมองเห็นว่าสังคมที่แตกต่างกันนั้นมีวิวัฒนาการไปในทางไหน ผมก็ได้ข้อสรุปว่าแกนหลักสำหรับกำหนดทิศทางของพวกมันก็คือวัฒนธรรม การให้ความหมายต่อค่านิยมและทัศนคติของตัวสังคมเหล่านั้นเอง วัฒนธรรมได้วิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไป แต่พวกมันยังรวมเกือบทั้งหมดถึงองค์ประกอบขนาดใหญ่ของประเพณีอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นผมจึงเริ่มต้นมองไปที่วัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั่วโลก แน่นอนว่ามีวัฒนธรรมต่างๆ จำนวนมหาศาล แต่สำหรับผมแล้วมันดูจะมีวัฒนธรรมสำคัญ ๆ จำนวน 8 หรือ 9  วัฒนธรรมนั่นคือ ตะวันตก   ออร์โธดอกซ์ ฮินดู อิสลาม ซินนิก (จีน) พุทธ ละตินอเมริกา แอฟริกาและญี่ปุ่น

ผมเริ่มหันมามองโลกโดยผ่านคำเหล่านั้น ซึ่งนำตัวเองไปสู่ทฤษฎีการปะทะระหว่างอารยธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนของวัฒนธรรมต่าง ๆ แน่นอนว่าผมไม่คิดว่าวัฒนธรรมเป็นเพียงสิ่งเดียวที่มีอิทธิพล แต่มันก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะพวกมันได้เป็นตัวแต่งเติมพื้นฐานของมนุษย์ในการเริ่มคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกันอย่างไร ผมคิดว่าพวกเราต่างรู้สึกสบายๆ กับคนที่มีวัฒนธรรม ภาษาและค่านิยมคล้ายคลึงกันมากกว่าที่แตกต่างกัน

มีวัฒนธรรมอยู่มากมายในโลกใบนี้ พวกมันเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ผมเห็นว่ามีอยู่     8 หรือ 9  วัฒนธรรม ดังนั้นผมจึงสนใจว่าพวกมันเปลี่ยนแปลงอย่างไร พวกมันต่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไรในบัดนี้และความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้แตกต่างจากวิถีที่รัฐต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร

คีฟเฟอร์

คุณเห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นระหว่างวัฒนธรรมและศาสนา คุณสามารถอธิบายได้ไหมครับ ?

ฮันติงตัน

ศาสนาคือองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมของมนุษย์ มีสิ่งอื่นเช่นภาษาซึ่งก็สำคัญที่สุด แต่ศาสนาก็สำคัญยิ่งยวดเพราะมันได้ให้กรอบแนวคิดแก่การมองโลกของมนุษย์ ภาษาทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับโลกได้ แต่ศาสนาได้ให้กรอบแนวคิดในเกือบทุกกรณี

คีฟเฟอร์

กองบรรณาธิการของนิตยสาร Foreign Affairs ได้บอกว่าบทความของคุณคือ "การปะทะทางอารยธรรม ?" ซึ่งแน่นอนว่านำไปสู่หนังสือชื่อเดียวกันคือหนึ่งในผลงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของนิตยสาร จะเป็นรองก็แค่บทความของจอร์จ เคนเนนที่อิงอยู่บน"โทรเลขฉบับยาวเหยียด"  (Long Telegram)  ต่อลัทธิการโอบล้อมศัตรู ซึ่งเป็นตัวกำหนดพื้นฐานของนโยบายสหรัฐฯในช่วงสงครามเย็น ทำไมคุณถึงคิดว่าบทความนี้จึงทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ ?

