หลายองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ยกคณะช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมกลันตัน

หลายองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ในนามเครือข่ายชาวพุทธ สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี ชุมชนศรัทธาและเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส ยกคณะช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมกลันตัน ไม่เลือกชาติพันธ์ ศาสนา พร้อมมอบของบริจาคผ่านเจ้าอาวาสวัดพิกุลทองวราราม,สมาคมชาวสยามรัฐกลันตัน ชาวบ้านเผยหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ ยังต้องการน้ำ ไฟฟ้าและแก๊ส

 

เมื่อวันที่ 24  มกราคม 2558 องค์กรภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี ชุมชนศรัทธาและเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส ได้นำข้าวสาร อาหารแห้งและน้ำดื่มไปมอบแก่ชุมชน 3 แห่งในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ Kampung Terbak, Kampung Air Dingin อ.ตุมปัต และ Kampung Manek Urai Lama อ.กัวลากือไร

ทั้งนี้ทางคณะได้เดินทางข้ามชายแดนที่ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถึงจุดนัดหมายแรกที่วัดพิกุลทองวราราม Kampung Terbak มีผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและชาวบ้านมาต้อนรับ ทางคณะได้มอบสิ่งของบริจาคให้แก่ตัวแทนชุมชนผ่านพระครูสุวรรณวรานุกูล รองเจ้าอาวาสและนายชวน รองนายกสมาคมชาวสยามรัฐกลันตัน เพื่อให้ทางผู้นำกระจายสิ่งของที่ได้รับบริจาคให้กับชุมชนบริเวณใกล้เคียงต่อไป

จุดหมายที่สอง คณะได้เข้าไปเยี่ยมบ้านของ Mat Saleh ที่ Kampung Air Dingin และได้นั่งพูดคุย Mat Saleh ด้วย โดยเล่าว่า น้ำท่วมครั้งนี้หนักกว่าที่ผ่านมา ซึ่งกลันตันเคยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1967 (พ.ศ.2510) เรียกว่าปรากฏการณ์น้ำแดง

Mat Saleh เล่าต่ออีกว่า น้ำไม่ได้ท่วมที่บ้านของเขาเอง แต่มีคนอพยพมาพักพิงชั่วคราวที่โรงเรียนหน้าบ้านประมาณ 5,000 คน ทำให้ผู้อพยพจำนวนมากมาใช้บ่อน้ำที่บ้านจนต้องต่อแถวตั้งแต่สี่โมงเย็นจนถึงตีสอง และยังช่วยหาซื้อเทียนไขเนื่องจากในวันนั้นไม่มีไฟฟ้าและแก๊สเพื่อต้มน้ำเพื่อชงนมให้เด็กเล็กดื่ม

จากนั้นทางคณะมุ่งหน้าสู่ Kampung Manek Urai Lama อ.กัวลา กือไร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักและได้มอบสิ่งของบริจาคให้มัสยิด ในระหว่างนั้นทางคณะได้แยกย้ายไปดูสภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและได้ถามชาวบ้านในวันเกิดเหตุการณ์น้ำหลาก ชาวบ้านบอกว่าก่อนที่น้ำจะมาแรงนั้นฝนตกต่อเนื่อง แล้วก็หยุดน้ำก็ลดลง จากนั้นฝนตกหนักครั้งที่สองตกไม่หยุดสามวัน จากนั้นน้ำก็หลากมาจากหลายทิศหลายทางทำให้ตัวเองตัดสินใจอพยพหนีไปยังที่สูงกว่าประมาณตีสอง

ชาวบ้านเล่าอีกว่า ผู้สูงอายุคนหนึ่งในหมู่บ้านอายุ 90 ปีแล้ว บอกว่าไม่เคยประสบภัยพิบัติน้ำท่วมที่หนักกว่านี้มาก่อน ส่วนน้ำท่วมเมื่อปี 1967 ทำให้ชาวบ้าน Kampung Manek Urai Lama ได้อพยพบางส่วนไปยังอีกที่หนึ่ง และได้ตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อว่า Kampung Manek Urai Baru

ชาวบ้านคนเดิมเล่าต่อไปว่า นำท่วมครั้งนี้ ทำให้บ้านของตัวเองพังเสียหายทั้งหลังเหลือแต่ที่ดินเปล่า ตอนนี้ตัวเองและครอบครัวต้องนอนในเต็นท์ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้ ตอนนี้มีองค์กรการกุศล ผู้มีจิตศรัทธาทั้งภาครัฐและเอกชนมาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ยังมีความยากลำบากอีกหลายอย่าง เช่น ห้องน้ำ ที่อาบน้ำ ไฟฟ้าก็ยังไม่มี กลางคืนยังต้องจุดเทียน

ชาวบ้านคนนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า ปรากฏการณ์ครั้งถือเป็นบททดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้บ่าวมีความยำเกรงและระลึกถึงพระองค์ ทางคณะก็ได้บอกว่ามาเยี่ยมเยียนเนื่องจากได้ทราบข่าวความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นถึงแม้อยู่ไกลจากประเทศไทยก็ตาม ทางคณะก็มาเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจหากมีโอกาสเราจะมาเยี่ยมหมู่บ้านแห่งนี้อีกครั้ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท