Skip to main content
sharethis
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เรียกร้องให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
 
 
23 ม.ค. 2558 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองได้ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายทำหน้าที่ในการยกร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ....  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงแต่งตั้งอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแร่และพลังงาน  เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองในภาคต่างๆ โดยมีหลักการที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ บำรุง การใช้ประโยชน์และการกำหนดให้มีกองทุนศึกษาพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
 
โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ที่ผ่านมาจึงได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน พร้อมด้วยการเปิดโต๊ะแถลงข่าว รวมทั้งจะมีการยื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรี คสช. ของเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญคือการขอให้ยุติการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ฉบับ คสช. เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
 
แถลงการณ์
ข้อเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....
วันที่ 22 มกราคม 2558
ณ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ชั้น 16 อาคารซอฟท์แวร์ปาร์ค 
 
 
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายได้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วพบว่าเนื้อหามีลักษณะในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการสำรวจและทำเหมืองแร่มากยิ่งกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และชุมชนที่จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ และคำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งกว่าการสงวนหวงห้ามและคุ้มครองพื้นที่ที่สำคัญต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงมิได้คำนึงถึงสิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งๆ ที่ชุมชนและประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โดยตรง
 
และในวันนี้คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ขึ้นมาโดยได้นำข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนเข้ามาประกอบการยกร่าง ด้วยเนื้อหาที่มีมีลักษณะในการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน การมีแผนบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่สอดคล้องกับรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม การสงวนหวงห้ามและคุ้มครองพื้นที่โดยการห้ามสำรวจและประกอบกิจการในพื้นที่ป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ แหล่งมรดกทางธรรมชาติ เขตพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม และการสำรวจแร่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองที่ดิน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม
 
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายจึงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....ของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งในประเด็นการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในการยกร่างและเนื้อหาของร่างดังกล่าว อีกทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นการพิจารณาออกกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรที่จะรอให้มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงเสียก่อน รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายแร่ดังกล่าว
 
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายตามรายชื่อด้านท้ายหนังสือฉบับนี้ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
 
1. ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... โดยนำความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เข้าไปพิจารณาร่วมด้วย
 
2. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งคณะทำงานร่วมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแร่ทั้งสองฉบับ (ร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรม และร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย) โดยประกอบไปด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคประชาชน ในการพิจารณาทบทวนเนื้อหาโดยละเอียด 
 
3. หลังจากดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่  ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่มีที่มาจากตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง 
 
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย :
 
1) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  
2) กลุ่มคนรักบ้านเกิด กรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย
3) กลุ่มคนรักบ้านเกิดอุมุง กรณีเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
4) กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
5) กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ จังหวัดนครราชสีมา
6) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
7) กลุ่มรักทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
8) กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
9) กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม แม่ตาว จ.ตาก
10) กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
11) กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได
12) กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
13) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
14) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
15) เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง
16) เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ  จังหวัดสงขลา
17) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
18) ชุมชนลุ่มน้ำสรอย จ.แพร่
19) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
20) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.)อีสาน
21) ศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net