ฮันติงตัน

ผมยินดีที่มันทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ  ตอนแรกผมประหลาดใจว่าได้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นเมื่อมันถูกตีพิมพ์ แต่ในการมองกลับไปที่สิ่งต่าง ๆ ที่ผมเขียนและสิ่งต่าง ๆ ที่คนอื่นเขียน ผมคิดว่าขอบเขตของบางสิ่งนั้นมีผลกระทบที่ขึ้นอยู่ในบางส่วนกับหลักตรรกะของแนวคิดของมันและหลักฐานที่มันนำเสนอ แต่มันก็ยังขึ้นอยู่กับจังหวะด้วยอย่างยิ่ง คุณต้องเสนอแนวคิดนั้นในเวลาที่ถูกต้อง ถ้าคุณดันไปเสนอเร็วไป 5  ปี หรือช้าไป 5  ปี ก็จะไม่มีใครสนใจมัน

คีฟเฟอร์

คุณนั้นล้ำหน้าในวงวิชาการที่เน้นเรื่องศาสนา คุณเห็นพวกร่วมงานที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและนักวิชาการคนอื่น ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของมันหรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

คุณบอกว่าผมล้ำหน้า แต่ผมเป็นส่วนของกระแสของการคิด เท่าที่คนทั่วไปตระหนักว่าถึงแม้ไม่ว่ากระแสทำให้เป็นฆราวาสหรือทางโลก (Secularization) จะเกิดขึ้นอย่างไร ปัจเจกชนเกือบทั้งหมดเริ่มต้นความคิดของพวกเขาบนพื้นฐานของศาสนา  ถึงแม้ว่าความคิดเหล่านั้นจะถูกซึมซับจากสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่

คีฟเฟอร์

แน่นอนว่าคุณไม่ได้พยากรณ์เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 แต่เราสามารถกล่าวได้ว่าคุณได้พยากรณ์ต่อบริบทที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ฮันติงตัน

อันนี้ก็ไม่เถียงครับ

คีฟเฟอร์

ในผลกระทบโดยฉับพลันของเหตุการณ์ 9/11 คุณคิดว่าการโจมตีคือความพยายามของโอซามา บิน       ลาเดน ในการที่จะนำสหรัฐฯ และตะวันตกไปสู่การปะทะแบบเต็มขั้นของอารยธรรมกับอิสลาม ดังที่เราได้จัดงานระลึกครบรอบ 5  ปีของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ คุณคิดว่าเขาทำสำเร็จไหม ?

ฮันติงตัน

ผมไม่รู้ว่าผมจะให้เครดิตแก่เขา แต่แน่นอนมันดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาอิสลามและตะวันตก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดความยุ่งยากขึ้นต่างๆ นาๆ   ในมุมโดยกว้างแล้วความยุ่งยากเหล่านั้นคือการที่โลกมุสลิมได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตก ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นได้กำลังสร้างจุดยืนให้กับตัวเอง ดังนั้นคุณจึงมีความตึงเครียดและความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นระหว่างอำนาจของจักรวรรดินิยมที่ค่อยๆ ล่าถอยทีละน้อยกับพลเมืองโลกที่ 3  ซึ่งกำลังสู้เพื่อตัวเอง

คีฟเฟอร์

จะกล่าวได้ไหมว่าบัดนี้เรากำลังอยู่ในช่วงแห่งการปะทะกันแบบเต็มขั้นของอารยธรรม ?

ฮันติงตัน

ไม่ใช่แค่การปะทะกันแค่ครั้งเดียว แต่การปะทะกันหลายต่อหลายครั้งของอารยธรรมได้เกิดขึ้น และนี่ไม่ได้หมายความดังที่ผมคิดว่าได้ย้ำไปแล้วในบทความที่ว่า ไม่มีการปะทะกันภายในตัวอารยธรรมเอง แน่นอนว่ามันมีอยู่ในระดับกว้างมาก ความขัดแย้งและสงครามเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างผู้คนที่อยู่ในอารยธรรมเดียวกัน ลองไปดูประวัติศาสตร์ยุโรปสิ ชาวยุโรปต่อสู้กันเองตลอดเวลา แต่บัดนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งหลายในการสื่อสารและการเดินทาง ผู้คนจากอารยธรรมต่างๆ ล้วนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันบนพื้นที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ในอดีต ผู้คนในอารยธรรมหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างเช่นจีนหรือยุโรป ได้ขยายตัว เอาชนะและมีอิทธิพลต่อพลเมืองจากอารยธรรมอื่น ๆ

พวกเรามีโลกซึ่งมีอารยธรรมสำคัญเป็นจำนวนมาก มันเป็นโลกแห่งพหุลักษณ์ และขณะที่ไม่ต้องสงสัยว่าสหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่กว่าประเทศอื่น จึงเป็นเรื่องไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงที่จะคิดถึงสิ่งนี้อย่างหยาบๆ ในรูปแบบของการจัดอำนาจให้กับโลกแบบเรียงลำดับชั้น  (ว่าสหรัฐฯครอบงำโลกอยู่ชั้นบนสุด-ผู้แปล) สหรัฐฯ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและตัวแสดงสำคัญอื่นๆ ล้วนก็ต้องพิจารณาต่อผลประโยชน์ต่างๆ และบางทีการตอบสนองของตัวแสดงอื่นต่อสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไป ผมคิดว่าแน่นอนศาสนามีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวด มันถูกสะท้อนให้เห็นอย่างกว้างๆ แต่ไม่ใช่เพียงอย่างเดียวในการผงาดขึ้นของสำนึกทางศาสนาของโลกมุสลิม

คีฟเฟอร์

เราจะสามารถถอดชนวนความตึงเครียดกับโลกมุสลิมได้อย่างไร ?

ฮันติงตัน

ผมคิดว่าเราต้องมีทัศนคติที่เยือกเย็นกว่านี้และพยายามเข้าใจว่าความหวาดวิตกของพวกเขาคืออะไร ผมคิดว่าเราต้องตระหนักว่ามีการแบ่งชั้นอย่างมหึมาในอิสลามและรัฐต่างๆ มันเป็นโลกแห่งพหุลักษณ์ เราควรที่จะตระหนักถึงสิ่งนั้น และเข้าไปจัดการกับส่วนที่เป็นปัจเจกชนและพยายามเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์บางประการของพวกเขาในขอบเขตที่เราสามารถทำได้

คีฟเฟอร์

คุณได้ให้คำปรึกษาต่อสหรัฐฯ และตะวันตกให้ต่อสู้กับการก่อการร้ายอย่างก้าวร้าวแต่ปราศจาการละเมิดความมั่นคงของโลกอิสลาม หรืออีกแง่มุมหนึ่ง คือการทำราวกับว่าสหรัฐฯ ไม่ได้โจมตีตัวอิสลามเอง คุณจะประเมินการปฏิบัติงานของรัฐบาลบุชได้แง่นี้อย่างไร ?

ฮันติงตัน

ผมเป็นพวกนิยมเดโมแครตนะครับ แต่ผมคิดว่าพวกเขาทำได้ดีทีเดียวในแง่มุมนั้น คุณใช้คำว่า "โลกอิสลาม" แต่โลกอิสลามนั้นมีการแบ่งแยกและหลากหลายอย่างยิ่งของตัวศาสนาและรัฐ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะต้องมีความสัมพันธ์ชนิดต่างๆ กับกลุ่มที่แตกต่างกันเช่นนั้น แน่นอนเราไม่ได้มีการปะทะกันอย่างรุนแรงหนักหน่วงของอารยธรรม มีการปะทะกันมากมาย และบางกรณีมีการคลี่คลายปัญหาได้สำเร็จกว่ากรณีอื่นๆ ผมเดาเอาว่าผมพึงพอใจอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะผมสามารถคาดเดาได้ว่ามันอาจเป็นเรื่องเลวร้ายได้มากกว่านี้อย่างไร

คีฟเฟอร์

เรื่องราวที่เลวร้ายกว่านี้จะเป็นอย่างไรกันครับ ?

ฮันติงตัน

เกิดพัฒนาการของการรวมกลุ่มของแต่ละฝั่ง หากประเทศของมุสลิมได้มารวมกลุ่มกันอย่างมีประสิทธิภาพและพยายามที่จะทวงอำนาจคืนต่อพื้นที่ของตะวันตกซึ่งพวกเขาเคยยึดครองเมื่อพันปีก่อน นั้นคือเคยครอบครองสเปนทั้งหมดและส่วนดีๆ ของทางตะวันตกของฝรั่งเศส ในด้านทฤษฎี สิ่งนั้นอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่แน่นอนว่าตอนนี้ยังไม่เกิดหรอก

คีฟเฟอร์

คุณเขียนในหนังสือเล่มล่าสุดที่ชื่อ  "Who Are We ?" ว่าสหรัฐฯ ตรงแก่นของมันนั้นคือวัฒนธรรมแองโกล-โปรเตสแตนต์ ถ้าหากสิ่งนี้จริง แกนหลักของการเป็นมิชชันนารีนั้น ถ้าหากผมใช้คำนี้นะครับ มีผลอย่างไรต่อการปะทะทางอารยธรรมกับอิสลาม ?

ฮันติงตัน

พวกเรามีวัฒนธรรมแบบแองโกล-โปรเตสแตนต์ อันนี้ชัดแจ๋วเลย คุณใช้คำว่ามิชชันนารี ผมไม่คิดว่ามันจำเป็นต้องเป็นวัฒนธรรมแบบมิชชันนารีหรอก แต่ความจริงแล้วมันเป็นในบางช่วงเวลาเพราะอาณานิคมตรงชายฝั่งตะวันออกใน ศตวรรษที่ 17  และ 18  นั้นถูกก่อตั้งโดยกลุ่มศาสนา จุดดั้งเดิมของพวกเราคือชาติศาสนา เราได้ส่งมิชชันนารีไปทั่วโลกจากกลุ่มโปรเตสแตนต์ คาทอลิกและนิกายอื่นๆ ตั้งแต่การขยายตัวของอิสลามในศตวรรษที่ 7  ผมไม่คิดว่าจะมีกลุ่มใดนอกจากชาวคริสต์ในซีกโลกตะวันตกจะดำเนินงานการเปลี่ยนศาสนาเยี่ยงนี้ได้แม้แต่ชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ในรัสเซียก็ตาม ศาสนาของตะวันตกคือศาสนาของมิชชันนารี

 

คีฟเฟอร์

คุณได้เห็นความพยายามของเราในการส่งออกค่านิยมแบบประชาธิปไตย ดังที่มีบางคนบอกว่าเป็นคุณค่าแบบอเมริกันในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจแบบมิชชันนารีหรือแบบแองโกล-โปรเตสแตนต์หรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

ในประเด็นของสหรัฐฯ นั้นแรงจูงใจแน่นอนว่าได้มาจากมรดกแบบแองโกล-โปรเตสแตนต์ แต่นี่ไม่ใช่เพียงแหล่งเดียว นิกายคาทอลิกก็ถูกขับดันจากแรงจูงใจนั้นเช่นกัน มีกลุ่มบุคคลในทุกๆ ศาสนาผู้ซึ่งมีแรงจูงใจร่วมกันในการออกไปและพยายามให้คนอื่นเปลี่ยนมานับถือศาสนาตน แต่ในประวัติศาสตร์อเมริกันนั้นแน่นอนว่าถ้าไม่เป็นแรงจูงใจที่ทรงพลังก็เป็นลักษณะสำคัญของกลุ่ม เมื่อนักตั้งรกรากขยายอิทธิพลไปทางตะวันตก พวกเขามักจะสังหารหมู่พวกอินเดียนแดงหากไม่ฆ่าก็จะบังคับให้เปลี่ยนศาสนา

คีฟเฟอร์

คุณได้วิจารณ์ความคิดที่ว่าค่านิยมแบบอเมริกันนั้นเป็นสากล และคุณค่าเหล่านั้นควรที่จะถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นผ่านประชาธิปไตย คุณช่วยอธิบายจุดนี้หน่อยได้ไหมครับ ?

ฮันติงตัน

ผมเสนอว่ามีวัฒนธรรมและระบบคุณค่าอันหลากหลายในโลก พวกมันมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกัน แต่พวกมันก็มีมิติที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมอเมริกันมุ่งเน้นไปที่ลัทธิปัจเจกชนนิยมอย่างมากกว่าวัฒนธรรมใด ๆที่ผมเคยรู้จักมา วัฒนธรรมอื่นๆ มุ่งเน้นไปที่ชุมชน ครอบครัวและสังคมในขณะที่เราพูดถึงสิทธิของปัจเจกชน เมื่อเราไปต่างประเทศและต้องขยายอิทธิพล เป็นธรรมชาติอย่างมากที่เราจะนำเอาคุณค่าและวัฒนธรรมไปกับเราและพยายามที่จะแนะนำหรือบางครั้งบังคับให้คนอื่นยอมรับมัน

คีฟเฟอร์

มันได้ทำให้คุณประหลาดใจหรือเปล่าที่ว่าเมื่อการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยได้ถูกจัดขึ้นในประเทศมุสลิมบางประเทศเมื่อไม่นานมานี้และที่ว่าพรรคอิสลามได้รับการเลือกจากประชาชน ?

ฮันติงตัน

ผมสามารถตอบได้อย่างจริงใจว่า "ไม่"  มันไม่ได้ทำให้ผมประหลาดใจเลย ในต่างกรรมต่างวาระ ผมได้แสดงคำเตือนต่อคนที่ออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยว่าไม่ควรจะทึกทักว่ามันเกิดจากรัฐบาลที่ได้อำนาจผ่านการเลือกตั้งที่ยุติธรรมในระดับหนึ่ง มันจะต้องเป็นการเสริมสร้างคุณค่าแบบเดียวกันที่เรามีและเป็นมิตรกับเรา

แต่รัฐบาลที่ชนะโดยการเลือกตั้งต้องทำตามกระแสของสังคมและโดยมากคือกระแสชาตินิยมของประชาชนตัวเองและมักจะเป็นการต่อต้านตะวันตกเสียด้วย

คีฟเฟอร์

คุณคิดว่ารัฐบาลของบุชผิดพลาดที่ไม่ได้คาดว่าพรรคฮามัสจะก้าวขึ้นไปมีอำนาจโดยการเลือกจากชาวปาเลสไตน์หรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

ผมคิดว่ามีความผิดพลาดที่ธรรมดากับคนอเมริกันจำนวนมาก นี่รวมถึงคนทำงานในรัฐบาลของบุช ในการชื่นชมต่อความเป็นไปของสิ่งทำนองนั้นที่เกิดขึ้นและเสน่ห์ยวนใจทางศาสนาของมัน อีกครั้งที่เรามีแนวโน้มในการทำให้ดูเหมือนว่าศาสนาเป็นสิ่งในอดีต

คีฟเฟอร์

มองไปที่อนาคต คุณได้คาดว่าจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในประเทศอิสลามและเราจะเห็นแนวโน้มของพรรคอิสลามก้าวขึ้นมามีอำนาจใช่ไหมครับ ?

ฮันติงตัน

ผมจะไม่พยากรณ์หรอก แต่สำหรับผม มันดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากและอาจจะเกิดขึ้นในสังคมบางสังคม

คีฟเฟอร์

คุณแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ เข้าไปในอิรักใช่ไหม ?

ฮันติงตัน

ครับใช่

คีฟเฟอร์

ตอนนี้ยังคงไม่เห็นด้วยหรือเปล่าครับ ?

ฮันติงตัน

ครับ ผมไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าไป แน่นอนว่าอิรักเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ และมันชัดเจนที่ว่าเราต้องการมีเสถียรภาพในพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย เราต้องการต่อต้านการแผ่ขยายของอิทธิพลของพวกอิหร่านหัวรุนแรง แต่ผมไม่เห็นความจำเป็นสำหรับเราที่ต้องเข้าไปในอิรัก
 

๐๐๐๐

คีฟเฟอร์

คุณเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ 60  ของรัฐบาลจอห์นสัน แต่ต่อมาคุณก็สรุปว่าปัญหาสำคัญกับนโยบายการต่างประเทศของเราคืออุดมคติของเรา เช่นเดียวกันคุณเห็นว่าอุดมคตินี้เป็นตัวผลักดันนโยบายในอิรักของเราหรือเปล่า ? นี่เป็นปัญหาหรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

ปัจจัยที่เป็นตัวผนึกและแกนกลางของประเทศนี้คือชุดของความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมือง แทบจะโดยอัตโนมัติเมื่อเราไปต่างประเทศ เราพยายามจะกล่อมผู้คนต่อความดีงามของความเชื่อและอุดมคติเหล่านั้น  เราพยายามที่จะสร้างสถาบันทางประชาธิปไตยตามแบบของอเมริกันในอาณานิคมโดยตรงซึ่งเรามีเพียงน้อยนิด และนี่คือเรื่องธรรมชาติอย่างมาก ประเทศทุกประเทศได้ทำเช่นนั้นเมื่อพวกเขาแพร่ขยายอิทธิพล

แต่ผมประทับใจกับขอบเขตที่วัฒนธรรมและคุณค่าของเราแตกต่างจากส่วนสำคัญอื่นๆ ของโลก เราต้องตระหนักต่อขอบเขตของสิ่งที่เราทำ ถ้าคุณมองไปยังสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสังคมเอเชียและยูเรเซีย ในประเด็นของอิทธิพลจากตะวันตก จำนวนของชนชั้นนำเพียงน้อยนิด นั้นคือปัญญาชนและผู้นำทางการเมืองซึ่งส่วนมากเคยเรียนในอ็อกฟอร์ด เคมบริดจ์หรือฮาร์วาร์ดได้ซึมซับค่านิยมและทัศนคติแบบตะวันตกและกลับไปยังสังคมของพวกเขา แต่มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางการเมืองนักแต่นักการเมืองที่อยู่ในประเทศของตัวเองและสร้างกระแสชาตินิยมได้มักจะมีแนวโน้มต่อความสำเร็จมากกว่า

๐๐๐๐

คีฟเฟอร์

คุณบอกว่าการปลุกความศรัทธาครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 18 คือการฟื้นฟูทางศาสนาที่ถูก"มอบให้กับชาวอเมริกันด้วยความเชื่อที่ว่าพวกเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมทางธรรมะในการนำความดีชนะความชั่ว" เรายังคงเป็นประเทศที่เข้าไปข้องเกี่ยวด้านคุณธรรมโดยเฉพาะทางศาสนาเช่นนั้นหรือไม่ ?

ฮันติงตัน

ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายมันโดยใช้คำถูกต้องหรือเปล่าในตอนนี้ แต่ผมคิดว่าเราแตกต่างจากสังคมอื่น รวมไปถึงสังคมแบบยุโรปในขอบเขตที่เราพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะอธิบายเป้าหมายของเราตามแบบของคุณธรรมซึ่งในเกือบทุกกรณีบนรากฐานทางศาสนา และสิ่งนี้ได้สร้างนโยบายต่างประเทศของเราทั้งการปฏิบัติและแน่นอนว่าในมุมมองของเราต่อคนอื่นๆ มันเป็นเรื่องทางศีลธรรมอย่างสูง

คีฟเฟอร์

คุณบอกว่าอเมริกาเป็นเพียงสิ่งที่น่าผิดหวังเพราะมันคือความหวังเชิงอุดมคติ ดังที่คุณเห็นในอนาคต อะไรทำให้คุณมีความหวังมากที่สุดสำหรับประเทศของเราและความสัมพันธ์ของมันกับโลกทั้งหมด ?

ฮันติงตัน

ผมคิดว่าสิ่งอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับอเมริกาคือความเป็นพหุลักษณ์ของมันและความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าชนเผ่า เชื้อชาติและกลุ่มทางศาสนากับการเมืองซึ่งเรามีในประเทศนี้ อาจจะยกเว้นก็เพียงสงครามกลางเมือง เราต่างอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ กับคนอื่น ๆและพัฒนาสังคมใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดและเจริญอย่างสูงสุดในโลกนี้ สังคมซึ่งมีแกนหลักคือสังคมประชาธิปไตยซึ่งปกป้องเสรีภาพของการแสดงออกและการนับถือศาสนา นี่คือความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท